วัยรุ่นเชียร์บอล ดูบอลโลกเพลินจนนอนดึก นอนไม่พอ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
นับถอยหลังเข้าสู่ Event ระดับโลก อย่างการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 22 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึง 18 ธันวาคมนี้ ณ ประเทศกาตาร์ แน่นอนว่าเหล่าคอบอลทั่วโลกต่างก็ตั้งหน้าตั้งตานับวันรอการถ่ายทอดสด เพื่อรอชมรอเชียร์บอลทีมโปรดของตัวเองอย่างใจจดใจจ่อ และสิ่งหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับการดูบอลโลกแบบนี้ ก็คือ “การนอนดึก” เพราะจะต้องเฝ้าหน้าจอรอชมถ่ายทอดสดการแข่งขันที่ส่วนมากมักจะมาตอนดึก ๆ ทำให้เกิดอาการนอนน้อย ชั่วโมงในการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ แล้วการนอนดึกมันจะเป็นอันตรายหรือไม่ แล้วนอนดึกแค่ไหนถึงเรียกว่านอนดึก น้องแคร์มีคำตอบ
การนอนสำคัญกับร่างกายคนเราอย่างไร?
ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าสุขภาพของคนเราจะดีมากน้อยแค่ไหน นอกจากจะขึ้นอยู่กับการกินแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับการนอนด้วย ซึ่งการนอนที่ว่านั้นก็ควรจะต้องเป็นการนอนหลับพักผ่อนที่มีประสิทธิภาพ คือ เฉลี่ยแล้วต้องนอนหลับพักผ่อนเป็นจำนวนชั่วโมง 6-8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะการนอนหลับสนิท ถือว่าเป็นการนอนหลับที่สมบูรณ์มีประสิทธิภาพ และการนอนให้เพียงพอนี้เองก็จะมีส่วนทำให้สุขภาพร่างกายของเราแข็งแรง ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานปกติ ดังนั้นเมื่อถึงเวลานอนแล้วไม่ยอมนอน นอนดึก นอนน้อย ทำให้นอนไม่พอ ก็จะมีส่วนทำให้ร่างกายของเราทำงานแปรปรวนไปจากเดิม จนอาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้
นอนดึก นอนน้อยแค่ไหน? เข้าข่ายอันตราย
ไม่ว่าจะเป็นการเข้านอนดึก การอดหลับอดนอน หรือการนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ทำให้จำนวนชั่วโมงที่ร่างกายเราจะได้รับการพักผ่อนซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอลดลง ไม่เพียงพอเท่าที่ร่างกายเราต้องการ โดยปกติแล้วหลักการสากลของการนอนหลับที่ถูกต้อง คือการนอนให้ครบ 6 – 8 ชม.ต่อวัน เป็นจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมที่สุดในการพักผ่อนร่างกาย นั่นแปลว่าหากใครที่ชอบนอนดึก อดหลับอดนอน ไม่ว่าจะเป็นเพราะรอดูบอลโลกที่กำลังจะเริ่มขึ้นในไม่ช้านี้หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ จนกลายเป็นคนนอนน้อยบ่อย ๆ ก็ค่อนข้างจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในทางการแพทย์มีการแบ่งประเภทของการนอนน้อย หรือการอดนอน จากการนอนดึกเป็นประจำ ออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ผู้ที่นอนน้อยหรืออดนอนในระยะสั้น ๆ คือ มีการนอนหลับพักผ่อน จำนวนชั่วโมงน้อยกว่า 3 ชม.ต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานานน้อยกว่า 36 ชม.
- ผู้ที่นอนน้อยหรืออดนอนแบบเรื้อรัง คือ มีการนอนหลับพักผ่อน จำนวนชั่วโมงน้อยกว่า 4 ชม.ต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 36 ชม.
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ที่ได้จากการทดลองพบว่า หากคนเรานอนดึกมากจนเหลือจำนวนชั่วโมงในการนอนหลับพักผ่อนน้อยกว่า 4 ชม.ต่อวัน ต่อเนื่องติดต่อกัน 14 วัน การตอบสนองต่าง ๆ สภาพร่างกาย จะเสมือนคนที่ไม่ได้นอนเลย 3 วัน เต็ม ๆ แน่นอนว่าเป็นอันตรายกับร่างกายเราแน่นอน ไม่ว่าจะเสี่ยงวูบ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ หรือเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ที่จะตามมาหากไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ
และที่น่าตกใจไปกว่านั้น ก็คือ มีรายงานผลวิจัยเกี่ยวกับการนอนจากทีมวิจัยประเทศอิตาลี ระบุว่า การนอนหลับพักผ่อนจำนวนชั่วโมงน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เสี่ยงตายเร็วมากกว่าการนอนหลับพักผ่อนจำนวนชั่วโมง 7-8 ชั่วโมงต่อวัน มากถึง 12% นั่นเป็นเพราะการนอนดึก นอนน้อย นอนไม่พอ สัมพันธ์กับสุขภาพร่างกายในการเกิดโรคต่าง ๆ นั่นเอง
อาการแบบไหนบ้าง? ที่บ่งบอกว่าเรานอนดึกเกินไป จำนวนชั่วโมงในการนอนไม่เพียงพอ
เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายของเราพักผ่อนไม่เพียงพอจากการนอนดึก นอนน้อย สิ่งแรกที่ร่างกายของเราจะแสดงอาการออกมาเพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่าเรากำลังใช้งานร่างกายหนักเกินไป ก็คือ อาการหาวตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- ไม่ค่อยมีสมาธิ สมาธิสั้น ใจลอย
- สัปหงก วูบหลับไปโดยไม่รู้ตัว 5-10 วินาที
- ตอบสนองต่อกิจกรรมต่าง ๆ ช้า การตัดสินใจแย่ลง
- รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น กระสับกระส่าย
- รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อยากอาเจียน
- ปวดหัวหรือเวียนหัว หลังตื่นนอน
- อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้รู้สึกอยากกินของหวาน
- ประสิทธิภาพในการควบคุมตัวเองลดลง
และสาเหตุที่ร่างกายแสดงอาการเหล่านี้ออกมา นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่เรานอนดึก นอนน้อย นอนไม่พอ ร่างกายและสมองของเราจะได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานภายในร่างกายแปรปรวนจนรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
อะไรคือสาเหตุของการนอนดึก การอดนอนกันนะ?
การที่คนเราจะนอนดึก ไม่ตรงตามเวลาที่สมควรนอน อาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากการทำงานที่ไม่เป็นเวลา รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เรานอนดึก นอนน้อยไปโดยปริยาย อย่างเช่น การสังสรรค์ การดูบอล โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลบอลโลก ที่จะมีการแข่งขันและถ่ายทอดสดยาวนานเกือบ 1 เดือน ใครที่เป็นคอบอลอยู่แล้วก็คงจะไม่พลาดรอรับชมการแข่งขันแน่ๆ ไม่ว่าจะถ่ายทอดสดดึกดื่นแค่ไหน ก็ถ่างตาอยู่รอเชียร์ทีมโปรด และเช้ามาก็ตื่นไปทำงานต่อแบบสะโหลสะเหล เพราะนอนไปไม่กี่ชั่วโมง
อีกสาเหตุหนึ่งด้านวิทยาศาสตร์ ที่สามารถทำให้เรานอนดึกได้ ก็คือ ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้ร่างกายสามารถควบคุมการนอนหลับหรือการตื่นนอนของเราได้ ดังนั้นการที่เรานอนดึกก็อาจเกิดขึ้นได้ หากกระบวนการผลิตเมลาโทนินในร่างกายของเรามีความผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น
- สภาพแวดล้อมในขณะนอนไม่เหมาะสม
อาจจะอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างมากจนเกินไป หรือมีเสียงดังรบกวนตลอดเวลา ทำให้นอนไม่หลับจนเวลาล่วงเลยไปถึงดึกดื่น กลายเป็นนอนดึกไป เมื่อหลับแล้วก็หลับไม่สนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะมีสิ่งรบกวนดังกล่าว
- การมีกิจกรรมสังสรรค์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แน่นอนว่าเมื่อมีกิจกรรมสังสรรค์สนุกสนาน มาพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะทำให้ร่างกายของเราตื่นตัวไม่รู้สึกง่วงนอน จนลืมเวลาที่เคยเข้านอนเป็นประจำไป
- การเปลี่ยนเวลาเข้านอนไปจากเดิม
ซึ่งส่วนมากก็จะเกิดขึ้นได้กับการทำงานในอาชีพที่ต้องมีการสลับเวลาในการเข้างานอยู่ตลอดเวลา ทำให้ได้นอนตอนกลางคืนบ้าง นอนตอนกลางวันบ้าง ร่างกายอาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน กลายเป็นคนนอนดึกไปโดยไม่รู้ตัว
- อาการเจ็ตแล็ก (Jet lag) จากการเดินทาง
เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เรานอนดึกโดยความจำเป็น เนื่องจากเวลาเปลี่ยนไปจากเดิมที่เราเคยชิน เกิดขึ้นเมื่อได้เดินทางไปยังสถานที่ที่โซนเวลาแตกต่างไปจากเดิม
- การได้รับยาบางชนิดที่ทำให้ง่วงนอน
ตัวยาบางชนิดเมื่อร่างกายดูดซึมเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการง่วงซึม ซึ่งอาจจะเกิดอาการในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่ช่วงเวลานอน อย่างเช่น ตอนกลางวัน พอหลับไปจากฤทธิ์ยาแล้ว เมื่อถึงตอนกลางคืนที่เป็นเวลานอนจริง ๆ ก็อาจจะรู้สึกไม่ง่วงเพราะนอนหลับในช่วงกลางวันมาแล้ว ก็ทำให้ต้องนอนดึก เลยเวลาที่ต้องนอนเป็นปกติไป
- ความเครียดและความวิตกกังวล
ไม่ว่าจะเป็นความเครียดและความกังวลเรื่องงาน หรือเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ล้วนมีผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวายใจจนล่วงเลยเวลาเข้านอนไปจนดึกดื่นหรือบางครั้งนอนไม่หลับถึงเช้า ก็ยิ่งทำให้จำนวนชั่วโมงในการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ยิ่งสะสมนานวันอาจจะกลายเป็นโรคเรื้อรังได้
การนอนดึก มีผลกระทบอะไรบ้าง เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เรานอนดึก ย่อมส่งผลในทางลบกับร่างกายของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ยิ่งถ้ามีการนอนดึก นอนน้อยเป็นประจำเรื้อรัง ก็ยิ่งส่งผลต่อร่างกายรุนแรงมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาจากการนอนดึก นอนน้อยเป็นประจำเรื้อรัง ก็อย่างเช่น
- มีผลกระทบกับระบบหลอดเลือด เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ
มีผลการวิจัยทางการแพทย์พบว่า คนที่นอนดึก นอนน้อย นอนไม่พอ พักผ่อนไม่เต็มที่เป็นประจำ จำนวนชั่วโมงในการนอนน้อยกว่า 4 ชม.ต่อวัน มักจะมีอาการปวดศีรษะและความจำสั้น เมื่อทำการตรวจร่างกายโดยการเอ็กซเรย์พบว่ามีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ และเมื่อให้คนกลุ่มนี้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่เพียงพอ อาการหลอดเลือดสมองตีบก็ดีขึ้น ซึ่งยืนยันได้ว่าการนอนดึก นอนน้อย นอนไม่พอ มีผลกับระบบหลอดเลือดจริง ๆ
- มีผลกระทบกับระบบการทำงานของหัวใจ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
การนอนดึกจนเป็นนิสัย ทำให้ชั่วโมงในการนอนหลังพักผ่อนในแต่ละวันไม่เพียงพอ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว รวมไปถึงโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานด้วย
- มีผลกระทบกับระบบควบคุมความอยากอาหาร เสี่ยงเป็นโรคอ้วน
การนอนดึก นอนน้อย จะส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ทำให้เราเกิดอาหารหิว ต้องการรับประทานอาหารมากขึ้น จากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีผลการวิจัยพบว่าคนอายุน้อยหรือวัยทำงาน มีโอกาสอ้วนสูงจากการนอนดึก นอนน้อย ซึ่งอาจจะเกิดจากพฤติกรรมการทำงานหรือการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ดูหนัง ดูบอลรอบดึก แล้วมีการรับประทานอาหารไม่ว่าจะเป็นขนมหรือของกินเล่นไปด้วยในระหว่างทำกิจกรรม ก็ยิ่งเป็นองค์ประกอบเสริมที่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้มากขึ้น
- มีผลกระทบกับระบบประสาทส่วนกลาง เสี่ยงมีอาการทางจิต
การนอนดึกสะสมกันเป็นเวลานานและเป็นประจำ ทำให้ร่างกายอดหลับอดนอนชนิดรุนแรง มีผลทำให้การทำงานของระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง ความคิด ความจำ การตอบสนองต่าง ๆ จึงทำได้ช้าลง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางจิตใจและอารมณ์ ทำให้รู้สึกอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย มีอาการหูแว่ว หวาดระแวงผู้คนจะมาทำร้าย รวมถึงเห็นภาพหลอนและมีอาการซึมเศร้าผิดปกติหรือร่าเริงผิดปกติ อาการคล้ายโรคอารมณ์สองขั้ว
- มีผลกระทบกับระบบภูมิคุ้มและต่อมไร้ท่อ ทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
เมื่อเด็กพักผ่อนไม่เพียงพอในแต่ละวัน ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตในร่างกายอย่าง Growth hormone หลั่งออกมาได้น้อยลง ร่างกายเด็กก็จะไม่เจริญเติบโตตามเกณฑ์ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ ส่วนวัยรุ่นเมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอ ฮอร์โมน Testosterone ก็จะมีระดับลดลง ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ ทำให้มีลูกยากในอนาคต
แล้วต้องนอนอย่างไรถึงจะเพียงพอ?
จำนวนชั่วโมงในการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอที่หลายๆคนเข้าใจว่า จะต้องนอนหลังพักผ่อนให้ได้วันละ 6 – 8 ชั่วโมงนั้น จริง ๆ แล้วเป็นเพียงคงคิดว่าคนเราต้องนอนให้ได้ 8 ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ แต่จริงๆแล้วเป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น การนอนที่เพียงพอคือการนอนที่มีประสิทธิภาพ หลับสนิทตลอดคืนจนรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเอง จะทำให้รู้สึกชดชื่นกระปรี่กระเปร่าตลอดทั้งวัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว จำนวนชั่วโมงในการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอจะถูกแบ่งไปตามช่วงวัยแต่ละวัย นั่นหมายความว่าการนอนหลับเป็นระยะเวลา 6 – 8 ชั่วโมงตามค่าเฉลี่ย ไม่ได้เหมาะกับคนทุกวัยนั่นเอง โดยสามารถแบ่งตารางในการนอนที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ตามข้อมูลจาก National Sleep Foundation ได้ ดังนี้
- ช่วงอายุแรกเกิด 0 – 3 เดือน ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 14 – 17 ชั่วโมง
- ช่วงอายุ 4 – 11 เดือน ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 12 – 15 ชั่วโมง
- ช่วงอายุ 1 – 2 ปี ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 11 – 14 ชั่วโมง
- ช่วงอายุ 3 – 5 ปี ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 10 – 13 ชั่วโมง
- ช่วงอายุ 6 – 13 ปี ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 9 – 11 ชั่วโมง
- ช่วงอายุ 14 – 17 ปี ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 8 – 10 ชั่วโมง
- ช่วงอายุ 18 – 25 ปี ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 7 – 9 ชั่วโมง
- ช่วงอายุ 26 – 64 ปี ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 7 – 9 ชั่วโมง
- ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรมีจำนวนชั่วโมงในการนอนตั้งแต่ 7 – 8 ชั่วโมง
นั่นหมายความว่าหากคุณนอนดึก จนทำให้เหลือชั่วโมงในการนอนหลับพักผ่อนเพียงวันละ 4 – 5 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น แสดงว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ นอนน้อย นอนไม่พอ
เราจะแก้ปัญหาการนอนดึก นอนไม่พอได้อย่างไรบ้าง?
สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาการเข้านอนดึก นอนไม่พอ สามารเริ่มทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่อาจส่งผลต่อการนอนของคุณ ดังต่อไปนี้
- จำกัดเวลาในการนั่งหรือนอนบนเตียง
วิธีการก็คือคุณต้องแข็งใจไม่ขึ้นไปนั่งหรือนอนบนเตียง จนกว่าจะถึงเวลาเข้านอนของคุณ หรือจนกว่าคุณจะรู้สึกง่วงจริง ๆ เท่านั้น ไม่นอนดูทีวีเชียร์บอล หรือนอนเล่นเกมส์มือถือบนเตียงนอนเด็ดขาด และหากลงไปนอนบนเตียงแล้ว ภายใน 20 นาที ยังไม่สามารถนอนหลับได้ให้ลุกออกจากเตียงเพื่อไปหากิจกรรมอย่างอื่นที่กระตุ้นให้คุณรู้สึกง่วงเร็วขึ้น อย่างเช่น อ่านหนังสือ ฟังดนตรีบรรเลง ที่สำคัญในระหว่างวันจะต้องไม่มีการแอบงีบหลับเป็นอันขาด
- กำหนดช่วงเวลาในการนอนในทุก ๆ วัน
เป็นการจัดตารางเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการเข้านอน กำหนดว่าเราจะเข้านอนในช่วงเวลาใดในทุก ๆ วัน อย่างเช่น เข้านอนช่วงเวลา 4 ทุ่ม นั่นแปลว่าในทุก ๆ วัน ช่วงเวลา 4 ทุ่ม คุณจะต้องยุติทุกกิจกรรมที่กำลังทำอยู่หรือต้องการจะทำ แล้วรีบไปเข้านอนตามเวลา โดยไม่ผ่อนปรนเพื่อทำให้คุณมีโอกาสนอนดึก จนทำให้จำนวนชั่วโมงในการพักผ่อนน้อยลง
- งดทำกิจกรรมที่ส่งผลให้คุณเข้านอนดึก นอนน้อย
อย่างเช่น การดื่มกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มกระตุ้นประสาทต่าง ๆ การออกกำลังกาย 4 – 6 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาเข้านอน การดูรายการทีวีไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ การแข่งขันฟุตบอล และอื่น ๆ รวมไปถึงการเล่นมือถือก่อนเข้านอน 30 นาที เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้การเข้านอนของเราล่าช้าไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนัก รสจัด ก่อนถึงเวลาเข้านอน
เพราะการรับประทานอาหารมื้อหนัก ประเภทบุฟเฟ่ต์เนื้อสัตว์ อาหารรสชาติจัดจ้าน ทั้งเค็ม หวาน เผ็ด ก่อนถึงเวลาเข้านอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง จะทำให้ร่างกายเรารู้สึกไม่สบายช่วงท้องเพราะอาหารที่เพิ่งรับประทานเข้าไปยังไม่ย่อยดี ต้องใช้เวลาในการย่อย 2 – 3 ชั่วโมงเลยทีเดียวกว่าจะย่อยเสร็จ การเข้านอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จ จึงทำให้เรามีโอกาสนอนไม่หลับ จนล่วงเลยเวลเข้านอนของเรา ในที่สุดก็ทำให้เรานอนดึก นอนไม่พอนั่นเอง
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่พฤติกรรมการนอนที่ไม่เป็นไปตามเวลาที่เหมาะสม จนทำให้เราติดนิสัยการนอนดึก จะมีผลกับสุขภาพของเราได้รุนแรงถึงขั้นเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงอย่างหัวใจ หลอดเลือดในสมองตีบ ความดัน และเบาหวานได้ รู้แบบนี้แล้ววัยรุ่นนอนน้อยทั้งหลาย ก็ควรหันมาใส่ใจการรักษาสุขภาพกันให้มากขึ้น ยิ่งช่วงเทศกาลการแข่งขันฟุตบอลโลกแบบนี้ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะทำให้เรานอนดึกไปโดยปริยาย ถึงอย่างไรการดูแลสุขภาพก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรทำ หากคุณมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงชอบนอนดึกเป็นประจำ น้องแคร์ขอแนะนำให้วางแผนซื้อประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรงติดตัวไว้ เพื่อเป็นตัวช่วยหากคุณเจ็บป่วยและเป็นเครื่องหมายเตือนใจให้คุณดูแลสุขภาพให้ดีมากขึ้น วางแผนสุขภาพกับน้องแคร์ ที่แรบบิท แคร์ ตั้งแต่วันนี้ มีแต่คุ้ม!
มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct
และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น