เปลี่ยนสายพานไทม์มิ่งตอนไหนดี?
ผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคนควรรู้จักส่วนประกอบของเครื่องยนต์เอาไว้บ้าง อย่างน้อยที่สุดคือความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหน้าที่ของส่วนหลัก ๆ ในเครื่องยนต์ หากเกิดปัญหานี้ขึ้นกับรถยนต์แล้วจะต้องแก้ปัญหาที่จุดไหน เพื่อที่จะได้แจ้งข้อมูลกับช่างซ่อมรถได้ หรือในกรณีที่มีพื้นฐานเรื่องเครื่องยนต์อยู่บ้าง ก็อาจแก้ไขปัญหารถยนต์ด้วยตนเองได้
สำหรับบทความนี้ จะพูดถึง สายพานไทม์มิ่ง เป็นส่วนประกอบหลักส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ ที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นจากยาง ประกอบเพิ่มเติมด้วยวัสดุอื่น ๆ เพื่อให้กระบวนการทำงานออกมาสมบูรณ์แบบ สายพานถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องยนต์ แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีการใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ สายพานนั้นก็มีโอกาสที่จะเสื่อมสภาพ แล้วอย่างนี้เราจะทราบได้อย่างไรว่าสายพานกำลังจะเสื่อมสภาพแล้ว เราควรเปลี่ยนเมื่อไหร่ดีล่ะ?
สายพานไทม์มิ่ง ควรเปลี่ยนเมื่อไหร่?
หากถามว่า เวลาไหนที่ควรจะเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง จริง ๆ ระยะเวลาที่ต้องเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง ปกติแล้ว ทางผู้ผลิตได้กำหนดขอบเขตไว้ที่ประมาณ 100,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 2-3 ปี ตามลักษณะของการใช้งานผู้ขับขี่ ซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมและลักษณะการใช้งานรถยนต์ของแต่ละคน หากไม่แน่ใจว่าควรเปลี่ยนเมื่อไร ตอนนี้ถึงเวลาที่ควรจะเปลี่ยนสายพานได้หรือยัง ให้ลองสังเกตสายพานช่วง 80,000 กิโลเมตร ถึงเวลานั้นให้เตรียมตัวเช็กสภาพสายพานรถยนต์ได้แล้ว
เช็กสภาพสายพานไทม์มิ่ง ต้องสังเกตตรงไหน?
หากต้องการเช็กสภาพสายพานไทม์มิ่งรถว่ายังมีสภาพดี ยังสามารถใช้งานได้ดีเป็นปกติหรือไม่นั้น ให้สังเกตว่ามีร่องรอยหรือมีลวดลายเกิดบริเวณเส้นสายพานหรือไม่ หากมีร่องรอยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หมายความว่า สายพานเส้นนั้นใกล้จะขาด หากไม่เปลี่ยนก็อาจจะมีผลข้างเคียง รถอาจทำงานไม่สมบูรณ์
รวมถึงจังหวะการจุดระเบิด ผิดแปลกไปจากเดิมและหากปล่อยให้สายพานไทม์มิ่งขาดขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงานอยู่ อาจทำให้ชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์อย่าง วาล์ว-หัวลูกสูบ เกิดความเสียหาย หากถึงเวลาต้องเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง ควรเปลี่ยนอุปกรณ์ส่วนควบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสายพานไทม์มิ่งไปพร้อมกัน เช่น ลูกรอกสายพาน
เปลี่ยนสายพานไทม์มิ่งด้วยตัวเอง ทำยังไง?
หากมีพื้นฐานในการซ่อมรถ และเข้าใจเรื่องของเครื่องยนต์มาบ้าง คุณสามารถเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่งได้เองที่บ้าน โดยปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้ได้เลย
- ถอดขั้วแบตเตอรี่รถยนต์ออก แล้วถอดฝาครอบสายพานออก เพื่อทำการจัดการสายพานที่อยู่ด้านในได้ง่าย ๆ
- หมุนด้านหน้าเครื่องให้จุดมาร์ก Pulley อยู่ตรงกับขีด ทั้ง Pulley ปั๊มหัวฉีดบริเวณลูกศร และ Pulley แคมป์ชาฟบริเวณลูกศร
- ทำการถอดตัวดันสายพานออก แล้วนำเอาสายพานออกมาเพื่อทำการเปลี่ยน
- อย่าลืมตรวจสภาพของตัวลูกปืน ลูกรอก ว่ามีสิ่งผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ ยังมีความลื่น และสามารถใช้งานได้ตามปกติไหม หากรู้สึกว่ายังปกติก็ไม่ต้องเปลี่ยน แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนและมีงบประมาณมากพอ ก็สามารถเปลี่ยนได้ เพื่อให้เข้ากับการทำงานของสายพานใหม่
- เมื่อถอดตัวสายพานเก่าและเคลียร์พื้นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมาคือการประกอบสายพานใหม่เข้าไปในเครื่อง ให้สายพานอยู่ตรงกับตำแหน่งที่ถูกต้อง ประกอบให้เข้าที่เรียบร้อย แล้วดึงอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องออก
- เมื่อประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เช็กอีกรอบว่ามาร์ก 3 จุด ของสายพานนั้นถูกวางไว้ตรงตามตำแหน่งหรือไม่
- ประกอบขั้วแบตเตอรี่รถยนต์ แล้วทดลองสตาร์ทเครื่องยนต์ ดูการทำงานของสายพานไทม์มิ่งใหม่
เปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง สามารถเคลมประกันรถยนต์ได้ไหม
การเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง ไม่สามารถเคลมประกันรถยนต์ได้ เนื่องจากสายพานไทม์มิ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบำรุงรักษารถยนต์ตามปกติ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบเอง ไม่ว่าจะเป็นประกันชั้นไหนก็ตาม โดยมีเหตุผลที่ไม่สามารถเคลมประกันได้ ดังนี้
- ประกันรถยนต์ไม่ครอบคลุมการสึกหรอตามการใช้งานปกติ: ประกันรถยนต์มุ่งเน้นคุ้มครองอุบัติเหตุ ความเสียหายจากการชน การโจรกรรม หรือภัยธรรมชาติ ไม่ครอบคลุมการซ่อมบำรุงรถยนต์ทั่วไป เช่น การเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่ง ผ้าเบรก หรือยางรถยนต์ ที่เกิดจากการสึกหรอตามอายุการใช้งาน
- สายพานไทม์มิ่งเป็นส่วนที่ต้องเปลี่ยนตามระยะการใช้งาน: ผู้ผลิตรถยนต์มักจะแนะนำให้เปลี่ยนสายพานไทม์มิ่งเมื่อรถยนต์วิ่งถึงระยะทางที่กำหนด (เช่น 80,000-100,000 กิโลเมตร) การเปลี่ยนสายพานจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการบำรุงรักษาตามรอบ ไม่ใช่ความเสียหายจากอุบัติเหตุ
กรณีที่อาจเกี่ยวข้องกับการเคลมประกัน
หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย รวมถึงสายพานไทม์มิ่งได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ บริษัทประกันอาจคุ้มครองการซ่อมแซมในกรณีนี้ได้ในกรณีที่คุณมีประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันรถยนต์ชั้น 2+ หรือประกันรถยนต์ 3+ ที่ให้ความคุ้มครองรถคันที่เอาประกัน แต่หากเป็นเพียงการเปลี่ยนสายพานไทม์มิ่งตามการใช้งานปกติหรือในกรณีที่มีเพียงประกันชั้น 2 หรือประกันชั้น 3 ที่ไม่คุ้มครองรถคันที่เอาประกัน ก็จะไม่สามารถเคลมได้
เพราะสายพานไทม์มิ่ง เป็นอีกส่วนประกอบสำคัญของเครื่องยนต์ที่ต้องหมั่นสังเกตและดูแล ตรวจสภาพอยู่เสมอ เพื่อให้การใช้งานรถยนต์ได้อย่างปกติ และการทำงานของเครื่องยนต์ที่ยังคงประสิทธิภาพเอาไว้ได้ หากละเลยหรือเสียดายเงินที่จะเปลี่ยนสายพานใหม่ อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา จากที่ต้องจ่ายแค่ค่าสายพาน อาจต้องจ่ายเงินเยอะกว่านั้นเพื่อซ่อมแซมเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ใส่ใจไว้ตั้งแต่ต้นจะเป็นผลดีกว่า
ไม่เพียงแต่สายพานไทม์มิ่งเท่านั้น แต่ผู้ใช้รถยนต์ทุกท่าน ควรเอาใจใส่และดูแลรถยนต์ให้ดีอยู่เสมอ ทั้งภายนอกและภายในเครื่องยนต์เอง เพราะทุก ๆ ส่วนของรถยนต์ต้องทำงานร่วมกัน หากมีส่วนใดที่บกพร่อง ก็อาจส่งกระทบต่อส่วนอื่น ๆ จนก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายแก่รถยนต์ได้ในอนาคต
อยากซื้อรถยนต์ อัปเดตเรื่องราวรถยนต์ใหม่ และซื้อขายสะดวกสบาย ราคาเป็นมิตร ที่ one2car.com
สนับสนุนบทความดี ๆ โดย Autospinn อย่าลืมติดตามเรื่องรถใหม่-รถมือสองก่อนใครที่นี่
อย่าลืม ประกันภัยรถยนต์ คลิกเลย! Rabbit Care
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี