เตือนภัยสายออกกำลังกาย! เล่นกีฬาหนักแล้วบาดเจ็บส่วนใดได้บ้าง!?
ทุกวันนี้ คนไทยให้ความสนใจในการเล่นกีฬามากขึ้น ไม่ว่าจะวิ่ง เล่นฟุตบอล บาสเก็ตบอล แบตมินตัน และอื่น ๆ ต่างมีคนสนใจและลองเรียนรู้เพื่อเล่นกีฬาเหล่านั้นอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจพบเจอกับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย ไปจนถึงบาดเจ็บจนต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน แรบบิท แคร์ จึงรวบรวมอาการบาดเจ็บที่สามารถพบเจอได้ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬามาให้ทุกคนแล้ว!
4 อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่พบได้บ่อย
คนเราสามารถบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือจากการออกกำลังกายได้ทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยมีหลายสาเหตุที่ทำให้ร่างกายบาดเจ็บ เช่น ไม่ยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย ใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้น ๆ มากจนเกินไป สภาพร่างกาย และการเข้าปะทะ (หากเป็นกีฬาที่ต้องมีการปะทะกันระหว่างผู้เล่น) อาการบาดเจ็บที่สามารถพบได้บ่อยมีอยู่ 4 อาการ ได้แก่
ตะคริว
อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่พบได้บ่อย เกิดจากการไม่ยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย ใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้น ๆ มากเกินไป หรือกล้ามเนื้อมีการปะทะ กระทบกระแทกจนฟกช้ำ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวและปวดในเวลาต่อมา โดยกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวได้บ่อยที่สุด ได้แก่ กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อส่วนหลัง การรักษาตะคริวเบื้องต้น คือการยืดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวให้มากที่สุด โดยยืดให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายสักประมาณ 2 นาที หรือจนกว่าจะหาย หากยังเป็นอยู่ ให้ยืดจนกว่าจะหาย ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดตะคริว คือการยืดกล้ามเนื้อ อบอุ่นร่างกาย (Warm-up) ก่อนออกกำลังกาย และคูลดาวน์ (Cool down) ร่างกายหลังออกกำลังกายเสร็จ อีกทั้ง หากเป็นไปได้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ มีความแข็งแรงมากขึ้น ส่งผลให้เป็นตะคริวได้ยากขึ้น และที่สำคัญที่สุด คือหลีกเลี่ยงการสูญเสียน้ำที่มากจนเกินไป ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และจิบน้ำระหว่างออกกำลังกายเรื่อย ๆ
กล้ามเนื้อบาดเจ็บ
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่มาจากกล้ามเนื้อที่หดตัวเอง มีการหดตัวที่คล้ายกับตะคริว แต่มีความรุนแรงมากกว่า เพราะเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวอย่างรุนแรงแล้ว ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไปในเวลาติดต่อกัน หรือใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นโดยที่กล้ามเนื้อไม่สามารถแบกรับน้ำหนักไว้ได้ ทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณกล้ามเนื้อฉีกขาด ส่วนใหญ่ กล้ามเนื้อส่วนที่ได้รับบาดเจ็บอยู่บ่อย ๆ เช่น กล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า และกล้ามเนื้อบริเวณส่วนหลังของต้นขา (แฮมสตริง) โดยกิจกรรมหรือกีฬาที่ทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้บ่อย เช่น วิ่ง ยกน้ำหนัก ฟุตบอล เป็นต้น หากมีอาการช้ำที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน หมายความว่าอาการบาดเจ็บมีความรุนแรงมาก วิธีการป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ คือหมั่นยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายให้พร้อมใช้งาน และควรใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้มีความแข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมหรือใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้น ๆ มากจนเกินไป
ข้อต่อ เอ็นบาดเจ็บ
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและออกกำลังกายอย่างการบาดเจ็บข้อต่อหรือเอ็น เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในกีฬาที่ต้องมีการปะทะร่างกายกัน เช่น ฟุตบอล และบาสเก็ตบอล หรือกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน เช่น แบตมินตัน กอล์ฟ และอื่น ๆ โดยข้อต่อและเอ็นส่วนที่มีการบาดเจ็บบ่อย คือข้อต่อและเอ็นส่วนเท้า โดยอาการบาดเจ็บขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการปะทะร่างกายกัน หรือในบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับว่าข้อต่อและเอ็นอยู่ในท่าที่ผิดธรรมชาติหรือไม่ หากอยู่ในท่าที่ผิดธรรมชาติแล้วถูกปะทะแล้ว มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บจนถึงขั้นฉีกขาดเพราะข้อต่อและเอ็นอยู่ผิดรูป โดยเฉพาะข้อต่อและเอ็นบริเวณหัวเข่าและข้อเท้า ที่จริงแล้ว วิธีการป้องกันการบาดเจ็บข้อต่อและเอ็นคือหลีกเลี่ยงการปะทะที่อาจทำให้บาดเจ็บ แต่ถ้าหากว่าจำเป็นต้องมีการปะทะแล้ว ควรระลึกไว้เสมอว่าต้องไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นบาดเจ็บ เพราะเมื่อข้อต่อและเอ็นบางจุดเสียหายแล้ว อาจไม่สามารถรักษาและฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้ 100 เปอร์เซ็นต์
กระดูกร้าว/หัก
กระดูกร้าวและกระดูกหักก็ถือว่าเป็นอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาอีกอาการหนึ่งที่อาจพบได้บ่อย โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะอยู่บ่อยครั้ง เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล รักบี้ เป็นต้น โดยการปะทะต้องมีความรุนแรงที่ค่อนข้างมาก จึงจะทำให้กระดูกร้าวหรือหักได้ หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ ร่างกายหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่ผิดธรรมชาติ แล้วถูกกระแทกหรือปะทะ ก็สามารถทำให้กระดูกส่วนนั้น ๆ ร้าวหรือหักได้ แน่นอนว่าการรักษาและฟื้นฟูกระดูกที่ร้าวหรือหักเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก ในผู้ป่วยบางราย อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างการฟื้นฟู เช่น เส้นเลือดแดงบาดเจ็บจากกระดูกหัก เนื้อเยื่อ ผิวหนัง หรือแม้แต่เส้นประสาทถูกทำลาย เป็นต้น อาการกระดูกร้าวและกระดูกหักเป็นอาการบาดเจ็บที่มาจากการปะทะหรือการออกแรงที่มากจนทำให้กระดูกไม่สามารถรับแรงได้ ดังนั้น จึงแนะนำได้แค่ว่าหากจำเป็นต้องใช้แรงในการออกกำลังกาย ไม่ควรหักโหมมากจนเกินไป หรือไม่ควรเข้าปะทะกับผู้เล่นคนอื่นแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้ทั้งเราและผู้เล่นคนอื่น ๆ บาดเจ็บได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งคู่
3 กรณีตัวอย่างอาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงของนักฟุตบอล
กีฬาหนึ่งที่สามารถเห็นตัวอย่างของอาการบาดเจ็บเหล่านี้ได้ คือกีฬาฟุตบอล ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมประเภทหนึ่งในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี บราซิล รวมถึงประเทศไทย ดังนั้น เราสามารถเห็นตัวอย่างของอาการบาดเจ็บรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการบาดเจ็บที่อันตรายถึงแก่ชีวิต โดยอาการเหล่านี้คือ 3 อาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในกีฬาฟุตบอล
อาการเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าบาดเจ็บ
อาการบาดเจ็บนี้เป็นอาการที่สร้างปัญหาให้กับนักเตะเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยข้อเข่าเป็นจุดสำคัญจุดนึงที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้เล่นที่มีอาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าต้องพักรักษาตัวจนกว่าอาการจะหายดี หากไม่ยอมรักษา จะทำให้อาการบริเวณข้อเข่าแย่ลง เพราะเป็นส่วนที่ประกอบไปด้วยกระดูก เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยมีนักเตะระดับโลกหลายคนที่มีอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาดังกล่าว ในช่วงระยะเวลา 10-20 ปี อาการนี้ทำให้นักเตะหลายคนไม่สามารถดึงศักยภาพของตัวเองมาได้ดั่งเดิม แต่ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำให้อาการนี้ไม่เป็นปัญหาเท่าเมื่อก่อน ยกตัวอย่างเช่น เวอจิล ฟาน ไดจ์ค (Virgil van Dijk) นักเตะกองหลังทีมลิเวอร์พูล (Liverpool) ที่บาดเจ็บจากอาการนี้เมื่อปี 2020 เพราะมีการปะทะกันกับผู้รักษาประตูทีมเอฟเวอร์ตัน (Everton) อย่างจอร์แดน พิกฟอร์ด (Jordan Pickford) โดยฟาน ไดจ์ค สามารถกลับมาลงเล่นให้กับลิเวอร์พูลได้ก่อนเปิดฤดูกาล 2021/22 และสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาลนั้น ถึงแม้ว่าจะกลับมาเล่นได้เหมือนปกติแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนานถึง 255 วันหรือ 8 เดือนครึ่ง จึงจะกลับมาลงเล่นให้กับทีมได้เหมือนเดิม ดังนั้น อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาอย่างอาการนี้ถือว่าเป็นอาการที่ต้องใช้ความอดทนและความมีวินัยในการรักษาและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาใช้งานได้แบบเต็มที่อีกครั้ง
กระดูกขาหัก
กระดูกขาหักถือเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้เป็นครั้งคราวในฟุตบอล แต่ก็สามารถทำให้นักเตะต้องพักฟื้นร่างกายยาวนานอยู่เหมือนกัน ในปี 2015 ลุค ชอว์ (Luke Shaw) นักเตะแบ็กซ้ายทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) บาดเจ็บจากเกมที่พบกับทีมพีเอสวี ไอนด์โฮเฟน (PSV Eindhoven) ในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (UEFA Champions League) หลังจากนั้น ต้องใช้เวลาถึง 7 เดือน จึงสามารถกลับมาลงเล่นให้กับทีมได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อปีนี้ อาการบาดเจ็บของเขาก็กำเริบขึ้นในระหว่างที่กำลังลงเล่นในรายการพรีเมียร์ลีก นัดที่เจอกับเลสเตอร์ ซิตี้ (Leicester City) ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวออกจากเกม และเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการกำเริบ โดยต้องใช้เวลาพักฟื้นอีกประมาณ 2-3 อาทิตย์ จากกรณีของลุค ชอว์ จะเห็นได้ว่า เมื่อได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาแล้ว ก็มีโอกาสที่อาการจะกำเริบหลังจากนั้นได้
กะโหลกศีรษะร้าว
กรณีอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาอย่างกะโหลกศีรษะร้าวที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือกรณีของ ปีเตอร์ เช็ก (Petr Čech) อดีตผู้รักษาประตูทีมเชลซี (Chelsea) ในปี 2006 นัดระหว่างเชลซีกับเรดิง (Reading) ปีเตอร์ เช็กถูกสตีเฟน ฮันต์ (Stephen Hunt) ผู้เล่นทีมเรดิง กระแทกเข้าไปที่ศีรษะของเช็กอย่างรุนแรง ส่งผลให้ต้องส่งตัวเช็กเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินทันที จากบทสัมภาษณ์ของเช็กเมื่อปี 2021 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสโมสรเชลซี เช็กได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า
“ทุก ๆ ครั้งหลังจากตื่นขึ้นในโรงพยาบาล คุณหมอก็เอาแต่ถามคำถามซ้ำ ๆ ทุกครั้ง แต่ผมก็ลืมคำตอบที่ผมตอบไปทุกที เมื่อผมนอนหลับไปอีกครั้ง พอตื่นขึ้นมา ผมก็จำอะไรไม่ได้เสียแล้ว กว่าผมจะจำทั้งคำถามคำตอบพวกนั้นได้ ก็ใช้เวลาตั้ง 3 วัน ซึ่งคำถามมันเกี่ยวกับว่าตอนนั้นผมอยู่ที่ไหน รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นตอนนั้นไหม อะไรทำนองนั้นน่ะ”
เช็กยังกล่าวอีกว่า ตอนนั้น เขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้เขากลับมาเล่นฟุตบอลที่เขารักได้อีกครั้ง เขาจึงทุ่มเทอีกครั้ง ผนวกกับความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ ครอบครัวและเพื่อน ๆ ทุกคน ทำให้เขาสามารถกลับมาลงเล่นเฝ้าประตูได้อีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไป 3 เดือน ซึ่งเร็วกว่าที่ทีมแพทย์หรือว่าคนอื่น ๆ คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้น
จากการรักษาอย่างต่อเนื่อง บวกกับสภาพจิตใจที่ดี และความมุ่งมั่นที่เต็มเปี่ยม ทำให้เขาสามารถกลับมาเล่นฟุตบอลได้อีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น เช็กต้องพบกับอาการข้างเคียงที่รุนแรงอย่างความจำเสื่อมชั่วขณะ และอาการปวดหัวอย่างรุนแรง และต้องสวมใส่เครื่องป้องกันศีรษะอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้รอยร้าวเคลื่อนที่
วิธีป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย
จากกรณีอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่ยกตัวอย่างมา ถึงแม้ว่าจะเป็นอาการที่รุนแรงและใช้เวลาพักฟื้นนาน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่เล่นกีฬาจะต้องพบเจอกับอาการบาดเจ็บแบบนี้ หากเป็นอาการบาดเจ็บเล็กน้อยอย่างตะคริว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขณะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย สามารถป้องกันได้ด้วยการอบอุ่นร่างกายก่อนเล่น หมั่นยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แข็งแรง หากเป็นการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่มาจากอุบัติเหตุระหว่างเล่น เช่น ถูกเข้าปะทะรุนแรง โดยเฉพาะเข้าปะทะโดยที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอยู่ผิดท่า นั่นหมายความว่าเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ดังนั้น ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอวัยวะส่วนต่าง ๆ อย่างเช่น สนับแข้ง สนับเข่า สนับแข้ง ตามที่แต่ละกีฬาได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเข้าปะทะนั้นพบได้น้อยถึงน้อยมากในชีวิตประจำวัน หากคุณไม่ได้เล่นกีฬาเหล่านั้นเป็นอาชีพอย่างจริงจัง
มากไปกว่านั้น จากอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่ได้ยกตัวอย่างมา สื่อให้เห็นว่าอาการบาดเจ็บเหล่านั้นต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจเป็นอย่างมากในการฟื้นฟูร่างกายที่บาดเจ็บให้กลับมาใช้งานได้ดั่งเดิม ด้วยฟุตบอลอาชีพมีทีมแพทย์ของแต่สโมสรคอยช่วยเหลือ รักษา และฟื้นฟูนักกีฬาของทีมตัวเองให้กลับมาลงสนามได้เร็วที่สุด แต่ในกรณีของคนทั่วไปแล้ว อาจเป็นการยากที่จะเข้ารับการรักษาได้รวดเร็วเท่ากับนักกีฬาอาชีพ ดังนั้น ควรป้องกันไม่ให้ทั้งตัวเองและผู้เล่นคนอื่น ๆ ต้องบาดเจ็บ เพราะหลาย ๆ คนอาจไม่สามารถเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีได้
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาแบบใด จะเกิดจากอุบัติเหตุหรือไม่ ก็สามารถทำให้เราปวดหัวได้ทั้งนั้น ดังนั้น การมีประกันสุขภาพไว้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ หากถึงยามเจ็บป่วย ก็สามารถใช้ประกันสุขภาพเบิกเคลมได้ หากคุณเลือกซื้อประกันสุขภาพกับแรบบิท แคร์ แน่นอนว่าคุณจะได้รับบริการสุดพิเศษจากเรา ไม่ว่าจะเป็น Health Consultant ที่ให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์ได้ Care Center 1438 ที่คอยอำนวยความสะดวกของคุณตลอด 24 ชั่วโมง และบริการอื่น ๆ อีกมากมาย แรบบิท แคร์ขอเชิญชวนให้ทุกคนหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน! 😀
สรุป
4 อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่พบเจอได้บ่อย ๆ ได้แก่ ตะคริว, กล้ามเนื้อบาดเจ็บ, ข้อต่อเอ็นบาดเจ็บ, และกระดูกร้าว/หัก รวมถึงมี 3 กรณีตัวอย่างของอาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงในสนามฟุตบอล เช่น อาการเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าบาดเจ็บ, กระดูกขาหัก, และกะโหลกศีรษะร้าว ในส่วนสุดท้ายวิธีป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย ซึ่งรวมถึงการอบอุ่นร่างกาย, การยืดกล้ามเนื้อ, และการใช้อุปกรณ์ป้องกัน
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี