ค่าเสียหายส่วนแรกคืออะไร? ค่า Excess ประกัน/ค่าดีดัก ทำไมต้องจ่าย?
“ค่าเสียหายส่วนแรก” หรือที่หลายคนเรียกในชื่อ ค่าดีดัก (Deductible) ค่าเอกเซส (Excess) หรือ ค่าแอคเซ็ปท์ (Accept) คือ จำนวนเงินที่ผู้ทำประกันต้องจ่ายก่อนเข้ารับการเคลมความเสียหายกรณีเป็นฝ่ายผิด หรือไม่มีคู่กรณี โดยต้องจ่ายตามจำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์ หรือตกลงไว้กับบริษัทประกัน แต่หากเป็นฝ่ายถูก ผู้ทำประกันจะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก
ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าเลือกทำประกันรถยนต์ชั้น 1 แล้ว แต่ทำไมยังโดนเก็บค่าเสียหายส่วนแรก ตอนเคลมประกันชั้น 1 อยู่? สรุปแล้วค่าความรับผิดส่วนแรก หรือค่าส่วนร่วมคืออะไรกันแน่? ต้องจ่ายตอนไหน? แรบบิท แคร์ รวบรวมข้อมูลทุกเรื่องที่ต้องรู้ของทั้งค่าเอ็กเซส (Excess) และค่าดีดัก (Deductible) มาฝากกัน
ค่าเสียหายส่วนแรกคืออะไร? ทำไมต้องจ่ายความรับผิดส่วนแรก?
ค่าเสียหายส่วนแรก หรือค่าส่วนร่วม คือ หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าเสียหายที่ผู้เอาประกันต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ก่อนเคลมกับบริษัทประกันตามที่ คปภ. กำหนด เพื่อป้องกันกรณีแจ้งเคลมซ่อมรถโดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจริง หรือจากการขับรถประมาท รู้จักในหลายชื่อ เช่น ค่าเอ็กเซส (Excess), ค่าดีดัก (Deductible) หรือค่าแอคเซ็ปท์ (Accept)
ค่า Excess ประกันรถคืออะไร?
ค่าเอ็กเซส (Excess) คือ ค่าเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ หรือค่าเสียหายส่วนแรกเมื่อแจ้งเคลมอุบัติเหตุรถชนไม่ทราบคู่กรณีหรือไม่สามารถแจ้งรายละเอียดคู่กรณีได้ รวมถึงแจ้งเคลมความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากเหตุรถชนหรือคว่ำตามประกาศสำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 โดยต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก 1,000 บาทต่อเหตุการณ์
ค่าดีดัก (Deductible) ประกันภัยรถยนต์คืออะไร?
ค่าดีดัก (Deductible) คือ ค่าเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจ หรือค่าเสียหายส่วนแรกที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ของผู้ทำประกันเฉพาะราย ตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท เมื่อแจ้งเคลมรถเสียหายแบบมีคู่กรณี และเป็นฝ่ายผิด ซึ่งจะได้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันตามค่ารับผิดส่วนแรกที่ตกลงจ่าย ยกเว้นกรณีเป็นฝ่ายถูก และระบุตัวฝ่ายผิดได้ จะไม่ต้องจ่ายค่าดีดัก
ค่า Excess ประกันกับ ค่า Deductible ต่างกันอย่างไร?
ค่าเอ็กเซส (Excess) คือ ค่าเสียหายส่วนแรกแบบบังคับ 1,000 บาท/เหตุการณ์ จ่ายเมื่อเคลมแบบไม่มีคู่กรณีหรือระบุคู่กรณีไม่ได้ หรือเกิดความเสียหายที่ไม่ใช่การชน/คว่ำตามประกาศ คปภ. ส่วนค่าดีดัก (Deductible) คือ ค่าเสียหายส่วนแรกแบบสมัครใจจ่ายตามตกลงกับบริษัทประกัน จ่ายเมื่อเคลมแบบมีคู่กรณี และเป็นฝ่ายผิด แต่จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันตามค่าดีดักที่ตกลงจ่าย
ต้องจ่ายค่าเอ็กเซส (Excess) กรณีไหนบ้าง? จ่ายตอนไหน?
ค่าเสียหายส่วนแรกแบบบังคับจ่าย (Excess) ต้องจ่ายก่อนเข้ารับการซ่อมความเสียหาย เมื่อแจ้งเคลมความเสียหาย กรณีรถได้รับความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการชน/คว่ำ แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดคู่กรณีได้ ยกเว้นกรณีรถชนกับคู่กรณีที่ไม่ใช่รถยนต์ และแจ้งรายละเอียดการเกิดเหตุชัดเจน เช่น ชนรั้ว ชนต้นไม้ ชนสัตว์ หรือชนก้อนหิน
กรณีรถได้รับความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการชน/คว่ำ
ความเสียหายจากการมุ่งร้าย/กลั่นแกล้ง
จ่ายค่า Excess ประกันกรณีรถได้รับความเสียหายจากร่องรอยการกระทำของบุคคล แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิด รวมถึงวันเวลาเกิดเหตุ และสถานที่ที่รถได้รับความเสียหายได้อย่างชัดเจน
- รถถูกบุคคลอื่นทุบทำลาย/ขูดขีดเสียหาย
ความเสียหายจากการกระทบกับวัตถุ/สิ่งของ
จ่ายค่า Excess เมื่อรถได้รับความเสียหายเฉพาะพื้นผิวของสีรถ ไม่รวมกรณีความเสียหายบุบ แตก หรือร้าวของส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวรถ หรืออุปกรณ์ในรถ และไม่รวมกรณีความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวรถ (ยกเว้นสีรถ) เสียหาย เช่น ความเสียหายจากเหตุน้ำท่วม ลมพายุพัดต้นไม้หรือกิ่งไม้หล่นใส่รถ เป็นต้น
- รถถูกหินหรือวัสดุใดๆ กระเด็นใส่
- รถเฉี่ยวกิ่งไม้ สายไฟฟ้า หรือลวดหนาม
- รถตกหลุมถนน
- รถครูดพื้นถนน
- รถเหยียบตะปู หรือวัสดุมีคม
- รถโดนละอองสีหรือวัสดุใดๆ
- รถถูกวัสดุในตัวรถกระแทกหรือกรีดโดน
- รถถูกสัตว์กัดแทะหรือขีดข่วน
กรณีรถได้รับความเสียหายจากการชน หรืออื่นๆ ที่ระบุคู่กรณีไม่ได้
- รถถูกรถคันอื่นเฉี่ยวชน/ชนแล้วหนี
- รถชนรถคันอื่นเสียหาย
- รถลื่นไถลตกข้างทางแต่ไม่พลิกคว่ำ
เคลมแบบไหนต้องจ่ายค่าดีดัก (Deductible)?
ค่าเสียหายส่วนแรกแบบสมัครใจจ่าย (Deductible) จะจ่ายตามที่ตกลงไว้กับบริษัทประกันภัยและมีระบุไว้ในกรมธรรม์กรณีที่แจ้งเคลมความเสียหายอุบัติเหตุที่เป็นฝ่ายผิด หรือไม่มีคู่กรณี โดยอาจเป็นความเสียหายส่วนแรกจ่ายการใช้รถผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ (ใช้รถผิดประเภท, ชื่อคนขับไม่ตรงกับที่ระบุไว้) การเคลมสีรอบคัน หรือการเปลี่ยนอะไหล่ที่มีการเสื่อมสภาพ
ค่าเสียหายส่วนแรก หรือค่า Excess ประกันคิดยังไง?
การคิดคำนวณค่าเสียหายส่วนแรกจะคิดตามจำนวนเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น 1,000 บาทต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่จำนวนชิ้นส่วนที่ได้รับความเสียหาย ตัวอย่างเช่น รถเฉี่ยวชน 1 ครั้ง เกิดความเสียหาย 2-3 จุด ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก 1,000 บาท แต่หากรถบุบเสียหายจากหินกระเด็นใส่ และมีรอยถลอกจากการครูดพื้นถนน ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก 2,000 บาท (2 เหตุการณ์)
เคลมประกันไม่เสียค่า Excess ทำอย่างไร?
ค่าเสียหายส่วนแรกทั้งแบบบังคับ (ค่าเอ็กเซส) หรือแบบสมัครใจ (ค่าดีดัก) ไม่ต้องจ่ายเมื่อแจ้งเคลมประกันจากการชนที่ทำให้รถความเสียหายในระดับบุบ แตก ร้าว อธิบายเหตุการณ์ได้ชัดเจน หรือระบุตัวคู่กรณีเพื่อให้บริษัทฯ ตามเรียกเก็บค่าเสียหายได้ และเป็นฝ่ายถูก เช่น ชนกับรถทั่วไป ชนเสาไฟฟ้าล้ม ชนคนวิ่งตัดหน้า หรือรถพลิกคว่ำ
ขออนุโลมค่า Excess ประกันได้ไหม?
สามารถแจ้งขออนุโลมจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก หรือค่าเอ็กเซส (Excess) ได้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ หรือความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามเงื่อนไขแต่ละบริษัทฯ โดยต้องเป็นลูกค้าประวัติดี ไม่เคยเคลมมาก่อน และต่อประกันกับบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องทำหนังสือขออนุโลมค่าเสียหายส่วนแรกไว้เป็นหลักฐานให้กับบริษัทฯ
ค่าเสียหายส่วนแรก หัก ณ ที่จ่ายไหม? ได้ใบเสร็จหรือเปล่า?
ค่าเสียหายส่วนแรก หรือ เงินค่าซ่อมรถยนต์เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ที่จ่ายให้แก่บริษัทรับประกัน เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าจ้างทำของตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร อันอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 (3%) ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ทำไมต้องซื้อประกันรถที่มีค่าเสียหายส่วนแรก? เหมาะกับใคร?
ประกันรถยนต์แบบมีค่าเสียหายส่วนแรก เหมาะกับผู้ที่มีความชำนาญในการขับขี่และขับขี่ด้วยความระมัดระวัง หรือผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้รถหรือขับรถ เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนน้อยกว่าปกติ และจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันจากค่าเสียหายส่วนแรกแบบสมัครใจที่ตกลงจ่ายกับบริษัทฯ หรือค่าดีดัก (Deductible) แต่หากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ทำประกันต้องความรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกตามที่กำหนด
แรบบิท แคร์ รวบรวมแบบประกันภัยรถยนต์ให้เลือกเปรียบเทียบออนไลน์ได้ครบจากทุกบริษัทฯ ชั้นนำ ทั้งแบบมีค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ลดเบี้ยสูงสุด 5,000 บาท หรือประกันชั้น 1 ราคาพิเศษเฉพาะคุณเท่านั้น พร้อมส่วนลดและบริการเสริมความมั่นใจแม้ไม่มีเหตุให้เรียกเคลม ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกว่า 10 รายการ ครบทั้งมีรถใช้ระหว่างซ่อม แจ้งเหตุฉุกเฉิน 24 ชม. หรือชดเชยค่าเดินทางกลับบ้าน โทรเลย. 1438 หรือ rabbitcare.com
Tawan มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 2 ปี เขียนด้านยานยนต์ ประกันยานยนต์ที่ Rabbit Care และ Asia Direct
มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย มีความเชี่ยวชาญด้านประกันรถยนต์และประกันชีวิต