วิธีในการปฏิบัติตัวเมื่อเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์
ด่านตรวจแอลกอฮอล์ สิ่งที่นักท่องราตรีที่ชอบเมาแล้วขับต่างก็ขยาด แต่ความจริงแล้วการมีด่านตรวจแอลกอฮอล์ตั้งอยู่เช่นนี้นั้นสามารถลดอัตราในการเกิดอุบัติเหตุได้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยลดอัตราการเมาแล้วขับ รวมถึงคัดกรองผู้ที่ค่าแอลกอฮอล์สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่ให้ขับ อีกทั้งยังเป็นการลงโทษผู้ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมรอบข้าง วันนี้ แรบบิท แคร์ จึงเลือกที่จะนำข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับด่านตรวจแอลกอฮอล์และวิธีปฏิบัติตนเมื่อเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์มาฝากทุกคน
ด่านตรวจแอลกอฮอล์ คืออะไร ?
ด่านตรวจแอลกอฮอล์ คือด้านตรวจวัดค่าแอลกอฮอล์ที่อยู่ในลมหายใจของผู้ขับขี่ว่าเกินมาตรฐานที่ทางกฎหมายได้มีการกำหนดไว้หรือไม่ หากไม่เกินค่ามาตรฐานก็แสดงว่าสามารถขับขี่ต่อไปได้อย่างปลอดภัย แต่หากตรวจพบว่ามีค่าแอลกอฮอล์สูงกว่าที่กำหนดไว้ ก็แสดงว่ามีความเสี่ยงที่จะขับขี่อย่างไม่มีสติหรือทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ จะต้องถูกกักตัวเอาไว้ และดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะถือว่าทำผิดกฎหมายเมาแล้วขับนั่นเอง
จุดประสงค์ของการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์
ในส่วนของจุดประสงค์ของการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ขึ้นนั้น แน่นอนว่าหลัก ๆ คือการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ไม่รับผิดชอบสังคมซึ่งมีพฤติกรรมเมาแล้วขับ อีกทั้งยังลงโทษผู้ที่กระทำความผิดโดยบทลงโทษต่าง ๆ เช่น จำคุก หรือเสียค่าปรับ โดยหวังว่าจะเป็นบทลงโทษที่หนักหน่วงมากพอจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และยับยั้งให้ทุกคนมีจิตสำนึกว่าไม่ควรเมาแล้วขับ เพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นอีกด้วย
ประโยชน์ของด่านตรวจแอลกอฮอล์
แน่นอนว่าการที่มีด่านตรวจแอลกอฮอล์ตั้งมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ ย่อมเป็นตัวช่วยยืนยันชั้นดีกว่าการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์นั้นมีประโยชน์มากมายเลยทีเดียว โดยประโยชน์หลัก ๆ ของการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ คือ
- ด่านตรวจแอลกอฮอล์ช่วยลดอัตราในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี
- ด่านตรวจแอลกอฮอล์ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตทั้งของผู้ที่เมาแล้วขับและผู้ร่วมใช้ถนน
- ด่านตรวจแอลกอฮอล์ช่วยลดอัตราของจำนวนผู้ที่เมาแล้วขับให้ลดลง
- ด่านตรวจแอลกอฮอล์เป็นตัวช่วยในการยับยั้งชั่งใช่ว่าเมาแล้วไม่ควรขับเพราะอาจโดนจับ
- ด่านตรวจแอลกอฮอล์เป็นบทลงโทษสำหรับคนไม่รับผิดชอบสังคมที่เมาแล้วขับ
และประโยชน์เหล่านี้ถือเป็นประโยชน์หลัก ๆ ของด่านตรวจแอลกอฮอล์ ซึ่งความจริงแล้วยังมีประโยชน์โดยอ้อมอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่โดยรวมแล้วการมีด่านตรวจแอลกอฮอล์ตั้งอยู่แม้จะทำให้หลายคนรู้สึกหงุดหงิดหรือไม่สะดวกสบาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไม่มีด่านตรวจแอลกอฮอล์การขับรถยามค่ำคืนคงยิ่งอันตราย เพราะมีคนเมาแล้วขับมากมาย เสี่ยงภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนมากเลยทีเดียว
หากเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ?
เมื่อทราบถึงจุดประสงค์ในการตั้งด่านและประโยชน์ของด่านตรวจแอลกอฮอล์กันไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปที่เราควรทราบและเรียนรู้ก็คือวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเจอกับด่านตรวจแอลกอฮอล์ โดยวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์ มีดังนี้
กรณีที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์มา
สำหรับกรณีที่ผู้ขับขี่ไม่ได้มีการดื่มแอลกอฮอล์มาก่อนที่จะเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์นั้นสามารถสบายใจได้ 100% ว่ายังไงก็ไม่มีปัญหา เพียงต้องขับรถเข้าไปจอดยังจุดที่กำหนดและลดกระจกลงพูดคุยตอบคำถามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ให้ซักถาม ซึ่งโดยปกติแล้วหากเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าสามารถพูดคุยได้รู้เรื่องไม่มีความเสี่ยงว่าดื่มแอลกอฮอล์มาก็จะปล่อยผ่าน แต่ในบางครั้งก็จะมีการให้เป่าแอลกอฮอล์ผ่านเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ซึ่งเราก็ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ก่อนทำการเป่าต้องแน่ใจว่าบริเวณที่ต้องเป่านั้นสะอาด มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ไม่ใช้ซ้ำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติกเชื้อนั่นเอง
กรณีที่ดื่มแอลกอฮอล์มา
กรณีที่ผู้ขับขี่แอลกอฮอล์มาต้องเผชิญหน้ากับด่านตรวจแอลกอฮอล์แน่นอนว่าก็ต้องเสียววูบกันเป็นธรรมดา แต่ความจริงจะต้องรีบตั้งสติและอย่าพึ่งตื่นตระหนกตกใจเกินไปนัก แต่อันดับแรกให้ลองย้อนคิดพิจารณาว่าเราดื่มมามากน้อยแค่ไหน ระยะเวลาที่ดื่มแก้วสุดท้ายนานแค่ไหน เพราะหากดื่มมาในปริมาณไม่มากและทิ้งช่วงระยะเวลามาพักใหญ่แล้วโดยปกติเมื่อถูกเชิญให้เป่าแอลกอฮอล์ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มมาก่อจะไม่เกินค่ากำหนดมาตรฐาน แต่สำหรับใครที่ดื่มมาค่อนข้างมากแล้วรู้ตัวก็ต้องทำใจไว้กันบ้าง แต่ห้ามคิดขับรถฝ่าหรือหนีด่านตรวจแอลกอฮอล์เป็นอันขาด เพราะจะเป็นเรื่องใหญ่และบทลงโทษที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมาก ควรที่จะปฏิบัติตัวดังนี้
- เข้ารับการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์อย่างใจเย็นและสุภาพ
- พยายามแสดงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าเรายังมีสติดีและตอบคำถามด้วยความสุภาพ
- ห้ามโวยวาย ด่าทอ ขัดขืน หรือแสดงอาการไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเด็ดขาด
- หากค่าแอลกอฮอล์เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่มาก การพูดจาและขอร้องอย่างสุภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจปล่อยผ่าน
- หากค่าแอลกอฮอล์เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดค่อนข้างมาก จะถูกเชิญไปจอดรถเพื่อตรวจอีกครั้ง
- ลองเจรจาอย่างสุภาพ บางครั้งอาจสามารถจ่ายค่าปรับและจบเรื่องได้ที่หน้าด่าน
- กรณีต้องเป่าอีกครั้งให้พยายามทิ้งช่วงเวลาก่อนเป่าอีกรอบให้ได้มากที่สุด เช่น เข้าห้องน้ำ (จะทำให้ค่าแอลกอฮอล์ลดลงได้เล็กน้อย) เพราะค่าแอลกอฮอล์รอบสองจะถูกบันทึกและส่งไปยังชั้นศาล
- ติดต่อญาติให้มาประกันตัวและรอขึ้นศาล (กรณีติดต่อใครไม่ได้จะถูกฝากขังเอาไว้)
แม้ผลลัพธ์จะไม่เป็นไปตามต้องการ ต้องอย่าลืมว่าต้องปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างสุภาพ เพราะต้องไม่ลืมว่าแรกเริ่มตนเองเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเองโดยตั้งใจ ดังนั้นอย่าโวยวายและยอมรับบทลงโทษไปแต่โดยดี หากขัดขืนหรือขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจโดนโทษเพิ่มขึ้นอีกหลายกระทง
ดื่มมาแต่ไม่อยากเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์ต้องทำอย่างไร ?
สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มาแล้วทราบว่ายังไงตนเองก็มีโอกาสเป่าขึ้น (แอลกอฮอล์เกินกว่าค่ากำหนดมาตรฐาน) อย่างแน่นอนนั้นจะมีวิธีการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับด่านตรวจแอลกอฮอล์อย่างไร การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับด่านตรวจแอลกอฮอล์มี ดังนี้
- ตัดสินใจจอดรถทิ้งไว้ที่ร้านแล้วใช้บริการขนส่งสาธารณะ
- เรียกใช้บริการ You Drink I Drive จ้างคนมาขับรถให้
- ขอรบกวนเพื่อที่ไม่ดื่มหรือดื่มน้อยมากให้ไปส่งยังที่พัก
- ตัดสินใจเปิดโรงแรมในละแวกเพื่อนอน เช้าค่อยกลับบ้าน
- ติดต่อคนที่บ้านให้ช่วยมารับกลับบ้านจะได้ไม่ต้องขับ
- ทานข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนมเปรี้ยว หาที่นอนพักสัก 3-4 ชั่วโมงแล้วค่อยกลับ
วิธีเหล่านี้ถือเป็นวิธีหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับด่านตรวจแอลกอฮอล์และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเมาแล้วขับ แต่ความจริงแล้วทุกครั้งที่มีแผนจะออกไปดื่มก็ควรคิดถึงเวลากลับ ว่าจะต้องกลับอย่างไรโดยไม่ต้องขับ เช่น เลือกไม่นำรถไปตั้งแต่แรกแล้วใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนจะปลอดภัยที่สุดอย่างแน่นอน
เจอด่านตรวจแอลกอฮอล์ บทลงโทษกรณีเมาแล้วขับ
แน่นอนว่าเมื่อมีกฎหมายออกมาอย่างเข้มงวดและมีด่านตรวจแอลกอฮอล์เพื่อดักจับผู้ที่เมาแล้วขับอย่างจริงจังเช่นนี้แล้วบทลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับจะต้องไม่เบาอย่างแน่นอน โดยบทลงโทษกรณีเมาแล้วขับ คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงพักใช้ใบอนุญาตขับรถ (ยึดใบขับขี่) ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ที่ปริมาณเแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
กรณีที่เมาแล้วขับแล้วปฏิเสธการเป่า (ขัดขืน) จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 – 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน อีกทั้งศาลยังสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถได้ (สามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน)
บทลงโทษกรณีเมาแล้วขับ และทำให้เกิดอุบัติเหตุ
ทราบบทลงโทษกรณีเมาแล้วขับและโดนจับที่ด่านตรวจแอลกอฮอล์กันไปแล้ว คราวนี้เรามาทราบบทลงโทษของผู้เมาแล้วขับจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุกันบ้าง โดยผู้ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุขณะเมาแล้วขับจะมีบทลงโทษดังนี้
- เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ : จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ
- กรณีเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส : จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี
- กรณีเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย : จำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที
และนี่ก็คือวิธีในการปฏิบัติตัวเมื่อเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์ที่ตั้งอยู่ ซึ่งไม่ว่าเราจะดื่มมาหรือไม่ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับใครที่รู้ตัวว่ามักต้องเดินทางในเวลากลางคืนที่มีโอกาสเจอผู้ร่วมใช้ท้องถนนที่อาจดื่มแอลกอฮอล์มาหรือเมาแล้วขับก็ต้องระมัดระวังให้มาก อีกทั้งยังควรทำประกันรถยนต์ กับ แรบบิท แคร์ ไว้ เพราะไม่ว่าเราจะระมัดระวังสักเท่าไหร่ก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ จากผู้ที่ไม่รับผิดชอบสังคมที่เมาแล้วขับนั่นเอง
สรุป
ด่านตรวจแอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญในการลดอุบัติเหตุและความเสี่ยงจากการเมาแล้วขับ โดยช่วยคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีค่าแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดของด่านตรวจอย่างสุภาพ และหาวิธีหลีกเลี่ยงการเมาแล้วขับ เช่น ใช้บริการขนส่งสาธารณะหรือจ้างคนขับ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่นบนท้องถนน
ทำงานเกี่ยวข้องกับวงการประกันรถยนต์และยานยนต์มาตั้งแต่ปี 2019 ในหลากหลายตำแหน่งทั้ง SEO Specialist, Senior Executive, SEO / Web Analytics และ SEO Content Writer ในบริษัทประกันรถยนต์่และรถมือสองชั้นนำ นอกจากนั้น ยังเคยอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนนานถึง 3 ปีในตำแหน่งนักข่าวไอทีนิตยสารชื่อดังแวดวง E-Commerce ด้านการศึกษาจบระดับชั้นปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย