รู้หรือไม่? ซื้อประกันลดหย่อนภาษี แล้วยกเลิกก่อนครบกำหนด เสี่ยงโดนภาษีย้อนหลังนะ
เริ่มนับถอยหลังฤดูกาลลดหย่อนภาษีกันแล้ว สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายในช่วงนี้ก็เริ่มกระตือรือล้น ควานหาผลิตภัณฑ์สำหรับลดหย่อนภาษีกันอย่างหนัก แน่นอนว่าหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในเรื่องของการลดหย่อนภาษีมากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่กรมสรรพากรให้สิทธิ์ในการยื่นลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาทและประกันชีวิตทั่วไป ที่สามารถยื่นลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาทแต่รู้หรือไม่ว่าถ้าหากเราซื้อประกันเหล่านี้มาเพื่อผลประโยชน์ทางด้านภาษี แล้วไม่ชำระเบี้ยประกันจนครบสัญญา หรือยกเลิกก่อน 10 ปี คุณกำลังเสี่ยงโดนภาษีย้อนหลัง! เสี่ยงอย่างไร? น้องแคร์มีคำตอบ
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า ประกันแบบไหนบ้างที่ลดหย่อนภาษีได้?
เบื้องต้นแล้วรูปแบบของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบหลัก ๆ คือ
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)
เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิตระยะยาวนาน หรือ ตลอดชีพ แม้ผู้เอาประกันจะมีการชำระเบี้ยครบตามที่ระบุในสัญญาแล้ว แต่กรมธรรม์ยังคงมีผลความคุ้มครองต่อเนื่อง เช่น แบบประกันที่ชำระเบี้ย 20 ปี ให้คุ้มครองจนถึงอายุ 90 ปี หรือ 99 ปี เป็นต้น
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)
คือประกันที่ให้ความคุ้มครองในช่วงเวลาสั้น ๆ ระยะเวลาในการชำระค่าเบี้ยเท่ากับระยะเวลาให้ความคุ้มครอง เช่น ชำระเบี้ย 10 ปี ก็จะให้ความคุ้มครอง 10 ปี หลังจาก 10 ปี หากเกิดเหตุใดขึ้นบริษัทประกันก็จะไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ใด ๆ ประกันชีวิตแบบนี้จะเป็นกรมธรรม์เพียงแบบเดียว จากทั้งหมด 5 รูปแบบ ที่ไม่มีมูลค่าเงินสด ไม่สามารถเวนคืนกรมธรรม์ เพื่อรับเงินคืนบางส่วนจากบริษัทประกันได้
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment)
เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนด มีทั้งระยะสั้น ๆ ไปจนถึงระยะกลาง ๆ เช่น ชำระเบี้ย 5 ปี ให้ความคุ้มครอง 10 ปี, ชำระเบี้ย 15 ปี ให้ความคุ้มครอง 25 ปี เป็นต้น ประกันแบบสะสมทรัพย์นี้ ส่วนใหญ่จะมีเงินคืนให้ระหว่างสัญญาเป็นช่วง ๆ เช่น มีเงินคืนทุก ๆ 2 ปี, ทุก ๆ 5 ปี เป็นต้น
- ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked)
ประกัน Unit Linked เป็นแบบประกันชีวิตที่มีความพิเศษเพิ่มเติมจากประกันชีวิตทั่วไป คือ สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมได้ แต่จะไม่มีการการันตีผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ให้ความคุ้มครองชีวิต พร้อมกับการให้สิทธิ์ในการลงทุนกองทุนรวมภายในเล่มกรมธรรม์เดียว
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Retirement)
คือแบบประกันที่บริษัทประกันให้ความคุ้มครองโดยการการันตีเงินได้ (เงินบำนาญ) หลังเกษียณอายุเป็นงวดรายปี ไปจนกว่าจะครบสัญญา โดยมีการกำหนดให้ชำระเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่อง เริ่มชำระเบี้ยตั้งแต่อายุที่ทำประกันไปจนถึงอายุเริ่มรับเงินบำนาญ (อย่างน้อยที่สุด คือ ชำระเบี้ยจนถึงอายุ 55 ปี)
และสำหรับประกันที่สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข มาตรา 27และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 172 โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำหนด ดังนี้
- ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีระยะเวลาในการคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยนับที่จำนวนปีที่ให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ไม่นับจำนวนปีในการชำระเบี้ย นั่นหมายความว่า แม้แบบประกันที่ซื้อจะมีการกำหนดชำระค่าเบี้ยเพียง 5 ปี แต่ให้คุ้มครองต่อเนื่องหลังจากชำระค่าเบี้ยครบตามกำหนด 10 ปีขึ้นไป ก็สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้
- ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
- หากมีการกำหนดการจ่ายเงินคืน
- หากจ่ายเงินคืนทุกปีระหว่างสัญญา เงินที่ได้รับคืน ต้องเป็นจำนวนที่ไม่เกิน 20% ของค่าเบี้ยรายปี
- หากจ่ายเงินคืนตามช่วงระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ เช่น จ่ายคืนทุก 2 ปี เป็นต้น เงินที่ได้รับคืนต้องเป็นจำนวน
โดยที่ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา แบบสะสมทรัพย์ และแบบควบการลงทุน ที่มีระยะเวลาความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท หากมีการซื้อประกันสุขภาพแนบร่วมด้วย จะสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วจะสามารถลดหย่อนร่วมกันได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนี้ประกันชีวิตแบบบำนาญยังสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 300,000 บาทในกรณีที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 100,000 แรก จากประกันชีวิตแบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา แบบสะสมทรัพย์ และแบบควบการลงทุน มาก่อน
ทำความรู้จัก การเวนคืนกรมธรรม์คืออะไร?
ก่อนที่จะรู้ว่าเพราะเหตุใดหากซื้อประกันลดหย่อนภาษี แล้วยกเลิกก่อนกำหนด จึงมีความเสี่ยงอาจถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ต้องมาทำความรู้จักกับศัพท์ประกันคำว่า “การเวนคืนกรมธรรม์” กันก่อน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 วิธีของ “การแปลงกรมธรรม์” หรือการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่เราถืออยู่ ในกรณีที่เราต้องการจะยุติการชำระเบี้ยประกัน ประกอบไปด้วย
- แปลงกรมธรรม์ด้วยการเวนคืนกรมธรรม์
ความหมายของการเวนคืนกรมธรรม์ ก็คือ การยุติการชำระค่าเบี้ยประกันและยุติความคุ้มครองตามกรมธรรม์ทั้งหมด (ประกันไม่คุ้มครองต่อ) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การยกเลิกสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น ๆ ที่เราถืออยู่ วิธีการนี้บริษัทประกันจะมีการจ่ายเงินบางส่วนคืนกลับมายังผู้เอาประกัน ซึ่งจำนวนเงินที่ได้จะมากหรือน้อยเพียงใดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยประกันมาเทียบกับตารางมูลค่ากรมธรรม์ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เพื่อทราบตัวเลขมูลค่าเวนคืน
หลังจากนั้นจึงนำตัวเลขมูลค่าเวนคืนที่ได้ไปคำนวณโดย (นำมูลค่าเวนคืนxจำนวนเงินเอาประกัน)/1,000 = จำนวนเงินคืนที่ได้รับ
ตัวอย่างเช่น ชำระเบี้ยมา 8 ปี เมื่อเทียบกับตารางมูลค่ากรมธรรม์ มีมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 45 จำนวนเงินเอาประกันที่ทำไว้ 500,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณจะได้รับเงินคืน (45×500,000)/1,000 = 22,500 บาท เป็นต้น
- แปลงกรมธรรม์ด้วยการใช้เงินสำเร็จ
คือการขอยุติการชำระเบี้ยประกัน แต่ยังคงมีความคุ้มครองประกันชีวิตอยู่ โดยที่จำนวนเงินเอาประกันจะถูกลดลงไปจากเดิม ส่วนระยะเวลาที่คุ้มครองยังเท่าเดิม เช่น กรมธรรม์เดิมเงินเอาประกัน 500,000 บาท คุ้มครอง 20 ปี เมื่อมีการแปลงกรมธรรม์ด้วยการใช้เงินสำเร็จ ต้องการยุติการชำระค่าเบี้ยสิ้นปีที่ 8 เงินเอาประกันอาจจะเหลือแค่ 300,000 บาท แต่ระยะเวลาในการคุ้มครองจะยังคุ้มครองคุณต่อไป 20 ปี เหมือนเดิม เป็นต้น ซึ่งผู้เอาประกันอาจจะได้รับเงินคืนทันที หรือได้รับเงินเอาประกันเมื่อครบสัญญาหรือเสียชีวิต จะขึ้นอยู่กับรายละเอียดตารางมูลค่ากรมธรรม์และเงื่อนไขในกรมธรรม์
- แปลงกรมธรรม์ด้วยการขยายระยะเวลา
เป็นการขอยุติการชำระเบี้ยประกันและยังคงมีความคุ้มครองประกันชีวิตอยู่เช่นเดียวกับการแปลงกรมธรรม์ด้วยการใช้เงินสำเร็จ แต่สลับกันตรงที่ระยะเวลาที่คุ้มครองจะลดลง ส่วนจำนวนเงินเอาประกันยังเท่าเดิม เช่น กรมธรรม์เดิมเงินเอาประกัน 500,000 บาท คุ้มครอง 20 ปี เมื่อมีการแปลงกรมธรรม์ด้วยการขยายระยะเวลา ต้องการยุติการชำระค่าเบี้ยสิ้นปีที่ 8 ระยะเวลาในการคุ้มครองจะถูกลดลงจากเดิม อาจจะเหลือระยะเวลาความคุ้มครองเพียง 7 ปี จาก 20 ปี ขึ้นอยู่กับตัวเลขที่ระบุไว้ตามตารางมูลค่ากรมธรรม์ แต่จำนวนเงินเอาประกันจะยังคงเป็น 500,000 บาท เหมือนเดิม เป็นต้น ซึ่งผู้เอาประกันอาจจะได้รับเงินคืนทันที หรือได้รับเงินเอาประกันเมื่อครบสัญญาหรือเสียชีวิต จะขึ้นอยู่กับรายละเอียดตารางมูลค่ากรมธรรม์และเงื่อนไขในกรมธรรม์เช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ โดยการเวนคืนกรมธรรม์ แม้ว่าจะทำให้ได้รับเงินคืนบางส่วนทันทีแต่ก็จะต้องยุติความคุ้มครองกรมธรรม์ทันทีด้วยเช่นกัน นอกจากนี้วิธีการแปลงกรมธรรม์แบบนี้ยังเสี่ยงที่จะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอีกด้วย หากมีการซื้อประกันเพื่อนำไปใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีแล้ว
แล้วการยกเลิกประกันก่อนครบสัญญาหรือการเวนคืนกรมธรรม์ เสี่ยงโดนภาษีย้อนหลังเพราะอะไร?
การที่เราทำการยกเลิกประกันที่ซื้อมาเพื่อผลประโยชน์ด้านภาษีก่อนครบสัญญาหรือการเวนคืนกรมธรรม์ มีความเสี่ยงอาจโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เนื่องจากหากอ้างอิงจากหลักเกณฑ์เงื่อนไข มาตรา 27และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 172 ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การที่เรายกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนจะครบกำหนดชำระเบี้ยประกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เท่ากับว่าเราได้ทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด ทำให้ต้องมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลังของปีที่ได้มีการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากรมธรรม์ประกันชีวิตเพิ่มเติม และต้องจ่ายคืนภาษีเงินได้ย้อนหลังของทุก ๆ ปี ที่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไปแล้วก่อนจะยกเลิกกรมธรรม์หรือเวนคืนกรมธรรม์พร้อมดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน ของยอดภาษีที่ต้องจ่าย และกรมธรรม์ที่ยกเลิกหรือเวนคืนไปแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้อีก
ทั้งนี้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบสัญญาหรือเวนคืนกรมธรรม์ที่อาจจะทำให้โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง จะถูกบังคับใช้เฉพาะกับประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตควบการลงทุน และประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีระยะเวลาในการคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นสัญญาหลักเท่านั้น ในส่วนของสัญญาเพิ่มเติมอย่างประกันสุขภาพ ที่เป็นสัญญาแบบปีต่อปีและไม่ใช่สัญญาหลัก การยกเลิกประกันสุขภาพจะไม่ถือเป็นการผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกรมสรรพากร เพียงแต่หากมีการยกเลิกประกันสุขภาพก็จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 25,000 บาทได้อีก
ชำระค่าเบี้ยประกันไม่ไหว ทำอย่างไรได้บ้าง? ที่จะไม่เสี่ยงโดนภาษีย้อนหลัง
แล้วถ้าหากเราไม่สามารถที่จะชำระค่าเบี้ยประกันต่อไปได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่อาจจะกำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างที่ไม่ต้องยกเลิกสัญญก่อนครบกำหนดหรือเวนคืนกรมธรรม์ น้องแคร์ขอแนะนำวิธีการในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการชำระเบี้ยประกันในช่วงที่เราเกิดความวิกฤตทางด้านการเงิน ที่จะทำให้เราสามารถเลือกปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถชำระค่าเบี้ยต่อไปได้โดยไม่ต้องยกเลิกสัญญาหรือเวนคืนกรมธรรม์ ดังนี้
- ติดต่อตัวแทนเพื่อขอลดเงินเอาประกันลงจากเดิม วิธีการนี้จะทำให้ค่าเบี้ยที่เราต้องชำระถูกลง มีความคุ้มครองตามกรมธรรม์ปกติ เพียงแต่เงินเอาประกันของเราจะไม่มากเท่าเดิม
- หากกรมธรรม์ที่ถืออยู่ มีการทำสัญญาชำระค่าเบี้ยประกันในรูปแบบรายปีอยู่ สามารถติดต่อขอปรับเปลี่ยนรูปแบบการชำระค่าเบี้ยจากรายปี มาเป็นรายเดือน ราย3เดือน หรือราย6เดือน เพื่อทำให้ค่าเบี้ยที่ต้องชำระมีจำนวนที่ลดลง
- ติดต่อตัวแทนเพื่อขอแปลงกรมธรรม์ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ 2 วิธีข้างต้นได้เลย เนื่องจากไม่มีสามารถในการชำระค่าเบี้ยต่อไปได้อีก ก็สามารถใช้วิธีแปลงกรมธรรม์ทั้งแบบการใช้เงินสำเร็จและการขยายระยะเวลาได้
และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการที่น้องแคร์นำมาฝากทุกคน ที่จะสามารถช่วยให้คุณยังคงชำระค่าเบี้ยประกันต่อไปได้แบบที่ยังคงมีผลความคุ้มครองปกติ กรมธรรม์จะยังไม่เป็นสถานะสิ้นสุดความคุ้มครอง ไม่ต้องยกเลิกก่อนครบสัญญาให้เสี่ยงโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
เพราะฉะนั้นถ้าหากเราวางแแผนที่จะซื้อประกันลดหย่อนภาษีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือประกันบำนาญ เราก็ควรจะมีการวางแผนคำนวณเรื่องค่าใช้จ่ายควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินในอนาคต โดยเฉพาะการซื้อประกันบำนาญที่จำเป็นต้องวางแผนการเงินเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการชำระเบี้ยระยะยาวไปจนกว่าจะถึงอายุเกษียณและค่าเบี้ยประกันค่อนข้างสูง ถ้าหากเกิดปัญหาการเงินจนต้องยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเรื่องการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นอย่างมาก เนื่องจากประกันชีวิตแบบบำนาญให้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีสูงมากกว่าประกันชีวิตแบบอื่น ๆ นอกจากนี้เงินบำนาญที่เราวางแผนไว้ว่าจะได้รับช่วงอายุเกษียณ หากยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดก็จะทำให้ไม่สามารถได้รับเงินบำนาญตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อีกด้วย!
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct