เช้านี้ ฝุ่น PM 2.5 ลด! ด้าน “กรมควบคุมมลพิษ” ยังเตือนให้เฝ้าระวัง
คนกรุงฯ แฮปปี้รับเช้าวันจันทร์ เมื่อ กรมควบคุมมลพิษ รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 13 มกราคม 2563 เวลา 7.00 น. ว่าคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 50 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 25 –54 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม) คาดการณ์ว่า นอกจากอยู่ในช่วงวันหยุดแล้ว อาจจะเป็นผลมาจากการที่ลมฝนพัดพาฝุ่นออกไป
เช้านี้ ฝุ่น PM 2.5 ลด! กรมควบคุมมลพิษ เผยยังต้องเฝ้าระวัง
ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเกือบทุกพื้นที่เมื่อเทียบกับช่วงเช้าของเมื่อวาน (12 มกราคม 2563) แต่ในบางพื้นที่ยังวัดได้ 35-72 มคก./ลบ.ม. ซึ่งยังเกินค่าเฉลี่ยมาตรฐานอยู่ และพบว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งหมด 19 พื้นที่ ได้แก่
- เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน)
- เขตพญาไท หน้าแฟลตทหารบกใกล้ รพ.วิชัยยุทธ ตรงข้ามกระทรวงการคลัง
- เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ซอยลาดพร้าว 95
- เขตปทุมวัน บริเวณหน้าห้างสามย่านมิตรทาวน.
- เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า
- เขตบางคอแหลม บริเวณป้อมตำรวจสี่แยกถนนตก
- เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่
- เขตบางกะปิ ข้างป้อมตำรวจตรงข้ามสำนักงานเขตบางกะปิ
- เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน
- เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย
- เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม (ประมาณซอยเพชรเกษม 36)
- เขตบางเขน บริเวณสำนักงานเขตบางเขน
- เขตบางพลัด บริเวณสำนักงานเขตบางพลัด
- เขตบางขุนเทียน บริเวณสำนักงานเขตบางขุนเทียน
- เขตพระนคร บริเวณสำนักงานเขตพระนคร
- เขตคลองเตย บริเวณสำนักงานเขตคลองเตย
- เขตบางซื่อ บริเวณสำนักงานเขตบางซื่อ
- เขตหลักสี่ บริเวณสำนักงานเขตหลักสี่
- เขตบึงกุ่ม บริเวณสำนักงานเขตบึงกุ่ม
PM 2.5 กระทบสุขภาพอย่างไร?
หลายฝ่ายยังคงออกมาเตือนถึงผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยทางเดินหายใจ ที่ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง และควรใช้อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เช่น หน้ากากที่กรองฝุ่น PM 2.5 เมื่อต้องออกนอกตัวอาคาร การเปิดใช้เครื่องฟอกอากาศ และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด
สำหรับอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกาย ไม่เฉพาะแค่ผู้มีปัญหา หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ฝุ่น PM 2.5 สามารถซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือด รวมทั้งผ่านเข้าทางเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก และผ่านเข้าไปยังสมองโดยตรง ทำให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บ เกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคพาร์กินสันได้
ในหมู่เด็ก ๆ ที่หายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป ก็มีหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่า ฝุ่น PM 2.5 มีผลกับความผิดปกติทางด้านพัฒนาการทางสติปัญญา เช่น มีสติปัญญาด้อยลงพัฒนาการช้าลง มีปัญหาการได้ยินและการพูด รวมทั้งยังมีผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น และภาวะออทิซึม (Autism) เพิ่มมากขึ้นถึง 68%
ด้านประชาชน และหลายฝ่ายต่างออกมาเรียกร้องถึงรัฐบาล ให้เพิ่มความใส่ใจเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 และควรเป็นอีกหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ควรแก้ไข และไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และอีกหลายจังหวัด ยังมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่ควรได้รับการแก้ไขโดยไว
ค่าฝุ่นที่พุ่งสูงในไทยยังเคยติดอันดับ 4 ของโลก ประเทศที่มีฝุ่นละอองหนาแน่น จากการจัดอันดับของ แอปฯ AirVisual อีกด้วย
วิกฤตด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง โดยต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด และไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องฃฝุ่นละอองเท่านั้นที่เป็นประเด็นสำคัญ แต่เรื่องภัยแล้งที่ถูกคาดการณ์เอาไว้ในช่วงหน้าร้อนที่จะถึงนี้ รวมถึงสภาวะน้ำประปาเค็มในบางพื้นที่ ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตามต่อไป!
ขอบคุณที่มาจาก :
www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1746106
www.facebook.com/PCD.go.th
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct