ฝึกลูกนั่งคาร์ซีทก่อนเดินทางไกลยังไง ให้ได้ผล
การเดินทางไกลคงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และสำหรับในไทยนั้นอาจจะยังไม่คุ้นชินนักกับการนำคาร์ซีทมาใช้งานให้ลูกหลานนั่งระหว่างการเดินทางด้วยรถ แต่ต้องยอมรับเลยว่า นี่คืออุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของลูกหลานระหว่างการเดินทางได้เป็นอย่างดี
แล้วแบบนี้ ถ้าเราอยากจะเพิ่มความปลอดภัยตลอดการเดินทางบนท้องถนนให้กับลูกหลานที่บ้าน จะต้องฝึกลูกนั่งคาร์ซีทยังไง? วิธีนั่งคาร์ซีทที่ถูกต้องต้องนั่งแบบไหน? ลูกต้องนั่งคาร์ซีทไปจนถึงอายุเท่าไหร่? ทำความสะอาดคาร์ซีทอย่างไรบ้าง? วันนี้ แรบบิท แคร์ มีคำตอบ!
คาร์ซีทจำเป็นมากแค่ไหน? เริ่มนั่งได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่นะ?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง ถึงวิธีนั่งคาร์ซีท ทารก แต่จะจริงหรือเปล่า ที่เราสามารถให้ลูกนั่งคาร์ซีทได้ตั้งแต่วัยทารกเลย? ขอบอกเลยว่าจริง และเด็กทารกสามารถนั่งคาร์ซีทได้ตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด และเด็ก ๆ ควรนั่งเป็นประจำทุกครั้งที่เดินทางด้วยรถยนต์เพื่อความปลอดภัยสูงสุดซึ่งแพทย์เด็กต่างให้การยืนยัน
คาร์ซีท คือ อุปกรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยชีวิตเด็กยามที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงคอของเด็กเล็กเมื่อมีแรงกระชากจากการลดความเร็วอย่างกะทันหันขณะเกิดรถชน และที่สำคัญที่สุด คาร์ซีทช่วยยึดไม่ให้เด็กกระเด็นออกจากตัวรถได้อีกด้วย
ดังนั้น คาร์ซีทจึงเป็นสิ่งของจำเป็นที่ในหลาย ๆ ครอบครัวต้องมี ในบางประเทศถึงขนาดออกกฎหมายว่า ทุกครอบครัวที่ต้องนำลูกเดินทางด้วยรถยนต์จะต้องใช้คาร์ซีท เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของเด็กขณะเดินทางนั่นเอง
สำหรับในไทย คาร์ซีทยังเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมเท่านั้น ยังไม่ได้มีข้อบังคับกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในไทยยังมีข้อกฎหมายเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่ แต่เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ จะเหมาะกับผู้มีส่วนสูงตั้งแต่ 140 ซม. ขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าความสูงเฉลี่ยของเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ทำให้ไม่พอดีกับร่างกายเด็กเล็ก และการคาดเข็มขัดแบบธรรมดาอาจทำให้เด็กที่มีส่วนสูงน้อยกว่า 140 ซม. หลุดออกจากเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้
นี่เองที่ทำให้คาร์ซีทจำเป็นมาก เพราะถูกออกแบบมาให้เหมาะกับสรีระร่างกายเด็ก ๆ โดยเฉพาะ ช่วยปกป้องลูกน้อยระหว่างการเดินทางได้ดีกว่าเข็มขัดนิรภัยแบบธรรมดา แถมยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถขับรถได้อย่างมีสมาธิ โดยไม่ต้องคอยพะวงเรื่องความปลอดภัยของลูกตลอดเวลาอีกด้วย
เบื้องต้นแล้ว คาร์ซีทใช้ได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงช่วงอายุ 7 ขวบ ส่วนเด็กที่อายุ 8 ขวบขึ้นไป ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ที่นั่งเสริม และเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมกับสรีระเด็กได้ และควรใช้จนกว่าสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี มีส่วนสูงถึง 140 ซม. หรือมีอายุมากกว่า 9 ปีขึ้นไป
เริ่มต้นอย่างไร ถ้าอยากฝึกลูกนั่งคาร์ซีท
การเลือกซื้อคาร์ซีทอาจจะไม่ใช่ปัญหามากเท่าใดนัก เพราะแม้คาร์ซีทจะมีราคาแพง แต่บางยี่ห้อ หรืออบางร้านค้าเปิดโอกาสให้คุณใช้บัตรเครดิตรูดซื้อผ่อนได้หลายเดือน หรือบางครอบครัวที่มีงบจำกัด คาร์ซีทมือสองเองก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยระวังเพียงอายุขัยจากวันที่ผลิตต้องไม่เกิน 6 ปี ไม่เช่นนั้นจำนับว่าอุปกรณ์เริ่มเสื่อมสภาพ ไม่สามารถรับแรงกระแทกได้ดีเท่าที่ควร
แต่สิ่งที่ยากและปราบเซียนสำหรับผู้ปกครองหลาย ๆ บ้าน มักจะเป็นขั้นตอนการฝึกลูกนั่งคาร์ซีทเสียมากกว่า
โดยขั้นตอนการฝึกลูกนั่งคาร์ซีท สามารถเริ่มต้นได้ ดังนี้
- ควรเริ่มต้นฝึกลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งอายุน้อยเท่าไหร่ ยิ่งฝึกได้ง่าย และถ้าเป็นไปได้ ควรเริ่มเตรียมคาร์ซีทไว้ตั้งแต่เป็นทารกแรกเกิดเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับลูก
- หมั่นใช้งานคาร์ซีทเป็นประจำให้ลูกคุ้นชิน ไม่ว่าจะไปไหน ใกล้หรือไกล เพราะนอกจากสร้างความคุ้นเคยให้เด็กแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลาอีกด้วย
- ปรับสภาพแวดล้อมในรถและคาร์ซีท ให้เหมาะสมกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็น สายรัดที่ควรกระชับ แต่ไม่บีบรัดเกินไป, อากาศในรถยนต์ที่ควรเย็นสบาย, คาร์ซีทต้องขนาดพอเหมาะกับตัวเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็กเล็กที่ยังสื่อสารไม่ได้ เพราะเด็กอาจจดจำว่าการนั่งคาร์ซีททำให้ไม่สบายตัว จนกลายเป็นการต่อต้านได้
- ในช่วงแรก ๆ ควรมีผู้ปกครองนั่งอยู่ข้างเด็กที่นั่งคาร์ซีทด้วยเสมอ ชวนคุย เปิดเพลงในรถ ช่วยกันร้องเพลง เล่นนิทานให้ฟัง จะช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น รวมถึงการมีของเล่นที่ลูกชอบติดไม้ติดมือขึ้นรถสักชิ้นสองชิ้น ให้เด็กได้มีกิจกรรมระหว่างการนั่งคาร์ซีท
- พยายามหลีกเลี่ยงให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เล่นไอแพด เล่นสมาร์ทโฟนตลอดการเดินทาง หรือสร้างเงื่อนไขว่านั่งคาร์ซีทจะได้เล่นไอแพด นอกจากป้องกันเด็กเสพติดแล้ว อาจกลายเป็นการสร้างเงื่อนไข งอแงไม่ยอมนั่งคาร์ซีท หากไม่มีไอแพด สมาร์ทโฟน
- ควรแวะพักระหว่างการเดินทางทุก ๆ 1 – 3 ชั่วโมง เพื่อลดความอึดอัดที่ต้องนั่งอยู่นิ่ง ๆ ตลอดระยะเวลาการเดินทางให้เด็ก ๆ
- สร้างกฎให้ชัดเจนร่วมกันทั้งบ้าน ก่อนล้อหมุนจะต้องไปนั่งประจำที่เท่านั้น ถ้าไม่นั่งรถจะไม่ออก ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นตัวอย่างด้วย
- พยายามให้กำลังใจ และชมเชยลูกเมื่อนั่งประจำคาร์ซีทตลอดการเดินทาง
- ระหว่างการฝึก ผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ ควรใจแข็งบ้าง และสำหรับในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อาจจะต้องพูดคุยให้เข้าใจ พร้อมยกเหตุผลเพื่อให้ลูกปฎิบัติตาม หากมีอาการงอแงให้จับมือปลอบแทน
นอกจากนี้ การจะฝึกลูกนั่งคาร์ซีทให้สำเร็จได้ ไม่เพียงแต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น แต่ผู้ปกครองท่านอื่น ๆ ในบ้าน เช่น เหล่าปู่ย่าตายาย ต้องเข้าใจ และให้ความร่วมมือด้วย เพราะมีหลายครั้งที่ผู้ใหญ่ในบ้านอาจจะยังไม่เข้าใจ มองไม่เห็นความสำคัญของคาร์ซีทเท่าที่ควร จนนำเด็กมาอุ้ม หรือให้นั่งตามปกติโดยไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งนอกจากจะอันตรายแล้ว อาจจะทำให้เด็กสับสนและเข้าใจผิดได้ว่า ตนไม่จำเป็นต้องนั่งคาร์ซีทก็ได้
วิธีนั่งคาร์ซีทที่ถูกต้อง ต้องนั่งอย่างไร?
วิธีนั่งคาร์ซีทที่ถูกต้องจะช่วยให้คาร์ซีทปกป้องลูก ๆ ของคุณได้ดีมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยก่อนที่เราจะเริ่มฝึกวิธีนั่งคาร์ซีทที่ถูกต้องให้ลูก คุณควรเช็กให้ดีเสียก่อนว่า ได้ทำการติดตั้งคาร์ซีทในตำแหน่งที่เหมาะสม และถูกต้องกับที่นั่งในรถ โดยคุณสามารถศึกษาได้จากคู่มือการใช้งานให้ละเอียดเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น
- ติดตั้งคาร์ซีทและหันไปในทิศทางที่ถูกต้อง
วิธีนั่งคาร์ซีท ทารกที่ถูกต้อง ควรติดตั้งคาร์ซีทหันไปทางเบาะหลังของยานพาหนะ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะช่วยลดแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นแรงกระแทกจาก ศีรษะ ต้นคอ กระดูกสันหลัง รวมไปถึงอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย และควรให้เด็กนั่งในวิธีนี้จนถึงอายุ 2 ขวบ หรือน้ำหนักไม่เกินตามที่คู่มือคาร์ซีทกำหนดไว้ หากเด็กที่โตขึ้นมา สามารถปรับคาร์ซีทให้หันหน้าไปทางด้านหน้ารถตามปกติ
- ใส่สายรัดเข็มขัดให้ถูกต้อง
อีกหนึ่งวิธีนั่งคาร์ซีทที่ถูกต้อง ควรรัดสายเข็มขัดให้กระชับ ไม่หลวม ไม่แน่นจนเกินไป เพราะการที่ไม่คาดสายรัดให้ถูกต้อง หรือสายรัดหลวมเกินไปหรือปล่อยให้สายพลิกกลับด้าน อาจจะทำให้ตัวเด็กหลุดออกจากเบาะที่นั่งได้ ถ้ารัดเกินไปเด็ก ๆ ก็อาจะอึดอัด โดยการปรับสายให้กระชับกับตัวเด็กที่ถูกต้อง คุณสามารถเช็กได้ด้วยวิธีการหยิบสายรัดขึ้นด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ หากหยิบเป็นจีบขึ้นมาได้ แสดงว่าสายรัดยังหลวมเกินไป
นอกจากนี้ ไม่ควรให้ตัวล็อคหรือคลิปของสายรัด อยู่ต่ำจนเกินไปหรือผิดตำแหน่งที่คู่มือได้แจ้งไว้ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุอาจทำให้ตัวเด็กหลุดออกจากเบาะที่นั่งได้ สำหรับติดตั้งตัวล็อคให้อยู่สูงระดับเดียวกับรักแร้ของเด็กหรืออยู่ตรงกลางหน้าอกของเด็ก เพราะเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องที่สุด
- ปรับองศาเบาะคาร์ซีสให้เหมาะกับลูก
เด็กส่วนใหญ่มักจะเผลอหลับเมื่อนั่งในรถไปได้ระยะหนึ่ง และเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ อย่าง ศีรษะลูกกระแทกกับขอบเบาะ จึงควรปรับเบาะคาร์ซีทให้เอนนอนได้ตั้งแต่ 5 – 20 องศา เพื่อให้ตัวเบาะนั้นสามารถโอบอุ้มร่างกายและล็อกบริเวณศีรษะไม่ให้เคลื่อนไหวได้พอดี นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพคอของลูกน้อยที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ด้วย
วิธีทำความสะอาดคาร์ซีท
ในยุคที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องแบบนี้ จริงอยู่ที่การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว จะช่วยเซฟลูกน้อยได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสกปรกต่าง ๆ ก็อาจเปรอะเปื้อนปะปนอยู่ที่คาร์ซีทได้ เบื้องต้นแล้วมีคำแนะนำว่า ผู้ปกครองทั้งหลายควรหมั่นทำความสะอาดคาร์ซีททุก ๆ 3-6 เดือน หรือขึ้นอยู่กับความบ่อยในการใช้งาน
สำหรับการทำความสะอาดคาร์ซีทนั่นก็ไม่ยาก โดยทั่วไป การทำความสะอาดจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ทำความสะอาดส่วนที่เป็นโครงคาร์ซีท
- ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดเศษผงตามซอกต่าง ๆ ในโครงตัวคาร์ซีทออกให้หมด
- ผสมน้ำกับเดทตอล ใช้ผ้าชุบน้ำยาที่ผสมไว้แล้วเช็ดให้ทั่วโครงคาร์ซีท
- ถ้ามีสายคาดที่ถอดออกจากโครงคาร์ซีทไม่ได้ ให้ใช้แปรงสีฟันชุบน้ำยาซักผ้ามาขัด ก่อนเช็ดล้างน้ำยาออกให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า
- นำโครงคาร์ซีทไปตากแดดจัดเพื่อฆ่าเชื้อ
ทำความสะอาดส่วนที่เป็นเบาะคาร์ซีท
- ผสมน้ำเปล่ากับน้ำยาซักผ้าสำหรับเด็ก ใช้แปรงสีฟันขัดถูในบริเวณที่เป็นคราบหนัก และเห็นได้ชัดออกให้หมดเสียก่อน
- นำเบาะคาร์ซีทและสายคาดที่สามารถถอดได้ไปซักด้วยเครื่องซักผ้าโดยใช้น้ำยาซักผ้าสำหรับเด็ก หากมีเครื่องอบแห้ง เครื่องอบ UV ให้นำไปอบแห้ง หรือใช้วิธีตาดแดดจัดจนแห้งสนิท เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่
ฝึกลูกนั่งคาร์ซีทไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากจะช่วยแบ่งเบาให้กับผู้ปกครองที่ต้องคอยอุ้มเด็กอยู่ตลอดทั้งการเดินทางแล้ว ยังช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย แต่แน่นอนว่าไม่ใช่แค่คาร์ซีทเท่านั้นที่ช่วยลดโอกาส การขับขี่อย่างมีสติทุกครั้งบนท้องถนนเองก็จำเป็น เช่นเดียวกับการทำประกันรถยนต์ติดรถเอาไว้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันได้เช่นกัน
สำหรับใครที่ยังมองหาประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ประกันชั้น 1 ประกันชั้น 2 หรือชั้นไหน ๆ คลิกเลย! กับ แรบบิท แคร์ เพราะที่นี้นอกจากจะเป็นโบรกเกอร์ประกันรถที่คุณไว้ใจได้แล้ว เรายังมีบริการเสริมอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เปรียบเทียบประกันรถ, เบิกเคลมง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แถมยังมีประกันอื่น ๆ อีกมากมายให้คุณได้เลือกสรรที่เหมาะกับทั้งไลฟ์สไตล์ของคุณและคนในครอบครัว
ครบเครื่อง ครบครัน จบในที่เดียว เพราะ แรบบิท แคร์ เราแคร์ทั้งคุณ และครอบครัวที่คุณรัก คลิกเลย!
บทความที่เกี่ยวข้อง
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct