วุ้นในตาเสื่อม วายร้ายที่ทำลายสายตาคุณแบบไม่รู้ตัว
ในการดำเนินชีวิตของคนเราทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การดำเนินกิจกรรมตามไลฟ์สไตล์ที่ชอบ ล้วนแต่ต้องใช้สายตาอย่างหนัก ในการมองดู สังเกตสิ่งรอบตัวต่าง ๆ
ดวงตาของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันออกไป บางคนสายตาสั้น บางคนสายตายาว การสวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์สายตา ก็จะช่วยให้การมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปกป้องดวงตาของคุณจากปัจจัยรอบนอกอื่น ๆ โดยเฉพาะรังสียูวีและแสงสีฟ้าที่อาจทำร้ายดวงตาของคุณจนเกิดอาการวุ้นในตาเสื่อม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอื่น ๆ เกี่ยวกับดวงตาของคุณ อาการจะเป็นยังไง ลองอ่านบทความนี้ได้เลย
ภาวะวุ้นในตาเสื่อม วายร้ายแฝงในดวงตาคุณ
วุ้นตา (Vitreous) คือส่วนประกอบหนึ่งในดวงตาของคนเรา มีลักษณะเป็นของเหลวใส เนื้อคล้าย ๆ ไข่ขาว อยู่ที่บริเวณหลังเลนส์ตา และยึดติดอยู่กับผิวจอตา หน้าที่ของวุ้นตาคือช่วยพยุงเพื่อให้ลูกตายังคงอยู่ในสภาวะเดิมและทำงานได้เป็นปกติ
ภาวะวุ้นตาเสื่อม โดยส่วนมากจะพบในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่มากขึ้นบวกกับร่างกายที่เสื่อมสภาพลง ส่งผลให้น้ำวุ้นตามีการหดตัวและหนาขึ้นเป็นบางจุด ซึ่งการหดตัวนี้จะทำให้น้ำวุ้นตาแยกตัวออกจากจอประสาทตา จึงเห็นเป็นเงาขึ้นขณะใช้สายตา
นอกจากนี้ยังพบได้ในคนกลุ่มอื่น เช่นผู้ที่มีสายตาสั้นมาก หรือผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา ก็มีส่วนทำให้วุ้นตาเสื่อมสภาพเร็วขึ้น รวมถึงคนในวัยทำงานที่เริ่มพบอาการวุ้นในตาเสื่อมมากขึ้น
อาการของคนที่มีภาวะวุ้นในตาเสื่อม เป็นยังไง?
จุดหยากไย่สีดำ
อาการผิดปกติในระยะแรกที่พบได้บ่อย ๆ คือการที่ดวงตาเริ่มมองเห็นจุดเล็ก ๆ สีดำมีลักษณะคล้ายหยากไย่ลอยไปมาอยู่ในดวงตา โดยเฉพาะในเวลาที่กลอกตาไป-มา หรือเวลาที่ทอดสายตาไปยังผนังสีขาวเรียบ ๆ หรือมองท้องฟ้า เกิดจากเงาของวุ้นตาที่เสื่อมและกลายเป็นจุดกับเส้นสีดำลอยอยู่ภายใน เมื่อกลอกตา จุดกับเส้นดังกล่าวจะเคลื่อนไหว จึงสังเกตเห็นเป็นอาการนี้ จุดและเส้นหยากไย่เหล่านี้ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อดวงตามากนัก เพียงแค่จะสร้างความรู้สึกรำคาญใจเวลามองสิ่งต่าง ๆ แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาก็อาจเพิ่มความรุนแรงของอาการขึ้นได้
แสงวาบคล้ายแฟลช
จากอาการในข้อแรกหากปล่อยไว้นานเกินไปโดยไม่ได้พักผ่อนสายตาหรือปรึกษาแพทย์ วุ้นในตาก็จะเริ่มเหลวและหดตัวมากขึ้น จนอาจจะลอกจากผิวบริเวณจอตา และดึงรั้งผิวจอตาจนส่งผลให้จอตาเห็นแสงวาบคล้าย ๆ แสงแฟลชของกล้องถ่ายรูป หรือแสงสว่างวาบคล้ายกับตอนฟ้าแลบ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ปกติหรือแม้แต่ตอนหลับตา อาการนี้จะสังเกตได้ชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างน้อย หรือในเวลากลางคืน
เงาดำและเลือดออกในวุ้นตา
สำหรับผู้ที่มีอาการหนักบางราย อาจมีอาการเลือดออกในวุ้นตา เนื่องจากมีวุ้นตาไปดึงรั้งบริเวณหลอดเลือดจอตาจนฉีกขาด เมื่อมีเลือดออกในวุ้นตากจะทำให้เห็นเงาดำมากขึ้น หากปล่อยไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้จอตาฉีกขาด และหากวุ้นตาเข้าไปในรอยขาดนั้นอาจทำให้เกิดจอตาลอกและส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
ภาวะวุ้นในตาเสื่อม รักษาได้ไหม ทำอย่างไร?
โดยปกติแล้ว ภาวะวุ้นตาเสื่อมเป็นอาการที่ไม่จำเป็นต้องรักษา (หากไม่พบอาการรุนแรงจริง ๆ) เป็นอาการที่สามารถลดลงได้เองหากลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อดวงตา อย่างไรก็ตาม ภาวะวุ้นตาเสื่อมนี้เป็นอาการที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ที่กำลังสงสัยว่าตนเองอาจมีภาวะวุ้นในตาเสื่อม และต้องการแนวทางในการดูแลรักษาลองพิจารณาอาการที่เป็นแล้วปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้
- หากเป็นอาการที่มองเห็นจุดดำลอยหรือเส้นคล้ายหยากไย่ลอยอยู่ในตา แพทย์จะทำการรักษาโดยวิธีการขยายรูม่านตา และทำการตรวจดูบริเวณจอประสาทตาว่าได้รับความเสียหายมาก-น้อยแค่ไหน หากยังไม่พบก็แสดงว่ายังไม่ถึงขั้นเสี่ยงอันตราย แต่ถ้าพบก็จะต้องติดตามอาการเพื่อรักษาต่อไป
- หากพบอาการที่รุนแรงกว่านั้น เช่นการเห็นแสงสว่างวาบคล้ายแสงแฟลช หรือมีอาการเลือดออกในวุ้นตา ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด หากแพทย์ประเมินอาการแล้วว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดอันตราย ก็จะทำการรักษาด้วยวิธีการยิงเลเซอร์เพื่อสลายตะกอนในวุ้นตา
ปัจจุบัน ภาวะวุ้นในตาเสื่อมเริ่มพบในกลุ่มมนุษย์ออฟฟิศมากขึ้น รวมถึงคนวัยทำงานที่ประกอบอาชีพที่ต้องใช้สายตาในการเพ่งมาก ๆ สาเหตุก็มาจากการที่ใช้สายตามากเกินไป หรือใช้สายตาในการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน แสงสีฟ้าบนจอทำให้ดวงตาต้องทำงานหนักมากขึ้นและมีความเหนื่อยล้า เมื่อสะสมนาน ๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมขึ้นได้
ถึงแม้จะเป็นอาการที่ดูเหมือนไม่ได้มีความร้ายแรงมาก แต่ก็ทำให้การใช้ชีวิตมีสะดุดไปได้เหมือนกัน ด้วยปัญหาของสายตาที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน ก็ควรดูแลดวงตาของคุณให้ดี เพราะดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่มีเพียงคู่เดียว อย่าใช้สายตาหนักเกินไปจนเกิดปัญหา เพราะการรักษานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ควรทำประกันสุขภาพไว้เผื่อในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษา
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี