“เบี้ยผู้สูงอายุ” คืออะไร? วางแผนยังไงนะ?
กลายเป็นข่าวใหญ่โตไปเมื่อช่วงเดือนก่อน และทำให้หลายคนกังวลไม่น้อยกับข่าวเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ถูกเลื่อนจ่าย เหตุการณ์แบบนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้น แล้วแบบนี้เราจะทำยังไงดี ต้องวางแผนในอนาคตแบบไหน? มาดูกันดีกว่า
เบี้ยผู้สูงอายุคืออะไร? ควรวางแผนยังไง?
เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเลื่อนจ่าย?
เรียกได้ว่าเป็นข่าวใหญ่โตพอสมควรกับการเลื่อนจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งต้นทางนั้นมาจากการที่ Facebook : กรมบัญชีกลาง ได้ประกาศแจ้งเรื่องการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ประจำเดือนกันยายน 2563 นั้นจะล่าช้า
โดยกรมบัญชีกลางให้เหตุผลว่า เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงต้องขอจัดสรรเพิ่ม และเมื่อ สถ. ได้รับงบประมาณพร้อมแล้ว กรมบัญชีกลางพร้อมโอนให้ผู้มีสิทธิ์โดยเร็ว ภายในเดือนกันยายน ซึ่งข่าวนี้ ได้สร้างความแตกตื่นให้เหล่าผู้ที่เฝ้ารอเบี้ยผู้สูงอายุและเบี้ยคนพิการอย่างมาก ถึงแม้ว่าภายในวันที่ 17 กันยายนและจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 กันยายนนี้ (จากเดิมที่จะจ่ายประจำในทุกวันที่ 10 ของเดือน) และแม้จะเริ่มต้นทยอยจ่ายครบถ้วนแล้ว แต่ก็เกิดกระแสวิพากวิจารณ์อย่างหนัก
ในขณะที่ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า การจ่ายเบี้ยคนชราและคนพิการที่ล่าช้าไม่ใช่เพราะรัฐบาลมีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่เกิดจากกระบวนการทางงบประมาณที่ต้องนำงบส่วนอื่นมาชดเชย และการคำนวณจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในรายละเอียดไม่ได้มีผลกระทบอะไร ยังสามารถเบิกจ่ายได้เหมือนเดิม
ส่วนในเดือนตุลาคม 2563 ที่จะมีการปรับเพิ่มเบี้ยคนชรานั้นยืนยันว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอ ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน และในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว
แต่การล่าช้าในครั้งนี้ ทำให้หลายคนเกิดความกังวลในการจ่ายเบี้ยต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ เบี้ยต่าง ๆ จากผู้ประกันสังคมเองก็มีหลายคนระบุว่ามีการจ่ายล่าช้า เช่น การชดเชยในช่วง โควิด-19 ชดเชยจากการว่างงาน เป็นต้น
แล้วเบี้ยผู้สูงอายุคืออะไร ควรทำไว้ดีไหม?
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ เบี้ยยังชีพคนชรา เป็นเงินช่วยเหลือที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และในทุก ๆ ปีจะมีการเปิดให้ผู้สูงอายุรายใหม่ ๆ ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือในปีงบประมาณถัดไปเข้ามาลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ทุกปี และเมื่อลงทะเบียนแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนใหม่ทุกปี ลงเพียงครั้งเดียวก็ได้รับสิทธิ์ไปตลอด เว้นแต่กรณีที่ผู้สูงอายุย้ายที่อยู่ หรืออาจมีปัญหารายชื่อตกหล่น ถึงค่อยไปทำการยืนยันสิทธิ์ แก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้สมบูรณ์
สำหรับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต โดยเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
- อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน
ส่วนเบี้ยคนพิการ จะได้เบี้ยอยู่ที่ 1,000 บาท/เดือน โดยจะเริ่มจ่ายเบี้ยราคาใหม่ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป และการขอเบี้ยผู้สูงอายุ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ คือ
- ถือสัญชาติไทย
- มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
- อายุ 60 ปีขึ้นไป
- ต้องไม่เคยได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐจัดให้เป็นประจำ
ไม่อยากพลาดใช้สิทธิ์ เริ่มต้นลงทะเบียนยังไงนะ?
หากอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเอง ได้ที่สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ส่วนต่างจังหวัดสามารถยื่นได้ที่สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยเตรียมหลักฐานในการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานรัฐที่มีรูปถ่าย
- ทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารตัวจริง ประเภทออมทรัพย์ พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
แต่หากผู้สูงอายุไม่สามารถมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นมายื่นคำขอรับเงินแทนได้ แต่จะต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
- หนังสือมอบอำนาจ (แบบฟอร์มมอบอำนาจขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1 ฉบับ
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1 ฉบับ
ได้เงินบำนาญจากประกันด้วย ยังขอเบี้ยผู้สูงอายุได้ไหม ?
เราจะเห็นได้ว่าการที่จะขอเบี้ยผู้สูงอายุได้ หลักๆ คือ ไม่มีเงินปันผล หรือรายได้ใดๆ หลังจากที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป หมายความว่า ถ้าคุณมีเงินบำนาญ ได้รับเงินตอบแทนอื่นๆ เป็นประจำอยู่แล้วจากรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จะไม่สามารถขอเบี้ยผู้สูงอายุได้
แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกันตนจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบแห่งกระทรวงมหาดไทยระบุไว้แต่อย่างใด นั่นหมายความว่า ต่อให้คุณมีเงินบำนาญเป็นเงินสะสมเป็นของตัวเอง หรือได้มาจากกองทุนบริษัทเอกชน ที่นายจ้างสมทบให้ ก็จะไม่ถือว่าเป็นเงินช่วยเหลือใด ๆ จากหน่วยงานภาครัฐฯ
สรุปง่าย ๆ คือ ถ้าเงินบำนาญที่ได้รับ ไม่ได้เป็นเงินที่รัฐบาล หรือ สปส. ช่วยเหลือ เราก็ยังสามารถรับเบี้ยผู้สูงอายุได้!
อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าถูกเลื่อนจ่ายแบบนี้ วางแผนยังไงดี ?
และถึงแม้เบี้ยผู้สูงอายุนั้นจะเป็นสวัสดิการที่คอยช่วยเหลือผู้สูงอายุในทุก ๆ เดือน แต่ยอดเงินนั้น เป็นเพียงยอดเงินบางส่วนที่ช่วยแบ่งเบาภาระเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ และอาจะเกิดความไม่แน่นอน เลื่อนจ่ายเบี้ยแบบนี้ ทำให้หลายคนอาจจะกังวลไม่น้อย ดังนั้น เรามาลองวางแผน สำหรับตัวเองในวัยเกษียณกันดีกว่าว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก
พยายามเคลียร์หนี้ให้หมดก่อนเกษียณ
หลายคนแม้จะเลยวัยเกษียณก็ยังต้องทำงานต่อเพราะว่ามีปัญหาเรื่องหนี้สินที่ยังค้างคา ดังนั้น จะดีกว่ามาก ถ้าคุณจัดการเรื่องหนี้สินของตัวเองให้เหลือน้อยที่สุด หรือหมดหนี้ไปเลย และพยายามไม่สร้างหนี้สินขึ้นใหม่ เก็บเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยบำนาญอื่น ๆ ไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะดีที่สุด
สุขภาพ สำคัญตั้งแต่ต้น
ยิ่งแก่ตัว ค่ารักษาพยาบาลก็มักจะเพิ่มสูงตามไปด้วย การรักษาสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้คุณลดค่าใช้จ่ายในวัยสูงอายุลงได้มาก มีเงินเพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ไม่ยาก
แบ่งแยก เงินออมฉุกเฉิน
เมื่อเกิดปัญหาเบี้ยผู้สูงอายุล่าช้า ทำให้หลายคนไม่มีเงินไปหมุนเวียนใช้ในชีวิตประจำวัน ทางที่ดีคือออมเงินก้อนไว้บ้าง และนำออกมาใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น อย่างน้อยก็จะช่วยให้คุณมีเงินสดไว้ใช้จ่ายบ้าง
ทำประกันบำนาญ หรือออมเงิน
อย่างที่เราบอกไป ถึงแม้คุณจะทำประกันบำนาญแยก ก็ยังสามารถลงทะเบียน ขอเบี้ยผู้สูงอายุได้ และงจะดีกว่ามาก หากเราเพิ่มความมั่นคงให้ชีวิต ด้วยการทำประกันบำนาญ หรือกองทุนเพื่ออาชีพ อื่น ๆ (ที่ไม่ได้มาจากรัฐฯ และรัฐวิสาหกิจ) เพิ่มอีกทาง จะช่วยเซฟเงินทองของคุณได้มากกว่าที่คิด!
อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้แต่เบี้ยผู้สูงอายุยังล่าช้า แบบนี้มาเตรียมพร้อมรับอนาคตที่ไม่แน่นอนเหล่านี้ ด้วย ประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ จาก Rabbit Care ที่ให้คุณสร้างเงินบำนาญ สร้างวินัยในการเก็บออมเงินได้เอง และเสริมความมั่นคงให้กับชีวิต คลิกเลย!
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct