ลุยน้ำท่วม เสี่ยงเจอโรคอะไรบ้าง ?
ในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ หลายพื้นที่อาจจะไม่ได้ประสบปัญหาแค่ฝนฟ้าเท่านั้น แต่ยังเจอปัญหาเรื่องน้ำท่วมอีกด้วย! แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงโรคไข้หวัดเท่านั้นที่เสี่ยงจะเป็นบ่อยในช่วงฤดูเปลี่ยนแปลง แต่ยังมีโรคอื่น ๆ ที่แฝงมากับน้ำท่วมมากมาย ตาม Rabbit Care ไปดู และหาทางรับมือกันเถอะ
ลุยน้ำท่วม ต้องระวังโรคอะไรบ้าง?
โรคปอดบวม
หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงเสียด้วยซ้ำว่าจะเป็นโรคนี้เมื่อต้องลุยน้ำท่วม โดยโรคปอดบวมนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในปอด เช่น น้ำสกปรกจนทำให้เกิดการอักเสบ ไข้ขึ้นสูง ไอหนักมาก หายใจเร็ว ริมผีปากซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือง่วงซึม
ความน่ากลัวของโรคปอดบวมที่มาพร้อมน้ำท่วม คือ การเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างการ ติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะถ้าเชื้อแบคทีเรียซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไม่ได้รับการรักษาทันที อาจอักเสบทั่วร่างกาย ทำให้ลิ่มเลือดอุดตัน ส่งผลต่อการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะที่สำคัญของร่างกายไม่เพียงพอ ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้เลยนะคะ
จากสถิติแล้ว ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดถึง 50% จะเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว ดังนั้นหากมีอาการไข้สูงจากกลุยน้ำท่วม หรือตากฝนเป็นประจำ ก็ควรเร่งพบแพทย์โดยด่วน
ไข้ไทฟอยด์
สำหรับ ไข้ไทฟอยด์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่อยู่ในน้ำและอาหารเช่นเดียวกับอหิวาตกโรค ซึ่งแพร่ระบาดโดยการดื่มน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ในช่วงแรกมักจะไม่แสดงอาการทันที แต่จะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว เบื่ออาหาร มีไข้สูงมาก ท้องร่วง บางรายมีผื่นขึ้นตามตัว แน่นท้อง
หลาย ๆ คนอาจจะทราบว่าไข้ไทฟอยด์นั้นสามารถหายได้เองภายใน 1 เดือน แต่ผู้ป่วยควรจะพบแพทย์หลังจากมีอาการ เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด รับยาที่เหมาะสม เพราะอาจจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้
โรคตับอักเสบ
อีกหนึ่งในโรคที่มากับน้ำท่วม ก็คือ โรคตับอักเสบ ที่ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ จนทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ ส่วนไวรัสตับอักเสบที่มาจากภาวะน้ำท่วม คือ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ที่มีสาเหตุมาจากการทานอาหารที่ไม่สะอาด ปรุงไม่สุก หรือเป็นอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสดังกล่าว
หลังจากได้รับเชื้อเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดตัวแถวชายโครงขวา และมีปัสสาวะเป็นสีชาแก่ ผ่านไปสักระยะจะเริ่มมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองในสัปดาห์แรก และจะหายเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรประมาท และควรพบแพทย์โดยทันทีนะคะ เพราะถ้าอาการรุนแรงก็น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน
โรคผิวหนัง
น้ำท่วมไม่ได้มีแต่น้ำฝน แต่ยังมีน้ำขัง แอ่งน้ำสกปรก เมื่อเท้าของเราต้องสัมผัสน้ำสกปรกจากการเดินลุย ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราได้ง่าย ๆ ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการเท้าเปื่อย คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวตามซอกนิ้วเท้าลอก หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล ทางที่ดีควรล้างเท้าให้สะอาดและทายาป้องกันเชื้อราทันที
หากมีอาการบวมแดงบริเวณที่เกิดแผลหรือตามทางเดินของเส้นน้ำเหลือง มีหนอง และมีไข้ร่วม ให้สันนิษฐานว่าเกิดการอักเสบติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และควรรีบไปหาแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะโดยเร็ว
ถ้าคุณต้องเดินย่ำน้ำ เราขอแนะนำให้สวมใส่รองเท้าบู๊ตเพื่อป้องกันเท้าสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยตรง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเดินลุยน้ำจริง ๆ เมื่อถึงที่หมายแล้วให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ แล้วเช็ดให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย ก็จะช่วยป้องกันได้อีกทาง
โรคตาแดง
โรคตาแดง ถือเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่มักมากับน้ำท่วม เกิดจากเชื้อไวรัส Chlamydia Trachomatis และ Bacterial Conjunctivitis อาจมาจากภูมิแพ้ หรือสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตา มักเกิดจากการเอามือที่สกปรกไปขยี้หรือสัมผัสดวงตา รวมถึงใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าไปสัมผัสกับดวงตา
ผู้ป่วยจะมีอาการคันตาจนหลายรายต้องขยี้บ่อย หรือบางคนแค่เคืองตาเท่านั้น อาจจะมีขี้ตามากกว่าปกติ มีลักษณะเป็นหนองและมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้า และมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ตามัว หรืออาจปวดตา
วิธีป้องกันง่าย ๆ หลังจากที่ลุยน้ำท่วม ควรล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาในทุกกรณี และอย่าใช้ยาหยอดตาร่วมกับคนอื่น หากเริ่มเคืองตาหรือคันตา ให้ลองล้างด้วยน้ำสะอาด และรีบปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ทันที
โรคฉี่หนู
ฉี่หนูเป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ ตั้งแต่หนู วัว ควาย ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเลยทีเดียว โดยคนจะสามารถรับเชื้อฉี่หนูนี้เข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปากอีกด้วย
โรคฉี่หนูเป็นโรคที่หลายคนต่างมองข้าม แน่นอนไม่ใช่แค่การลุยน้ำท่วมในต่างจังหวัดที่สุ่มเสี่ยง แต่แค่ลุยน้ำในตัวเมืองก็เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ โดยอาการของโรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือ
แบบไม่รุนแรง จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรู้ตัวและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ
แบบอาการรุนแรง โดยจะมีอาการตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ เมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และยิ่งไปกว่านั้นหากติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้เลือดออกในร่างกายจนเสียชีวิต
ไม่ว่าคุณจะลุยน้ำที่ไหน เมื่อมีอาการป่วยไข้ไม่สบายที่ผิดปกติจากทุกครั้ง ควรรีบพบแพทย์โดยทันที อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าอีกไม่กี่วันก็หาย เพราะสิ่งที่คุณเป็นอาจรุนแรงกว่าที่คิด!
ถ้าไม่อยากคอยกังวลกับอาการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่าย เราขอแนะนำ ประกันสุขภาพ จาก Rabbit Care ที่รวบรวมประกันสุขภาพชั้นนำให้คุณเลือกมากมาย พร้อมเปรียบเทียบเบี้ยประกันง่าย ๆ ได้ทันใจ เพราะเราใส่ใจสุขภาพและห่วงใยความรู้สึกของคุณเสมอ
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct