รู้ไว้! 6 สัญญาณอันตราย โรคมะเร็งผิวหนัง
โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต สามารถฆ่าชีวิตคนที่เรารักได้อย่างง่าย ๆ ดังนั้น คุณควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่าคุณมีอาการหรือมีความเสี่ยงอะไรบ้างและรีบพบแพทย์โดยทันที
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตเมืองร้อน ทำให้อุณหภูมิของอากาศค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในหน้าร้อน จากสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งแล้ว ภูมิประเทศของประเทศไทยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังในประชากรไทย แม้จำนวนผู้ป่วยจะมีจำนวนค่อนข้างน้อย แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 48.08% สาเหตุของโรคมีหลายประการ หนึ่งในนั้นเป็นเพราะรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่ได้จากแสงแดดในทุก ๆ วันเร่งให้เกิดความเสียหายของ DNA
มะเร็งผิวหนัง คืออะไร?
มะเร็งผิวหนังหรือ Skin Cancer คืออาการที่มีความผิดปกติทางด้านผิวหนังบนร่างกาย เช่น ใบหน้า ขา แขน หลัง หรือ เท้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิวหนัง จนพัฒนากลายเป็นเนื้อร้ายในที่สุด เบื้องต้นแล้วคุณสามารถตรวจเช็กร่างกายตนเองได้ก่อนล่วงหน้า เพราะหากพบก้อนหรือตุ่มที่ร่างกายในสีที่ผิดปกติ ให้สงสัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนังไว้ก่อนเลย
ประเภทของมะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด โดยเรียงจากความรุนแรงน้อยไปหามาก ดังนี้
1. ชนิด เบเซลเซลล์ (basal cell carcinoma)
มะเร็งผิวหนังชนิดนี้พบได้บ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับมะเร็งผิวหนังชนิดอื่น ๆ โดยลักษณะของมะเร็งชนิดนี้จะมีก้อนเนื้อนูนขึ้นมา สีชมพู มันวาว อาจพบว่ามีเส้นเลือดฝอยเล็กๆกระจายตัวอยู่บริเวณก้อน และก้อนจะมีลักษณะค่อย ๆ โตจากก้อนเล็ก ๆ เป็นก้อนใหญ่และจะเป็นแผลแตกในที่สุด บางรายอาจมีแผลหรือก้อนมีสีดำ คุณควรรีบมาปรึกษาแพทย์ทันที อย่างไรก็ตามมะเร็งชนิดนี้ไม่ค่อยรุนแรงและไม่มีการกระจายสู่กระแสเลือดเพียงแต่จะดูไม่ค่อยสวยงามในบริเวณร่างกายเท่านั้น อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้จึงมีน้อยมาก มักจะพบในผู้ชายที่มีผิวขาวและมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
2. ชนิด สเควมัสเซลล์ (squamous cell carcinoma)
มะเร็งผิวหนังชนิดนี้พบไม่น้อยกว่าชนิดเบเซลเซลล์ อาการโดยทั่วไปมักจะพบตุ่มสีชมพู บางรายอาจมีลักษณะเป็นขุย เมื่อคุณสัมผัสบริเวณก้อนจะพบความแข็งและเลือดออกง่าย มากไปกว่านั้นคุณจะสังเกตได้ว่าก้อนนั้นจะโตและขยายขนาดไปเรื่อยๆหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด จะเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงในระดับกลาง สามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ปอด และกระแสเลือดได้ อย่างไรก็ตามสามารถรักษาหายได้หากตรวจพบเร็ว แต่หากคุณปล่อยไว้ก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้
3. ชนิด เมลาโนมา (melanoma)
มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เป็นชนิดที่รุนแรงและอันตรายที่สุด สามารถแพร่กระจายและโตเร็วกว่าสองชนิดที่กล่าวมาข้างต้น มักมีลักษณะเด่นเป็นก้อนสีดำคล้ายไฝ ส่วนมากคนไข้จะพบจุดสีดำที่มักโตเร็ว และขอบไม่เรียบเนียนหรือมีสีที่แตกต่างกันในบริเวณก้อนนั้น หากเป็นแบบรุนแรงแผลอาจมีการเปิด ตกสะเก็ด มีเลือดหรือน้ำเหลืองออก มีขนาดโตมากกว่า 6 เซนติเมตร หากคุณมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น คุณควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจและวินิจฉัยโรค ไม่ควรปล่อยไว้เด็ดขาด
ระยะของมะเร็งผิวหนัง
ความรุนแรงของมะเร็งชนิดนี้ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยและระยะเวลาที่ตรวจพบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะเหมือนกับมะเร็งชนิดอื่น ดังนี้
ระยะที่ 1
ในระยะแรกก้อนของมะเร็งจะมีลักษณะเล็ก ไม่ใหญ่มาก และมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยความรุนแรงจะแบ่งตามลักษณะของก้อน ขนาดของก้อน การแบ่งตัวของเซลล์ และอื่น ๆ หากเป็นชนิดเบเซลเซลล์หรือสเควมัสเซลล์ มีโอกาสการรอดชีวิตถึง 90% และสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากเป็นชนิดเมลาโนมา โอกาสรอดชีวิตประมาณ 80 %ในระยะที่ 1
ระยะที่ 2
ในระยะที่สองของมะเร็งผิวหนัง จะมีการแบ่งตัวและลุกลามไปถึงชั้นใต้ผิวหนัง ขนาดก้อนของมะเร็งจากโตมากกว่า 2 เซนติเมตร หากเป็นชนิดเบเซลเซลล์หรือสเควมัสเซลล์ มีโอกาสการรอดชีวิตถึง 80% แต่หากเป็นชนิดเมลาโนมา โอกาสรอดชีวิตประมาณ 60 %
ระยะที่ 3
ในระยะที่สาม มะเร็งจะลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง และกระจายไปที่เนื้อเยื่ออื่น ๆ บริเวณรอบผิวหนัง ลักษณะของก้อนจะโตประมาณ 3 เซนติเมตร หากเป็นชนิดเบเซลเซลล์หรือสเควมัสเซลล์ มีโอกาสการรอดชีวิตประมาณ 50 % แต่หากเป็นชนิดเมลาโนมา โอกาสรอดชีวิตเหลือเพียง 30 %
ระยะที่ 4
ในระยะที่่สี่ มะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่ปอด กระดูก สมอง ต่อมน้ำเหลือง และเข้าสู่กระแสเลือด หากเป็นชนิดเบเซลเซลล์หรือสเควมัสเซลล์ มีโอกาสการรอดชีวิตประมาณ 30 % แต่หากเป็นชนิดเมลาโนมา โอกาสรอดชีวิตเหลือเพียง 5-10 %
สัญญาณเตือนโรคมะเร็งผิวหนัง
1. มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง : น้องแคร์ขอแนะนำให้คุณสังเกตตนเอง หากพบก้อนนูนที่มีลักษณะโตขึ้นอย่างรวดเร็วหรือมีการขยาย น้องแคร์ขอแนะนำให้คุณไปพบแพทย์โดยทันที
2. เป็นแผลเรื้อรัง : หากบนร่างกายของคุณมีแผลที่รักษาไม่หายเป็นระยะเวลานาน นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งผิวหนังก็เป็นได้
3. ก้อนมีแผลสด : หากคุณมีแผลนูนเป็นก้อนและมีเลือดออกง่าย ควรรีบพบแพทย์ทันที
4. แผลมีสีที่ผิดปกติ : หนึ่งสัญญาณเตือนคือมีก้อนที่แผลที่สีที่ผิดปกติ เช่นสีดำหรือน้ำตาล
5. รูปร่างของไฝเปลี่ยนไป : ไฝสามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณต่างๆของร่างกาย สามารถมีมาตั้งแต่กำเนิดและมักไม่มีอันตรายใด ๆ แต่หากไฝมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง เช่น ใหญ่ขึ้น มีการกระจายตัว หรือมีสีที่เปลี่ยนไป เช่น มีสีขาว มีสีน้ำตาล หรือมีเลือดออกง่าย
6. มีผื่นเรื้อรัง : ผื่นสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่นเกิดจากการแพ้ แต่หากคุณพบว่าผื่น เปลี่ยนแปลง เช่นมีก้อนนูนขึ้น คุณควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคต่อไปเพราะมันอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งผิวหนังก็ได้
การป้องกันมะเร็งผิวหนัง
1. ใช้ครีมกันแดด
แสงแดดเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นคุณควรหลีกเลี่ยงการเจอแดด หรือทาครีมกันแดดที่ใบหน้า ลำคอ และลำตัวก่อนออกจากบ้านหรือก่อนทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกครั้ง ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน ในปัจจุบันมีครีมกันแดดมากมายหลายยี่ห้อให้คุณได้เลือกสรร เช่น Biore, Eucerin, la roche posay และอื่น ๆ โดยคุณสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา หรือออนไลน์ แพลตฟอร์ม ราคาขึ้นอยู่กับแหล่งที่จัดจำหน่ายและยี่ห้อของผลิตภัณฑ์
2.ใช้ร่ม
