โรค RSV เชื้อที่เด็กติดได้เพราะถูกหอมแก้ม
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก อาจจะเคยได้ยินชื่อของ “โรค RSV” กันมาบ้าง อาจจะทราบมาแค่ผิวเผินว่ามันคือโรคที่ติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส หรือที่มีดราม่ากันอยู่บ่อย ๆ ว่าลูกติดเชื้อโรคมาเพราะถูกหอมแก้ม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เชื้อโรคชนิดนี้ติดต่อได้อย่างที่คนพูดกันหรือไม่ และจะป้องกันให้ลูกน้อยได้อย่างไร Motherhood หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
โรค RSV คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งจำนวนมาก เช่น เสมหะ เชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม ผู้ป่วยจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายเป็นหวัด คือ ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล คนทุกเพศทุกวัยสามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ แต่พบมากในเด็กและทารก ซึ่งเป็นวัยที่มักเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้
อาการของโรค RSV
โดยปกติผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน ผู้ใหญ่หรือเด็กโตมักพบอาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ไอแห้ง เจ็บคอ ไวรัส RSV พัฒนาไปสู่โรคขั้นรุนแรงได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ โดยปกติ อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กโตและผู้ใหญ่จะดีขึ้นหลังได้รับการรักษาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ในเด็กเล็กและทารกหลังสัมผัสกับเชื้อไวรัสในช่วง 2-8 วัน อาจเกิดอาการที่รุนแรงมากกว่า โดยพบอาการได้ดังนี้
- หายใจเร็วกว่าปกติ
- หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด
- จาม ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล
- เบื่ออาหาร
- หงุดหงิดง่าย เซื่องซึม
สำหรับเด็กหรือทารกที่มีอาการดังนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
- ไอและมีเสมหะเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง
- มีน้ำมูกเหนียวทำให้หายใจลำบาก
- ปากหรือปลายนิ้วเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวคล้ำ เพราะขาดอ็อกซิเจน
- ประสบภาวะขาดน้ำ
- เด็กทารกที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เซื่องซึม เบื่ออาหาร หรือมีผื่นขึ้น
สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส RSV
สาเหตุหลักเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัส RSV ได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางการไอหรือการจาม
กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV ที่มีอาการรุนแรงได้สูง ได้แก่ เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด หรือผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป
การวินิจฉัยการติดเชื้อ
การวินิจฉัยจะเริ่มจากการตรวจทางกายภาพของผู้ป่วยก่อน จากนั้นจะใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อฟังเสียงหวีดในระบบทางเดินหายใจ เสียงการทำงานของปอด หรือเสียงผิดปกติจากส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย และแพทย์อาจใช้วิธีต่อไปนี้ร่วมในการวินิจฉัย
- วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry) เพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจน
- ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ตรวจหาไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ
- เอกซ์เรย์หน้าอก เพื่อตรวจหาโรคปอดบวม
- ตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งในจมูก
การรักษาการติดเชื้อ
ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการและประคับประคองให้หายใจได้ดีขึ้น แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล การดูแลและรักษาอาการที่บ้าน ทำได้ดังนี้
- เพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อระบบทางเดินหายใจที่ดีขึ้น แต่ไม่ควรให้ค่าความชื้นในอากาศมากเกินร้อยละ 50 เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ
- นั่งหรือนอนในตำแหน่งที่หายใจได้สะดวก เช่น นั่งตัวตรง ใช้หมอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลั่งไม่เหนียวจนเกินไป และไม่ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
- ใช้ยาหยอดจมูกเพื่อช่วยลดอาการบวมของจมูก อาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และดูดน้ำมูกเพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
- รับประทานยาในกลุ่มอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อลดไข้
ในกรณีที่ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์อาจใช้วิธีการรักษารูปแบบอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- รับประทานยาปฏิชีวนะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่น อาการปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้ยาพ่นขยายหลอดลม เพื่อบรรเทาอาการหายใจมีเสียงหวีด และดูดเสมหะเมื่อมีเสมหะข้นเหนียวจำนวนมาก เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
- แพทย์อาจใช้ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อขยายหลอดลมและลดอาการบวมของทางเดินหายใจ
- แพทย์อาจให้ออกซิเจน หรือใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจหากพบว่ามีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้
ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยที่เป็นทารกคลอดก่อนกำหนด เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ซึ่งจะส่งผลดังนี้
- โรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมฝอยอักเสบ เชื้อไวรัสจะเคลื่อนตัวจากระบบทางเดินหายใจช่วงบน ได้แก่ จมูก คอ ปาก ลงไปที่ระบบทางเดินหายใจช่วงล่าง ทำให้เกิดการอักเสบที่ปอดหรือทางเดินหายใจ พบอาการที่รุนแรงได้ในทารก เด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- การติดเชื้อในหูชั้นกลาง เกิดจากเชื้อเข้าไปในพื้นที่บริเวณหลังแก้วหู ทำให้เกิดหูน้ำหนวก พบมากในผู้ป่วยที่เป็นทารกและเด็ก
- โรคหอบหืด เชื้ออาจส่งผลระยะยาวทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดได้ในอนาค
ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่คุณพ่อคุณแม่สามาระแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อให้แก่ลูกได้ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนกินอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ
- ไม่ควรให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อหวัดหรือมีไข้
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
- ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
- ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อต้องเล่นร่วมกับเด็กที่ป่วย
- สอนลูกไม่ให้คนแปลกหน้าเข้ามาใกล้ หรือมากอด มาหอมแก้ม
ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องระวังเรื่องสุขภาพของลูกให้มากที่สุดไว้ก่อนนะคะ หมั่นสอนให้เขารักษาความสะอาดของตัวเองอยู่เสมอ ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนจะรับประทานอาหารหรือของว่าง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกับผู้ที่มีเชื้อหวัดด้วยค่ะ
อ่านบทความเกี่ยวกับแม่และเด็กเพิ่มเติมได้ที่ Story Motherhood
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี