9 เคล็ดลับสร้างความประทับใจ เมื่อไปเริ่มงานที่ใหม่
“พรุ่งนี้เริ่มงานที่ใหม่ กลัวไม่มีเพื่อนจัง” ใครเคยรู้สึกแบบนี้บ้าง?
วันแรกของการทำงานที่ใหม่ คงไม่มีใครไม่ตื่นเต้นและกังวลใจเรื่องการวางตัวให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมใหม่ การไปอยู่ร่วมกับคนที่ไม่รู้จักอาจทำให้ได้เจอทั้งปัญหาและโอกาส การสร้างความประทับใจแรกกับคนรอบข้างจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ ซึ่ง JobThai จะมาบอกเคล็ดลับเพื่อให้คนอื่นประทับใจในตัวเราตั้งแต่ช่วงแรกของการเริ่มงานใหม่ ที่บอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด
สร้างความประทับใจ เมื่อ เปลี่ยนที่ทำงาน
1. อย่าสายดีที่สุด
การไปทำงานสายตั้งแต่วันแรกคือเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พฤติกรรมการมาทำงานเป็นสิ่งที่หัวหน้างานรวมถึงเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ มองเห็นได้ชัดเจน การมาถึงบริษัทให้ตรงเวลานั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งขึ้นหากเรามาก่อนเวลางานสัก 15-30 นาที รวมไปถึงช่วงพักกลางวัน ก็ควรรักษาเวลาให้เป็นไปตามกฎของบริษัท แม้ว่าบางบริษัทอาจจะไม่เคร่งครัดเรื่องเวลา เพราะการรักษาเวลาไม่เคยให้ผลเสียกับใคร
2. เข้าไปทำความรู้จักคนอื่นก่อนพร้อมรอยยิ้ม
อย่ามัวแต่รอให้คนอื่นมาทัก เราควรแนะนำตัวและทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานก่อนเลย อาจเริ่มต้นจากทำความรู้จักคนในแผนก ทักทายเวลาเจอ หรือเข้าไปพูดคุยในช่วงพัก แต่ถ้าบริษัทมีพนักงานเยอะจริง ๆ ก็พยายามจำแค่ชื่อเพื่อนในทีมหรือคนที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง และที่สำคัญที่สุดคือ “รอยยิ้ม” เพราะเวลาเราเข้าไปคุยกับใครด้วยรอยยิ้ม มันจะทำให้เพื่อนร่วมงานมีความรู้สึกเชิงบวกต่อเรา และรู้สึกถึงความเป็นมิตรที่เราหยิบยื่นให้
3. เรียนรู้วัฒนธรรมขององค์กร
รู้จักเพื่อนร่วมงานแล้ว เราก็ต้องรู้จักองค์กรด้วย ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ หรือระบบการทำงาน แม้ว่าเราอาจศึกษาวัฒนธรรมองค์กรมาก่อนแล้วในตอนสัมภาษณ์งาน แต่นั่นเป็นข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทุกบริษัทจะมีวัฒนธรรมองค์กรหรือการปฏิบัติตัวต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้บอกไว้ในอินเทอร์เน็ตหรือในคู่มือพนักงานด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องขวนขวายเรียนรู้เอง ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุย สอบถามจากเพื่อนร่วมงาน หรือสังเกตจากการกระทำของพวกเขา
4. ทำตัวเหมือนแก้วน้ำที่พร้อมรับความรู้ใหม่ๆ
ทำตัวให้พร้อมรับความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในช่วงแรกของการทำงานที่ใหม่ อาจจะได้งานที่ใช้เวลาทำไม่นานก็เสร็จ แต่แทนที่จะนั่งรอหัวหน้าเดินมาสั่งงานต่อไป เราควรจะเป็นคนเดินไปถามเขาเองว่ามีงานอะไรให้ทำต่อ หรือไปถามเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ว่ามีอะไรที่เราพอจะช่วยได้บ้าง รวมทั้งอย่าลืมแสดงทักษะและความสามารถต่าง ๆ ที่เราเคยพูดไว้ในตอนสัมภาษณ์ออกมาให้คนที่เลือกเราเข้าทำงานได้เห็นด้วย
5. อย่าแสดงออกว่าเราเก่งไปหมดทุกอย่าง
ถึงเราจะมีประสบการณ์การทำงานจากที่เก่า แต่ในสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ เราไม่ควรคิดว่าตัวเองเก่งกว่าใคร ในวันแรกของการทำงานอาจจะมีคนเข้ามาแนะนำเทคนิคในการทำงานให้ เราควรรับฟังอย่างตั้งใจและพยายามทำความเข้าใจให้มากที่สุด ถึงแม้บางอย่างเราอาจจะรู้แล้วก็ตาม อย่าแสดงออกว่าเรารู้ไปหมดทุกอย่าง หรือสอนงานคนที่มาแนะนำเรากลับ เพราะมันอาจทำให้เราดูเป็นคนที่อวดเก่ง และการทำงานแต่ละที่ก็มีระบบการทำงานไม่เหมือนกัน ถ้าเรารับฟัง เราอาจจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิมก็ได้
6. กล้าถามและขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
ถ้าไม่รู้ก็แค่ถาม หรือมีปัญหาก็ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น อย่าให้คำว่าไม่กล้ามาทำให้ทุกอย่างแย่ลง ไม่มีใครคาดหวังว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หรือรู้ทุกอย่างบนโลกใบนี้ตั้งแต่วันแรกที่มาทำงาน ดังนั้นเมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหาอะไรก็ตาม การถามหรือขอความช่วยเหลือจึงไม่ใช่เรื่องผิด มันดีกว่าการที่เราทำงานไปจนเสร็จเรียบร้อย แต่ผิดพลาด ซึ่งทำให้เสียเวลาและไม่ดีต่อหน้าที่การงานในอนาคต
7. อย่าปฏิเสธน้ำใจเพื่อนร่วมงาน
เมื่อเพื่อนร่วมงานชวนไปกินข้าวกลางวัน หรือตอนเย็นหลังเลิกงาน เราไม่ควรปฏิเสธน้ำใจหรือเอาแต่ปลีกวิเวกอยู่คนเดียว เพราะนั่นอาจจะยิ่งทำให้เรากับเพื่อนร่วมงานรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินกันมากขึ้น การกินข้าว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันบ้างนอกเหนือจากการทำงานจะทำให้เราและเพื่อนร่วมงานรู้จักกันมากขึ้น และเมื่อทำงานไปได้สักพัก หรือผ่านช่วงทดลองงานแล้ว การเป็นเพื่อนกันทางโซเชียลมีเดียก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสนิทสนม
8. วางตัวเป็นกลาง เลี่ยงการนินทาและการเมืองในที่ทำงาน
บางบริษัทอาจจะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก มีข่าวลือหรือการนินทาต่าง ๆ สิ่งที่เราต้องทำก็คือการทำตัวเป็นกลาง ไม่พูดถึงคนอื่นลับหลังในทางที่ไม่ดี อยู่ให้ห่างจากกลุ่มคนที่ชอบนินทา และอย่าทำอะไรที่จะเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดว่าเราเป็นคนชอบนินทา รวมทั้งอย่าข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในที่ทำงานด้วย เพราะมันเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟ เราไม่มีทางรู้ว่าใครมีความคิดเห็นและทัศนคติอย่างไร หรือใครมีปัญหาอะไรกันมาก่อน เรียกได้ว่าพูดไม่เข้าหูกันหน่อย อาจทำให้ทะเลาะกันบานปลายได้
9. แต่งตัวให้เรียบร้อยกว่าที่เขากำหนด
แม้ก่อนเริ่มงาน HR จะบอกเราว่าบริษัทอนุญาตให้พนักงานแต่งตัวสบาย ๆ มาทำงานได้ แต่วันแรกเราก็ควรจะแต่งตัวให้เรียบร้อยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระดับ เช่น บริษัทให้ใส่เสื้อยืดได้ เราก็ควรใส่เสื้อคอปก หรือเสื้อเชิ้ต เมื่อไปทำงานก็คอยสังเกตว่าคนอื่น ๆ เขาแต่งตัวกันยังไงบ้าง ไม่แน่ในวันแรกที่เราไปทำงาน หัวหน้างานอาจเป็นคนบอกให้แต่งตัวสบาย ๆ มา เมื่อนั้นก็ยังไม่สายเกินไปที่จะลดความเป็นทางการลง
การเข้าไปเจอสังคมการทำงานใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่การเริ่มต้นในสิ่งใหม่ ๆ อาจทำให้เราประหม่า ลองเปิดใจ ปรับตัว และสนุกไปกับมัน ที่สำคัญถ้าสร้างความประทับใจแรกได้แล้ว ก็อย่าลืมรักษาความประทับใจและความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานเอาไว้ให้ตลอดด้วย เพราะนอกจากจะทำงานได้ราบรื่นแล้วเราก็จะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสบายใจอีกด้วย
บทความแนะนำอื่น ๆ
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี