บังโคลนสำคัญอย่างไรสำหรับรถยนต์? จำเป็นแค่ไหนที่ต้องมี
หลายครั้งที่อุปกรณ์รถยนต์บางชิ้นมักถูกมองว่าเป็นอุปกรณ์แต่งรถชนิดหนึ่งเท่านั้นจึงไม่ได้มีผู้ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร แต่แท้ที่จริงแล้วอุปกรณ์เหล่านั้นก็มีจุดประสงค์ในการผลิตเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับการขับขี่อยู่ไม่น้อยเลยเช่นกัน และวันนี้อุปกรณ์ที่เราจะมาพูดถึงกัน นั่นก็คือ บังโคลนรถยนต์ นั่นเอง มาดูกันว่าเจ้าสิ่งนี้จะมีความจำเป็นต่อรถยนต์ของเรามากน้อยแค่ไหน หรือมีกฎหมายควบคุมอะไรบ้างที่ควรรู้
บังโคลน ทําหน้าที่อะไร?
บังโคลน หรือ ยางกันโคลน สำหรับรถยนต์ในปัจจุบันนี้โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะไม่ค่อยเห็นการติดตั้งบังโคลนมากเท่าไรนัก บางคันก็อาจจะมีติดมากับตัวรถตั้งแต่ออกจากโรงงาน หรือบางรุ่นก็อาจจะไม่มี เพราะดีไซน์มาให้เป็นซุ้มล้อแบบพิเศษที่สามารถกันโคลนได้อยู่แล้ว หรืออาจจะติดตั้งบังโคลนรถ ไม่ได้เลย เช่น รถที่มีสเกิร์ตไม่ว่าจะเป็นแบบรอบคันหรือแค่สเกิร์ตหน้ากันชน เพราะสเกิร์ตจะยาวลงมาจากด้านล่างสุดของตัวรถค่อนข้างมาก และช่วยทำหน้าที่กันโคลนได้ในตัวอยู่แล้ว โดยการติดตั้งบังโคลนรถจะพบเห็นได้มากในรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ขนาดใหญ่หรือรถยนต์ที่ใช้งานหนัก เช่น รถบรรทุก หรือ รถกระบะ ซึ่งจะติดตั้งอยู่ในบริเวณด้านล่างของแก้มรถเป็นบังโคลนหน้าและบังโคลนหลังของล้อรถ
ประโยชน์ของบังโคลนรถ คือ ใช้ป้องกันไม่ให้โคลน, น้ำ หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ บนถนน เช่น เศษหิน เศษดิน กระเด็นขึ้นมาเปรอะเปื้อนหรือสร้างความเสียหายแก่ตัวรถ จะได้ไม่ต้องทำความสะอาดกันบ่อย ๆ อีกทั้งยังป้องกันการเกิดสนิมในชิ้นส่วนเปราะบางได้ และที่สำคัญคือเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านั้นกระเด็นไปโดนรถคันอื่น เพราะเมื่อรถวิ่งเร็ว ๆ น้ำหรือโคลนจะสาดกระจาย และหากมีสิ่งที่ติดอยู่ในดอกยางมันจะหลุดออกไปด้วยหลักการของพลังงานจลน์ ดังนั้นขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ยางจะหมุน และสามารถขว้างวัตถุเหล่านั้นไปยังรถคันอื่นหรือคนเดินถนนด้านหน้าได้ ถ้าเป็นมีของเหลวกระเด็นไปติดที่กระจกก็จะบดบังวิสัยทัศน์และถ้าเป็นของแข็งอาจทำให้กระจกแตกร้าวทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งนั้น
บังโคลนหน้าและบังโคลนหลังต่างกันยังไง?
บังโคลนหน้าและบังโคลนหลังไม่ได้หมายถึงบังโคลนของล้อหน้าและล้อหลัง แต่หมายถึงบังโคลนด้านหน้าและหลังของล้อ โดยหลักการทำงานคือ เมื่อรถยนต์เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ล้อรถทั้ง 4 ก็จะหมุนไปข้างหน้าแบบทวนเข็มนาฬิกา เมื่อขับผ่านสิ่งแปลกปลอมบนถนน ของเหลวจะกระจายไปทางด้านข้างและด้านหลังเป็นส่วนใหญ่ แต่หากไม่ได้ขับเร็วมากก็จะมีของเหลวกระเด็นมาด้านหน้าเล็กน้อย ในขณะที่ของแข็งจะถูกความเร็วล้อผลักให้กระเด็นไปด้านหลัง หรือถ้าติดอยู่ในล้อแล้วถูกบีบออกไปข้างหน้า ก็จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ดังนั้น บังโคลนหน้า จึงจะมีลักษณะโค้งรับไปกับล้อเพื่อให้ติดตั้งกับแก้มรถยนต์ไปง่าย ให้สิ่งแปลกปลอมที่มีความเร็วไม่มากกระเด็นลงสูงถนนอย่างนิ่มนวลที่สุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการขับเคลื่อนของล้อ ในขณะที่ บังโคลนหลัง ส่วนใหญ่จะมีหลักษณะเป็นแผ่นยาว ไม่มีความโค้งมน เนื่องจากต้องใช้ในการรองรับแรงการกระเด็นของน้ำหรือของแข็งที่มีแรงส่งมากจากแรงหมุนของล้อ ดังนั้นพื้นผิวเรียบจะช่วยหยุดยั้งการกระเด็นได้ทันที ไม่ให้กระเด็นไปถูกรถหรือผู้ใช้ถนนคนอื่นที่อยู่ด้านหลัง โดยรถ 1 คันสามารถติดบังโคลนหน้าและหลังทั้ง 4 ล้อเลยก็ได้ แต่จะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุเพราะรถที่ติดครบทั้ง 4 ล้อหน้า-หลังส่วนใหญ่จะเป็นรถ 10 ล้อ หรือรถบรรทุกของต่าง ๆ ที่อาจจะมีฝุ่นควันจากการบรรทุกหนักฟุ้งกระจายขึ้นบังทางได้มากกว่ารถยนต์ปกติจึงจำเป็นเป็นจะต้องป้องกันความเสียหายต่อรถคันอื่นมากเป็นพิเศษ สำหรับรถยนต์งานธรรมดานิยมติดแค่บังโคลนหน้าที่ล้อคู่หน้า และบังโคลนหลังที่ล้อคู่หลังหรือถ้าใครขับรถที่ต้องใช้งานมากขึ้นจะติดบังโคลนหลังที่ล้อทุกคู่เลยก็ได้ เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
ยางบังโคลนจำเป็นแค่ไหน? ไม่ติดผิดกฎหมายหรือไม่?
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าการไม่ติดบังโคลนไม่ได้ผิดข้อกฎหมายใดหากเป็นรถที่ออกแบบมาให้มีซุ้มล้อ (fender) อยู่แล้ว แต่การติดบังโคลนผิดเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายกระทรวง ซึ่งกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์รถ พ.ศ. 2551 ข้อ 3, 4, 5, 6 และ 7 ระบุให้รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้าง, รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง, รถยนต์บริการ, รถยนต์ส่วนบุคคล, รถยนต์รับจ้างสามล้อ, รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล, รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล, รถจักรยานยนต์สาธารณะ, รถพ่วงของรถจักรยานยนต์ และรถพ่วง ต้องมีและใช้ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถอย่างน้อยตามที่กำหนด และกำหนดไว้ว่าใน (14) บังโคลนที่ล้อทุกล้อจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่าขนาดของยางรถ อาจใช้ส่วนของตัวถังเป็นบังโคลนก็ได้ ในกรณีที่บังโคลนที่ติดมากับรถไม่เป็นไปตามที่กำหนดต้องทำการติดตั้งแผ่นบังโคลนให้เรียบร้อย โดยสัดส่วนของบังโคลนที่ถูกกฎหมายกำหนดโดยกรมการขนส่งทางบก จะต้องไม่ยื่นเกินขอบยางด้านนอกของกลุ่มเพลาท้ายไม่เกินด้านละ 15 เซนติเมตร ระยะห่างของตัวรถที่นับจากล้อซ้ายไปล้อขวา รวมถึงบังโคลนแล้วต้องกว้างไม่เกิน 255 เซนติเมตร ถ้าหากตรวจพบการติดตั้งบังโคลนไม่ตรงตามมาตรฐาน จะผิด พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 71 ฐานใช้รถที่มีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ถูกต้องตามที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท อีกทั้งยังอาจถูกระงับการใช้รถจนกว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จ
ทั้งนี้การควบคุมการติดตั้งบังโคลนรถล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก เพราะการไม่ติดบังโคลนเลยจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการกระเด็นของโคลนหรือหินจากแรงล้อรถไปถูกผู้ร่วมทางคนอื่น ๆ ทำให้เกิดความบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย ในขณะเดียวกันถ้าหากติดตั้งบังโคลนที่มีขนาดเกินมาตรฐานก็จะทำให้บดบังวิสัยทัศน์ของผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่น ๆ รวมถึงส่วนที่ยื่นออกมากจากตัวรถก็จะไปเกี่ยวกับตัวคน หรือสร้างความเสียหายให้กับรถยนต์ของคนอื่นได้เช่นกัน
เลือกซื้อบังโคลนให้เหมาะกับการใช้งาน
บังโคลนที่มีวางขายในท้องตลาดปัจจุบันนี้โดยหลักแล้วจะแบ่งออกตามวัสดุที่ใช้ผลิต คือ บังโคลนพลาสติก บังโคลนยาง บังโคลนโลหะ และบังโคลนเทอร์โมพลาสติก โดยจะมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป ดังนี้
- บังโคลนพลาสติก จะมีความเหนียว คืนรูปง่าย ติดตั้งง่ายและมียืดหยุ่นที่ดีพอใช้ แต่จะแข็งแรงน้อยกว่าประเภทอื่นอยู่มาก แต่เมื่อเกิดความเสียหายแตกหักสามารถหลอมด้วยความร้อนเพื่อซ่อมแซมได้ในพลาสติกบางชนิด
- บังโคลนยาง จุดเด่นคือมีความยืดหยุ่นสูง แต่จะมีความทนทานต่ออุณหภูมิน้อย หากร้อนเกินไปก็ละลาย หนาวเกินไปก็จะเสื่อมสภาพเปราะแตกง่าย อีกทั้งยังฉีกขาดจากของมีคมได้ง่ายกว่าแบบอื่น ๆ นิยมใช้กันมากในบังโคลนหลัง
- บังโคลนโลหะ แข็งแรงทนทานที่สุด และยังรับแรงกระแทกจากของแข็งที่โดนล้อความเร็วสูงได้ที่ดีสุด ได้รับความนิยมมากในกลุ่มรถยนต์ที่มีการใช้งานหนัก เช่น รถบรรทุก
- บังโคลนเทอร์โมพลาสติก แข็งแรงพอสมควรและค่อนข้างคงสภาพ ทนทานต่อความร้อน แรงเสียดสี สารเคมีและกรดได้ดีกว่าพลาสติกอื่น ๆ แต่ข้อเสียคือถ้าชำรุดเสียหาย จะหักแล้วหักเลย ซ่อมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่เท่านั้น
หลักในการติดตั้งบังโคลนต้องดูตามระยะความสูงจากขอบล่างของตัวรถถึงพื้น ควรจะติดให้สูงเหนือจากพื้นขึ้นมาระดับหนึ่งเพื่อให้ปลายกันชนหลังไม่ครูดกับพื้นจนสร้างความรำคาญให้ผู้ใช้รถได้
ท้ายที่สุดนี้ทุกคนรู้หรือไม่ว่าถ้าหากอุปกรณ์บังโคลนรถยนต์ชำรุดเสียหายก็สามารถเคลมประกันได้ ถ้าหากว่าเป็นประกันชั้น 1 และเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณีหรือระบุคู่กรณีไม่ได้ เพียงแต่จะมีค่าเอ็กเซส (Excess) หรือ ค่าเสียหายส่วนแรกแบบบังคับร่วมด้วย ตามแต่ละสถาบันฯ กำหนดไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุแบบใดกับอุปกรณ์ของรถยนต์ไม่ว่าจะชิ้นใดก็ตาม ประกันภัยรถยนต์ ก็จะมีความครอบคลุมช่วยเหลือ 24 ชั่วโมงเมื่อสมัครกับ แรบบิท แคร์ เราพร้อมดูแลการเปรียบเทียบราคาพร้อมโปรโมชันเบี้ยประกันราคาดีเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้รถทุกคน
ความคุ้มครองประกันรถยนต์