ช่วงนี้น้ำมันแพง! เจาะลึกสาเหตุสถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุดและผลกระทบ
สถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุดอาจทำให้ใครหลายคนต้องเหงื่อตกไปตาม ๆ กัน โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินออกเทน 95 และกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ เพิ่มขึ้นรวม 8.50 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมัน E85 เพิ่มขึ้น 11.20 บาทต่อลิตร ทางด้านน้ำมันดีเซล B7 และ B20 มีราคาเพิ่มขึ้น 6.50 บาทต่อลิตร และดีเซลพรีเมี่ยมขึ้น 11.90 บาทต่อลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565)
วันนี้ แรบบิท แคร์ จะมาเจาะลึกสาเหตุว่าทำไมน้ำมันแพงขึ้น รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และวิธีการรับมือกับราคาน้ำมันแพงในรูปแบบที่ทำได้จริง
ทำไมน้ำมันแพงขึ้น?
สถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุดในประเทศไทยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลัก ๆ 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่
การคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้ความต้องการน้ำมันของโลกหยุดชะงักลงในปี 2020 เนื่องจากหลายประเทศได้ออกมาตรการล็อกดาวน์และปิดประเทศเพื่อรับมือกับโรคระบาด ส่งผลให้ผู้คนเดินทางและใช้น้ำมันน้อยลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถาณการณ์การระบาดได้คลี่คลายลงแล้วในหลายประเทศ ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันสูงขึ้นทั่วโลกและทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปก
กลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) คือการรวมตัวกันของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน 23 ประเทศ ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในตลาดโลก ในช่วงปี 2020 กลุ่มโอเปกได้ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวันเนื่องจากความต้องการน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว และในขณะนี้หลายประเทศก็ยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้กลับมาตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยมีกำลังการผลิตเป็นอันดับ 2 ของโลกในช่วงก่อนที่สงครามจะเกิดขึ้น แต่เมื่อรัสเซียเริ่มส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครน หลายประเทศก็ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อตอบโต้ โดยเน้นไปที่การห้ามซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดลดลงไปอีก
ค่าเงินบาทอ่อน
เนื่องจากธนาคารประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท โดยในขณะนี้เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 36 บาท เมื่อเทียบกับวันนี้เมื่อปีที่แล้ว เงินบาทอ่อนมูลค่าลงประมาณ 9% ซึ่งหมายความการน้ำเข้าน้ำมันดิบจึงมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้นอีกทางหนึ่ง
ราคาน้ำมันแพงจะส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง?
นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนโดยตรงแล้ว ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิตหรือบริการด้วย เช่น ธุรกิจขนส่งและธุรกิจโลจิสติกส์อย่างรถขนส่งผู้โดยสาร รถบรรทุก วินมอเตอร์ไซค์ แท็กชี่ ที่จะได้กำไรต่อเที่ยวน้อยลงเนื่องจากต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตรและการประมง ที่ต้องใช้น้ำมันในเครื่องจักรหรือเรือประมง
ยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้ค่าไฟฟ้าและพลังงานอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามกันไป เพราะหนึ่งในต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าคือเชื้อเพลิง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงจึงส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟฟ้าในประเทศไทย ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มส่งผลทำให้ราคาก๊าซธรรมชาตินั้นปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
การปรับตัวขึ้นของพลังงานทุกรูปแบบจะทำให้ต้นทุนในการผลิตของหลายอุตสาหกรรมพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยายามลดผลกระทบจากเงินเฟ้อขั้นรุนแรง แต่ก็อาจเป็นการบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคและเพิ่มภาระหนี้สินให้กับผู้ที่เป็นหนี้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในที่สุด
วิธีรับมือน้ำมันแพงแบบทำได้จริง
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลจะมีมาตรการในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมัน เช่น การใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาสนับสนุน การลดภาษีน้ำมัน และมาตราการตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่เราเองก็สามารถลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นโดยตรงได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
- หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือเดินให้มากขึ้น
- ตรวจเช็คสภาพรถยนต์และลมยางให้เป็นนิสัย
- ตรวจสอบสถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุดมันเป็นประจำ
- อุดหนุนสินค้าในชุมชนที่อยู่อาศัยเพื่อลดการใช้พลังงานจากการเดินทาง
นอกจากนี้ แรบบิท แคร์ยังเคยบอกเทคนิคขับรถให้ประหยัดน้ำมัน สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นประจำและไม่สามารถเลี่ยงไปใช้การเดินทางรูปแบบอื่นได้ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากน้ำมันแพงได้อีกส่วนหนึ่ง
อีกวิธีหนึ่งที่เราขอแนะนำสำหรับผู้ใช้รถส่วนตัวก็คือการใช้บัตรเครดิตที่มีส่วนลดสำหรับการเติมน้ำมัน เช่น บัตรเครดิตซิตี้ แคชแบ็ก ที่ให้เครดิตเงินคืน 1% ที่ปั๊ม Shell ทุกสาขา บัตรเครดิต เคทีซี บางจาก แพลตทินั่ม ที่ให้ส่วนลดค่าน้ำมัน 1% ที่ปั๊มบางจาก หรือบัตรบัตรเครดิตซิตี้ เมอร์เซเดส ที่ให้เงินคืน 3% ทุกปั๊มน้ำมัน เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับส่วนลดคุ้ม ๆ มาแบ่งเบาภาระค่าน้ำมันแสนแพงได้แล้ว
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี