ความดันโลหิตสูง โรคร้าย ฆาตกรเงียบ
โรคความดันโลหิตสูง แค่ชื่อโรคก็น่ากลัวแล้ว หลายคนน่าจะรู้ถึงความร้ายแรงของโรคนี้เป็นอย่างดี และที่น่ากลัวที่สุดคือผู้ที่เป็นโรคนี้มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องอยู่ในวัยสูงอายุ แต่วัยทำงานก็สามารถเป็นได้ เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นดีกว่า!
ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรละเลย
ความดันโลหิตสูง ใกล้ตัวกว่าที่คิด
โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นโรคร้ายแรง และเรียกว่าเป็นฆาตกรเงียบก็ไม่ผิด เพราะโรคนี้ไม่มีอาการแสดงให้เราจับสังเกต กว่าจะรู้ตัวก็อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตแล้ว ที่น่ากลัว คือผู้ป่วยมักไปตรวจพบที่โรงพยาบาลจากการมารักษาโรคอื่น ๆ ทำให้เกิดการรักษาที่ไม่ตรงจุด
สำหรับภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานแล้วไม่ได้รับการรักษา จะแสดงอาการปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย วิงเวียน สับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงจนไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญได้มากมาย อาทิ
หลอดเลือดแดงในตาเสื่อม อาจทำให้มีเลือดออกที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัว หรือตาบอดได้
โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากหัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว และถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดหัวใจโต และหัวใจวายในที่สุด
โรคหลอดเลือดสมอง เกิดภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคไตเรื้อรัง เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ทำให้เกิดไตวายได้อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
จะเห็นได้ว่า โรคที่เกิดจากความดันโลหิตสูง มีมากมาย โดยสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง หรือมีรสเค็มเป็นประจำ การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ภาวะอ้วน เครียดสะสม และอายุที่มากขึ้น
ทั้งนี้ รวมถึงการมีพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้องสายตรงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้มีโอกาสต่อการเกิดโรคนี้มากขึ้นด้วย
ส่องสถิติ โรคความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นทุกปี
โรคความดันโลหิตสูง ไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นบ่อยในไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก โดยมีสถิติออกมาบอกว่า ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงถึง 7.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลกเลยทีเดียว! โดยมีนักวิชาการ รวมทั้งแพทย์ ออกมาคาดว่าในปี 2568 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน!
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น เราสามารถพบโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน ในปี 2552 เป็น 13 ล้านคนในปี 2557 (สถิติจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2557) ที่น่าตกใจคือ เกือบครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่าตนเองป่วยด้วยโรคนี้ด้วยซ้ำ จึงไม่เกิดการรักษาที่ต่อเนื่อง เมื่อรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว
จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเกือบ 4 ล้านคนในปี 2556 เป็นเกือบ 6 ล้านคน ในปี 2561 (ข้อมูลจาก Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข)
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูง ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนผู้ป่วย จาก 5,186 คนในปี 2556 เป็น 8,525 คน ในปี 2560 (สถิติสาธารณสุข ปี 2560 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
และจากสถิติในปี 2557 มีการประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล พบว่าประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 80,000 ล้านบาทต่อปี ต่อจำนวนผู้ป่วยประมาณการ 10 ล้านคน (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) อีกด้วย
ป้องกันยังไง ให้ห่างจากความดันโลหิตสูง ?
โดยทั่วไปแล้ว หากใครเป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อช่วยให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมไปถึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูงได้ แต่วิธีทานยาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และจะไม่ได้ผลหากเรายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยคุณสามารถเริ่มต้นปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น
- เน้นออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา เช่น วิ่ง เดินเร็ว หรือว่ายนํ้าอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที เป็นระยะเวลา 3-6 วันต่อสัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ในกรณีที่มีภาวะอ้วน) และควรมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 18.5 – 22.9 กก./ตร.ม. มีเส้นรอบเอวอยู่ในเกณฑ์ มาตรฐาน สำหรับคนไทย คือ ผู้ชายไม่เกิน 90 ซม. (36 นิ้ว) และสำหรับผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม. (32 นิ้ว)
- เลิกหรือลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ดื่มอย่างพอเหมาะ
- งดหรือเลิกบุหรี่
- ลดความเครียดต่าง ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ลดอาหารเค็มจัด ลดอาหารมัน เพิ่มปริมาณผักผลไม้ในแต่ละมื้อ เน้นอาหารพวกธัญพืช ปลา นมไขมันต่ำ ถั่ว รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ พยายามหลีกเลี่ยงเนื้อแดง น้ำตาล หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เพราะจะช่วยให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ เพราะมียาบางชนิดทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
- ตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
โรคความดันโลหิตแม้จะน่ากลัว แต่หากเราเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถลดระดับความอันตรายได้ไม่ยาก และที่สำคัญการป้องกันไว้ก่อนย่อมสำคัญกว่า
นี่เลย ประกันโรคร้ายแรง จาก Rabbit Care ที่ให้คุณอุ่นใจและหมดกังวลกับค่าใช้จ่ายแพง ๆ จากการรักษาโรคร้าย คลิกเลย!
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct