กรมศุลฯ เผยยอดเก็บภาษี ปีงบประมาณ 2562 ทะลุเป้า!
- กรมศุลฯ เผยผลการจัดเก็บภาษีช่วง 2 เดือนแรก (ต.ค.-พ.ย.) ของปีงบประมาณ 2562 ยอดการจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 10% โดยจัดเก็บได้ 19,000 ล้านบาท
- แนวทางป้องกันการเลี่ยงภาษีการค้าผ่าน e-Commerce (อี-คอมเมิร์ซ) กรมศุลกากรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงมีแผนจะติดตั้งเครื่องเอกซเรย์สินค้าในด่านศุลกากรไปรษณีย์หลักสี่ กรุงเทพฯ
กรมศุลฯ มีเฮ! จัดเก็บภาษีทะลุเป้า
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร ได้ออกมาเปิดเผยว่า ผลจากการจัดรายได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 เดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน 2561 ยอดการจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายประมาณ 10% ซึ่งจัดเก็บได้ 19,000 ล้านบาท ทำให้คาดเดาได้ว่า ตลอดทั้งปีงบประมาณ จะสามารถจัดเก็บได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 100,000 ล้านบาท
สาเหตุที่มีการจัดเก็บภาษีทะลุเป้าในครั้งนี้ เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในประเทศดีขึ้นตามไปด้วย โดย รถยนต์เป็นหนึ่งในสินค้าหลัก ที่มียอดการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ในระยะเวลาที่ผ่านมา จึงทำให้กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้เกินเป้าในครั้งนี้
กรมศุลกากร (The Customs Department) มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรหลายประเภทจากการนำสินค้าเข้าหรือส่งออก ได้แก่
- อากรศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
- ภาษีสรรพสามิตแทนกรมสรรพสามิต
- ภาษีเพื่อมหาดไทยแทนกระทรวงมหาดไทย
- ภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากร
- ภาษีอากรอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น อากรพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทุ่มตลาด
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังมีหน้าที่ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามกฎหมาย อันได้แก่
- ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
- ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
- ค่าธรรมเนียมพิเศษกระทรวงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
- ค่าธรรมเนียมประภาคารตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย
อุดช่องโหว่ การจัดเก็บภาษี
ต้องยอมรับว่า สำหรับการจัดเก็บภาษี ในบางครั้ง อาจจะยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง ครั้งนี้จึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บมากขึ้น โดยการอุดช่องโหว่การจัดเก็บภาษีด่านชายแดนเพื่อนบ้าน ที่มักจะมีการลักลอบนำสินค้าทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น มะพร้าว หรือกระเทียม เข้ามาในประเทศ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บแล้ว ยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกษตรกรในประเทศได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าต่างประเทศอีกด้วย
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้ามะพร้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า(AFTA) โดยมีกำหนดตรวจสอบภายในสิ้นปีนี้ และอยู่ระหว่างการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้มะพร้าวเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. … โดยจะกำหนดให้นำเข้ามะพร้าวได้เพียง 2 ด่าน คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น เพื่อบริหารจัดการการนำเข้ามะพร้าวไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมภายในประเทศ
นอกจากนี้งยังวางแนวทางในการป้องกันการเลี่ยงภาษีการค้าผ่าน e-Commerceโดยกรมศุลกากรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการค้าผ่าน e-Commerce นับวันมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีแผนจะติดตั้งเครื่องเอกซเรย์สินค้าด่านศุลกากรไปรษณีย์หลักสี่ กรุงเทพฯ ที่จะทำให้การเอกซเรย์สินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเก่า
ทั้งนี้ทางด้าน นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจสามารถนำเงินส่งรายได้แผ่นดิน ได้สูงถึง 60,425 ล้านบาท นับว่าสูงกว่าประมาณการถึง 10,956 ล้านบาท หรือ 22% ของเป้า ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด 5 ลำดับแรกได้แก่
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารออมสิน
- สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
เรียกว่าปีนี้ประเทศมีรายได้เข้ามาหมุนเวียนในการบริหารอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งก็เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนที่มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของประเทศให้คึกคักอยู่ตลอดทั้งปี ลองมาลุ้นดูว่าปี 2562 สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะคึกคักมากเพียงใด
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th/content/1443936 และ https://www.prachachat.net/economy/news-262688
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี