5 สิ่งที่ควรทำ หากได้ยินเสียง ไซเรนรถพยาบาล
วี้หว่อ วี้หว่อ
เสียงไซเรนของ รถพยาบาล ดังกึกก้องไปทั่วถนน ช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายแบบนี้หลายคนคงจะตกใจ ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรถึงจะหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉินได้ใช่ไหมละคะ วันนี้ Rabbit Care จึงไม่รอช้า ขอนำสาระดีๆ มาฝากผู้ขับขี่บนท้องถนนทุกท่านกันค่ะ รับรองว่า อ่านจบแล้วทำตามได้ง่าย ไม่ยากแน่นอน!
ไม่หลีกทางให้ รถพยาบาล เพิ่มโอกาสผู้ป่วยเสียชีวิต 20%
ปัญหาเรื่องรถยนต์ไม่หลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉินยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ได้ และมีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในสังคมไทย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร อดีตเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเป็นไปอย่างล่าช้า คือ สภาพปัญหาของการจราจรที่ติดขัด และความรู้ความเข้าใจเรื่องการหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินของประชาชนที่ยังมีไม่เพียงพอ
ที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เก็บสถิติในขั้นตอนของการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจากจุดเกิดเหตุเพื่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล พบว่ายังเป็นไปอย่างล่าช้า
โดยมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะเร่งด่วน เช่น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ ติดเชื้อในกระแสเลือด อันถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาวิกฤติต้องเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
จึงอยากให้ประชาชนที่พบเห็นรถพยาบาลฉุกเฉิน ช่วยกันชะลอรถ และหลีกทางรถพยาบาลด้วย เพราะการที่เราช่วยกันหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน แม้เพียงเสี้ยววินาทีก็ถือเป็นการต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินที่นอนรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ดีที่สุด
ไม่หลีกทางให้รถพยาบาล ผิดกฎหมาย!
ไม่เพียงแต่การขับรถขวางทางรถพยาบาลจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่การทำแบบนี้ยังผิดกฎหมายอีกด้วย
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
ตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ลักษณะ 7 รถฉุกเฉิน มาตรา 76 ระบุว่า เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ ผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้
คนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ลักษณะ 7 รถฉุกเฉิน มาตรา 76 นี้ จะไม่ถูกนำมาปรับใช้เลย หากประชาชนทั่วไปได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนขอทางจากรถพยาบาลฉุกเฉินแล้วหลีกทางให้
เรื่องเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติโดยทันที ไม่ต้องคิดว่ามี กฎหมายบังคับ หรือไม่ แต่ควรปฏิบัติให้กลายเป็นจิตสำนึก!
5 สิ่งที่ควรทำหลังได้ยิน เสียงไซเรนรถพยาบาล
สำหรับผู้ขับขี่มือใหม่ทุกท่านที่เพิ่งนำรถออกมาขับขี่บนท้องถนน แล้วต้องประสบเหตุการณ์เจอรถพยาบาลฉุกเฉินเป็นครั้งแรก จนเกิดอาการตกใจ ไม่สามารถบังคับรถให้หลีกทางได้
วันนี้ Rabbit Care มีเทคนิคดีๆ ที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉินตามหลักปฏิบัติสากลที่เพื่อนๆ สามารถทำตามได้มาฝากกันค่ะ
1. ตั้งสติ
เมื่อคุณเห็น สัญญาณไฟ และได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หลายคนอาจตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และทำอะไรไม่ถูก ดังนั้น ก่อนอื่นเลยคุณควรสูดลมหายใจให้ลึกๆ และตั้งสติให้พร้อมค่ะ
2. สังเกต
หลังจากที่คุณตั้งสติ สูดลมหายใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ พยายามมองกระจกหลังเพื่อเล็งระยะของรถพยาบาลที่กำลังจะวิ่งผ่านมา
3. คำนวณ
ถ้าหากมองดูแล้วว่าพบว่า ปริมาณรถทั้งซ้ายขวาที่อยู่ใกล้ ไม่มีอันตราย และเราสามารถเบี่ยงชิดซ้ายได้ ให้คุณลดความเร็วรถลง และเบี่ยงซ้ายเพื่อหลีกทางให้รถพยาบาลทันที แต่ถ้าคุณไม่สามารถหลีกทางได้ อาจเพราะ สภาพรถที่หนาแน่น และมีอันตรายก็ให้หยุด หรือชะลอรถเพื่อให้รถพยาบาลหาทางวิ่งผ่านไปให้ได้ก่อน
4. ทิ้งระยะห่าง
เมื่อรถพยาบาลสามารถวิ่งผ่านไปได้แล้ว สิ่งต่อมาที่คุณควรทำก็คือ การชะลอรถ อย่าเพิ่งรีบขับตามรถพยาบาลไปเป็นอันขาด ท่องไว้ค่ะว่า ห้าม! ห้าม!! ห้ามขับตามเด็ดขาด!!!
5. ให้สัญญานกรณีฉุกเฉิน
กรณีที่บนถนนมีรถติดและรถพยาบาลอยู่ด้านหลังรถของคุณพอดี Rabbit Care ขอแนะนำให้คุณพิจารณาว่าควรชิดซ้ายหรือชิดขวา แต่ถ้าไม่มีใครหลีกทาง งานนี้คุณคงต้องตัดสินใจเลือกแล้วละว่าจะหลบทางไหน และเปิดไฟเลี้ยวเพื่อให้สัญญาณ รถพยาบาลจะได้แซงผ่านไปได้สะดวก
และนี่ก็คือ 5 สิ่งที่คุณควรทำ หลังจากที่ได้ยินเสียงไซเรนของรถพยาบาลค่ะ การหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉินเป็นสิ่งดีๆ ที่ทำได้ง่าย สามารถทำร่วมกันได้ ดังนั้น เวลาเห็นรถพยาบาลขอทางมา ควรรีบหลีกทางโดยไว เพื่ออำนวยความสะดวกให้รถพยาบาลไปถึงที่หมายได้เร็วยิ่งขึ้นค่ะ
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี