ผ่อนบ้านไม่ไหว ไม่อยากให้โดนยึด ต้องทำยังไงดี?!
ผ่อนบ้านไม่ไหว ภาระหนี้สินก็มาก หลายคนอยากจะยอมแพ้ แต่อีกใจ ก็ไม่อยากให้บ้านที่อุตส่าห์หาหนทางกู้ซื้อมาถูกยึดไปต่อหน้าต่อตา แล้วแบบนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง มีวิธีให้บ้านไม่โดนยึดได้ไหม ไปหาคำตอบกับ Rabbit Care กันดีกว่า
ผ่อนบ้านไม่ไหว ไม่อยากให้โดนยึด ต้องทำยังไงดี?!
อย่าหนี ไม่มี ไม่จ่าย ให้รีบติดต่อธนาคารเสียก่อน
ถ้ารู้ตัวว่าสถานการณ์การเงินตอนนี้เริ่มมีปัญหาแน่ๆ และไม่สามารถผ่อนต่อไปได้ไหว สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ รีบติดต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ซื้อบ้านโดยด่วน เพื่อขอคำปรึกษา และคำแนะนำ ที่สำคัญยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ต่อเจ้าหนี้ด้วยว่า คุณไม่ได้จะหนีหนี้ เพียงแต่มีปัญหาการเงินช่วงนี้เท่านั้น
โดยทางธนาคารเอง ก็จะเสนอแนวทางออกให้ลูกหนี้ และเราสามารถเพื่อให้ได้แนวทางที่สนใจ เหมาะสม รวมไปถึงยื่นข้อเสนอต่างๆ ต่อธนาคารให้พิจารณาได้ เช่น
- ขอผ่อนผัน หรือ ขยายเวลาชำระหนี้
- ขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย
- ขอลดอัตราดอกเบี้ยบ้าน
- ขอให้ชะลอการฟ้อง หรือ ถอนฟ้อง
- ขอให้ชะลอการยึดทรัพย์ หรือ ขายทอดตลาด
- ขอเปลี่ยนเจ้าหนี้ หรือ เปลี่ยนแปลงสัญญาใหม่
ที่สำคัญคือ อย่าขาดส่งเงินผ่อนเด็ดขาด เพราะถ้าไม่จ่ายตามระยะเวลาที่กำหนด สิ่งที่คุณจะเจอคือ ดอกเบี้ยจะเด้งขึ้นทันที กลายเป็นเงินที่เสียเปล่าไปโดยใช่เหตุ เช่น จากเดิมที่อาจจะอยู่ที่ 4% – 6% แต่เมื่อขาดจ่าย ดอกเบี้ยอาจะขยับไปที่ 15% – 20% ได้เลย! แล้วถ้ายิ่งขาดส่งเงินผ่อนเกิน 2 เดือน จากดอกเบี้ยหลักพัน อาจกลายเป็นหลายหมื่นได้นะ!
ขอผ่อนผันประนอมหนี้บ้าน ช่วยได้จริงไหม ?
หลังจากที่ปรึกษากับทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินแล้ว ทางธนาคารอาจเสนอหนทางแก้ ด้วย การประนอมหนี้ ก็ได้ ซึ่งวิธีการนี้ เป็นการขอเจรจาข้อตกลงเรื่องหนี้สินกับเจ้าหนี้ เช่น ลดหย่อน ผ่อนผัน หรือปรับเปลี่ยนข้อตกลง เพื่อช่วยชะลอ หรือหยุดการดำเนินการจากเจ้าหนี้จากการผิดนัดชำระหนี้
ซึ่งการประนอมหนี้ จะสามารถช่วยลูกหนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ โดยทั่วไปแล้ว การประนอมหนี้ จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง ด้วย กัน คือ
การประนอมหนี้ ในกรณีที่ยังไม่ถูกฟ้องร้อง
แต่มีการผิดนัดชำระและได้รับคำเตือนให้ชำระจากสถาบันการเงิน ซึ่งการประนอมหนี้ในข้อนี้นั้นสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ส่วนมากจะเป็นการเจรจา เพื่อหาหนทางให้เราสามารถผ่อนเงินได้นั่นเอง โดยส่วนนี้จะเรียกว่า การปรับโครงสร้างหนี้ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น
- ขอผ่อนผันการชำระ ยืดระยะเวลาให้ลูกหนี้ออกไป สามารถยืดระยะเวลาได้ไม่เกิน 36 เดือน จากนั้นลูกหนี้ค่อยเริ่มกลับมาจ่ายหนี้ ซึ่งสามารถเลือกได้ ดังนี้ ขอชำระเป็นเงินก้อนเล็กทุกเดือน, ขอชำระเป็นเงินก้อนโดยแบ่งเป็นงวดๆ หรือขอชำระเงินคงค้างทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่ง
- ขอลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากลูกหนี้เริ่มผ่อนชำระหนี้บ้านไปแล้ว 3 – 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเหล่านั้นจะปรับเข้าสู่อัตราดอกเบี้ยปกติ ดังนั้น การเข้าไปเจรจาเพื่อขอลดดอกเบี้ยจึช่วยลดภาระการเงินส่วนนี้ได้มาก แต่ต้องมั่นใจว่า มีประวัติการเป็นลูกหนี้ที่ดี ก็จะช่วยให้เจรจาได้ง่ายดายขึ้น หรือบางคนอาจจะรีไฟแนนซ์ ขอสินเชื่อบ้านแลกเงิน เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงก็ได้เช่นกัน
- ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ โดยการประนอมหนี้แบบนี้ จะขอยืดระยะเวลากู้ออกไป ทำให้ผ่อนได้นานหลายปีมากขึ้น และในแต่ละเดือนเราก็จะผ่อนน้อยลงนั่นเอง โดยทั่วไปจะขอขยายได้ไม่เกินอายุ 70 ปี โดยแลกมากับการที่เราต้องจ่ายดอกเบี้ยนานขึ้นด้วย
- ขอโอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและจะซื้อคืนภายหลัง วิธีการนี้เหมือนกับการขายฝากบ้าน แล้วเช่าบ้านตัวเองอีกต่อหนึ่ง โดยชำระค่าเช่าหลักทรัพย์คิดเป็นอัตรา 0.4 % – 0.6% ของมูลค่าหลักทรัพย์หรือของราคาบ้าน มักทำสัญญาเช่าเป็นรายปี
- ติดต่อขอรีไฟแนนซ์บ้าน คือการปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิม และย้ายไปใช้สินเชื่อบ้านของเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง โดยนำหนี้ใหม่ไปชำระหนี้เดิมที่คงค้างอยู่ก่อนนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การขอประนอมหนี้ตั้งแต่ก่อนถูกฟ้องร้องนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ดี ที่นอกจากจะช่วยให้คุณได้ผ่อนง่าย ผ่อนสะดวกมากขึ้นแล้ว ยังมีโอกาสได้ลดดอกเบี้ย ลดค่าผ่อนบ้านลง ป้องกันการเกิดปัญหาหนี้สินก้อนโตในอนาคตได้
การประนอมหนี้ ในกรณีที่ถูกยื่นฟ้องร้อง
หากพลาดท่า ขาดการจ่ายเงินผ่อน จนธนาคาร หรือสถาบันการเงินได้กำเนินการยื่นฟ้องร้องแล้ว ก็ยังไม่หมดหนทางเสียทีเดียว เพราะลูกหนี้สามารถเข้าไปขอประนอมหนี้ได้ก่อนการฟ้องร้อง และก่อนการขายทอดตลาดจะเกิดขึ้น
- ขอให้ชะลอการฟ้อง โดยทางเจ้าหนี้ อาจจะมีเงื่อนไขว่า ลูกหนี้ต้องชำระเงินต่อตามสัญญาเดิม หรือขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย อย่างตรงต่อเวลาตามกำหนดนัดชำระเป็นระยะเวลา 12 เดือน หากทำได้ ก็ขอให้เจ้าหนี้คำนวนยอดคงค้างและอัตราดอกเบี้ยใหม่ต่อไปได้
- ขอให้ถอนฟ้อง ในกรณีนี้จะเป็นเสมือนการยอมความต่อเจ้าหนี้ เพราะเราจะต้องมาจ่ายหนี้ที่คงค้างให้ตรงตามสัญญา อีกทั้งยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในศาลให้เจ้าหนี้ด้วย
- ขอให้ชะลอการยึดทรัพย์ ลูกหนี้จะต้องดำเนินการชำระหนี้สินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับสถาบันทางการเงิน และทำการไถ่ถอนจำนองบ้านภายในเวลา 3 เดือน โดยลูกหนี้อาจจะขอสินเชื่อใหม่เพื่อมาชำระได้
- ขอให้ชะลอการขายทอดตลาด ใช้ในกรณีที่สั่งให้ยึดบ้านแล้ว ลูกหนี้อาจจะขอให้ชะลอการนำบ้าน ไปขายทอดตลาด โดยมีเงื่อนไขว่า จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเจ้าหนี้ในชั้นศาล รวมถึงหนี้ ไม่ต่ำกว่า 6 งวด โดยหนี้ที่เหลือจะต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินหลักทรัพย์ใหม่
- ขอเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามสัญญากู้ใหม่ หลักการในข้อนี้จะมีความคล้ายกับการขอให้ชะลอการขายทอดตลาด ต่างกันที่ ผู้ซื้อเป็นคนที่ลูกหนี้รู้จัก หรือให้คนใกล้ตัวดำเนินการยื่นกู้ เป็นลุกหนี้ราบใหม่ให้แทนลูกหนี้คนเก่า
ทางที่ดี ควรเจรจากับทางธนาคาร หรือสถาบันทางการเงินให้เรียบร้อยเสียก่อน อย่ารอให้ฝ่ายเจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาล เพราะกระบวนการต่างๆ ลูกหนี้จะเสียผลประโยชน์มากกว่า นอกจากจะต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล เสียเวลาแล้ว ยังเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ฝั่งเจ้าหนี้ แถมกลับมา ก็ยังต้องจ่ายหนี้ให้ตรงงวดอีกด้วยนะ
ทำไมถึงไม่ควรถอดใจ ปล่อยให้บ้านโดนยึด
เห็นขั้นตอนแล้ว หลายคนอาจจะรู้สึกท้อแท้ ถอนใจ อยากจะปล่อยให้ธนาคารยึดบ้านเลยไม่ได้เหรอ บอกได้เลยว่าการปล่อยให้โดนยึดผลเสียไม่ใช่แค่สูญเสียที่อยู่อาศัยไป แต่ยังมีผลเสียอื่นๆ ด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็น
- ติดประวัติค้างชำระ เครดิตเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมด้านการเงิน ทำให้ต่อไปในอนาคต การขอสินเชื่อ หรือทำธุรกรรมอื่นๆ ได้ยากลำบากมากขึ้น เพราะคุณมีความเสี่ยงที่จะหนีหนี้ ไม่มีความน่าเชื่อถือนั่นเอง
- โดนยึด โดนขายบ้านทอดตลอดแล้ว เรื่องก็ยังไม่จบ เพราะการขายทอดตลาด ในบางครั้ง อาจขายได้ไม่มากพอจะจ่ายหนี้ สุดท้ายแล้ว ต่อให้ขายบ้านที่ถูกยึด หากวงเงินต่างๆ ไม่ครบกับจำนวนหนี้สิน ธนาคารก็จะบังคับให้หาเงินมาจ่ายส่วนต่างหนี้อยู่ดี เรียกได้ว่าเสียทั้งที่อยู่ แถมหนี้ก็ไม่หมดด้วย
- มีสิทธิ์ถูกฟ้องล้มละลายได้ เมื่อขายบ้าน แล้วยังไม่มีเงินก้อนส่วนต่างมาจ่าย เราก็อาจจะถูกฟ้องล้มละลายได้ และเราจะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินอย่างน้อยๆ 3 ปี แถมยังเสียประวัติอีกต่างหาก
จะเห็นเลยว่า การปล่อยให้ธนาคารดำเนินเรื่องไปจนขั้นตอนยึดบ้านไม่มีผลดีแม้แต่น้อย แถมยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายปี ดังนั้นทางที่ดี ควรหลีกเลี่ยงจะดีกว่า
ไม่อยากชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องนี่เลย สินเชื่อบ้าน จาก Rabbit Care ที่นี้มีทั้ง สินเชื่อบ้าน ที่ให้ทั้งกู้ซื้อบ้านในฝันได้ดั่งใจ หรือจะ สินเชื่อบ้านแลกเงิน ที่เปลี่ยนบ้านเป็นเงินก้อน หรือแม้แต่ การรีไฟแนนซ์บ้าน ให้ได้ดดอกเบี้ยบ้านที่ถูกลง ผ่อนบ้านได้ง่ายดาย ก็มีให้บริการ คลิกเลย!
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct