อัปเดตภาษีที่ดิน 2567 ใครต้องจ่ายบ้าง จ่ายที่ไหน จ่ายเมื่อไหร่ ที่นี่มีคำตอบ!
ขึ้นปีใหม่ 2567 หลายคนอาจจะกำลังคิดเรื่องการเสียภาษีของปีนี้ ซึ่งบางคนนอกจากจะต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแล้ว ยังต้องเสียภาษีที่ดินอีกด้วย แล้วภาษีที่ดินคืออะไร ใครต้องจ่ายบ้าง แล้วต้องไปเสียภาษีที่ดินที่ไหน และสำหรับปี 2567 นี้ ต้องเสียภาษีเมื่อไหร่ แรบบิท แคร์ ได้รวบรวมคำตอบมาให้ทุกคนแล้ว
ภาษีที่ดินคืออะไร
ภาษีที่ดินคือภาษีที่ผู้ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยมีชื่อเต็มว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2563
นอกจากภาษีที่ดินจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่า ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้เป็นระบบมากขึ้น และนำมาใช้แทนที่ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวมถึงภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกัน
สำหรับปี 2566 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในการปรับลดภาษีที่ดินแและสิ่งปลูกสร้าง 2566 ลง 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยถือเป็นหนึ่งในมาตรการของโครงการมอบของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้ประชาชน
ใครต้องเสียภาษีที่ดินบ้าง
ผู้ที่ต้องเสียภาษีที่ดินจะต้องเป็นผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือก็คือมีชื่ออยู่ที่หลังโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยจะเริ่มนับจากวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น ๆ เช่น ถ้าซื้อบ้านและโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ก็จะต้องเสียภาษีที่ดิน 2566 เนื่องจากถือกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวอยู่ในวันที่ 1 มกราคม 2566
หากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายคน ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคนจะเป็นผู้รับผิดชอบการเสียภาษีที่ดินร่วมกัน และหากถ้าเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเป็นคนละคนกัน ก็จะแยกกันเสียภาษีในส่วนที่ตนเองเป็นเจ้าของ เช่น เราปลูกบ้านอยู่บนที่ดินของพ่อ พ่อก็จะเป็นคนจะเสียภาษีในส่วนของมูลค่าที่ดิน และเราก็จะเสียภาษีในส่วนของมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ดินมีกี่ประเภท
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามการใช้ประโยชน์ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม และที่ดินว่างเปล่า ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีอัตราภาษีที่ไม่เท่ากัน โดยการใช้งานเป็นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมจะเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าการใช้งานในเชิงพาณิชย์และกรณีไม่มีการใช้งาน มาดูกันว่าภาษีแต่ละประเภทเรียกเก็บในอัตราเท่าไหร่
ภาษีที่ดินที่อยู่อาศัย
การเก็บภาษีที่ดินที่อยู่อาศัยจะพิจารณาจากการใช้งานด้วยว่าใช้อยู่อาศัยเป็นบ้านหลักหรือไม่ โดยดูจากชื่อในทะเบียนบ้านหลังดังกล่าว หากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังใดก็จะนับบ้านหลังนั้นเป็นบ้านหลัก ส่วนบ้านหลังอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าของก็จะบ้านหลังรอง โดยการเก็บภาษีทั้งบ้านหลักและบ้านรองมีรายละเอียดดังนี้
กรณีเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านหลัก)
ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียวและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้น ๆ จะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราตามตารางด้านล่าง
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี | ภาษีที่ต้องจ่ายต่อ 1 ล้าน |
0-50 ล้านบาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 บาท |
50-75 ล้านบาท | 0.03% | 300 บาท |
75-100 ล้านบาท | 0.05% | 500 บาท |
100 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% | 1,000 บาท |
ตัวอย่างเช่น A เป็นเจ้าของบ้านมูลค่า 10 ล้านเพื่ออยู่อาศัยเป็นบ้านหลักโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี
กรณีเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง (บ้านหลัก)
ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว (ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน) และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้น ๆ จะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราตามตารางด้านล่าง
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี | ภาษีที่ต้องจ่ายต่อ 1 ล้าน |
0-10 ล้านบาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 บาท |
10-50 ล้านบาท | 0.02% | 200 บาท |
50-75 ล้านบาท | 0.03% | 300 บาท |
75-100 ล้านบาท | 0.05% | 500 บาท |
100 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% | 1,000 บาท |
ตัวอย่างเช่น B เป็นเจ้าของบ้านมูลค่า 11 ล้านเพื่ออยู่อาศัยเป็นบ้านหลักโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน แต่ B สร้างบ้านหลังดังกล่าวบนที่ดินที่พ่อของ B เป็นเจ้าของ ก็หมายความว่า B จะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.02%
กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป
ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไปจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราตามตารางด้านล่าง
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี | ภาษีที่ต้องจ่ายต่อ 1 ล้าน |
0-50 ล้านบาท | 0.02% | 200 บาท |
50-75 ล้านบาท | 0.03% | 300 บาท |
75-100 ล้านบาท | 0.05% | 500 บาท |
100 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% | 1,000 บาท |
ตัวอย่างเช่น C เป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่งและคอนโดอีกหลังหนึ่ง ซึ่ง C ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของคอนโด C ก็จะต้องเสียภาษีที่ดินสำหรับคอนโดเริ่มต้นที่อัตรา 0.02%
ภาษีที่ดินเกษตรกรรม
ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่ยกเลิกการยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรม โดยทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทที่ทำเกษตรกรรมจะต้องเสียภาษีในปีนี้ แต่บุคคลธรรมดาจะยังได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับมูลค่าที่ดิน 50 ล้านบาทแรกอยู่
กรณีเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม
ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรมและเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราตามตารางด้านล่าง
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี | ภาษีที่ต้องจ่ายต่อ 1 ล้าน |
0-50 ล้านบาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 บาท |
50-125 ล้านบาท | 0.01% | 100 บาท |
125-150 ล้านบาท | 0.03% | 300 บาท |
150-550 ล้านบาท | 0.05% | 500 บาท |
550-1,050 ล้านบาท | 0.07% | 700 บาท |
1,050 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% | 1,000 บาท |
กรณีเป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม
ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรมและเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทที่ทำเกษตรกรรมจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราตามตารางด้านล่าง
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี | ภาษีที่ต้องจ่ายต่อ 1 ล้าน |
0-75 ล้านบาท | 0.01% | 100 บาท |
75-100 ล้านบาท | 0.03% | 300 บาท |
100-500 ล้านบาท | 0.05% | 500 บาท |
550-1,000 ล้านบาท | 0.07% | 700 บาท |
1,000 ล้านบาทขึ้นไป | 0.1% | 1,000 บาท |
ภาษีที่ดินเชิงพาณิชย์
ภาษีที่ดินเชิงพาณิชย์คือภาษีที่เรียกเก็บจากที่ดินที่ไม่ได้ใช้อยู่อาศัย เช่น การทำการค้าในรูปแบบของร้านค้า ร้านอาหาร ออฟฟิศ โรงแรม โดยจะอัตราภาษีจะสูงกว่าภาษีที่อยู่อาศัยถึง 10 เท่า
กรณีเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์
ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการเป็นที่อยู่อาศัยจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราตามตารางด้านล่าง
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี | ภาษีที่ต้องจ่ายต่อ 1 ล้าน |
0-50 ล้านบาท | 0.3% | 3,000 บาท |
50-200 ล้านบาท | 0.4% | 4,000 บาท |
200-1,000 ล้านบาท | 0.5% | 5,000 บาท |
1,000-5,000 ล้านบาท | 0.6% | 6,000 บาท |
5,000 ล้านบาทขึ้นไป | 0.7% | 7,000 บาท |
ภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์
ภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์คือภาษีที่เรียกเก็บจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสมควร ซึ่งจะเจ้าของที่ดินประเภทนี้จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงพอ ๆ กับที่ดินเชิงพาณิชย์
กรณีเป็นเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์
ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราตามตารางด้านล่าง
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษีต่อปี | ภาษีที่ต้องจ่ายต่อ 1 ล้าน |
0-50 ล้านบาท | 0.3% | 3,000 บาท |
50-200 ล้านบาท | 0.4% | 4,000 บาท |
200-1,000 ล้านบาท | 0.5% | 5,000 บาท |
1,000-5,000 ล้านบาท | 0.6% | 6,000 บาท |
5,000 ล้านบาทขึ้นไป | 0.7% | 7,000 บาท |
หากปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้รกร้างว่างเปล่าติดต่อกัน 3 ปี จะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 0.3% และเพิ่มขึ้นอีก 0.3% ในทุก ๆ 3 ปีหากยังไม่ได้นำมาทำประโยชน์ แต่สูงสุดไม่เกิน 3%
คำนวณภาษีที่ดินอย่างไร
การคำนวณภาษีที่ดินจะคำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้นตามสูตรดังนี้
“มูลค่าฐานภาษี x อัตราภาษี = ค่าภาษีที่ดิน”
อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2566 นี้ จะมีการปรับลดภาษีที่ดินแและสิ่งปลูกสร้างลง 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามมาตรการของโครงการมอบของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้ประชาชน ดังนั้น หลังจากคำนวณภาษีที่ดินเรียบร้อยแล้ว ให้หักภาษีที่ต้องจ่ายจริงได้อีก 15%
เช่น D มีเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินมูลค่า 150 ล้านบาทโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ถือเป็นบ้านหลัก) จะคำนวณภาษีที่ดินได้ดังนี้
ฐานภาษี | มูลค่า | อัตราภาษีต่อปี | ภาษีที่ต้องจ่าย |
ขั้นที่ 1 | 50 ล้านบาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 บาท |
ขั้นที่ 2 | 25 ล้านบาท | 0.03% | 7,500 บาท |
ขั้นที่ 3 | 25 ล้านบาท | 0.05% | 12,500 บาท |
ขั้นที่ 4 | 50 ล้านบาท | 0.1% | 50,000 บาท |
รวมภาษีทั้งหมด | 70,000 บาท | ||
ลดภาษี 15% เหลือ | 59,500 บาท |
เสียภาษีที่ดินที่ไหน
เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ ซึ่งสถานที่ชำระก็จะจะแตกต่างกันไปตามประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
- เทศบาล ให้เสียภาษีที่ สำนักงานเทศบาล
- อบต.ให้เสียภาษีที่ องค์กรบริหารส่วนตำบล
- กรุงเทพ ให้เสียภาษีที่ สำนักงานเขตกรุงเทพ
- พัทยา ให้เสียภาษีที่ สำนักงานเมืองพัทยา
เสียภาษีที่ดินเมื่อไหร่
เนื่องจากในปี 2566 มีประกาศจากกระทรวงมหาดไทยให้ขยายกำหนดเวลาการเสียภาษีออกไป 2 เดือน จึงทำให้ลำดับเวลาในการเสียภาษีที่ดิน 2566 มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี
- เลื่อนจากภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นภายในเดือนเมษายน 2566
- ผู้เสียภาษีจ่ายภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี
- เลื่อนจากภายในเดือนเมษายน 2566 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2566
- ผู้เสียภาษีผ่อนชำระภาษี 3 งวด (ในกรณีค่าภาษีเกิน 3,000 บาท)
- ชำระงวดที่หนึ่ง เลื่อนจากภายในเดือนเมษายน 2566 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2566
- ชำระงวดที่สอง เลื่อนจากภายในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2566
- ชำระงวดที่สาม เลื่อนจากภายในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2566
แล้วแบบนี้ อัปเดตภาษีที่ดิน 2567 มีอะไรบ้าง?
ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประจำปี 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2567 เป็นการทั่วไป ออกไป 2 เดือน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศ พร้อมจัดทำข้อมูลเกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ จากเดิมภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นภายในเดือนมกราคม 2567
- ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการประกาศประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษี จากเดิมก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2567
- ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการแจ้งการประเมินภาษี โดยส่งแบบประเมินภาษีให้ประชาชนผู้เสียภาษี จากเดิมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นภายในเมษายน 2567
- ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2567 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2567
- ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการผ่อนชำระภาษี ดังนี้
- งวดที่ 1 จากเดิมชำระภายในเดือนเมษายน 2567 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2567
- งวดที่ 2 จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2567
- งวดที่ 3 จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2567
- ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้าง จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2567 เป็น ภายในเดือนกรกฎาคม 2567
- ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2567
น้องแคร์หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจเรื่องภาษีที่ดิน 2567 กันมากขึ้น และตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ที่ทุกคนอาจมีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ภาษีที่ดินคืออะไร ใครต้องเสียภาษีที่ดินบ้าง คำนวณภาษีที่ดินอย่างไร ต้องไปเสียภาษีที่ดินที่ไหน และอย่าลืมนึกถึงแรบบิท แคร์ เมื่อต้องการรีไฟแนนซ์, ขอสินเชื่อบ้านหรือ กู้เงินสร้างบ้าน เพิ่มด้วยนะ
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี