ถั่งเช่า ดีต่อสุขภาพจริงหรือภัยเงียบ ?
ช่วงนี้สิ่งที่กำลังเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในประเด็นสุขภาพเห็นจะหนีไม่พ้น “ถั่งเช่า” เพราะธุรกิจอาหารเสริมที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบหลักกำลังเป็นที่แพร่หลายในท้องตลาดอย่างมาก มีโฆษณาสรรพคุณเกินจริงทางเคเบิลทีวีแทบทุกช่อง ทำให้บรรดาลูกหลานต่างเป็นห่วงผู้หลักผู้ใหญ่ที่บ้านว่าจะหลงซื้อมารับประทาน ซึ่งก็ได้มีผู้สูงอายุจากหลายครอบครัวหลงเชื่อและสั่งมารับประทานกันมากมาย ที่น่าเสียใจก็คือบางคนได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิต จึงทำให้หลาย ๆ คนเริ่มสงสัยว่าถั่งเช่าคืออะไรกันแน่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินใครออกมาพูดถึงอันตรายของมัน สรุปแล้วมันมีประโยชน์จริงหรือเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพของคนเรา หากอยากรู้ ติดตามได้ในบทความเลยค่ะ
ถั่งเช่าคืออะไร ?
ถั่งเช่า หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามของ “ไวอะกร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย” เรียกในภาษาจีนกลางว่า ตงถงเซี่ยเฉ่า แปลเป็นไทยได้ว่า ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า จนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “หญ้าหนอน” ถั่งเช่าประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน ซึ่งเป็นตัวหนอนของผีเสื้อกลางคืน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hepialus armoricanus Oberthiir และบนตัวหนอนมีเชื้อราเห็ดชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps sinensis (Berk.) Saec.
ถั่งเช่าพบได้ในแถบทุ่งหญ้าบนภูเขาประเทศจีน ธิเบต เนปาล และภูฏาน ในระดับความสูง 10,000-12,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล และจะเติบโตได้เฉพาะพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเฉพาะเจาะจงคือ อุณหภูมิในฤดูหนาวต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง แต่พื้นดินต้องไม่กลายเป็นน้ำแข็ง
ในฤดูหนาว หนอนชนิดนี้จะฝังตัวและจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ มันถูกสปอร์ของเห็ดราที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนในสกุล Ophiocordyceps อาศัยเป็นปรสิต เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์ของเห็ดราจะถูกพัดพาไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ เมื่อฤดูร้อนมาถึง สปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใย โดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอน จากนั้นเส้นใยก็งอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์เพื่อเติบโต พวกมันจึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกดูคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อย ๆ ตายไป และมีลักษณะของหนอนตายซาก ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ถั่งเช่าที่คนนิยมนำมาสกัดเป็นยาก็คือตัวหนอนและเห็ดที่แห้งตายแล้วนั่นเอง
ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงถั่งเช่า ซึ่งส่วนใหญ่เพาะในบริเวณภาคใต้ของประเทศจีน ในมณฑลชิงไห่ เขตซางโตวในธิเบต มณฑลเสฉวน ยูนนาน และกุ้ยโจว การเก็บถั่งเช่าจะนิยมเก็บในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ เมื่อขุดตัวหนอนขึ้นจากดินแล้ว ก็จะนำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วตากแห้ง
มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือ ?
ถั่งเช่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนมานานนับศตวรรษ คนจีนเชื่อว่าหนอนชนิดนี้มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณ ที่ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ บำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต เป็นต้น
ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (Galactomannan) นิวคลีโอไทด์ (Adenosine, Cordycepin) Cordycepic acid กรดอะมิโน และสเตอรอล (Ergosterol, Beta-sitosterol) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่าง ๆ (E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม
จากการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น ถึงแม้จะมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในคนอย่างเป็นระบบมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น
-
กรณีศึกษาฤทธิ์ต่อการกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ
พบว่าการวิจัยในผู้ชาย 22 คน ที่ใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริม พบว่าช่วยเพิ่มจำนวนของสเปิร์มได้ 33% และมีผลลดปริมาณของสเปิร์มที่ผิดปกติลง 29% และมีอีกกรณีศึกษาในผู้ป่วยทั้งชายและหญิงจำนวน 189 คน ที่มีความต้องการทางเพศลดลงจากปกติ พบว่าถั่งเช่าสามารถช่วยทำให้ความต้องการทางเพศของพวกเขาสูงขึ้น 66%
-
กรณีศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
โดยการให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานถั่งเช่าปริมาณ 3 กรัมต่อวัน พบว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 95% ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เพียง 54% เท่านั้น
-
กรณีศึกษาฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของไต
มีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง 28 คนรับประทานถั่งเช่าปริมาณ 3-5 กรัมต่อวัน พบว่าถั่งเช่าส่งผลลดปริมาณเม็ดเลือดขาวบางชนิด และอาจส่งผลดีต่อการทำงานของไตได้ แต่งานวิจัยฉบับนี้ไม่สามารถระบุรายละเอียดของวิธีการวิจัยหรือสิ่งที่ใช้วัดผลการทำงานของไตที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ถั่งเช่าที่เก็บเกี่ยวในธรรมชาติมักมีสารหนูและโลหะหนักอื่น ๆ ปนเปื้อนอยู่ในปริมาณสูง จึงอาจเป็นพิษได้ ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของจีน (CFDA) ได้ควบคุมการจำหน่ายถั่งเช่าอย่างเข้มงวด และนำถั่งเช่าออกจากประเภทอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งออกคำแนะนำในการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า โดยระบุว่า ‘ในถั่งเช่าแห้งและแคปซูลผงถั่งเช่าบริสุทธิ์มีปริมาณสารหนู 4.4 – 9.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม’ และ ‘มีความเสี่ยงสูงในการบริโภค’
-
อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ แถมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อต้นเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประกาศให้ถั่งเช่าอยู่ในบัญชีแดงพืชหรือสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ประเภทเกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ (VU) โดยระบุว่า การเก็บเกี่ยวถั่งเช่ามากเกินไปทำให้จำนวนถั่งเช่าลดลงอย่างน้อย 30% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ อาร์เอส ราวาล จากสถาบันสิ่งแวดล้อมหิมาลัยแห่งชาติของอินเดียเผยว่า การที่ชาวบ้านเข้าไปตั้งแคมป์เก็บถั่งเช่าส่งผลให้เกิดแรงกดอัดที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้เนินเขาที่ถั่งเช่าเติบโตยุบตัวลงด้วย ซึ่งในที่สุดเนินเขาอาจต่ำลงมากจนไม่เหมาะกับการเติบโตของถั่งเช่า เนื่องจากถั่งเช่าเติบโตได้ที่ความสูงไม่ต่ำกว่า 3,500 เมตรเท่านั้น
กินอาหารเสริมถั่งเช่าดีไหม ?
ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีข้อควรระวังเกี่ยวกับสมุนไพรถั่งเช่าออกมาแนะนำประชาชน ดังนี้
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือดที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่ก่อนแล้ว
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressive) เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
- สำหรับกลุ่มคนไข้ที่มีเชื้อ HIV ต่ำ เช่น มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะอาจจะเกิดปัญหาการติดเชื้อราได้
- ห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ
- การใช้ในผู้มีครรภ์ ผู้ที่ให้นมบุตร และในเด็ก ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อย แพทย์และผู้เชี่ยวชาญส่วนมากจึงมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องหาอาหารเสริมถั่งเช่ามารับประทาน ยิ่งโดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ยิ่งไม่ควรเสี่ยงไปรับประทานยาหรืออาหารเสริมใดที่อยู่นอกเหนือการควบคุมดูแลของแพทย์ประจำตัวอย่างเด็ดขาด และสำหรับบุคคลทั่วไป หากเรารับประทานอาหารให้ถูกหลัก ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายตามสมควรแล้ว เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสรรหาอาหารเสริมใด ๆ ก็ตามมารับประทานเพิ่มอีก
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี