รู้จักระบบเบรครถยนต์ และวิธีรับมือเมื่อเบรคแตก!
เบรครถยนต์เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ใช้รถทุกคนควรเรียนรู้ทั้งระบบการทำงาน วิธีดูแล และตรวจเช็กสภาพอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือควรจะรู้วิธีสังเกตว่าเบรครถยนต์ที่ใช้งานอยู่มีความผิดปกติอะไรหรือไม่ เพื่อที่จะได้ทำการซ่อมแซมให้ทันท่วงทีก่อนจะเกิดอุบัติเหตุ หรือในกรณีสุดวิสัยที่สุดถ้าหากว่ารถเบรคแตกขณะที่กำลังขับขี่อยู่ ก็ควรจะมีความรู้เบื้องต้นว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัยต่อทั้งตัวเอง ผู้โดยสาร และผู้ใช้ถนนท่านอื่น ๆ รวมถึงต้องทำให้เกิดความเสียหายต่อรถยนต์ให้น้อยที่สุด ดังนั้นบทความนี้ แรบบิท แคร์ จะพาทุกคนมาเจาะลึกเรื่องเบรคตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงขั้นตอนการซ่อมแซมให้ครบจบในบทความเดียว!
ระบบเบรครถยนต์คืออะไร ทำงานอย่างไร?
เบรครถยนต์ มีหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพในการหยุดรถในทุกสภาพ โดยเบรคจะช่วยตัวควบคุมการทรงตัวของรถประกอบกันหลายส่วน
- ระบบควบคุมเสถียรภาพแบบไดนามิค DSC (Dynamic Stability Control) สามารถเพิ่มแรงดันเบรคเมื่อระบบเบรคเฟดหรือจม จากการที่มีก๊าซเข้าไปแทรกระหว่างตัวจานและผ้าเบรคเมื่อเบรคร้อนเกินไปทำให้การสัมผัสของจานกับผ้าเบรคไม่ดีและเบรคไม่อยู่ รวมทั้งการเพิ่มแรงดันเบรครถยนต์เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่ต้องหยุดรถกะทันหัน
- ระบบ Dry Brake เป็นระบบที่จะเปิดอัตโนมัติทันทีที่คนขับเปิดสวิตช์ปัดน้ำฝนเพื่อจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหยุดรถบนพื้นถนนที่เปียกลื่น
- ระบบควบคุมการยืดเกาะแบบไดนามิค DTC (Dynamic Traction Control) จะเป็นระบบ DSC อีกรูปแบบที่ใช้สำหรับการขับออกตัวบนทางลื่นและช่วยเพิ่มแรงยืดเกาะให้กับรถ ในรถรุ่นใหม่ ๆ จะถูกผนวกรวมเข้ากับระบบ DSC แบบใหม่แล้ว
- ระบบควบคุมการเบรครถยนต์ขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control) ช่วยให้ผู้ขับสามารถใช้ความเร็วได้สูงขึ้นและยังควบคุมรถที่มีอาการลื่นไถลในขณะเข้าโค้งได้เป็นอย่างดี และทำให้ล้อหมุนฟรีขณะขับเคลื่อนน้อยลง
ระบบเบรครถยนต์ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ ดิสก์เบรค ที่ประกอบไปด้วยแผ่นจานดิสก์, ก้ามปูเบรค, (Caliper), ผ้าเบรค และ ลูกปั๊มน้ำมันเบรค ทำงานโดยเมื่อเราเหยียบเบรคระบบจะดันผ้าเบรคไปสัมผัสกับจานเบรคทำให้เกิดความฝืดจนรถหยุด รถยนต์บางรุ่นมีเบรคติดอยู่แค่ 2 ล้อหน้า แต่รถบางรุ่นใช้ดิสเบรคทั้ง 4 ล้อ ข้อดีของดิสก์เบรค คือ ถ่ายเทความร้อนและไล่น้ำออกจากระบบเบรคได้ดี ช่วยลดอาการเบรคหายหรือเบรคเฟด อีกทั้งเบรคชนิดนี้ยังทำความสะอาดและบำรุงรักษาง่าย เบรคเร็ว ตอบสนองต่อการเหยียบเบรคได้ทันที แต่จะมีราคาสูง ผ้าเบรคหมดไวต้องเปลี่ยนบ่อย และแม้จะเบรคได้เร็วกว่าแต่ก็มีแรงเบรคน้อยเพราะไม่มีระบบช่วยเสริมแรงอย่าง Multiplying Action หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Servo action อย่างในดรัมเบรค จึงทำให้คนขับต้องใช้แรงมากขึ้นในการกดเหยียบเบรครถยนต์
ระบบเบรครถยนต์แบบที่ 2 คือ ดรัมเบรค ที่ประกอบด้วยตัวดรัมเป็นโลหะรูปวงกลมติดกับดุมล้อ หมุนไปพร้อมกับล้อ และมีฝักเบรคที่ประกอบด้วย ผ้าเบรค กลไกปรับแต่งเบรค สปริงดึงกลับ ลูกสูบน้ำมันเบรค โดยสายน้ำมันเบรคจะเชื่อมต่อกับตัวลูกสูบในการดันผ้าเบรคให้ไปเสียดทางกับตัวดรัมเพื่อให้เกิดความฝืดในการชะลอความเร็วรถ ส่วนใหญ่ใช้ในรถบรรทุกหรือเป็นรถที่ขึ้นลงเขาบ่อย เพื่อให้มีแรงเบรครถยนต์ที่มากกว่าเพื่อหยุดรถโดยสู้กับแรงโน้มถ่วง รวมถึงรถยนต์ส่วนบุคคลโดยทั่วไปจะใช้เฉพาะล้อหลัง จุดเด่น คือ หยุดรถได้เร็ว เพราะก้ามเบรคและดรัมเบรคถูกยึดติดกับดุมล้อ เหมาะกับรถยนต์ที่มีน้ำหนักมาก แต่ผ้าดรัมเบรคจะมีความสามารถในการถ่ายเทความร้อนและระบายน้ำได้ไม่ดีเท่าดิสก์เบรค
เบรครถยนต์ ABS คืออะไร แตกต่างจากเบรคทั่วไปอย่างไร?
ระบบเบรค ABS หรือ Anti-Lock Brake System คือ หนึ่งในส่วนของระบบเบรคที่ถูกออกแบบมาให้ป้องกันล้อเกิดการล็อกขณะที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีเหตุการณ์เหยียบเบรคกะทันหันจนเสี่ยงรถเสียหลักหรือยากต่อการควบคุมทิศทาง โดยระบบจะทำงานก็ต่อเมื่อเหยียบเบรคกะทันหันหรือมากกว่าปกติ
เบรครถยนต์ ABS มีระบบการทำงานอย่างไร?
การทำงานของระบบเบรค ABS ขึ้นกับ เฟืองวงแหวนที่ติดอยู่กับวงแหวนเพลาหมุนของล้อ ซึ่งทำงานเป็นระบบกลไกร่วมกับเซนเซอร์ตรวจจับอัตราการหมุนของฟันเฟือง โดยจะตรวจเช็กว่าอัตราการหมุนปกติหรือไม่ หากพบว่ามีการเหยียบเบรคกะทันหันหรือเหยียบเบรคอย่างแรง ระบบจะส่งรายงานไปยังตัวประมวลผล แล้วจะทำการคลายและจับของผ้าเบรคสลับกันซ้ำเกือบ 20 ครั้งใน 1 วินาที ทำให้การควบคุมรถยนต์ดีขึ้น จากนั้นระบบก็จะจะหยุดทำงานก็ต่อเมื่อเราผ่อนแรงกดที่แป้นเบรค ทั้งนี้ในรถบางรุ่นแป้นเหยียบอาจเกิดการสั่นหรือดันกลับได้ เพราะงั้นผู้ใช้งานรถยนต์จะต้องตั้งสติให้ดี ห้ามตกใจ เพราะอาจพลาดทำให้ระบบเบรค ABS หยุดทำงานได้
ระบบเบรครถยนต์ ABS ช่วยต่อการขับขี่อย่างไรบ้าง?
สำหรับข้อดีของ ระบบเบรค ABS ช่วยต่อการขับขี่อย่างไรบ้าง ความจริงแล้วมีมากกว่าในเรื่องของความปลอดภัย ดังนี้
1) ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย
แน่ล่ะว่า ข้อแรกต้องเป็นเรื่องของขับขี่ได้อย่างปลอดภัย โดยระบบเบรค ABS จะสามารถลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ตามข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรป เพราะหากเกิดอุบัติเหตุหรือสถานการณ์ที่เสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ ระบบเบรครถยนต์ ABS ก็จะช่วยให้ควบคุมรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบไม่มี ABS
2) ลดโอกาสเกิดการสูญเสีย
ไม่ใช่แค่ปลอดภัยกับผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีระบบเบรครถยนต์ ABS แต่ยังปลอดภัยกับคนรอบข้างไปจนถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว ลดโอกาสเกิดการสูญเสียจากปัญหารถคุมไม่อยู่จนบางทีอาจไปโดนคนอื่นที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเบรคกะทันหันได้
3) ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
แม้ว่า รถยนต์รุ่นใหม่ที่มีระบบเบรค ABS ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงกว่ารถยนต์ที่ไม่มีระบบเหล่านี้ แต่หากลองคิดในระยะยาวความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซม ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจตามมาได้อีก
4) บริษัทประกันภัยยินดีรับประกัน และอาจได้ส่วนลดอีก
สืบเนื่องจากการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุนี่ล่ะที่ทำให้รถยนต์มีระบบเบรครถยนต์ ABS ได้รับการต้อนรับจากบริษัทประกันภัยทั้งหลายอย่างดี พวกเขายินดีอนุมัติรับประกันให้อย่างรวดเร็ว แถมบางทีก็อาจได้ส่วนลดเป็นพิเศษด้วยล่ะ
5) เพิ่มมูลค่าเวลาขายต่อ
ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง ถึงราคารถยนต์แบบมีระบบเบรค ABS จะมีราคาสูง แต่ก็ต้องยอมรับว่า เวลาขายก็ได้ราคาดีกว่า และเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ช่วยให้คนตัดสินใจซื้อต่อได้ง่ายขึ้นด้วย
ระบบเบรครถยนต์ ABS ในรถยนต์ถือเป็นหนึ่งในระบบของรถยนต์ที่มีประโยชน์กับผู้ขับขี่มาก แต่ก็อย่าลืมว่า ถึงจะมีระบบรถยนต์ที่ดีมากขนาดไหนก็ต้องใช้งานท้องถนนกันแบบระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะแม้จะป้องกันอย่างดี แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เลยขอแนะนำให้สมัคร ‘ประกันรถยนต์ชั้น 1’ ของ แรบบิท แคร์ ด้วยแผนประกันที่ใช่และโปรโมชั่นที่ชอบจากพันธมิตรประกันภัยชั้นนำกว่า 30 บริษัท คุ้มค่ากับกางลงทุน ไม่หวั่นเรื่องค่าใช้จ่ายแม้เกิดเหตุไม่คาดฝัน
ควรทำอย่างไรเมื่อรถยนต์ “เบรครถยนต์แตก”
ขณะขับรถหากเกิดอาการเหยียบเบรคแล้วจม เหยียบเบรครถยนต์ซ้ำ ๆ จนรู้สึกว่าไม่สามารถเหยียบเบรคได้อีกต่อไป ให้สันนิษฐานได้เลยว่าตอนนั้นรถของเราคงเกิดอาการเบรครถยนต์แตกเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจะเริ่มตื่นตะหนกแล้วว่า “เบรคแตก ทําไง”
เบรครถยนต์แตกทำไงดี?
- ตั้งสติและจับพวงมาลัยให้มั่น อย่าให้รถส่ายไปมา
- ค่อย ๆ ถอนคันเร่งเพื่อลดความเร็ว
- ย้ำเบรครถยนต์แรง ๆ ถี่ ๆ เพื่อกระตุ้นให้ระบบเบรคพอทำงานได้
- เหยียบคลัตช์และลดเกียร์ต่ำลงเรื่อย ๆ ในรถเกียร์ธรรมดา หรือเกียร์ 2 / เกียร์ L ในรถเกียร์ออโต้
- ชิดซ้ายให้เร็วที่สุดเปิดไฟฉุกเฉินและบีบแตรเพื่อส่งสัญญาณเตือนรถคันอื่น ๆ
- ค่อย ๆ ดึงเบรคมือขึ้นอย่างช้า ๆ จนสุด
- เมื่อเบรครถยนต์แตกบนทางลาดชันให้ถอนคันเร่ง ลดเกียร์ต่ำ และควรใช้เบรคมือเมื่อรถเข้าสู่ช่วงที่ลาดชันน้อย ป้องกันเครื่องยนต์เสียหายจากความร้อน
เบรครถยนต์แตกเกิดจากหลายสาเหตุ คือ น้ำมันเบรคเสื่อมสภาพจนลูกยางเสื่อมสภาพทำให้น้ำมันเบรครั่ว, น้ำมันส่งเบรคส่งแรงดันได้ไม่เต็มที่เพราะการไล่อากาศออกไปไม่หมดตอนเปลี่ยนน้ำมันเบรคใหม่, น้ำมันเบรคหมด, น้ำมันเบรคชื้นทำให้เมื่อเกิดการเสียดสีตอนเบรคน้ำจะระเหยจนทำให้ลูกสูบทำงานไม่ได้และเบรคไม่อยู่, สายเบรครถยนต์ขาด สายอ่อน ท่อทางเดินน้ำมันเบรครั่ว หรือการที่ผ้าเบรครถยนต์หมด ผ้าเบรคไหม้ ก็มีโอกาสทำให้รถเบรคแตกได้เช่นกัน
การซ่อมเบรครถยนต์ กรณีเบรคแตกเกิดจากการรั่วภายใน สามารถซื้อชุดซ่อมที่มี ลูกยาง, สปริง และโอริง มาเปลี่ยนเองหรือส่งซ่อมได้ ในกรณีที่ผิวด้านในกระบอกเบรคยังมีสภาพดี ไม่มีส่วนที่ขรุขระหรือในทางเทคนิคจะเรียกว่าตามดก็สามารถเปลี่ยนชุดซ่อมได้เลย แต่ถ้าหากผิวกระบอกเบรคด้านในมีร่องรอยมากควรเปลี่ยนทั้งหมดเพื่อการใช้งานในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพ โดยราคาชุดซ่อมจะขึ้นกับรุ่นรถและร้านที่จำหน่าย ราคาเฉลี่ยตกที่ 600 - 1,000 บาทขึ้นไป ส่วนอะไหล่กระบอกเบรครถยนต์ทั้งชุดอยู่ที่ราว 3,000 บาทขึ้นไป โดยศูนย์บริการของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็จะมีค่าแรงเป็นรายชั่วโมงบวกเข้าไปในค่าซ่อมเบรครถยนต์ด้วย
วิธีการดูแลเบรครถยนต์
วิธีเช็คระบบเบรครถยนต์ด้วยการสังเกต คือ เดินดูรอบ ๆ ที่ล้อแต่ละข้าง มองเข้าไปในล้อและเบรคว่ามีคราบน้ำมันเบรคซึมออกมาบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะรถที่มีอายุมากมักจะเกิดการรั่วซึมของน้ำมันเบรคได้ง่ายกว่า และควรจะเช็คน้ำมันเบรคก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ถ้าน้ำมันเบรคอยู่ระดับ Max หรือต่ำกว่านิดหน่อยก็ถือว่ายังปกติ แต่ถ้าน้ำมันเบรคพร่องมาก ๆ ก็เป็นไปได้ว่าผ้าเบรคเริ่มบางแล้ว ยิ่งถ้าน้ำมันเบรคลดไปเกินครึ่งหรือใกล้ระดับ Min แล้วก็ควรรีบนำรถเข้าตรวจเช็คระบบเบรค แต่ถ้าเปิดดูกระปุกน้ำมันเบรคแล้วพบว่าน้ำมันเบรคพร่องไปเยอะโดยที่ผ้าเบรคไม่ได้หมดอาจเป็นเพราะมีการรั่วซึมของระบบเบรครถยนต์เกิดขึ้นได้ ต่อจากนั้นอย่าลืมตรวจสอบลูกยางป้องกันน้ำมันรั่วด้วยการถอดล้อออก จากนั้นถอดจานเบรคแล้วเปิดยางกันฝุ่นที่ครอบตัวกระบอกปั๊มออกมา หากมีน้ำมันเบรครั่วออกมาจากจุดนั้นแปลว่าลูกยางเสื่อมและต้องเปลี่ยนโดยเร็ว
วิธีต่อมาคือการฟังเสียงผ้าเบรคสีกับจานเบรคเวลาเหยียบเบรครถยนต์ หากมีเสียง เอี๊ยด หรือเสียงที่ผิดปกติจากแต่เดิมแสดงว่าผ้าเบรคน่าจะเริ่มบางแล้ว และถ้าเสียงยิ่งดังแหลมสูงมากก็เป็นเครื่องหมายว่าถึงเวลานำรถไปเปลี่ยนผ้าเบรคได้แล้ว เพราะผ้าเบรคคงจะหมดหรือบางมาก ๆ หากฝืนใช้ต่อจะทำให้เกิดอาการเบรคจม เบรคฝืด ทำให้จานเบรคเป็นรอยนำไปสู่การเสียค่าซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นด้วย
การนำรถเข้าศูนย์เพื่อเช็กระบบเบรครถยนต์ สำหรับชุดเบรคล้อหน้าตามมาตรฐานการตรวจสภาพรถยนต์ทั่วไป ควรตรวจเช็กเมื่อขับขี่ถึงระยะ 5,000 กิโลเมตร หรือทุก 6 เดือน ส่วนชุดเบรคล้อหลังควรตรวจเช็กเมื่อขับขี่ถึงระยะ 10,000 กิโลเมตร หรือทุก 6 เดือนเช่นกัน ท่อน้ำมันเบรคควรเช็กเมื่อขับขี่ถึงระยะ 10,000 กิโลเมตร หรือทุก 6 เดือน เนื่องจากเมื่อใช้งานมาระยะหนึ่งท่อน้ำมันเบรคอาจเกิดการรั่วซึมได้ซึ่งอันตรายมาก ส่วนน้ำมันเบรครถยนต์ควรเช็กเมื่อขับขี่ถึงระยะ 40,000 กิโลเมตร หรือทุก 24 เดือน
วิธีใช้งานที่ช่วยถนอมเบรครถยนต์ อย่างแรกคือ อย่าใช้น้ำมันเบรคที่เสื่อมคุณภาพ เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเบรคได้ เช่น จะทำให้ลูกยางป้องกันน้ำมันรั่วในกระบอกปั๊มล้อเสื่อมสภาพตามไปด้วย และจะทำให้น้ำมันเบรครั่วไหล ถัดมาคือไม่ควรนำน้ำมันเบรคต่างยี่ห้อ หรือ ต่างมาตรฐานมาใช้งานผสมกัน เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีทำให้คุณสมบัติของน้ำมันเบรคเปลี่ยนไป ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนยี่ห้อ หรือใช้น้ำมันเบรคที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ควรล้างระบบเบรคก่อนเปลี่ยนถ่ายน้ำมันใหม่เข้าไปท้ายที่สุดเราต้องตรวจสอบรถยนต์อย่างสม่ำเสมอและนำรถเข้าศูนย์เพื่อตรวจเช็กสภาพให้ตรงตามรอบทุกครั้งเพื่อให้รถยนต์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานมากที่สุด
ความคุ้มครองประกันรถยนต์