รัฐบาลทุ่ม 6.5 แสนล้านบาท หนุน 4 โครงการ EEC
- ภายหลังจากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ที่จังหวัดเชียงราย มีมติอุมัติ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จำนวน 4 โครงการ วงเงินมูลค่าลงทุนกว่า 6.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้จะมีการเจรจานอกรอบระหว่างการประชุม G 20 วันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2561 นี้ด้วย
- ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุต
ครม.ไฟเขียว 4 โครงการใน EEC
ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ประชุม ครม.อนุมัติวงเงินการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้เห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายของโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
นอกจากนี้ยังต้องการผลักดันให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยร่วมลงทุนกับเอกชนและกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีมติเห็นชอบ
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ด้านขอบเขตงานที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้กองทัพเรือดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการจัดทำรายงาน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้กองทัพเรือประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการบูรณาการและทำให้การดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป
ขณะที่การดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบการขนส่งทางรางเพื่อรองรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เช่น การจัดหาหัวรถจักร จัดเตรียมบุคลากรให้เพียงพอ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้การขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้ครอบคลุมพื้นที่ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ให้การนิคมอุตสาหกรรมจัดทำรายละเอียดการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ก่อนที่จะดำเนินโครงการท่าเรือมาบตาพุดฯ ต่อไป
เงินลงทุนโครงการอีอีซี ทั้ง 4 แบ่งออกเป็น
1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท (ภาครัฐ 17,768 ล้านบาท ภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท)
2. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา มูลค่ารวม 10,588 ล้านบาท (ภาครัฐ 6,333 ล้านบาท ภาคเอกชน 4,255 ล้านบาท)
3. โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 114,047 ล้านบาท และ
4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุต ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 55,4000 ล้านบาท
สำหรับนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (อีอีซี) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ภาครัฐใช้ดึงดูดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อใช้ขับเคลื่อนประเทศ นโยบายดังกล่าวเป็นการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของภาครัฐและกรอบในการพัฒนาพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา
สาเหตุที่เริ่มจาก 3 จังหวัดข้างต้น ก็เพราะเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญของประเทศ อีกยังเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนและมีการดำเนินการแล้วในปัจจุบันหรือกลุ่มอุตสาหกรรม First S-curve และ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งจะสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต
เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะได้รับการสนับจากภาครัฐอย่างเต็มที่ อีกทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาคประชาชน เรามาจับตาดูก้าวสำคัญก้าวใหม่ของประเทศไทยด้วยกันดีกว่าค่ะ
มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 10 ปี เขียนด้านเงิน การลงทุน บทความวิเคราะห์สถานการณ์การเงินในประเทศ และฝากผลงานไว้ที่ Rabbit Care ถึง 4 ปี