รวมวิธีที่จะเพิ่มโอกาสในการหลุดพ้นจากการ ‘ติดดอย’ ได้มากยิ่งขึ้น!
‘ติดดอย’ คำที่เหล่านักลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก่าต่างก็ต้องคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครต่างก็ไม่อยากจะเผชิญ แต่หลายครั้งก็ต้องประสบปัญหาต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ติดดอยทุกที วันนี้ แรบบิท แคร์ ได้รวมวิธีที่จะเพิ่มโอกาสในการหลุดพ้นจากการติดดอยมาให้ รวมถึงรวมเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการติดดอยมาฝาก เผื่อจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนได้บ้าง รวมถึงให้ข้อมูลสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มศึกษาเตรียมตัวก่อนเข้าวงการ ช่วยลดโอกาสในการติดดอย หรือขาดทุนนั่นเอง
ติดดอย คืออะไร ?
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ใสกิ๊งที่เพิ่งจะเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนอาจสงสัยว่าคำว่า ‘ติดดอย’ มีความหมายว่าอะไร โดยติดดอยนั้น หมายถึง การที่เราลงทุนซื้อหุ้นที่ราคาหนึ่ง จากนั้นราคาของหุ้นตัวดังกล่าวได้มีการปรับลดลง และมีแนวโน้มว่าจะลดลงไปอีกเรื่อย ๆ โดยไม่มีท่าทีจะเพิ่มสูงขึ้นไปเท่ากับราคาที่เราได้ซื้อไปในทีแรก ส่งผลให้ราคาที่ได้ซื้อหุ้นตัวดังกล่าวมาตั้งแต่แรกนั้นกลายเป็นราคาที่สูงที่สุดไปโดยปริยาย เปรียบดั่งยอดดอยสูงอันหนาวเหน็บ จึงเป็นที่มาของคำว่าติดดอย
ทั้งนี้สำหรับใครที่ยังมองภาพการติดดอยได้ไม่ชัดเจน ตัวอย่างก็เช่น นาย A ได้ทำการซื้อหุ้นในราคา 10 บาท เพื่อหวังว่าจะขายออกไปเมื่อราคาของหุ้นตัวดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น แต่ทว่านอกจากราคาของหุ้นตัวดังกล่าวจะไม่สูงขึ้นแล้ว ยังมีการปรับลดลง และยังมีแนวโน้มว่าจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนเหลืออยู่ 3 บาท และไม่มีทีทาว่าจะสามารถดีดตัวให้ราคาเพิ่มขึ้นไปเป็น 10 บาทอย่างที่ได้ซื้อมาตอนแรก หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 บาทอย่างที่ตั้งใจไว้ในทีแรก สถานการณ์เช่นนี้ เป็นข้อสรุปว่านาย A ได้ติดดอยไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้คนติดดอย
แน่นอนว่าเมื่อไม่อยากเผชิญหน้ากับการติดดอย และอยากแก้ปัญหาการเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้ติดดอยนั้นจึงถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะติดดอยนั้นก็คือ
- เลือกซื้อหุ้นที่กำลังมีราคาปรับขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด หลายครั้งที่นักลงทุนที่ยังไม่มีประสบการณ์มากพอมักจะตื่นเต้นเมื่อเห็นหุ้นบางตัวมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยที่ไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมจึงมีสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่สนใจหาคำตอบ แต่คิดว่าตนเองต้องซื้อ เพราะหวังจะได้กำไรจากการลงทุนที่เกิดขึ้น และมาพบว่าหุ้นที่เลือกซื้อโดยหวังจะให้ราคาพุ่งสูงมากขึ้นจู่ ๆ ก็มีการปรับราคาลดลงแบบดิ่งฮวบในเวลาต่อมา
เช่น ช่วงสามเดือนมานี้หุ้น ABC มีราคาซื้อขายอยู่ที่ 6 บาท มีปริมาณการซื้อขายต่อวันในระดับหลักพันหุ้น แต่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกทั้งราคาของหุ้นก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็น 7 บาท 8 บาท 10 บาท เมื่อเห็นดังนี้แล้วแน่นอนว่าเหล่านักลงทุนผู้มีความฝันทั้งหลายก็อาจจะไม่รอช้า ตัดสินใจซื้อหุ้น ABC เพราะคิดว่าจะสามารถทำกำไรได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่หลังจากที่ซื้อมาแล้วราคาหุ้นกลับดิ่งลงอย่างรวดเร็วจนเหลือ 3 บาท ซึ่งเป็นผลของการไม่ศึกษาอย่างรอบคอบว่าทำไมในช่วงเวลาดังกล่าวราคาหุ้นจึงดีดขึ้นสูง และมีโอกาสที่จะมีราคาสูงไปมากกว่านี้หรือไม่นั่นเอง
- เลือกซื้อหุ้นตามกระแส อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนหลายคนติดดอยก็คือการเลือกซื้อหุ้นตามกระแส ซึ่งการเลือกซื้อหุ้นในลักษณะนี้นั้นมักเกิดขึ้นจากการที่ตัดสินใจซื้อหุ้นจากการรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ทราบที่มา เช่น มีข่าวว่ามีนักลงทุนสถาบันต่างประเทศกลุ่มหนึ่ง นั้นมีความสนใจในการเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ABC จึงทำให้มีกระแสเงินสดไปลงทุนมากขึ้น ผลที่ตามมาที่คาดการณ์ไว้ก็คือ บริษัท ABC จะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น จากนั้นเมื่อนักลงทุนได้ยินข่าวดังกล่าวก็ตัดสินใจซื้อหุ้น ABC ทันที โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่
โดยกรณีดังกล่าวนั้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้สร้างกระแสข่าวต้องการขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อทำกำไร เช่น ถือหุ้น ABC ที่ราคา 10 บาท จากนั้นก็ร่วมกันสร้างข้อมูลดังกล่าวขึ้นมา เมื่อนักลงทุนคนอื่น ๆ เชื่อข้อมูลและตัดสินใจซื้อหุ้น ABC ราคาหุ้นก็จะปรับขึ้นไป และผู้สร้างกระแสข่าวก็จะทยอยขายหุ้นดังกล่าวออกมา หลังจากนั้นข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะเริ่มหายไปจากตลาดเช่นเดียวกับปริมาณการซื้อขายก็จะเริ่มหดหาย ราคาหุ้นไม่ขยับ นักลงทุนต้องการขายออกก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีผู้ซื้อต่อ และราคาจะตกลงเรื่อย ๆ นั่นเอง
- ซื้อหุ้นดีในราคาที่แพง นอกจาก 2 สาเหตุของการติดดอยที่ได้กล่าวไป อีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนหลายคนต้องติดดอยก็คือการเลือกซื้อหุ้นที่ดี เช่น เมื่อได้ทำการศึกษา และวิเคราะห์บริษัท ABC และพบว่าบริษัทดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงธุรกิจกำลังเติบโต ทำให้นักลงทุนทยอยซื้อหุ้น ABC กันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่หากถึงจุดหนึ่งที่ผู้บริหารบริษัท ABC ได้ประกาศว่าผลการดำเนินงานเติบโตช้า และในอนาคตมีโอกาสหยุดการเติบโต ก็จะทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาและราคาหุ้นจะปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความคาดหวังลดลง หากนักลงทุนไม่สามารถขายได้ทัน หรือมีความมั่นใจว่าบริษัท ABC จะกลับมาเติบโตในปีถัดไปก็จะถือหุ้นต่อไป ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้าข่ายการติดดอยเช่นกัน
สาเหตุเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุหลัก ๆ ของการติดดอยที่จะต้องพึงระวังกันให้ดี เพราะหากต้องเผชิญหน้ากับการติดดอยบ่อย ๆ คงไม่ดี ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และระมัดระวังรอบคอบในทุกฝีก้าวของการลงทุน
ติดดอย ต้องทำอย่างไร ?
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าหากติดดอยไปแล้วต้องทำอย่างไร ? ติดดอย ทําไงดี แรบบิท แคร์ ก็ได้รวบรวมวิธียอดนิยมในการเพิ่มโอกาสหลุดพ้นจากการติดดอยมาให้ โดยจะมีวิธีในการปฏิบัติเมื่อติดดอย ดังนี้
- ทำการตั้งจุด Stop Loss ทุกครั้ง เมื่อทำการตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันความเสียหายจากการติดดอยก็คือ การตั้งจุดหยุดขาดทุน (Stop Loss) โดยวิธีตั้งจุดหยุดขาดทุนที่ง่ายและทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ก็คือ นำ % Stop Loss (หรือ % ที่รับได้หากขาดทุน) มาคูณกับราคาที่ซื้อมา เช่น ซื้อหุ้น ABC มาที่ราคา 10 บาท ตั้ง % ตัดขาดทุนที่ระดับ 5% จะมีจุดหยุดขาดทุนเท่ากับ 10 x 5% = 0.50 บาท หมายความว่านักลงทุนยอมรับการขาดทุนได้ 0.5 บาท ดังนั้น หากราคาหุ้นลดลงมาที่ราคา 9.50 บาท (10 – 0.50) บาท ต้องขายทันที ซึ่งการตั้งจุดหยุดขาดทุนจะไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้และความเต็มใจในการยอมขาดทุนของนักลงทุนแต่ละบุคคลนั่นเอง
- ทำการตั้งจุดขายทำกำไรทุกครั้ง กลยุทธ์ที่ดีของการซื้อหุ้นเก็งกำไรนั้นก็คือ “เข้าให้ไว มีกำไรให้รีบออก” เนื่องจากหุ้นลักษณะนี้จะมีปริมาณการซื้อขายสูง และมีความผันผวนของราคาหุ้นสูง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อซื้อหุ้นไปแล้วจะสามารถขายหุ้นได้กำไร วิธีการก็คือ วางกลยุทธ์เปิดและปิดการซื้อขายในช่วงสั้น ๆ ถ้าราคาหุ้นขยับขึ้นไปก็ทำการขายทันที ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่าเทคนิค Scalping นั่นเอง
- เลือกซื้อหุ้นที่ดี อีกวิธีในการลดความเสี่ยงในการติดดอยนั้นก็คือ การเลือกซื้อหุ้นที่ดี โดยทำการหาข้อมูล การตรวจสอบให้แน่ชัดว่าการลงทุนจะไม่ผิดพลาด ห้ามใช้การเดาโดยเด็ดขาดว่าจะลงทุนในหุ้นตัวนี้แล้วจะได้กำไร การเดาไม่ถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงลงได้ แต่นักลงทุนจะต้องหาข้อมูลสนับสนุน หมั่นศึกษาหาข้อมูล ไตร่ตรองวิเคราะห์ให้มั่นใจ โดยหุ้นที่เลือกลงทุนต้องเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงาน ความสามารถในการทำกำไรที่ดี มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอและเลือกซื้อหุ้นในราคาที่สอดคล้องกับมูลค่าหุ้น
ไม่อยากติดดอยบ่อย วิธีป้องกันการติดดอย
สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การติดดอยกันไปเป็นที่เรียบร้อยและไม่อยากจะกลับมาติดดอยอีก จะต้องทำอย่างไร มีวิธีการป้องกันติดดอยแบบไหน หลัก ๆ ก็คือต้องหมั่นศึกษาหาข้อมูลความรู้รวมถึงสถานการณ์รอบตัวต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อราคาหุ้นจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่แม่นยำ ไม่ซื้อหุ้นตามกระแส และคิดให้รอบคอบทุกครั้งก่อนการลงทุน ก็จะทำให้รอดพ้นจากการติดดอยบ่อย ๆ ได้นั่นเอง
ข้อมูลเหล่านี้คือข้อมูลน่ารู้ที่เกี่ยวกับการติดดอย และวิธีการเอาตัวรอดจากการติดดอย ที่ แรบบิท แคร์ ได้รวบรวมมาให้ สำหรับใครที่ได้ลองติดดอยดูแล้วคิดว่าการลงทุนในรูปแบบนี้ยังไม่เหมาะสมกับตัวเอง ต้องการพักเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติม แต่ยังอยากทำอะไรให้เงินงอกเงยขึ้นได้ ก็อาจลองพิจารณาตัวเลือกอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ากันไว้ เช่น การทำประกันออมทรัพย์ กับ แรบบิท แคร์
สรุป
ติดดอย คือ ศัพท์สำหรับคนที่เล่นหุ้น หมายถึงถึง การที่เราซื้อหุ้นที่ราคาถูกปรับลดลงเพื่อหวังว่าหุ้นตัวนี้จะมีแนวโน้มปรับสุงขึ้น และเราจะได้กำไร แต่ซื้อแล้วไม่มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นตามที่หวังไว้ เหมือนขึ้นไปสุ่ยอดดอยและไม่สามารถลงมาได้ ซึ่งสาเหตุของการติดดอยหลัก ๆ มักเกิดขึ้นได้กับทั้งนักเล่นหุ้นมือใหม่และมือเก่า ซึ่งการลดความเสี่ยงการติดดอยนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษากระแสต่าง ๆ และตัดสินใจให้ดีก่อนการซื้อทุกครั้ง มีการตั้งจุขาดทุนเอาไว้ และรีบเทขายก่อนที่จะขาดทุนไปมากกว่านี้ ทั้งีน้การลงทุนล้วนมีความเสี่ยง ควรระวังในทุกการตัดสินใจให้ดี
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct