ล้มละลายคืออะไร? รับมืออย่างไรให้พ้นจากสภาพบุคคลล้มละลาย!
สถานะล้มละลาย หรือ บุคคลล้มละลาย คงเป็นสถานะสุดท้ายที่ทุกคนอยากจะห้อยติดไว้กับตัว หากแต่ในบางกรณีเราเลือกไม่ได้ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ล้มแล้วก็ย่อมลุกได้เสมอ วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาเจาะลึก เข้าใจในความหมายของคำว่าล้มละลายให้มากขึ้น และหากเกิดขึ้นแล้วควรรับมืออย่างไร ต้องใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะพ้นจากสภาวะบุคคลล้มละลาย และตรวจอย่างไร ? วันนี้ แรบบิท แคร์ มีคำตอบให้คุณ!
ล้มละลาย คือ ?
ล้มละลาย คือการที่บุคคล หรือนิติบุคคล อยู่ในสภาพ ‘หนี้สินล้นพ้นตัว’ หรือมีหนี้สินเยอะและไม่มีคุณสมบัติที่จะชำระหนี้ได้ซึ่งการที่จะอยู่ในสถานะล้มละลายจะต้องโดนฟ้องล้มละลายเสียก่อน เพื่อทำให้ทุกกระบวนการมีความเป็นธรรมจากทั้งฝั่งลูกหนี้ และเจ้าหนี้
หนี้สินล้นพ้นตัว คือ ?
บุคคลทั่วไป ต้องมีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป และสำหรับนิติบุคคล ต้องมีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป แต่ใจความสำคัญอีกอย่างของการที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็คือบุคคล หรือนิติบุคคลนั้น จะต้องไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้ เช่น มีหนี้เยอะ และไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ ที่สามารถใช้ในการไถ่ถอนหนี้สิน ฉะนั้นบางบริษัทที่มีหนี้สินเยอะ แต่ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตและทำกำไรได้จึงไม่ถือว่าตกอยู่ในสภาพล้มละลาย
ฟ้องล้มละลาย คือ ? คดีล้มละลาย คือ ?
เจ้าหนี้สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมจากลูกหนี้บุคคล หรือลูกหนี้นิติบุคคลที่อยู่ในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว
ด้วยการฟ้องล้มละลาย ให้มีบุคคลที่สามเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้ทั้งนั้น คดีล้มละลายก็เพื่อผลประโยชน์ของทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ที่จะได้ ภาครัฐ พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ามาช่วยเหลือในการจ่ายหนี้สิน ส่วนลูกหนี้ ก็จะถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมายล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ให้ความเป็นธรรมเจ้าหนี้ และลูกหนี้
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
พระราชบัญญัติล้มละลายที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาคดีล้มละลาย เป็นพระราชบัญญัติล้มละลายที่ต่อยอดมาจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2470 / 2474 และยังเป็นพระราชบัญญัติล้มละลายที่ถูกใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน จึงขอยกตัวอย่างมาตราการฟ้องล้มละลายมาด้วยกัน 3 ตัวอย่าง
มาตรา 9
กฎหมายล้มละลายระบุว่า เจ้าหนี้จะฟ้องคดีล้มละลายลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยหนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดย
มาตรา 10
กฎหมายล้มละลายระบุว่าไม่ให้เจ้าหนี้เรียกร้องลูกหนี้เกินตัวหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน ในการโดนฟ้องคดีล้มละลาย ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่ เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพื่อตีราคาหลักประกันมาในฟ้อง
มาตรา 11
เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายการดำเนินคดีเป็นจํานวน 5,000 บาทในขณะยื่นคําฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคําฟ้องนั้นไม่ได้
ขั้นตอนการฟ้องล้มละลาย
ยื่นฟ้องล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลาง
หรือหากไม่สะดวกสามารถยื่นเรื่องกับศาลคดีล้มละลายภาค และศาลจังหวัด ซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตนั้น ๆ ตามหลักพระราชบัญญัติล้มละลาย
ศาลพิจารณามูลหลักฐานการฟ้องล้มละลาย
ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เพื่อความโปร่งใสในการพิจารณาคดี และไม่ให้ลูกหนี้ย้ายทรัพย์ไปแอบซ่อนไว้ที่อื่น โดยหากอยู่ระหว่างการพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้จะไม่มีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สิน หรือกิจการของตนเองโดยเด็ดขาด จะถูกจัดการโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ทั้งหมด
ไต่สวนลูกหนี้ จัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อขอประนอมหนี้ฟ้องล้มละลาย
ศาลทำหน้าที่ไต่สวนลูกหนี้ และจัดประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมด 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถประนีประนอม และขอประนอมหนี้กันได้หรือไม่ ซึ่งอาจเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อน ยิ่งในกรณีของนิติบุคคลที่อาจมีผู้เกี่ยวข้องเยอะ มีผู้ค้ำประกัน มีผู้ลงทุน ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งหมด เพื่อสร้างข้อสรุปว่าควรจะประกันให้ล้มละลายหรือไม่
ศาลประกาศล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
ประชุม 2 ครั้งแล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมประนอมหนี้ ยังคงยื่นเรื่องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือศาลเรียกประชุมแล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมเข้าพิจารณา และการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งหลักการนี้อ้างอิงจากพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตราที่ 61
ล้มละลายแล้ว ต้องทำอย่างไร ?
บุคคล หรือนิติบุคคล จะมีสถานะว่าเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าการใช้ชีวิตจะมีข้อจำกัดเยอะขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตทุกอย่างจะจบสิ้น เพราะแม้จะเป็นบุคคลล้มละลาย เราก็ยังมีสิทธิ์มีเสียง และยังดำเนินชีวิตได้ต่อไป โดยนี้คือสิ่งที่ผู้ล้มละลายต้องคำนึง
- ลูกหนี้ ต้องขอให้เจ้าพนักงานกำหนดเงินเลี้ยงชีพ และทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกกองพิทักษ์ทรัพย์ยึดไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งหมด
- หากมีรายได้ในอนาคต ต้องนำส่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อนำมาเฉลี่ยคืนแก่เจ้าหนี้
- การจัดการทรัพย์สินต่างๆ ของลูกหนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนทั้งหมด
ล้มละลายแล้วเดินทางได้ไหม ?
เดินทางภายในประเทศไทยได้ หากแต่ออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร และจะต้องมีหมายกำหนดเวลาเข้าออกประเทศอย่างชัดเจน เนื่องจากศาลกลัวว่าจะทีการหนีการชำระหนี้
การเป็นบุคคลล้มละลาย ทำงานได้ไหม ?
บุคคลล้มละลาย ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัทได้ แต่หากมีความจำเป็นจริง ๆ ต้องได้รับการอนุญาตจากพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น และจะไม่สามารถทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีข้อกำหนดไว้แล้วว่าห้ามบุคคลล้มละลายเข้าทำงาน
ซึ่งงานที่บุคคลล้มละลายไม่สามารถประกอบได้อย่างแน่นอนคือ งานราชการ รวมไปถึงการดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งแม้จะพ้นจากสภาพล้มละลายแล้ว แต่ก็ยังสามารถตรวจล้มละลายได้
บุคคลล้มละลาย ทำธุรกรรมทางการเงินได้ไหม ?
สำหรับเงินในส่วนที่ถูกพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ควบคุมไว้ จะไม่สามารถทำนิติกรรม หรือธุรกรรมทางการเงินใด ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการถอนเงิน หรือโอนเงิน และไม่สามารถเปิดบัญชี หรือกู้ธนาคาร แต่ยังสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ด้วยเงินเลี้ยงชีพ และรายได้ใหม่ในอนาคต ซึ่งหากมีการรับสินเชื่อจากบุคคลทั่วไป มูลค่าเกิน 1,000 บาท
หากเป็นบุคคลล้มละลาย ทำประกันได้ไหม ?
ทำประกันไม่ได้ เนื่องจากประกันชีวิต ถือเป็นนิติกรรมประเภทหนึ่ง ยกเว้นจะได้รับการอนุญาตจากพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งความน่าสนใจคือกรณีที่ลูกหนี้ซื้อประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพไปแล้ว จ่ายกรมธรรม์ไปแล้ว และต่อมากลายเป็นบุคคลล้มละลาย กรมพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิ์ที่จะไถ่ถอน หรือเวนคืนกรมธรรม์เพื่อคืนสภาพเป็นเงินสด เพื่อนำมาไถ่ถอนหนี้สินได้ทั้งหมด ฉะนั้นบุคคลล้มละลายจึงมีสิทธิ์ที่จะเสียสิทธิ์ในประกันชีวิตของตนเอง แม้ว่าจะเป็นการซื้อและจ่ายชำระก่อนที่จะอยู่ในสถานะล้มละลาย
กลายเป็นบุคคลล้มละลาย ทำธุรกิจได้ไหม ?
หากยังมีสภาพล้มละลายอยู่แม้มีธุรกิจอยู่แล้ว ก็จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัทได้ หรือหากต้องการจดทะเบียนบริษัท เป็นนิติบุคคล ก็ไม่สามารถทำได้ จะต้องใช้ชื่อคนอื่นเป็นตัวแทนทั้งหมดจนกว่าจะพ้นจากสภาพเป็นบุคคลล้มละลาย
ทำอย่างไรจึงพ้นจากสภาวะล้มละลาย
- กรณีล้มละลายครั้งแรก กฎหมายล้มละลายระบุว่าจะต้องอยู่ในสภาวะล้มละลาย 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย และจึงจะพ้นสภาพบุคคลล้มละลาย
- กรณีไม่ใช่ครั้งแรกที่ล้มละลาย กฎหมายล้มละลายระบุว่าจะต้องอยู่ในสภาวะล้มละลาย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย จึงพ้นสภาพบุคคลล้มละลาย
- กรณีล้มละลายทุจริตจะต้องขยายเวลาการล้มละลายเป็น 10 ปี จึงจะพ้นสภาพบุคคลล้มละลาย
ซึ่งหลังจากพ้นสภาพบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 81/1 บุคคลจะสามารถกลับไปทำธุรกรรมและสมัครงานได้ตามปกติ และสามารถหลุดพ้นจากหนี้สินด้วย แต่เจ้าหนี้ยังคงมีหน้าที่ในการช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินที่อาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายอยู่ และตามหลักกฎหมายล้มละลายแล้วคุณจะมีภาวะบุคคลล้มละลายติดตัวไปด้วยครั้นได้รับการตรวจล้มละลาย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสภาพล้มละลาย ลูกหนี้จะต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยพิทักษ์ทรัพย์อย่างเต็มที่ ซึ่งหากบุคคลล้มละลายขัดขืน หรือมีการปิดบังหลบซ่อนทรัพย์สินจากเจ้าหน้าที่ บุคคลล้มละลาย หรือนิติบุคคลล้มละลาย สามารถโดนคดีอื่น ๆ เสริมเข้าไปด้วย
ปลดล้มละลาย ไม่ใช่ปลดหนี้!
หลายคนจะเข้าใจว่าเราจะพ้นจากสภาวะล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถใช้หนี้ได้ครบหมดจบทุกบาททุกสตางค์ แต่ความจริงแล้วบุคคล หรือนิติบุคคลที่อยู่ในสภาพล้มละลายจะไม่มีความสามารถในการเข้าถึงทรัพย์สิน หรือรับผิดชอบหนี้สินใด ๆ แล้วทั้งสิน โดยหน้าที่นั้นจะถูกถ่ายโอนไปสู่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ผู้สามารถรับผิดชอบหนี้ให้กับเจ้าหนี้โดยการยึดทรัพย์ตามความเหมาะสม ดูจากจำนวนหนี้ และข้อจำกัดของลูกหนี้ เพื่อนำมาแปลงเป็นเงินไถ่ถอนคืนเจ้าหนี้
การปลดหนี้ แบบอื่น ๆ สำหรับบุคคล หรือธุรกิจใกล้ล้มละลาย
สำหรับใครที่มีหนี้ล้นพ้นตัว แต่ก็ไม่อยากล้มละลาย อย่าคิดว่าคุณไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะในกรณีของนิติบุคคล เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และคาดเดาได้ยาก ทำให้ทางกฎหมายล้มละลายกำหนดสิ่งที่เรียกว่า ‘ฟื้นฟูกิจการ’ (Rehabilitation) ที่ช่วยเหลือให้ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ มีทางออกมากขึ้น
- การฟื้นฟูกิจการ
การฟื้นฟูกิจการ คือกระบวนการทางศาล เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทางการเงินของลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาบริหารกิจการได้อีกครั้งและเป็นการเริ่มต้นใหม่โดยปราศจากหนี้สินทั้งปวง ซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นคดีแพ่ง และไม่ใช่คดีล้มละลายธรรมดาด้วยเช่นกัน
หลักเกณฑ์ในการยื่นฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
- มีเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนเงินแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
- ลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชน จำกัด หรือ นิติบุคคล
- มีเหตุอันสมควรที่ทำให้เกิดหนี้ (เช่น หนี้ที่เกิดจากปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ โควิด หรือน้ำท่วม) และมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ (เช่น หลักประกันว่าแต่ก่อนเคยเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ หรือมีทรัพย์สินที่สามารถนำไปต่อยอดได้)
- ยังไม่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์
ข้อดีการฟื้นฟูกิจการ
ประเด็นสำคัญที่สุดที่ธุรกิจเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูกิจการก็เพราะระหว่างที่อยู่ภายใต้โครงการนี้ตลอดทั้งช่วงเวลาทำการ ศาลจะไม่สามารถประกาศให้คธุรกิจกลายเป็นล้มละลาย และไม่มีสิทธิ์พิทักษ์ทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม และหากตรวจล้มละลายในภายหลังก็จะไม่ติดประวัติด้วย
ข้อเสียการฟื้นฟูกิจการ
มีข้อจำกัดเยอะ ใช้ได้กับแค่ธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาว่าบริษัทต่าง ๆ สามารถฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ ? อาจยุ่งยาก และซับซ้อน เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา
- การประนอมหนี้
การประนอมหนี้ คือข้อตกลงที่ลูกหนี้ กับเจ้าหนี้สามารถตกลงกันได้ทั้งก่อนที่จะอยู่ในสภาวะล้มละลาย และหลังจากล้มละลายแล้ว เป็นข้อตกลงที่สามารถทำร่วมกันกับผู้ใกล้เกลี่ย โดยสามารถตกลงว่าจะชำระหนี้บางส่วน หรือโอนถ่ายสินทรัพย์ หรือหุ้นบางส่วนให้กับเจ้าหนี้
ข้อดีการประนอมหนี้
สามารถประนอมหนี้ได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลทั่วไป โดยที่ได้รับการดูแลโดยบุคคลที่ 3 ที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย และอาจสามารถสร้างความเข้าใจกับเจ้าหนี้ได้
ข้อเสียการประนอมหนี้
ตามหลักกฎหมายล้มละลายแล้ว การประนอมหนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หากสถานการณ์หนี้สินยังไม่ดีขึ้นซักเท่าไหร่ ในอนาคตก็มีสิทธิ์ที่จะโดนฟ้องล้มละลายอยู่ดีหากยังจัดการการเงินไม่ได้
วิธีตรวจล้มละลาย คือ? ทำได้อย่างไร?
วิธีตรวจล้มละลาย คือการตรวจสอบข้อมูลล้มละลายของบุคคลทั่วไป ใช้ในกรณีสมัครงาน หรือผู้ล้มละลายก็สามารถตรวจล้มละลายของตนเอง โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านขั้นตอนออนไลน์ของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม หรือตามเว็บไซต์ จะต้องเป็นผู้ที่โดนฟ้องล้มละลายแล้วเท่านั้น จึงจะแสดงข้อมูลขึ้นมา
เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ที่สามารุตรวจล้มละลายได้ : www.moj.go.th/view/67668
ทั้งนี้ทั้งนั้น แรบบิท แคร์ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่อาจกำลังมีปัญหาเรื่องการเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจแสนจะไม่มั่นคง ซึ่งหากใครอยากได้เงินก้อนมาต่อยอดทำธุรกิจ หรือเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต แรบบิท แคร์ มีทางออกให้คุณ! ด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล ใช้ได้ทุกวัตถุประสงค์ ผ่อนต่อเดือนง่าย ใครสนใจคลิกเลย!
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct