ตัดแต้มใบขับขี่ หักคะแนนจราจรข้อหาอะไรบ้าง? ขอคะแนนใบขับขี่คืนอย่างไร?
หลายคนอาจไม่รู้ว่าผู้มีใบขับขี่ทุกคนมี “คะแนนจราจร” หรือคะแนนความประพฤติในการขับรถที่ต้องรักษาไว้ด้วยการขับขี่ตามกฎจราจร และ “การตัดคะแนนจราจร” เมื่อขับรถผิดกฎจราจรไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะมีการปรับปรุงมาตรการเพื่อสร้างจิตสํานึกในการขับขี่ปลอดภัยให้ชัดเจนครอบคลุมมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นระเบียบจราจรใหม่ที่จะเริ่มบังคับใช้หักคะแนนจราจรอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
แรบบิท แคร์ รวบรวมข้อมูลแต้มคะแนนใบขับขี่ เกณฑ์ในการตัดแต้มใบขับขี่และความผิดร้ายแรงถูกพักใช้ใบขับขี่ที่ต้องรู้มาฝากกัน
คะแนนใบขับขี่คืออะไร? หักคะแนนจราจร เริ่มวันไหน?
แต้มคะแนนใบขับขี่ คือ คะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่กำหนดให้ผู้มีใบขับขี่ทุกคนมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน ไม่ว่าจะมีใบขับขี่กี่ชนิดก็ตาม และจะถูกตัดคะแนนความประพฤติการขับรถตั้งแต่ 1-4 คะแนนตามข้อหาผิดกฎจราจร หากถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ทุกชนิด 90 วัน โดยจะเริ่มตัดคะแนนจราจรในวันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของ ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565
จะตัดแต้มคะแนนใบขับขี่ในข้อหาความผิดไหนบ้าง? ครั้งละกี่คะแนน?
ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่ขับรถผิดกฎจราจร จะถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับขี่ตามจำนวนคะแนนที่กำหนดของแต่ละข้อหา ตั้งแต่ 1-4 คะแนนต่อครั้ง หากทำความผิดครั้งเดียวในหลายข้อหา จะตัดคะแนนตามจำนวนที่กำหนดในแต่ละข้อหา แต่ไม่เกิน 8 คะแนนต่อความผิดในครั้งนั้นๆ หากถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน (จาก 12 คะแนน) จะถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ เป็นเวลา 90 วัน
ข้อหาความผิดที่จะถูกตัดคะแนนความประพฤติขับขี่ ครั้งละ 1 คะแนน
- ขับรถไม่หยุดให้คนข้าม ณ ทางข้าม
- ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว
- ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร
- ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์มือถือ
- ไม่ขับรถด้วยความเร็วที่กฎหมายกำหนด
- ไม่หยุดรถหรือจอดรถชิดขอบทางเมื่อเห็นรถฉุกเฉิน
- ขับจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย หรือผู้โดยสารไม่ได้สวมหมวกนิรภัย
- ขับรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือผู้โดยสารไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย
- ขับรถที่ไม่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียน
- ไม่ติดแผ่นป้ายหรือเครื่องหมายให้กับรถที่จดทะเบียนแล้ว
- ปรับเปลี่ยนหรือปิดบังข้อมูลเครื่องหมายประจำรถ
- ได้รับใบสั่งและไม่ชำระค่าปรับโดยไม่มีเหตุสมควร
ข้อหาความผิดที่จะถูกตัดคะแนนความประพฤติขับขี่ ครั้งละ 2 คะแนน
- ขับรถฝ่าไฟแดง
- ขับรถย้อนศร
- ขับรถในระหว่างถูกยึด หรือถูกสั่งพักใบขับขี่
ข้อหาความผิดที่จะถูกตัดคะแนนความประพฤติขับขี่ ครั้งละ 3 คะแนน
- ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
- ขับรถชนแล้วหนี
- ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดาหรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย
ข้อหาความผิดที่จะถูกตัดคะแนนความประพฤติขับขี่ ครั้งละ 4 คะแนน
- ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
- ขับรถในขณะเสพยาเสพติด
- ขับรถโดยไม่คำนึงความปลอดภัยของผู้อื่น
- แข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาต
จะตัดคะแนนความประพฤติของคนขับรถได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?
การตัดคะแนนจราจรของผู้มีใบขับขี่ที่ทำความผิด แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีรู้ตัวผู้ขับขี่ จะตัดแต้มคะแนนใบขับขี่ของผู้ขับขี่รายนั้นๆ และกรณีไม่พบหรือทราบตัวผู้ขับขี่ จะแสดงใบสั่งไว้ที่รถหรือส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ โดยอาจเป็นได้ทั้งการออกใบสั่ง ตักเตือน เรียกปรับ หรือส่งสำนวนฟ้องศาล
หากพบว่าเจ้าหน้าที่ตัดแต้มคะแนนไม่ถูกต้อง หรือผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่ สามารถแจ้งขอตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ได้ ในขณะที่หากพบว่าผู้ขับขี่ที่ทำความผิดเป็นผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกต่อไป
จะขอแต้มคะแนนใบขับขี่คืนได้อย่างไร?
การคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถ แบ่งได้ 2 กรณี คือ กรณีผู้ที่ถูกตัดคะแนนจราจรจะได้รับคะแนนใบขับขี่คืนเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับจากวันที่กระทำความผิดและถูกบันทึกตัดแต้มใบขับขี่ตามความผิดในแต่ละข้อหา หากมีคะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน แต่ผ่านการอบรมความรู้การขับรถและวินัยจราจรตามที่กำหนด จะได้รับคะแนนคืนตามรอบการอบรมแต่ละครั้งใน 1 ปี โดยผู้ขับขี่จะมีสิทธิได้รับคืนคะแนนจากการเข้ารับการอบรมเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น
สำหรับกรณีผู้ที่ถูกสั่งพักใบขับขี่จากถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจนเหลือ 0 คะแนน เมื่อพ้นกำหนดพักใบขับขี่แล้ว จะได้รับคะแนนคืนเพียง 8 คะแนนเท่านั้น โดยอีก 4 คะแนนที่เหลือ จะได้รับคืนต่อเมื่อไม่ได้ถูกบันทึกตัดแต้มความประพฤติอีกเลยในรอบระยะเวลา 1 ปี นับจากวันครบกำหนดสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ แต่หากเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจร และผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด จะได้รับคะแนนใบขับขี่คืนทั้ง 12 คะแนน
กรณีไหนบ้างที่จะทำให้ถูกสั่งพักใบขับขี่ 90 วัน?
กรณีที่ทำให้ถูกสั่งพักใบขับขี่ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ได้แก่ การถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถเหลือ 0 คะแนน (จาก 12 คะแนน) หรือการมีพฤติกรรมการขับขี่ผิดกฎหมายจราจรที่มีลักษณะร้ายแรง ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้
- มีเหตุก่อให้เกิด หรือน่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงสาธารณะ
- มีลักษณะเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง
- มีพฤติการณ์หลบหนี เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล/ทรัพย์สิน
ทั้งนี้ การขับรถในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 156 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จะทราบได้อย่างไรว่าถูกสั่งพักใบขับขี่?
ผู้ถูกตัดแต้มคะแนนจราจรจนเหลือ 0 คะแนน และถูกสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน จะได้รับคำสั่งพักใบขับขี่ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งจะไปยังที่อยู่ของผู้ได้รับใบขับขี่ตามที่ได้แจ้งไว้กับกรมการขนส่งทางบก ภายใน 15 วัน นับจากวันที่คะแนนความประพฤติถูกตัดเหลือ 0 คะแนน และเมื่อพ้น 15 วันนับจากวันส่งคำสั่ง ให้ถือว่าผู้ถือใบขับขี่ได้รับแจ้งคำสั่งเรียบร้อยแล้วตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565
เช็คแต้มคะแนนใบขับขี่ได้จากที่ไหนบ้าง?
สามารถตรวจสอบแต้มใบขับขี่ได้จากเว็บไซต์ PTM E-ticket แอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือช่องทางอื่นๆ ตามที่กองบังคับการตำรวจจราจร และกรมการขนส่งทางบกกำหนด ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้งเมื่อเริ่มใช้มาตรการบันทึกตัดแต้มคะแนนจราจรอย่างเป็นทางการแล้ว
กฎหมายที่เกี่ยวกับการหักคะแนนจราจรมีอะไรบ้าง?
- ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของ ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 (เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป)
- ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 (เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป)
- ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 (เริ่มบังคับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2565)
- ระเบียบว่าด้วยการยึดใบอนุญาตขับขี่ การบันทึกการยึดใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2565 (เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป)
- ระเบียบว่าด้วยการประสานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับประวัติและการกระทำความผิดตามกฎหมายของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2565 (เริ่มบังคับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2565)
- ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการอุทธรณ์คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 (เริ่มบังคับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2565)
ถ้าผู้ขับขี่ถูกสั่งพักใบขับขี่ ประกันรถยนต์แต่ละชั้นจะยังคุ้มครองหรือไม่
หากผู้ขับขี่ถูกสั่งพักใบขับขี่และเกิดอุบัติเหตุ การคุ้มครองของประกันรถยนต์ในกรณีนี้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกันภัย แต่โดยทั่วไปแล้ว การที่ผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายขณะเกิดอุบัติเหตุ มักมีผลกระทบต่อการเคลมประกันในทุกชั้นของประกันรถยนต์ ดังนี้
1. ประกันชั้น 1
- ประกันชั้น 1 คุ้มครองอย่างครอบคลุมทั้งตัวรถของคุณ คู่กรณี และความเสียหายต่อทรัพย์สินอื่น ๆ แต่หากผู้ขับขี่ถูกสั่งพักใบขับขี่ ประกันอาจปฏิเสธการคุ้มครองสำหรับค่าซ่อมรถของคุณเองได้ เนื่องจากการขับขี่ในขณะที่ไม่มีใบขับขี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อเงื่อนไขการประกัน
- อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันยังคงต้องรับผิดชอบต่อ ความเสียหายของคู่กรณี หรือบุคคลที่สามตามกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการประกันภัย แม้ว่าผู้ขับขี่จะไม่มีใบขับขี่ที่ถูกต้อง
2. ประกันชั้น 2+ และประกันชั้น 3+
- ประกันชั้น 2+ และประกันชั้น 3+ ราคาย่อมเยาว์ ให้ความคุ้มครองเฉพาะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและมีคู่กรณี เช่น การชนกับรถอื่น และคุ้มครองกรณีรถถูกโจรกรรม
- หากผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่หรือถูกสั่งพักใบขับขี่ ประกันอาจปฏิเสธการคุ้มครองความเสียหายต่อรถของคุณเอง เนื่องจากขัดต่อเงื่อนไขการประกัน แต่ยังคงต้องคุ้มครองคู่กรณีตามกฎหมาย
3. ประกันชั้น 2 และประกันรถยนต์ชั้น 3
- ประกันรถชั้น2 และ 3 คุ้มครองเฉพาะความเสียหายต่อคู่กรณีหรือบุคคลที่สามเท่านั้น โดยไม่คุ้มครองรถของคุณ
- หากเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ผู้ขับขี่ถูกสั่งพักใบขับขี่ ประกันจะยังคงต้องคุ้มครอง คู่กรณี ตามกฎหมายความคุ้มครองของบุคคลที่สาม แต่จะไม่คุ้มครองรถของผู้ขับขี่เอง
ผลกระทบจากการขับขี่ในขณะที่ถูกสั่งพักใบขับขี่
- ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน: บริษัทประกันมีสิทธิ์ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับรถของคุณ หากคุณไม่มีใบขับขี่ที่ถูกต้อง เช่น ใบขับขี่หมดอายุ ถูกสั่งพัก หรือถูกเพิกถอน
- ผลทางกฎหมาย: การขับขี่ในขณะที่ถูกสั่งพักใบขับขี่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้ขับขี่อาจถูกดำเนินคดีอาญาหรือปรับตามกฎหมายจราจร
- ผลต่อการต่อประกัน: การถูกปฏิเสธเคลมประกันอาจส่งผลต่อการต่อประกันครั้งถัดไป โดยอาจมีการเพิ่มเบี้ยประกันหรือปฏิเสธการให้ประกันใหม่
แรบบิท แคร์ พร้อมเป็นผู้ช่วยรักษาแต้มคะแนนจราจรด้วยประกันรถยนต์ชั้น 1 จากทุกบริษัทประกันชั้นนำที่มีให้เลือกเช็คเบี้ยประกันหรือเปรียบเทียบออนไลน์ได้ทันที พร้อมรับส่วนลดสูงสุด 70% และสิทธิพิเศษไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทั้งบริการแจ้งเหตุฉุกเฉินทางถนนตลอด 24 ชั่วโมง บริการโทรประสานงานแจ้งเหตุฉุกเฉิน บริการเคลมออนไลน์ผ่านทาง LINE (@rabbicare) บริการมีรถใช้ทดแทนระหว่างซ่อม หรือชดเชยค่าเดินทางกลับบ้าน รับสิทธิพิเศษความแคร์ได้ก่อนใคร โทรเลย 1438 หรือ https://rabbitcare.com/
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- โดนใบสั่งออนไลน์ต้องจ่ายที่ไหน? ใบสั่งจราจรหายจะเช็คย้อนหลังได้อย่างไร ?
- กันไว้ดีกว่าแก้! รวมเบอร์ แจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย บนท้องถนน
Tawan มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 2 ปี เขียนด้านยานยนต์ ประกันยานยนต์ที่ Rabbit Care และ Asia Direct
มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย มีความเชี่ยวชาญด้านประกันรถยนต์และประกันชีวิต