แคร์สุขภาพ

อาการสายตาพัง Computer Vision Syndrome ที่คนยุคดิจิทัลต้องระวัง!

ผู้เขียน : Nok Srihong

มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

close
linkedin icon
แก้ไขโดย : คะน้าใบเขียว

นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct

close
linkedin icon
 
Published: May 11,2021
  
Last edited: March 20, 2024
สายตาสั้น-แสงสีฟ้า

เมื่อโลกของเราเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล พฤติกรรมของคนเราก็เริ่มปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตของเรามากขึ้น อย่างเช่น คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ท และสมาร์ทโฟน ที่เป็นดั่งอุปกรณ์คู่ใจของคนในยุคดิจิทัลเลย

ซึ่งการใช้งาน Gadgets เหล่านี้ จะบอกว่าช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นมันก็จริงอยู่ แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพไปโดยไม่รู้ตัว อย่างโรคที่เราจะกล่าวถึงกันในบทความนี้ ก็คือโรค “Computer Vision Syndrome” อาการที่ไม่ใช่แค่ทำให้สายตาสั้น แต่อาจทำให้สายตาพังได้เลย จะมีอาการเป็นยังไง ลองตามมาอ่านกันได้เลย

Computer Vision Syndrome อาการสายตาพังที่พบบ่อยในคนยุคใหม่

มาทำความรู้จักกับอาการนี้กันก่อน Computer Vision Syndrome (CVS) เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการทางสายตาที่มีสาเหตุมาจากการใช้สายตาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน ยิ่งมีการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้บ่อยและใช้นานมากแค่ไหนก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

เพราะการใช้สายตาจ้องมองที่จอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ดวงตาจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อปรับโฟกัสภาพหรือตัวหนังสือที่เคลื่อนไหวบนจออยู่ตลอดเวลา ยิ่งมีการเลื่อนขึ้น-ลงไปมาก็ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อตาต้องทำงานหนักมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น เพราะบนจอของอุปกรณ์พวกนี้ยังเต็มไปด้วยการตัดกันของเฉดสีต่าง ๆ และมีการสั่นไหวของจุดพิกเซลเล็ก ๆ บนจออยู่ตลอดเวลา ปัจจัยเหล่านี้แหละที่รบกวนสายตาจนอาจเกิดอันตรายได้โดยไม่ทันตั้งตัว

ปัจจัยเสี่ยงรอบตัว ที่อาจทำให้คุณเป็น Computer Vision Syndrome 

  • การใช้สายตาเพ่งหรือจดจ่อ

การที่คุณอาจจะกำลังใช้สมาธิกับอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือหรือการจ้องบนจอสมาร์ทโฟน จอคอมพิวเตอร์ ด้วยการจ้องหรือเพ่งสายตา ซึ่งทำให้คุณกระพริบตาน้อยลง และทำให้ตาแห้งได้ง่ายขึ้น เพราะดวงตาขาดความชุ่มชื้นจากการกระพริบตานั่นเอง

  • แสงสว่างไม่เพียงพอ

ในขณะที่ต้องใช้สายตากับการจ้องมองอะไรสักอย่าง สายตาก็ทำงานหนักมากพอแล้ว แต่ยิ่งต้องมาเพ่งมองจอในพื้นที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็ยิ่งส่งผลให้สายตาต้องทำงานหนักมากขึ้นไปอีกเพื่อที่จะสามารถมองเห็นอย่างชัดเจน และแสงสะท้อนจากหน้าจอยังมีทั้งแสงสีฟ้าและรังสี UV ที่ทำลายดวงตารวมทั้งผิวหน้าของคุณอีกด้วย

  • ไม่เว้นระยะห่างให้พอเหมาะ

การเว้นระยะห่างระหว่างสายตากับหน้าจอเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนยังมองข้าม แต่เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการจัดวางตำแหน่งของจอให้พอดีกับระดับสายตานั้นมีผลต่อท่าทางขณะใช้งาน หากจัดวางได้ไม่พอดีก็จะเพิ่มความเสี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรม อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อคอ-บ่า-ไหล่ เพิ่มขึ้นไปอีก

  • อายุของผู้ใช้งาน

ไม่เพียงแต่วัยหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ผู้สูงวัยก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรค Computer Vision Syndrome เพิ่มขึ้นด้วย เพราะเลนส์แก้วตาที่ค่อย ๆ สูญเสียความยืดหยุ่นลงตามวัย ทำให้ความสามารถในการโฟกัสระยะต่าง ๆ เริ่มถดถอยลง หากไม่ดูแลสุขภาพตาให้ดี ก็อาจเกิดโรคทางสายตาอื่น ๆ ตามมาอีก

ดูแลตนเองให้ห่างไกลความเสี่ยง Computer Vision Syndrome

เข้าใจได้ว่าบางคนมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนในการทำงานอยู่เป็นประจำ จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าอาการนี้มันจะน่ากลัวจนถึงขั้นต้องงดใช้ Gadgets ต่าง ๆ ไปเลย แบบนั้นก็ดูจะหักดิบกันไปหน่อยสำหรับคนในยุคดิจิทัลที่มีอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเหมือนอวัยวะส่วนที่ 33 ของร่างกาย ถ้าอย่างนั้นลองปรับเปลี่ยนอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามคำแนะนำต่อไปนี้กันสักหน่อย ก็ช่วยลดความเสี่ยง Computer Vision Syndrome ลงได้แล้ว

  • ปรับระดับของจอและท่านั่งให้เหมาะสม

คนที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มีความเสี่ยงที่จะเป็น Computer Vision Syndrome รวมทั้งอาการออฟฟิศซินโดรม เพราะการจัดวางตำแหน่งที่ผิด ลองปรับเปลี่ยนตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์อาจช่วยได้ โดยการตั้งจอให้จุดศูนย์กลางของจออยู่ห่างจากสายตาประมาณ 20-28 นิ้ว วางแป้นพิมพ์ในระดับที่ต่ำกว่าจอให้ข้อมือและแขนขนานกับพื้น ไม่อยู่ในลักษณะที่โน้มตัวไปข้างหน้า พร้อมทั้งเลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิง มีที่วางแขน และนั่งโดยที่ฝ่าเท้าวางบนพื้นได้พอดี จะช่วยให้สายตาไม่ต้องทำงานหนักจากการปรับโฟกัสมากเกินไป และช่วยลดอาการปวดเมื่อยด้วย

  • ปรับแสงสว่างให้พอเหมาะ

แสงสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ การใช้งานคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในที่มืดนั้นทำให้รู้สึกไม่สบายตาอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงควรปรับพื้นที่ให้มีแสงสว่างพอเหมาะในการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ โดยอาจเปิดหน้าต่าง หรือเปิดไฟเพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอ หรือหาแผ่นฟิลเตอร์กรองแสงมาติดไว้บนจอเพื่อลดแสงสะท้อนหรือแสงสีฟ้าที่อันตรายต่อดวงตา

  • พักสายตาบ้าง

สายตาไม่ใช่เครื่องจักร เมื่อใช้งานหนัก ๆ ก็อาจรู้สึกเหนื่อยล้าได้ ระหว่างวัน คุณสามารถผ่อนคลายดวงตาของคุณได้ด้วยการละสายตาออกจากหน้าจอสักครู่ แล้วออกไปมองด้านนอก หรือไปยังพื้นที่ที่มีสีเขียว ที่จะช่วยให้รู้สึกสบายตามากขึ้น โดยการพักสายตานั้นใช้ระยะเวลาเพียงสั้น ๆ แค่ 10-20 นาที ก็ช่วยผ่อนคลายได้แล้ว

  • กระพริบตาหรือหยอดน้ำตาเทียม

แสงสีฟ้าและความร้อนจากหน้าจออาจส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งและแสบตาขึ้นได้ การกระพริบตาบ่อย ๆ หรือการหยอดน้ำตาเทียม จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา และช่วยให้รู้สึกสบายตาขึ้น

  • ปรึกษาแพทย์

หากรู้สึกว่าต้องการดูแลดวงตาให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือกำลังรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น แนะนำให้ปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อช่วยตรวจดูอาการและให้คำแนะนำในการรักษาอย่างถูกวิธี อย่าซื้อยาแปลก ๆ มาใช้กับดวงตาเองโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี

เพราะคนเรามีดวงตาเพียงคู่เดียวสำหรับใช้ตลอดทั้งชีวิต หากไม่ดูแลให้ดีก็อาจจะเสื่อมสภาพลงก่อนเวลาอันควร ดังนั้น อย่ามองข้ามส่วนสำคัญของร่างกายคุณไป ไม่ว่าจะเป็นดวงตาหรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ หากต้องการเพิ่มความอุ่นใจให้มากขึ้น ลองเลือกความคุ้มครองดี ๆ จากประกันสุขภาพ ที่จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดูแลสุขภาพคุณ


 

บทความแคร์สุขภาพ

Rabbit Care Blog Image 89748

แคร์สุขภาพ

โรคพุ่มพวงคืออะไร มีอาการอย่างไร อันตรายถึงชีวิตหรือไม่ ?

โรคที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่าโรคพุ่มพวง เนื่องจากคนไทยเรารู้จักโรคนี้กันอย่างแพร่หลายเมื่อศิลปินชื่อดังอย่างคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์
Nok Srihong
23/05/2024