อัปเดตมาตรการ LTV ปี 2566 กู้ซื้อบ้านปีนี้ต้องใช้เงินดาวน์เท่าไหร่นะ?
สำหรับใครที่กำลังวางแผนจะซื้อบ้าน คงอาจจะเคยได้ยินคำว่า “มาตรการ LTV” กันมาบ้างแล้ว และหลายคนอาจจะทราบว่าในปี 2566 นี้ มีการยกเลิกการปลดล็อก LTV ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แล้ว LTV คืออะไรกันแน่ มาตรการ LTV ที่อัปเดตใหม่ล่าสุดมีรายละเอียดอย่างไร และการยกเลิกการปลดล็อก LTV จะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง แรบบิท แคร์ มีคำตอบ
LTV คืออะไร
LTV คืออัตราส่วนที่ธนาคารสามารถออกสินเชื่อได้เมื่อเทียบกับราคาบ้าน ซึ่งย่อมาจากคำว่า Loan to Value Ratio และจะเป็นการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำที่ผู้ขอสินเชื่อบ้านต้องจ่ายไปในตัว
ยกตัวอย่างเช่น หากกำหนด LTV ไว้ที่ 90% ธนาคารจะสามารถออกสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านราคา 1,000,000 บาทได้ไม่เกิน 900,000 บาทเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่ต้องการกู้เงินซื้อบ้านจะสามารถกู้เงินจากธนาคารได้ไม่เกิน 900,000 บาท และต้องออกเงินส่วนที่เหลือเป็นเงินดาวน์ 100,000 บาท
LTV เป็นหนึ่งในมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกำหนดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อบ้าน ซึ่งจะช่วยลดการก่อหนี้เกินตัวและการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมาตรการ LTV จะเน้นไปที่การกำหนดเงินดาวน์สำหรับบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 3 รวมถึงบ้านที่มีราคาเกิน 10 บ้านบาท ทำให้มั่นใจว่าผู้ที่ต้องการซื้อบ้านในลักษณะดังกล่าวมีความสามารถในการซื้อจริง ซึ่งจะลดการก่อหนี้เสียและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
อัปเดตมาตรการ LTV ปี 2566
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการผ่อนคลายมาตรการ LTV เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูง ความต้องการซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ๆ ลดลง การปลดล็อกมาตรการ LTV จึงเป็นการกระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวม
การปลดล็อกมาตรการ LTV เพื่อสนับสนุนโครงการบ้านล้านหลัง ล่าสุด ช่วยให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 และบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท สามารถกู้ได้ 100% โดยไม่ต้องวางเงินดาวน์ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 1 ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% เพื่อตกแต่งบ้าน จึงช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านแต่ไม่ต้องการออกเงินสดในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง มีความมั่นใจที่จะซื้อบ้านมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกมาตรการ LTV ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป และบ้านที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาทในปี 2566 จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการ LTV ที่วางไว้
มาตรการ LTV กำหนดให้ผู้กู้ต้องวางดาวน์ขั้นต่ำโดยพิจารณาจากราคาบ้านและสัญญากู้ว่ากู้เป็นหลังที่เท่าไหร่ หากเป็นสัญญากู้บ้านหลังแรกและบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท จะสามารถกู้ซื้อบ้านให้ได้ 100% เต็มมูลค่าบ้านและยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้าน
ทั้งนี้ เป็นเพราะมาตรการ LTV ถูกกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ไม่ปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการมีบ้านหลังแรกสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น จึงไม่ได้มีการกำหนดเงินดาวน์สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรก รวมถึงยังส่งเสริมการซื้อบ้านหลังแรกด้วยการให้กู้เพิ่มได้อีก 10% อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากเป็นสัญญากู้บ้านหลังที่ 2 ราคาไม่เกิน 10 ล้าน ซึ่งเสี่ยงต่อการก่อหนี้เกินตัวและการซื้อเพื่อเก็งกำไร มาตรการ LTV กำหนดให้ผู้กู้จะต้องวางดาวน์โดยพิจารณาระยะผ่อนของสัญญากู้บ้านหลังแรกร่วมด้วย โดยหากผ่อนบ้านหลังแรกมาเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี จะต้องวางเงินดาวน์สำหรับบ้านหลังที่ 2 ทั้งหมด 10% และหากผ่อนบ้านหลังแรกมายังไม่ถึง 2 ปี จะต้องวางเงินดาวน์สำหรับบ้านหลังที่ 2 ทั้งหมด 20%
ส่วนบ้านที่มีราคาเกิน 10 ล้านบาท ซึ่งเสี่ยงต่อการก่อหนี้เกินตัวเช่นกัน มาตรการ LTV กำหนดให้ผู้กู้จะต้องวางเงินดาวน์ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังที่เท่าไหร่ก็ตาม โดยหากเป็นบ้านหลังที่ 1 จะต้องวางเงินดาวน์ 10% ส่วนบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 3 จะต้องวางเงินดาวน์ 20% และ 30% ตามลำดับ
เราสามารถสรุปมาตรการ LTV ปี 2566 ได้ตามตารางด้านล่าง
ราคาบ้าน | จำนวนสัญญากู้ | เงินดาวน์ขั้นต่ำ |
ไม่เกิน 10 ล้านบาท | สัญญากู้หลังแรก | กู้ได้เต็มมูลค่าบ้านและกู้เพิ่มได้ 10% สำหรับตกแต่งบ้าน |
สัญญากู้หลังที่ 2 | - 10% หากผ่อนสัญญาแรกแล้ว 2 ปีขึ้นไป | |
สัญญากู้หลังที่ 3 ขึ้นไป | 30% | |
10 ล้านบาทขึ้นไป | สัญญากู้หลังแรก | 10% |
สัญญากู้หลังที่ 2 | 20% | |
สัญญากู้หลังที่ 3 ขึ้นไป | 30% |
มาตรการ LTV 2566 จะส่งผลต่อผู้ขอสินเชื่อบ้านอย่างไร
ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกกังวลว่ามาตรการ LTV จะส่งผลต่อการขอสินเชื่อบ้านของตนเองอย่างไร แรบบิท แคร์ ได้รวบรวมกรณีต่าง ๆ มาให้แล้วว่าหากต้องการซื้อบ้านในปี 2566 จะต้องวางเงินดาวน์เท่าไหร่ตามข้อกำหนดของมาตรการ LTV
ขอสินเชื่อบ้านหลังที่ 1 วางเงินดาวน์เท่าไหร่
- หากราคาบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท มาตรการ LTV กำหนดให้สามารถกู้ได้เต็มมูลค่าบ้าน และกู้เพิ่มได้อีก 10% เพื่อตกแต่งบ้าน
- หากราคาบ้านเกิน 10 ล้านบาท มาตรการ LTV กำหนดให้วางเงินดาวน์ 10%
ขอสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 วางเงินดาวน์เท่าไหร่
- หากราคาบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท และผ่อนบ้านหลังแรกมานานกว่า 2 ปี มาตรการ LTV กำหนดให้วางเงินดาวน์ 10%
- หากราคาบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท และผ่อนบ้านหลังแรกมาน้อยกว่า 2 ปี มาตรการ LTV กำหนดให้วางเงินดาวน์ 20%
- หากราคาบ้านเกิน 10 ล้านบาท มาตรการ LTV กำหนดให้วางเงินดาวน์ 20%
ขอสินเชื่อบ้านหลังที่ 3 วางเงินดาวน์เท่าไหร่
- หากเป็นการกู้บ้านหลังที่ 3 มาตรการ LTV กำหนดให้วางเงินดาวน์ 30% ไม่ว่าราคาจะมากกว่า 10 ล้านบาทหรือน้อยกว่า 10 ล้านบาทก็ตาม
ถ้ากู้ร่วมจะนับจำนวนสัญญากู้อย่างไร
บางคนอาจจะสงสัยว่า หากเคยกู้ร่วมในสินเชื่อบ้านหลังอื่นมาแล้ว และต้องการซื้อบ้านอีกหลังหนึ่ง จะนับเป็นบ้านหลังแรกหรือบ้านหลังที่ 2 คำตอบคือ มาตรการ LTV กำหนดให้ดูจากดูจากกรรมสิทธิ์ของบ้านหลังที่กู้ร่วม หากเคยกู้ร่วมซื้อบ้านมาแล้ว แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าว จะยังไม่นับว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาบ้านหลังแรก
ดังนั้น หากคุณเคยกู้ร่วมซื้อบ้านหลังหนึ่งมาก่อน แต่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้น เมื่อไปกู้ซื้อบ้านอีกหลัง จะนับว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังแรก และไม่จำเป็นต้องวางเงินดาวน์
แต่หากคุณมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังที่กู้ร่วมด้วย เมื่อไปซื้อบ้านอีกหลัง จะถือว่าบ้านอีกหลังเป็นบ้านหลังที่ 2 ตามข้อกำหนดของมาตรการ LTV และต้องวางเงินดาวน์ 10% หรือ 20% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการผ่อนบ้านหลังแรกที่กู้ร่วมและราคาของบ้านหลังที่ 2
และนี่ก็คือสรุปมาตรการ LTV ฉบับอัปเดตปี 2566 หากใครที่ต้องการซื้อบ้านในปีนี้ อย่าลืมมาดูกันว่าตัวเองเข้าเกณฑ์ไหนและต้องวางเงินดาวน์เท่าไหร่เพื่อให้สามารถเตรียมตัวกู้ซื้อบ้านได้อย่างถูกต้องกันด้วยนะ
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct