4 วิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
เมื่อพูดถึงเรื่องของการทำงานแน่นอนว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว องค์ประกอบที่จะสร้างบริษัทขึ้นมาได้จึงต้องประกอบไปด้วยตำแหน่งและแผนกต่าง ๆ ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ จึงกลายเป็นเรื่องที่เราต้องทำ เพราะมันจะส่งผลต่อการทำงานได้อย่างมาก หรือหากเกิดปัญหาในการทำงานก็จะมีเพื่อนร่วมงานนี่แหละที่จะเป็นคนยื่นมือมาช่วยเหลือ ซึ่งบทความนี้ JobThai จะพาไปดูกันว่าวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานที่ทำได้ง่าย ๆ นั้นมีอะไรบ้าง
เคล็ดลับสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
“คิดก่อนพูด” ประโยคคลาสสิกที่ใช้ได้ในทุกสถานการณ์
คำพูดเพียงคำเดียวอาจส่งผลกระทบได้กับทั้งตัวเราเองและเพื่อนร่วมงาน แม้บางครั้งเราอาจไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นก็ตาม ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปทุกครั้ง ลองคิดดูให้ดีก่อนว่าเรื่องที่เราจะพูดมันจะส่งผลดีหรือผลเสียอะไรต่อใครบ้างไหม เพราะประโยคที่ไม่ชัดเจนก็อาจทำให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจผิดและสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเราได้ นอกจากนี้วิธีพูดและภาษาที่เหมาะสม การแสดงออกทางน้ำเสียง สีหน้า และท่าทาง ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
เพราะคำพูดที่เหมาะสมกับกาลเทศะ และผ่านกรบวนการไตร่ตรองมาดี จะทำให้เราดูมีเสน่ห์ในการพูดเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เพราะในปัจจุบันการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการทำงานที่หลาย ๆ คนขาดไป โดยเฉพาะการพรีเซนต์ในที่ประชุมหรือการพูดคุยกับลูกค้า ซึ่งการเตรียมตัวและคิดให้ดีก่อนที่จะพูดออกไปจะเป็นสิ่งที่จะช่วยเราได้
ปล่อยให้คนอื่นพูดบ้าง แล้วรับฟังอย่างตั้งใจ
“ความสัมพันธ์” คำนี้หมายความว่าต้องมีมากกว่าหนึ่ง ซึ่งรวมไปถึงการพูดคุยระหว่างคนสองคนด้วย การพูดคุยถือเป็นสื่อสารแบบสองทางที่ต้องมีทั้งคนพูดและคนฟัง เราคงรู้สึกไม่ดีหากไม่มีใครสนใจฟังเวลาที่เรากำลังพูด หรือต้องเอาแต่เป็นฝ่ายฟังทั้ง ๆ ที่เราก็มีเรื่องอยากพูดเพราะอีกฝ่ายพูดไม่หยุด ดังนั้นเราเองก็ไม่ควรจะทำพฤติกรรมแบบนั้นกับอีกฝ่าย กลับกันเมื่อเราเป็นฝ่ายที่กำลังฟังอยู่ เราก็ต้องฟังอย่างตั้งใจแม้ว่าเรื่องที่อีกฝ่ายพูดจะไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจสักเท่าไหร่ก็ตาม และอย่าลืมแสดงออกว่าเรากำลังฟังเขาอยู่ อาจจะแค่ยิ้ม หรือพยักหน้า โดยไม่ต้องพูดแทรกขึ้นมาถ้าไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญจริง ๆ
นอกจากนี้การฟังที่ดีคือการฟังที่ไม่ตัดสินหรือใช้มาตรฐานความคิดของตัวเองเป็นหลัก
เพราะการทำอย่างนั้นมีแต่จะทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นเบือนหน้าหนีและไม่อยากจะคุยด้วย หากไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย ให้ลองฟังจนเขาพูดจบประโยคก่อนจากนั้นค่อยถามเรื่องที่เราสงสัย
แสดงน้ำใจกับเพื่อนร่วมงานเมื่อมีโอกาส
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องงานเท่านั้น แต่การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์และความรู้สึกที่ดีได้เช่นกัน อย่างเช่น เมื่อเราเห็นเพื่อนร่วมงานยกของหนัก เราอาจแสดงน้ำใจโดยการช่วยถือหรือช่วยเปิดประตู หรือเมื่อเพื่อนร่วมงานต้องการปรึกษาปัญหาบางอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว แม้เราจะช่วยเหลือเขาไม่ได้ 100% แต่การพยายามฟังและทำความเข้าใจกับปัญหานั้นของเขาก็เพียงพอแล้ว
ซึ่งการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหรือการแสดงน้ำใจของเรานั้น ต้องอิงจากตัวเองด้วย เพราะไม่อย่างนั้นน้ำใจของเราอาจกลายเป็นดาบสองคมที่จะหันมาบาดตัวเราเองได้ หากเรายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ๆ มากไปจนทำให้งานเราไม่เสร็จเสียเอง
หยุดซ้ำเติม หยุดนินทา แล้วหาโอกาสชมคนอื่นบ้าง
การทำงานของทุกคนนั้นต้องเคยเกิดความผิดพลาดกันบ้าง เรื่องเล็กบ้างใหญ่บ้างต่างกันไป และถ้าทำผิดไปแล้วก็คงไม่มีใครอยากที่จะถูกต่อว่าซ้ำเติมหรือถูกเอาไปนินทาลับหลัง แม้เรื่องนั้นจะเพิ่งผ่านมาหมาด ๆ หรือนานมาแล้วก็ตาม ทำให้ความคิดเห็นบางอย่างเราก็อาจจะต้องเก็บเอาไว้ในใจ เพราะหากเพื่อนร่วมงานคนนั้นได้ยินเข้านอกจากจะซ้ำเติมเขาแล้ว ยังจะสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน โดยไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย มีเพียงแค่ความสนุกปากเราเองเท่านั้น
นอกจากนี้การหาโอกาสส่งเสริมคนอื่นด้วยคำชมที่จริงใจก็ถือเป็นเรื่องดี ๆ ที่จะสามารถสร้างกำลังใจให้กับคนทำงานได้ เพราะนอกจากจะทำให้เขาเห็นว่าคนอื่น ๆ เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำแล้ว ยังจะทำให้เห็นด้วยว่าเราเป็นคนที่ใส่ใจรายละเอียดหรือเรื่องราวความเป็นไปของเพื่อนร่วมงาน
ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานนอกจากคนในแผนกตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานต่างแผนกด้วย เพราะไม่ว่ายังไงการทำงานของเรานั้น บางครั้งก็ต้องติดต่อประสานงานกับคนในแผนกอื่น ๆ การได้ทำความรู้จักกับเพื่อนต่างแผนกที่มีความสนใจเหมือนกัน หรือพูดคุยกับคนในบริษัทเดียวกันที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานของเรา อาจเป็นการสร้าง Connection ที่ดีในอนาคตอีกด้วย
บทความแนะนำอื่น ๆ
ที่มา
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี