ทำประกันสะสมทรัพย์ยังไง ให้คุ้มค่า?
อยากจะออมเงิน แต่เป็นคนเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ หลายคนน่าจะมีเทคนิคที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าหนึ่งในเทคนิคที่หลายคนใช้ก็คือการทำประกันสะสมทรัพย์ แล้วจะทำยังไงให้คุ้มค่าที่สุด ได้ออมเงินมากที่สุดกันนะ ตาม Rabbit Care ไปดูกันดีกว่า
ทำประกันออมทรัพย์ยังไงให้คุ้มเว่อร์
เข้าใจความแตกต่างของประกัน
ก่อนเริ่มต้นทำประกันสะสมทรัพย์ บางคนอาจจะสงสัยว่ามันแตกต่างจากประกันทั่วไปอย่างไรกันแน่ โดยเราสามารถแบ่งประเภทประกันชีวิตได้ 4 แบบ คือ
- แบบชั่วระยะเวลา เป็นประกันชีวิตที่จ่ายเบี้ยต่ำ แต่ให้ความคุ้มครองสูง โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น หากมีชีวิตอยู่เลยจากระยะเวลาที่กำหนดไว้จะไม่ได้รับเงินคืน
- แบบตลอดชีพ เป็นประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองเป็นหลัก ค่าเบี้ยไม่สูง โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรือจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเมื่ออยู่ครบกำหนดสัญญา
- แบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันชีวิตที่เน้นการได้รับเงินก้อนคืนมากกว่าความคุ้มครอง และค่าเบี้ยค่อนข้างสูง แต่มีเงินปันผลให้ทุกปีตามรายละเอียดในกรมธรรม์
- แบบบำนาญ เป็นประกันชีวิตที่จะเริ่มจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเมื่อผู้ทำประกันมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนจะจ่ายเงินนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนงวดหรืออายุของผู้ทำประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักของการทำประกันออมทรัพย์ หรือ ประกันออมเงิน จะเน้นไปที่การได้ผลตอบแทนของเงินคืนมากกว่าการคุ้มครอง และเนื่องจากประกันจะบังคับให้คุณจ่ายเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้เหมาะกับคนที่เก็บเงินไม่อยู่ แต่ฝันจะมีเงินก้อนโตไว้ใช้จ่ายในอนาคต
ถึงแม้ประกันสะสมทรัพย์จะให้เงินคืนมาบ้าง แต่หากเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ อาจจะไม่ได้เงินคืนมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้ประกันสะสมทรัพย์น่าสนใจคือการสร้างระเบียบวินัยในการออม และได้ผลการคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมมาด้วย
สมมติว่าเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น กรณีที่คุณเสียชีวิต หากเป็นการฝากเงินในธนาคารก็แค่ให้ญาติ หรือผู้สืบทอดมรดกมารับเงินเหล่านั้นไป แต่ถ้าคุณแบ่งเงินออมบางส่วนมาทำประกันออมทรัพย์ไว้ บางประกันอาจจ่ายเงินค่าคุ้มครองเมื่อคุณเสียชีวิตเพิ่มให้ด้วยนะ ถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่น่าสนใจมาก ๆ
วางแผนยังไง ให้ทำแล้วคุ้ม
อยากจะทำประกันสะสมทรัพย์บ้าง แต่ทำทั้งทีก็อยากให้คุ้ม แล้วจะเริ่มต้นยังไงดี? เราขอแนะนำให้คุณเริ่มต้นด้วยการ
1.กำหนดทุนประกันชีวิต
แนะนำว่าควรมีทุนประกันชีวิตไม่น้อยกว่า 3 เท่าของรายได้ต่อปี บวกด้วยภาระหนี้สินคงค้าง เช่น หากมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท เท่ากับปีละ 240,000 บาท 3 เท่าของรายได้ต่อปีจึงเท่ากับ 720,000 บาท หากมีภาระหนี้สินคงค้างอีก 200,000 บาท ดังนั้น เราควรมีทุนประกันชีวิตไม่น้อยกว่า 920,000 บาท
การกำหนดทุนประกันคร่าว ๆ จะทำให้คุณสามารถเลือกประกันสะสมทรัพย์ที่เหมาะสมกับตัวเองได้
2.เลือกแบบประกันด้วยเบี้ยที่จ่ายไหว
หลังจากได้ทุนประกันที่เหมาะกับตัวเองแล้ว คุณควรดูด้วยว่าเบี้ยประกันที่ทำไป จะไม่ก่อให้เกิดภาระทางการเงิน
ดอกเบี้ยประกันที่ดี ควรอยู่ที่ประมาณ 10-15% ของรายได้ต่อปี
และคุณอาจจะทำประกันอื่นควบคู่กับการทำประกันสะสมทรัพย์ไว้ด้วยก็ได้ เนื่องจากบางคนมีทุนประกันชีวิตที่สูง หากเลือกทำที่เดียวนอกจากวงเงินประกันจะไม่เพียงพอแล้ว บางเจ้าอาจจะไม่รับทำด้วยนะ
3.ทำตั้งแต่อายุยังน้อย
เชื่อหรือไม่ว่ายิ่งอายุน้อย เบี้ยประกันต่าง ๆ จะยิ่งถูก ทางบริษัทประกันก็จะอนุมัติง่าย และการเก็บออมเงินด้วยประกันสะสมทรัพย์จะไม่ใช่เงินมรดก แต่เป็นเงินสำหรับอนาคตให้คุณได้ใช้ตั้งตัว
ที่น่าสนใจคือ ประกันสะสมทรัพย์เปิดให้ทำตั้งแต่อายุยังน้อย น้อง ๆ ที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยก็สามารถทำได้
เช่น ต้องการออมเงิน เก็บเงินไว้ลงทุนหลังเรียนจบ หรือเก็บเงินเพื่อเกษียณใช้เงินในอีก 15 ปีข้างหน้า การเลือกทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีอายุกรมธรรม์ 15 ปีก็จะช่วยให้สามารถเก็บออมได้
เมื่อครบ 15 ปี ก็จะครบกำหนดได้รับเงินต้นคืนบวกผลตอบแทนไว้ใช้จ่ายหลังเรียนจบ หรือออกมาทำธุรกิจส่วนตัว และหากเสียชีวิตก่อน ก็ได้รับความคุ้มครองเท่าทุนประกันชีวิตเพื่อให้คู่สมรส พ่อแม่ หรือเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาสำหรับลูก ๆ
4.อย่ายกเลิกก่อนถึงระยะเวลาที่กำหนด
ถึงแม้ประกันจะสามารถยกเลิกได้ และคุณจะได้เงินที่ทำประกันคืนมาทั้งหมด ไม่ขาดทุน ไม่โดนปรับ แต่เราบอกได้เลยว่าไม่คุ้ม เพราะคุณจะเสียดอกเบี้ยที่ควรจะได้ทั้งหมดทันที เพราะฉะนั้น อดเปรี้ยวไว้กินหวานดีกว่านะ หรือถ้าไม่พร้อมตั้งแต่แรกก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจซื้อประกัน
อย่าลืมว่าจุดประสงค์หลักของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือ “การการันตีเงินสำหรับอนาคต” ช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะคุณสามารถนำเงินก้อนไปใช้จ่ายได้อย่างอิสระ จะเก็บไว้เป็นเงินสำรองหลังเกษียณ หรือเป็นมรดกให้ลูกหลานก็ได้
ดังนั้นการทำประกันสะสมทรัพย์ให้คุ้มค่าที่สุด ต้องไม่ลำบาก ไม่ขัดขวางการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จึงจะดีที่สุด
ถ้าใครที่อยากเริ่มต้นการออมอย่างมีวินัย มีคนช่วยคุมเรื่องการเก็บออม ทำประกันสะสมทรัพย์ กับ Rabbit Care กันดีกว่า เพราะนอกจากเราจะมีบริการเปรียบเทียบประกันให้แล้ว ยังทำได้ง่าย ๆ เพียงซื้อออนไลน์พร้อมชำระเงิน ไม่ต้องออกจากบ้านให้สุ่มเสี่ยงมลภาวะหรือเชื้อไวรัสเลยล่ะค่ะ
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct