หยุดความเข้าใจผิดกับ ประกันผู้สูงอายุ
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมประกันชีวิตผู้สูงอายุ ถึงได้ถูกแยกออกจากประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพทั่วไป? บอกเลยว่ามันมีสาเหตุ
และวันนี้ Rabbit Care จะมาพาคุณไปรู้จักถึงความต่าง และหยุดความเข้าใจผิดสารพัดกับ ประกันผู้สูงอายุกัน
หยุดความเข้าใจผิดกับ ประกันผู้สูงอายุ
Cr. – www.irasutoya.com
เข้าใจพื้นฐาน การทำประกันผู้สูงอายุ
ก่อนจะเริ่มต้นทำประกันผู้สูงอายุ เรามาเข้าใจพื้นฐานขั้นต้นกันก่อนดีกว่า
โดยประกันชีวิตคนแก่ หรือ ประกันผู้สูงวัย ถูกออกแบบมาสำหรับคนที่มีอายุค่อนข้างมาก มีโอกาสเป็นโรคหรืออาจไม่แข็งแรงนัก ทางบริษัทเลยต้องออกแบบประกันชีวิตอีกแบบ แยกออกมาจากประกันชีวิตแบบอื่นๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ มีโอกาสทำประกันชีวิตได้ (ประกันชีวิตแบบอื่นอาจจะทำไม่ได้ เพราะบริษัทประกันปฏิเสธ หรือต้องเพิ่มเบี้ย)
เราสามารถเรียกกันได้ขำๆ ว่า เป็น ประกันชีวิตคนแก่ ก็ไม่ผิดมากนัก
แต่ก็ต้องแลกกับเงื่อนไขที่ว่า ถ้าเสียชีวิตภายใน 2 ปีแรก จากการเป็นโรค ไม่ว่าโรคอะไรก็ตาม รวมถึงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริษัทจะไม่จ่ายเงินเอาประกันให้ (แต่จะจ่ายคืนเบี้ยที่จ่ายมา + เงินอีก 2-5% ของเบี้ยแทน ขึ้นกับดอกเบี้ยของแต่บริษัทประกัน)
ทั่วไปแล้ว จะมีเงื่อนไขคร่าวๆ คือ
- ทำได้เฉพาะคนอายุ 50-70 ปี
- ไม่ต้องตรวจและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ (แต่ต้องแจ้งให้บริษัทประกันทราบเรื่องสุขภาพเสมอ เพื่อป้องกันการยกเลิกกรมธรรม์)
แน่นอนว่า ถึงจะชื่อไม่เหมือนกับประกันชีวิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประกันสุขภาพผู้สูงวัยนี้ โดยนัยคือ ประกันชีวิตนั่นแหละ ทำให้มันสามารถจ่ายเฉพาะกรณีเสียชีวิตเท่านั้น
ในกรณีที่ ถ้าพิการ ป่วย เข้าโรงพยาบาลรักษา จะไม่จ่าย เพราะไม่ใช่ประกันสุขภาพ ยกเว้นจะไปซื้อแบบที่ขายสัญญาเพิ่มเติมพ่วงด้วย หรือบางทีอาจขายเป็นแพ็คเกจ แต่เงื่อนไขของการสมัครทำประกันก็อาจแตกต่างจากที่บอกไป
Cr. – www.irasutoya.com
อ้าว ทำไมประกันผู้สูงอายุถึงเคลมค่ารักษาไม่ได้ละ?
นี่จัดได้ว่าเป็นความเข้าใจผิดครั้งใหญ่เลย เพราะหลายคนมักจะแยกประกันชีวิต กับ ประกันสุขภาพ ไม่ออก และจากที่เราได้เขียนถึงข้างบน ประกันผู้สูงวัย ถูกนับเป็นประกันชีวิตอีกรูปแบบนึง ทำให้การจ่ายเบี้ยประกันต่างๆ จึงจ่ายก็ต่อเมื่อเสียชีวิตเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าใครกะว่าอยากทำประกันที่คุ้มครองเรื่องค่ารักษาพยาบาลให้ผู้สูงอายุในบ้าน ประกันสูงวัยนี้ อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่
หรือหากยังสนใจ อาจจะลองมองหาแพ็คเกจ รวมถึงการซื้อฟังก์ชันอื่นๆ ในประกันเพิ่ม รวมถึงเปลี่ยนไปลองทำประกันสุขภาพผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อาจจะดีกว่า
Cr. – www.irasutoya.com
แต่เสียแล้ว ก็ยังไม่ได้เงินเอาประกัน แบบนี้โกงรึเปล่า?
จริงอยู่ที่หากผู้สูงอายุบางท่าน ที่ทำประกันผู้สูงอายุเหล่านี้ เมื่อเสียชีวิตบริษัทประกันจะคืนเบี้ยประกัน รวมถึงดอกเบี้ยต่างๆ ให้ แต่บางกรณีกลับให้แค่เงินคืนประกันเท่านั้น ไม่ได้เงินเอาประกันเลย แบบนี้นับว่าโกงรึเปล่า?
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อเสียชีวิต ประกันผู้สูงวัยจะจ่ายเงินให้ก็จริง แต่ก็ต้องดูด้วยว่าโรคที่ผู้ทำประกันเสียเป็น เข้าข่ายโรคที่กฎหมายไม่คุ้มครอง หรือจะเรียกร้องเงินประกันคืนไม่ได้รึเปล่า? ซึ่งจะมีด้วยกัน 9 โรคร้าย ได้แก่
- โรคมะเร็งลำไส้
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคตับแข็ง
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคลมชัก
- โรคไตวายร้ายแรง
- โรคดีซ่าน
ซึ่งเงื่อนไขที่ว่าข้างต้นนี้เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 ที่บอกไว้ว่า ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
Cr. – www.irasutoya.com
เช่นเดียวกัน ประกันผู้สูงอายุ ถึงแม้ประกันผู้สูงอายุ ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ถามเรื่องสุขภาพก็จริง แต่ก็จำเป็นต้องแจ้งตัวแทนไว้ เพราะถ้าหากไม่แจ้ง ก็อาจจะอ้างมาตรา 865 ขึ้นมาอีกเช่นกัน
ซึ่งก่อนที่บริษัทประกันจะจ่ายคืนเงินให้กับลูกหลานได้นั้น บริษัทก็จะมีการตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุกับโรงพยาบาลต่างๆ ก่อน ซึ่งใช้เวลานานถึง 90 วัน จึงจะแจ้งผลให้ทราบได้ว่าบริษัทจะจ่ายเงินคืนให้ตามสัญญาหรือเปล่า
ดังนั้น เมื่อได้ทำประกันแล้ว อย่าลืมแจ้งเรื่องโรคประจำตัว สุขภาพ ให้ตัวแทนทราบทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเสียสิทธิ์ต่างๆ หรือในทางกลับกัน คุณอาจจะเลือกซื้อประกันโรคร้ายต่างๆ เพิ่มเติมก็ได้ ก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
Cr. – www.irasutoya.com
แบบนี้ไม่ทำดีกว่าไหม เก็บออมเงินเองดีกว่า?
ฟังดูเงื่อนไขต่างๆ ของประกันดูยุ่งยาก หลายคนอาจจะตัดใจ รู้สึกไม่อยากจะทำประกันพวกนี้แล้ว ไม่เอาน่า อย่าเพิ่งถอนใจกันไป การทำประกันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น ขอแค่เราศึกษาข้อมูล เงื่อนไข เป็นอย่างดีจนเข้าใจ เราก็จะสามารถทำประกันได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องมานั่งกลัวหรือกังวลใจอีกต่อไป
การทำประกันชีวิต หรือ ประกันผู้สูงอายุ นับได้ว่าเป็นการทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงเป็นการสร้างมรดก ทิ้งเงินทองไว้ให้ตกทอดกับคนที่อยู่ข้างหลัง แถมได้เบี้ยประกันเพิ่มเติมจากจำนวนเงินเหล่านั้น แถมยังช่วยสร้างวินัยในการเก็บเงินด้วย
ลองคิดดูสิ ลำพังการเก็บออมเงินไว้ในบัญชีธนาคารก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องถอนเงินออกมาแล้ว จะทำยังไง อย่างน้อยก็ทำประกันเหล่านี้ จะช่วยให้คุณสามารถกั๊กเงินบางส่วนไว้ได้มากกว่านะ
Cr. – www.irasutoya.com
สรุปแล้ว ทำดีไหม กับ ประกันผู้สูงวัย?
ให้พูดกันตรงๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับ “สุขภาพ” และ “เงินในกระเป๋า”
ถ้าเราอายุมากอายุอาจจะ 50 ปี แล้ว หรือ อยากจะทำประกันชีวิตให้พ่อแม่ที่สูงวัยแล้ว รวมถึงสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก การจะทำประกันชีวิตแบบปรกติคงเป็นไปไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับทำ หรือไม่ก็รับทำแต่จะถูกเพิ่มเบี้ยแพงขึ้นจนเกินพอดี
ดังนั้น ถ้าหากใครที่มีเงินไม่มากนัก หรือต้องการเซฟค่าใช้จ่ายต่างๆ การเปลี่ยนมาเลือกทำประกันผู้สูงอายุแทนจะเหมาะสมมากกว่า หรือถ้าหากใครที่ต้องการจำนวนเงินประกันสูงสักหน่อย มีสุขภาพปรกติดี อายุยังไม่เยอะมาก และมีเงินจ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ลำบาก ก็เหมาะจะทำประกันชีวิตแบบปกติมากกว่าแบบผู้สูงอายุ
รวมๆ แล้ว ทั้งสองประกันก็มีข้อดีไปคนละแบบ เอาเป็นว่า ลองเลือกตามที่ตัวเองไหวแล้วกัน!
Cr. – www.irasutoya.com
ไขข้อข้องใจ และความเข้าใจผิดกันไปบ้างแล้ว สำหรับใครที่สนใจในเรื่องของประกัน ไม่ใช่เพียงแค่ประกันชีวิตคนแก่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแบบอื่นๆ ด้วย ลองปรึกษา Rabbit Care ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ดูสิ เพราะที่นี้เขามีประกันให้คุณได้เลือกเปรียบเทียบ และหลากหลาย แถมยังสมัครง่ายอีกด้วย!
ประกันผู้สูงวัย ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว หรือไม่น่าทำ สำหรับใครที่คิดถึงคนข้างหลัง หรือคุณอาจจะเป็นลูกหลานที่ห่วงใยในผู้สูงอายุที่บ้าน การทำประกันผู้สูงอายุ ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยนะ
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct