กรมศุลฯ เพิ่มเครื่องเอ็กซเรย์ จับแบรนด์เนมเลี่ยงภาษี
- กรมศุลกากรจึงได้เตรียมสั่งซื้อเครื่องเอ็กซเรย์สินค้าเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง หวังตรวจสอบสินค้าเลี่ยงภาษี ที่ปัจจุบันรอดพ้นการตรวจสอบมาเป็นจำนวนมาก อาทิ สินค้าแบรนด์เนม ยาเสพติด และชิ้นส่วนสัตว์ป่า เป็นต้น
- กรมศุลกากรกำลังพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในเสียภาษีนำเข้าจากอีคอมเมิร์ซ โดยจะเริ่มชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ระยะแรกช่วงต้นปี 2562
กรมศุลฯ เข้มงวด สินค้าเลี่ยงภาษี
ล่าสุดความคืบหน้าจากทางกรมศุลากรพบว่า ปัจจุบันมีความพยายามเลี่ยงภาษีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมที่มีการสำแดงราคาเท็จ แจ้งราคาต่ำกว่า 1,500 บาท รวมถึงสินค้าที่เป็นยาเสพติด และสินค้าต้องห้ามว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) เป็นต้น กรมศุลกากรจึงได้เตรียมสั่งซื้อเครื่องเอ็กซเรย์สินค้าเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง ที่จากเดิมมีเพียง 1 เครื่อง
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า การนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายในชั้นศุลกากรกับ 3-4 ประเภท เช่น สินค้าเกษตรบางประเภท สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าต้องห้ามของไซเตส แต่เดิมหากมีการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและถูกจับกุม ผู้ทำผิดก็จะยอมเสียค่าปรับและระงับคดีในชั้นศุลกากร จากนั้นก็จะมากระทำผิดเช่นเดิม ดังนั้นกรมศุลกากรจึงออกกฎหมายใหม่เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำซากเป็นคร้ังที่ 2 จะต้องส่งฟ้องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อทันที จะเสียค่าปรับอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ทุกวันนี้สินค้าผิดกฎหมายเล็ดลอดออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมที่มีการสำแดงราคาเท็จเพื่อหวังหลีกเลี่ยงภาษี เพราะตามกฎหมายแล้วระบุว่า สินค้าที่มีราคาเกิน 1,500 บาทต้องเสียภาษี รวมถึงยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ด้วย
ชอปปิ้งออนไลน์ก็ต้องเสียภาษี
ยอดสั่งซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซของคนไทยขยายตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสินค้าแบรนด์เนมชิ้นละหลายหมื่นบาทที่จัดส่งเข้ามา เช่น แว่นตา กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น ซึ่งในแต่ละวันมีการสั่งนำเข้ามากกว่า 1 แสนรายการ และพบว่ามีความพยายามหลบเลี่ยงภาษีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมากกว่าครึ่งมักแจ้งเป็นสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาทเพื่อหลบภาษี ดังนั้นกรมศุลกากรจึงต้องเพิ่มระบบตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้น
อธิบดีกรมศุลกากร ได้บอกเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในเสียภาษีนำเข้าจากอีคอมเมิร์ซ โดยระยะแรกช่วงต้นปี 2562 จะเริ่มชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่ส่งมาพร้อมกับใบแจ้งรับสินค้าได้เลย จากนั้นให้นำใบรับพร้อมข้อมูลการจ่ายภาษีมารับของที่ไปรษณีย์ได้ หลังจากนั้นช่วงเดือนเมษายน 2562 จะสามารถตัดรอบรายการที่เสียภาษีได้ผ่านระบบการชำระได้ทันที และจะนำของมาส่งให้ถึงบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปจ่ายภาษีหรือไปรับของที่ไปรษณีย์หลักสี่
สำหรับปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากร ตั้งเป้าหมายเก็บภาษี 1.11 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากที่ผ่านมามีการเร่งประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในหลายด้าน ขณะที่ปีที่ผ่านมา (2561) จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 1.08 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงการคลังปรับลดลงมาจาก 1.1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการผู้นำเข้าใช้สิทธิอัตราภาษีนำเข้าต่ำ จากการข้อตกลงเขตเสรีการค้าอาเซียน (อาฟต้า)
มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 10 ปี เขียนด้านเงิน การลงทุน บทความวิเคราะห์สถานการณ์การเงินในประเทศ และฝากผลงานไว้ที่ Rabbit Care ถึง 4 ปี