นอกจากใช้ครีมกันแดดแล้ว น้องแคร์ขอแนะนำให้คุณพกร่มติดตัวไว้ โดยเฉพาะร่มที่กัน UV เพราะมีประโยชน์อย่างมากไม่เพียงช่วยกันแดดเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยกันฝนได้อีก น้องแคร์ขอแนะนำยี่ห้อ Uniqlo ราคา 590 บาท
3. สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด
ไม่เพียงแต่ใช้ร่มหรือครีมกันแดดเท่านั้น หากคุณจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง น้องแคร์ขอแนะนำให้คุณสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อป้องกันแดด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือใส่หมวก อย่างไรก็ตามน้องแคร์ไม่แนะนำให้คุณใส่เสื้อผ้าที่มีสีดำเพราะจะยิ่งทำให้คุณร้อนมากขึ้นไปอีก
4. สังเกตความผิดปกติของร่างกาย
น้องแคร์ขอแนะนำให้คุณสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเอง หากพบความผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ทันที เช่น พบการขยายตัวของไฝ พบสีที่ผิดปกติ พบผื่นที่มีการกระจายตัว เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งผิวหนัง
ในขั้นตอนแรกแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่นการดูบริเวณก้อนว่ามีลักษณะเรียบหรือขรุขระ หลังจากแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจและส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
การรักษามะเร็งผิวหนัง
การรักษาสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค ดังนี้
1. การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยการทายาเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งยังไม่ลุกลาม มีขนาดเล็ก หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ยาที่มักใช่ เช่น topical imiquimod ก่อนนอนติดต่อกันเป็นเวลา 6 อาทิตย์
2. การรักษาด้วยวิธีการขูดหรือจี้ไฟฟ้า
วิธีนี้เหมาะกับมะเร็งผิวหนังที่มีขนาดเล็กและยังไม่แพร่กระจายไปในบริเวณใกล้เคียง โดยตำแหน่งของก้อนต้องอยู่ในบริเวณที่แพร่กระจายได้ยาก
3. การรักษาด้วยการจี้เย็น
เหมาะกับมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้นเท่านั้น วิธีการจี้เย็นคือนำไนโตรเจนเหลวมาจี้ผิวหนัง หลังจากนั้นจะเกิดการตกสะเก็ด แต่คุณห้ามแกะสะเก็ดเพราะจะทำให้เลือดออกได้ สะเก็ดจะหลุดไปเองหลังจากนั้น 1 เดือน การรักษาด้วยวิธีจี้เย็นอาจทำให้ผิวหนังมีสีขาวเล็กๆได้
4. การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
วิธีนี้เป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจทำให้เนื้อบริเวณนั้นแหว่งหรือหายไปได้ นิยมใช้เนื้อส่วนอื่นมาแทนที่
ราคาการรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง หากเป็นโรงพยาบาลรัฐราคาโดยประมาณ 300-15,000 บาท โรงพยาบาลเอกชนราคาโดยประมาณ 3000-20,500 บาท ค่าฉายรังสี – ราคาโดยประมาณเริ่มต้นที่ 50,000-200,000 บาท โดยราคาขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล วิธีการรักษา และเครื่องมือแพทย์
มะเร็งผิวหนังบางบริษัทประกันอาจยกเว้นการคุ้มครอง ดังนั้น ก่อนยื่นเรื่องเคลมกับบริษัทประกันน้องแคร์ขอแนะนำให้คุณเช็กเงื่อนไขในกรมธรรม์ก่อนเสมอ อย่างไรก็ตามการสมัครบัตรเครดิตกับ แรบบิท แคร์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คุณได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้โรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยรับบัตรเครดิตและมีโปรผ่อน 0% 10 เดือน หรือ 10% ให้คุณได้เลือกสรรตามเงื่อนไขของโรงพยาบาล เพราะหากคุณรักษามะเร็งผิวหนังด้วยการฉายแสง คุณสามารถรูดบัตรเคดิตจ่ายแทนการใช้เงินสด
เป็นนักเขียนสายสุขภาพและการเงินที่มีประสบการณ์ในการเขียนมากมาย โดยได้ฝากผลงานในหลากหลายรูปแบบที่เน้นด้านบริหารร่างกายและจิตใจ ทำงานที่ Rabbit Care และ Asia Direct ได้อย่างมืออาชีพ