เตรียมรับมือให้ดี กับนโยบายดึงเงินฝาก 10 ปีเข้าคลัง

เชื่อว่า ข่าวเศรษฐกิจที่เป็นที่น่าจับตามองที่สุดในตอนนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “นโยบายที่จะดึงบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกิน 10 ปีขึ้นไปนำมาเป็นเงินคงคลัง” ทั้งเงินออมทรัพย์ ฝากประจำต่างๆ ซึ่งคาดกันว่า น่าจะมีมากกว่า 10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
พอข่าวนี้ออกมา เรียกได้ว่าตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโลกออนไลน์ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาทางลบ คือ คลังทำแบบนี้มันไม่ถูก เงินที่เราหามาด้วยความยากลำบากจะยึดไปได้ยังไง แบบนี้ปล้นกันชัดๆ นี่นา เป็นต้น
หรือมีอีกหลากหลายความเห็น เช่น บ้างก็วิจารณ์ว่า รัฐบาลถังแตกเรียบร้อยแล้วเลยต้องทำแบบนี้ ส่วนตัวอยากจะให้มาลองวิเคราะห์กันเป็นเรื่องๆ ไปก่อน มากกว่าจะใช้ความคิดเห็นเพื่อตัดสิน
2 ประเด็นที่เงินฝาก 10 ปีถูกดึงเข้าเงินคงคลัง
บัญชีไม่เคลื่อนไหวมีโอกาสที่จะเป็นบัญชีแบบไหนบ้าง?
คิดว่าบัญชีไม่เคลื่อนไหว 10 ปีขึ้นไป คงจะไม่ใช่บัญชีที่รับเงินเดือนของเรา หรือว่าเป็นบัญชีที่เราออมเงินไว้เพื่อทำอะไรแน่นอน แต่เชื่อว่ามากกว่า 90% น่าจะเป็นบัญชีที่เจ้าของเสียชีวิตไปแล้ว แล้วไม่ได้แจ้งลูกหลาน หรือไม่ก็เป็นบัญชีที่เราลืมไปว่าเคยเปิดไว้
ถ้าในกรณีที่เราลืมไปว่าเคยมีบัญชีเปิดไว้ เงินในนั้นก็คงไม่มากเท่าไหร่ เผลอๆ ถ้ามีเงินไม่เกิน 2,000 บาทเกิน 1 ปี ก็โดนธนาคารเก็บค่าธรรมเนียมหมดแล้วด้วยซ้ำ
ซึ่งถ้าถามต่อว่า เปรียบเทียบกับเงินเป็นหมื่นล้านที่ถูกนอนทิ้งไว้ ผลประโยชน์ก็เข้าบริษัทเอกชนอย่างธนาคาร กับเงินไปสร้างประโยชน์โดยรัฐบาล ดูๆ แล้วเราน่าจะได้ประโยชน์จากรัฐบาลมากกว่า ถ้าเราไม่ได้ถือหุ้นของกลุ่มธนาคารไว้ ถ้ามองมุมนี้ การที่คลังเอาเงินฝาก 10 ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศ และระบบเศรษฐกิจน่าจะดีกว่า
สมมติว่าเงินฝาก 10 ปีถูกดึงเข้าคลังไปแล้ว
ส่วนอีกประเด็นก็คือ ถ้าเงินเราถูกดึงเข้าคลังไปแล้ว เกิดเราไปค้นบ้านใหม่จัดบ้านใหม่ แล้วดันเจอสมุดบัญชีธนาคารขึ้นมา แล้วเช็คเงินว่าหายไปไหน โดนดึงไปหรือเปล่า ก็สามารถเอาคืนมาได้ เพราะเขาไม่มีสิทธิ์ในเงินเราขนาดที่ว่ายึดเงินไปเลย ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่า รัฐบาลจะยึดเงินไปแล้วไม่คืน
ถ้าเกิดรัฐบาลใช้นโยบายดึงเงินฝาก 10 ปีที่ไม่เคลื่อนไหวเข้าคลังจริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินที่มีอยู่จะหายไปจากบัญชีเงินฝากเลย แต่น่าจะมีขั้นตอนการแจ้งเตือนเจ้าของบัญชีก่อน ถ้าใครเคยมีเงินในบัญชีต่ำกว่า 2,000 บาท แล้วเกิน 1 ปีขึ้นไป ธนาคารก็จะส่งมาแจ้งว่า มีค่าธรรมเนียมรายเดือน ฯลฯ ยังไงก็แล้วแต่ น่าจะมีการแจ้งในรูปแบบนั้นสำหรับบัญชีไม่เคลื่อนไหว
กรณีก็เหมือนกับบริการพร้อมเพย์ ที่ถูกแรงต้าน ทั้งๆ ที่เป็นบริการที่มีข้อดีเยอะมาก แถมไม่ได้บังคับใช้ด้วย ใครอยากใช้ก็สมัคร ไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องสมัคร ขนาดพร้อมเพย์ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนให้การโอนเงินเป็นเรื่องง่ายขึ้น ยังโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์เยอะเลย ปัญหาหลักน่าจะเป็นการสื่อสารและภาพลักษณ์ ต้องยอมรับว่า รัฐบาลไทยมีปัฐหาที่ยังแก้ไม่ตกอยู่ ณ ปัจจุบันนี้