เคล็ดลับดูแลสุขภาพจิต ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า โควิด-19 ไม่ได้เป็นแค่เชื้อไวรัสร้ายที่ทำลายสุขภาพ แต่มันยังก่อให้เกิดผลกระทบที่ลุกลามไปทั่ว อย่างที่เห็นได้ชัดคือสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงกว่าเดิม ทำให้คนไม่กล้าใช้เงิน หลายบริษัทต้องปิดตัวลงเพราะไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ ธุรกิจเล็ก ๆ ก็ซบเซาเพราะลูกค้าไม่กล้าออกจากบ้านมาใช้บริการ สถานศึกษาและองค์กรหลายแห่งประกาศให้ศึกษา-ปฏิบัติงานผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อลดการพบปะและเสี่ยงติดเชื้อ
เมื่อสิ่งที่คนเราเคยทำได้เป็นปกติถูกจำกัดขอบเขตด้วยความจำเป็นบางอย่าง และต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จึงทำให้หลายคนเริ่มเกิดความเครียดสะสมและเริ่มวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา สิ่งเหล่านี้ช่างไม่ดีต่อสุขภาพจิตเอาเสียเลย
ดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง พร้อมฝ่าวิกฤตโควิด-19
หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบและกำลังรู้สึกไม่สบายใจ เราขอชวนคุณมาทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เติมความแข็งแรงให้สุขภาพจิต จะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันเลย
ออกกำลังกาย
สุขภาพจิต ที่ดี ก็มักจะมาพร้อมกับสุขภาพกายที่แข็งแรง การออกกำลังกายนั้นไม่จำเป็นต้องออกหนัก ๆ หรือไปที่ยิม สำหรับใครที่ไม่มีเวลาเยอะก็เพียงแค่ใช้พื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านของคุณ กับเวลาสัก 15-30 นาที/วัน ก็สามารถออกกำลังกายด้วยท่าบริหารร่างกายแบบเบา ๆ ได้
การที่คนเราได้ออกกำลังกายหรือได้ใช้พลังงานในร่างกายไปกับการออกแรงต่าง ๆ จะส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็น “ฮอร์โมนแห่งความสุข” ที่จะช่วยให้รู้สึกอารมณ์ดี ผ่อนคลายความตึงเครียดลง เมื่ออารมณ์ดีขึ้นก็จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับความวิตกกังวลได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
สติสำคัญที่สุด
“สติมา ปัญญาเกิด” วลีนี้ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะการมีสติ อยู่กับปัจจุบัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีได้มากขึ้น และต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร แล้วต้องแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี สิ่งเหล่านี้ต้องพึ่งพาสติ บางสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของคนเราอย่างเช่นการกังวลถึงเรื่องที่จะเกิดในอนาคต อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพจิตของเราเท่าใดนัก มิหนำซ้ำยังจะยิ่งบั่นทอนกำลังใจทั้งตนเองและคนรอบข้างให้รู้สึกแย่โดยไม่รู้ตัว
ในสภาวะแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเราจะรู้สึกตื่นตระหนก กระวนกระวาย และกังวลใจในสิ่งเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น แต่คนที่จะรอดได้คือคนที่เรียกสติของตนเองกลับมาได้เร็วที่สุด การตามให้ทันความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง แล้วหาวิธีจัดการกับมันให้อยู่หมัด เมื่อนั้นเราจะรับมือกับทุกอย่างได้ดีขึ้น
เปิดใจทำสิ่งใหม่ ๆ
บางครั้งสุขภาพจิตที่แย่ก็อาจจะมาจากภาวะหมดไฟ (Burn out) เป็นภาวะที่รู้สึกเหนื่อย เฉื่อย และเบื่อจนไม่มีความรู้สึกสนุกเมื่อต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการใช้ชีวิต หากปล่อยให้รู้สึกแบบนี้นาน ๆ เข้าก็จะก่อให้เกิดการสั่งสมความเครียด ขาดชีวิตชีวา และอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย หงุดหงิดกับเรื่องเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลให้เรากลายเป็นบุคคลที่ Toxic ทั้งกับจิตใจตนเอง และอาจแพร่พลังงานลบไปยังคนรอบข้างจนไม่อยากอยู่ใกล้
ถ้ากำลังรู้สึกเบื่อชีวิตที่วนลูปเดิมทุกวัน ลองเปิดใจทำสิ่งใหม่ ๆ ดูบ้าง อาจจะเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยทำ อย่างเช่นการหัดทำอาหารเอง, การเรียนออนไลน์, ขายของออนไลน์, เล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำ แต่ปรับเปลี่ยน พลิกแพลงวิธีการ เช่นการเปลี่ยนมาใช้มือข้างที่ไม่ถนัดในการแปรงฟัน, เลือกเครื่องเขียน-Gadget ใหม่ ๆ มาใช้ในการเรียน/ทำงาน ฯลฯ สิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มความตื่นเต้นให้กับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ให้สมองได้เจอกับเรื่องที่ไม่คุ้นชินดูบ้าง ก็จะช่วยทั้งเรื่องของการพัฒนาตนเอง และยังช่วยลดความตึงเครียดลงได้ด้วย
พักผ่อนให้เพียงพอ
สิ่งที่ไม่ควรละเลยไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหนนั่นก็คือการพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะสมองจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หากขาดการพักผ่อน และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังร่างกายที่เหนื่อยล้า ไม่กระฉับกระเฉง อารมณ์ไม่คงที่ ทำให้เครียดง่ายกว่าเดิม
สภาพร่างกายที่ขาดการพักผ่อนและใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จะเริ่มส่งสัญญาณออกมาทั้งด้านสุขภาพกายที่อ่อนแอลง ร่วมกับสุขภาพจิตและสภาวะทางอารมณ์ที่อ่อนไหว
เพราะฉะนั้น เราจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้สมองได้ผ่อนคลาย ด้วยการนอนหลับ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน หรือลองหาเวลาสัก 15-30 นาทีระหว่างวัน ปลีกตัวออกจากงานมาหากิจกรรมผ่อนคลายสมอง เพื่อให้สมองได้พักบ้าง เช่นการเดินเล่น, ฟังเพลง, วาดรูป หรือนั่งสมาธิ
พบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
หากรู้สึกว่าสุขภาพจิตของตนเองกำลังอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง หรือกำลังรู้สึกว่าต้องการให้ใครสักคนช่วยเหลือ การไปพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยและรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เพื่อช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกมองไม่ดี เพราะการไปพบจิตแพทย์นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
คนในยุคนี้ต้องเผชิญกับสภาวะที่ทำให้เกิดความเครียดจากหลาย ๆ ด้าน การเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เพื่อให้เข้าใจกับสภาวะจิตใจของตนเอง และสามารถรับมือได้ การเข้าพบจิตแพทย์จึงเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้มักจะทำเมื่อยามที่เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตหนักหน่วงจนอาจแบกรับไว้ไม่ไหว จิตแพทย์จะช่วยดูแลได้
ตั้งแต่โลกของเราเริ่มมีการเข้ามาของเชื้อไวรัสโคโรน่า และเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสนั้นไปยังคนทั่วโลกจนเกิดผลกระทบมากมาย ทั้งวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ, การท่องเที่ยวคมนาคมต่าง ๆ, การติดเชื้อและแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับผู้คนจำนวนมาก แต่เราเชื่อว่า หากทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจของตนเองอย่างสม่ำเสมอ, สวมหน้ากากอนามัย, รักษาความสะอาดของร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้ อีกไม่นาน เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติเช่นเดิม ขอให้กำลังใจทุกท่านที่กำลังเผชิญปัญหา และขอให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี
มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct
และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น