บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต (MTL)
ข้อมูลทั่วไปของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต (MTL)
บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)(Muang Thai Life Assurance Public Company Limited) หรือตัวย่อ ‘MTL’ เริ่มดำเนินธุรกิจประกันชีวิตเพื่อให้บริการแก่ประชาชนตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ โดยเริ่มต้นกิจการอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2494 ที่สำนักงานแรกบนถนนเสือป่า ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของสงครามมหาเอเซียบูรพาต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในระยะการฟื้นตัว
นายจุลินทร์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการในขณะนั้น ร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักธุรกิจและข้าราชการระดับสูงร่วมกันก่อตั้งบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเหลือรัฐบาลในเรื่องของสวัสดิการสังคมและเป็นแหล่งระดมทุนให้กับภาครัฐ นอกจากนี้ยังเป็นการออมในระยะยาวและสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอีกด้วย
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นบริษัทประกันชีวิตด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับสิทธิใช้ตราครุฑในเอกสารของบริษัท นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2000
บริษัทมีการเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ได้ขยายสาขาและตัวแทนทั่วประเทศเป็นจำนวนมากมายถึงกว่า 210 สาขา ภายใต้การบริหารงานที่มีระบบและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ประธานกรรมการและนายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 250 ถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 เมืองไทยประกันชีวิต โทร 1766
คณะผู้บริหารเมืองไทยประกันชีวิต (MTL)
- นายสาระ ล่ำซำ - กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- นายนริศ อจละนันท์ - รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส
- นางเมฑะกา เหล่าขวัญสถิตย์ - รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส
- นางพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ - รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส
- นายไพฑูรย์ ไกรอมร - รองกรรมการผู้จัดการ
- นายรัชดา พุ่มสุวรรณ - ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส
- นายวุฒิวงศ์ สมบุญเรืองศรี - ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส
ผลิตภัณฑ์ประกัน จากเมืองไทยประกันชีวิต (MTL)
บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (Muang Thai Life Assurance) มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เลือกครบทั้งประกันชีวิต (ประกันชีวิตเมืองไทย) และประกันสุขภาพ (เมืองไทยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ) รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการใช้งาน ได้แก่ ประกันชีวิตประเภทสามัญ, ประกันชีวิตแบบสะสมเงินเดือน, ประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม, ประกันชีวิตประเภทกลุ่ม, ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ, ประกันสินเชื่อและการจำนอง, การขายประกันชีวิตผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ผ่านตัวแทน ผ่านสาขาทั่วประเทศ ผ่านธนาคาร ผ่าน Internet และผ่านทางโทรทัศน์ ฯลฯ, บริการสินเชื่อเพื่อการเคหะและเช่าซื้อ และบริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
ที่ตั้งและข้อมูลติดต่อ
250 ถนนรัชดาภิเษก แขวง ห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
อีเมล์ : [email protected]
เบอร์โทรศัพท์ : 1766
เวลาทำการเมืองไทยประกันชีวิต (MTL) :
เมืองไทยประกันชีวิต สำนักงานใหญ่ ให้บริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 -17.00 น.
คำถามและข้อสงสัยที่พบบ่อย
ขั้นตอนการเคลมประกันสุขภาพของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต
การเคลมประกันสุขภาพของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของประกันแต่ละแบบและรายละเอียดของการเคลมในแต่ละกรณี ดังนั้น ผู้เอาประกันควรติดต่อตัวแทนประกันภัยหรือศูนย์บริการลูกค้าของบริษัทฯ เพื่อรับขอคำแนะนำและคำชี้แจงขั้นตอนการเคลมตามกรณี
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเคลมประกันสุขภาพเมืองไทยประกันชีวิต แบ่งเป็น 1) การเคลมสินไหมสุขภาพ เมื่อต้องสำรองจ่ายไปก่อน และ 2) การเคลมสินไหมสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคลแบบไม่ต้องสำรองจ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีเคลมสินไหมประกันสุขภาพ เมื่อสำรองจ่ายไปก่อน
1 เตรียมเอกสารสำหรับเบิกค่าสินไหมชดเชย
กรณีเบิกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก(OPD) หรือผู้ป่วยใน(IPD) จะใช้เอกสาร 2 รายการ ได้แก่ แบบฟอร์มใบเรียกร้องค่าชดเชย กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วย และใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลฉบับจริง และใบสรุปค่ารักษาพยาบาล โดยกรณีเบิกค่ารักษาชดเชยรายวัน สามารถนำส่งสำเนาใบเสร็จแทนได้
2 ยื่นเอกสารแจ้งเคลมสินไหม
สามารถยื่นเอกสารแจ้งขอเบิกเคลมค่าสินไหม ได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าเมืองไทยประกันชีวิตทุกสาขาทั่วประเทศ หรือส่งเอกสารมาที่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 250 ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
กรณีเคลมสินไหมประกันสุขภาพ แบบไม่ต้องสำรองจ่าย
1 แสดงบัตร
แสดงบัตรประจำตัวผู้เอาประกันภัย พร้อมบัตรประชาชน หรือใบขับขี่ เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล จากกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในฐานะผู้ป่วยใน (ได้รับวินิจฉัยจากแพทย์ให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป) หรือการทำหัตถการที่ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล (ตามเงื่อนไขของสัญญาเพิ่มเติมฯ)
2 ตรวจสอบสิทธิ์
โรงพยาบาลตรวจสอบสิทธิ์การรักษาของท่านกับบริษัทฯ ด้วยบริการเคลมที่โรงพยาบาล (Fax Claim) 24 ชม.
3 เข้ารับการรักษาตัว
เข้ารับการรักษาตัว ตามแผนการรักษาของแพทย์
4 ข้อมูลส่งมายังบริษัท
เมื่อจะออกจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลจะส่งข้อมูลการเคลม มายังบริษัทฯ
5 บริษัทประกันพิจารณา
บริษัทฯ จะพิจารณาภายในระยะเวลา 30 นาที (เฉพาะเคสทั่วไป กรณีมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม อาจใช้ระยะเวลาเกินกว่า 30 นาที) ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติการเคลมเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์
6 รับ SMS แจ้งผล
ท่านจะได้รับ SMS แจ้ง เมื่อได้รับเอกสารจากโรงพยาบาล และเมื่อบริษัทฯ พิจารณาเสร็จ
โรงพยาบาลคู่สัญญาของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต
บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีสถานพยาบาลคู่สัญญา ได้แก่ โรงพยาบาล
คลินิก Nursing Home และบริการ Telemedic ที่พร้อมให้บริการทั่วประเทศไทย มากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ และต่างประเทศ ตามที่มีระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์
ผู้เอาประกันที่เลือกทำประกันสุขภาพกับเมืองไทยประกันชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องสำรองจ่ายด้วยบริการเคลมที่โรงพยาบาล (Fax Claim) 24 ชม. ผ่านการแสดงบัตรประจำตัวผู้เอาประกันภัยและบัตรประชาชนก่อนเข้ารับการรักษา
ทั้งนี้ ผู้เอาประกันเมืองไทยประกันชีวิต ควรตรวจสอบ รายชื่อโรงพยาบาลคู่สัญญาของเมืองไทยประกันชีวิต พร้อมรายละเอียดประเภทประกัน (ประกันสุขภาพประกันรายบุคคล, ประกันสุขภาพประกันรายกลุ่ม) ประเภทบริการ (ผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยใน, การผ่าตัดแบบไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และทันตกรรม) รวมถึงสถานที่ตั้งก่อนเข้ารับบริการ เพื่อความสะดวกในการเข้าใช้บริการโดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน (Fax Claim)
ประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิตเมืองไทยประกันชีวิต ดีไหม?
ประกันชีวิตเมืองไทยประกันชีวิต ประกันสุขภาพเมืองไทยประกันชีวิต เป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยจากบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากผู้เอาประกัน จากความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ความคุ้มครองที่หลากหลายครอบคลุมจากแบบประกัน รวมถึงเงื่อนไขการแจ้งเคลมที่ชัดเจน และเข้าใจง่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทฯ ได้รับความนิยมของอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั่นเอง