ส่งออกไทยยังรุ่ง! ข้าวสาร และ น้ำปลา นำทัพเดินหน้า ไร้อุปสรรค
- องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ (USFDA) ได้ขึ้นบัญชี Import Alert ประเภท Detention without Physical Exam (DWPE) โรงงานผู้ผลิตน้ำปลาจากประเทศไทยบางแห่งไว้เพราะตรวจพบสารโบลูทินัม และสารฮีสตามีนในผลิตภัณฑ์
- ไทยมั่นใจส่งออกข้าว 11 ล้านตันจนถึงสิ้นปี 2561 พร้อมเตรียมพร้อมส่งมอบข้าวให้จีนภายใต้สัญญาจีทูจีอีก 1 แสนตัน ในไตรมาสนี้
ธุรกิจการส่งออกของไทยในปัจจุบัน นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินให้คนไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีกับภาคประชาชนผู้ผลิต แต่แน่นอนว่าบ่อยครั้งที่ธุรกิจการส่งออกอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ไม่วาจะปัญหาด้านการขนส่ง ปัญหาด้านการผลิต ตลอดจนปัญหาของคุณภาพสินค้า ที่แน่นอนว่าผู้ดูแลการส่งออกของไทยเอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหากเกิดปัญหาต่างๆนี้ขึ้น
สถานการณ์ปัญหา น้ำปลาไทย
เมื่อไม่นานมานี้ จากข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับน้ำปลาจากประเทศไทยมีปัญหาในการนำเข้าสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้อาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการส่งออกของน้ำปลาไทย นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ออกมาชี้แจง ว่า
กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแล การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าประมง ก่อนส่งออกไปต่างประเทศ ได้เร่งประสานข้อเท็จจริงจากกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่า สาเหตุที่ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ (USFDA) ได้ขึ้นบัญชี Import Alert เลขที่ 16-120 ประเภท Detention without Physical Exam (DWPE) โรงงานผู้ผลิตน้ำปลาจากประเทศไทยบางแห่งไว้
เพราะเนื่องจากมีการตรวจพบว่ากระบวนการควบคุมการผลิต (HACCP) ของโรงงานไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัย HACCP (21 CFR 123.3) ของ USFDA ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดสารโบลูทินัม และสารฮีสตามีนในผลิตภัณฑ์ หากตรวจพบในปริมาณที่เกินมาตรฐานกำหนดจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ซึ่ง USFDA ได้เสนอแนวทางแก้ไขกรณีดังกล่าว 2 แนวทาง คือ
1. ให้โรงงานผู้ผลิตน้ำปลาของไทยปรับกระบวนการผลิตให้มีขั้นตอนการผ่านความร้อน
2. นำเสนอข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์มายืนยันว่ากระบวนการผลิตน้ำปลามีการควบคุมที่เทียบเท่ากับข้อกำหนด HACCP ของ USFDA และสามารถป้องกันการเกิดสารพิษดังกล่าวได้
ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ
สถานการณ์การส่งออก ข้าวไทย
สำหรับธุรกิจการส่งออกข้าวไทยที่หลายคิดว่ากำลังซบเซา อาจจะต้องคิดกันใหม่ เพราะไตรมาสสุดท้ายปี 61 ข้าวไทยเรามั่นใจว่าทั้งปีส่งออก 11 ล้านตัน พร้อมส่งมอบข้าวจีทูจี จีน 1 แสนตัน
ทั้งนี้ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 (ตุลาคม.-ธันวาคม) ยังคงขยายตัวได้ดี โดยมีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปี 2561 ที่ประเมินไว้ที่ 11 ล้านตันจะทำได้แน่นอน
เพราะตัวเลขการส่งออกเกือบ 10 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคาคม-19 ตุลาคม 2561 ทำได้แล้ว 8.932 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.71% คิดเป็นมูลค่า 4,606 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.20% และคิดเป็นเงินบาท 147,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.56%
นอกจากการส่งมอบข้าวภายใต้สัญญาจีทูจี และแนวโน้มที่ไทยจะชนะประมูลขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ ยังมีคำสั่งซื้อข้าวจากตลาดต่างๆ เข้ามายังภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นผลดีต่อสถานการณ์ตลาดข้าวเปลือกของไทยที่กำลังออกสู่ตลาด ที่จะมีราคาสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ตันละ 7.6-7.7 พันบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 1.4-1.7 หมื่นบาท ขณะที่ราคาส่งออก FOB ข้าวขาวตันละ 413 เหรียญสหรัฐ และข้าวหอมมะลิตันละ 1,114 เหรียญสหรัฐ
ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ
ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ต้องยอมรับว่า มีหลายกระแสข่าวที่ออกมา ว่าปัญหาการส่งออกของไทยเรากำลังเข้าขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะน้ำปลาไทยที่ไม่ได้คุณภาพทำให้ตลาดต่างประเทศตีกลับ และจะยุติการส่งออกของไทย หรือว่าจะเป็นตลาดข้าวไทย ที่กำลังจะเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านส่งออกได้ไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตลาดการส่งออกของไทยยังดำเนินการและสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้ตามปกติ และตามที่คาดการณ์ไว้ เพียงแต่ในระหว่างการส่งออกสินค้า อาจจะมีปัญหาติดขัดกันบ้าง
ในส่วนของน้ำปลาไทย ยันปัญหาส่งออกน้ำปลาไปสหรัฐฯ เป็นเพียงการสุ่มตรวจสินค้าตามกฎระเบียบของการนำเข้า ขณะนี้บริษัทที่มีปัญหาได้ส่งหนังสือชี้แจงไปแล้ว พร้อมรอฟังผลหากไม่มีปัญหาสามารถส่งออกได้ปกติ มั่นใจไม่ได้กระทบส่งออกน้ำปลายี่ห้ออื่น ยังเป็นปกติทั้งตลาดสหรัฐและยุโรป
และในส่วนของข้าวไทย ข้าวก็ยังเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกหลัก ที่สร้างเม็ดเงินให้ไทย อีกทั้งคาดว่าแนวโน้มการส่งออก ก็จะยังขยายตัวมากขึ้น แม้ความนิยมในการประกวดข้าวดีเด่นของโลกปี 2561 ข้าวหอมมะลิไทยได้อันดับ 3 ซึ่งการตัดสินก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของกรรมการเป็นหลัก แต่ไม่ได้สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของข้าว โดยข้าวหอมมะลิไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่มา
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี