ค่าซ่อมรถมีหลักการประเมินราคาอย่างไร พร้อมรู้จักใบเสนอราคาซ่อมรถยนต์
หลายคนอาจจะเกิดคำถามสงสัยว่า โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเปิดอู่ซ่อมรถ หรือศูนย์ซ่อมรถนั้น มีหลักการประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์อย่างไร เพราะแต่ละแห่งจะประเมินราคาไม่เหมือนกัน วันนี้ แรบบิท แคร์ จะพาทุกคนไปรู้จักกับหลักการประเมินราคาซ่อมรถยนต์ต่าง ๆ กันว่ามีหลักการอย่างไร แล้วใบเสนอราคาซ่อมรถคืออะไร? ทำไมค่าซ่อมรถบางคนถึงได้แพง? ตามไปดูกันเลยดีกว่า
ค่าซ่อมรถ มีหลักการประเมินราคาอย่างไร?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การประเมินราคา คือ การกำหนดค่าซ่อมรถยนต์ที่เสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุซึ่งกระทำ โดยเจ้าหน้าที่ประเมินราคาค่าซ่อมรถที่จะทำการซ่อมตามหลักการคิดค่าแรงซ่อมรถ ดังนี้
● ความเสียหายที่แท้จริงของรถยนต์
คือ สภาพเสียหายโดยรวมของรถยนต์ทั้งหมดหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็น จุดที่ชน, ลักษณะการชน, ความรุนแรงการชน ผลกระทบจากการชน อย่างความเสียหายภายนอกรอบคันของรถยนต์ หรือแม้แต่ความเสียหายภายใน ไม่ว่าจะเป็น ระบบเครื่องยนต์, ระบบระบายความร้อน, ระบบปรับอากาศ, ระบบบังคับเลี้ยว, ระบบเบรค
● ความเสียหายที่เกิดผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ
ส่วนนี้จะเป็นความเสียหายต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ และอาจส่งผลต่อสภาพตัวรถในระยะยาว รวมไปถึงอาจเสียหายจนไปกระทบส่วนการทำงานอื่น ๆ ได้ เช่น รถยนต์ถูกชนด้านหน้า ส่งผลให้เกิดกระจกแตก หม้อน้ำพัง หรือ ถูกชนแล้วตัวเครื่องเกิดปัญหาต้องซ่อมแซมใหม่ เป็นต้น
● ส่วนที่ซ่อมได้โดยไม่ต้องเปลี่ยน, ซ่อมเป็นบางส่วน หรือต้องเปลี่ยน เนื่องจากซ่อมไม่ได้
หากเป็นความเสียหายเล็กน้อย อะไหล่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ตรวจเช็กสภาพแล้วยังสามารถใช้งานได้ต่อโดยไม่กระทบต่อความปลอดภัยในการขับขี่ บางส่วนอาจต้องได้รับการซ่อมแซมแต่เพียงเล็กน้อย บางครั้งอาจใช้อะไหล่เดิมหรืออะไหล่ใหม่ก็ได้
ถ้าเป็นส่วนที่เสียหายไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว จำเป็นจะต้องเปลี่ยนอะไหล่ หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ ส่วนมากจะเป็นส่วนที่เสียหายจนกระทับต่อการขับรถนั่นเอง เช่น กันชนที่หลุดออกมาด้วยแรงการชน, กระจกรถแตก, ยางรถยนต์แตก เป็นต้น
● ค่าอะไหล่ที่ต้องนำมาเปลี่ยน
โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับอู่หรือศูนย์แต่ละแห่งด้วย หากเจ้าของรถยนต์ต้องการอะไหล่แท้ หรือเป็นรถยนต์ในรุ่นที่หาอะไหล่ยาก ก็อาจทำให้ราคาถูกบวกเพิ่มเข้าไปด้วย
● ค่าแรงของช่าง รวมถึงกระบวนการซ่อมแซม
เป็นค่าใช้จ่ายของทางอู่ซ่อมรถ หรือทางศูนย์ซ่อมรถ หากต้องใช้ระยะเวลานานในการซ่อม ค่าแรงอาจจะต้องถูกบวกเพิ่มเข้าไปอีก หรือการซ่อมจำเป็นต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติมหรือต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ใช้ช่างที่เชี่ยวชาญเพิ่มเติมอีกหรือไม่ กระบวนการเหล่านี้จะถูกคิดเพิ่มเข้าไปในค่าซ่อมรถเช่นกัน
โดยสรุปแล้ว หลักการคิดค่าแรงซ่อมรถ พื้นฐานจะประเมินมาจากความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ อะไหล่ที่ต้องเปลี่ยน รวมไปถึงขั้นตอนการซ่อมแซม หากมีความซับซ้อนมาก ก็จำเป็นต้องใช้ช่างผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าซ่อมรถและถูกนำไปประเมินราคาในใบเสนอราคาซ่อมรถด้วยนั่นเอง
ใบเสนอราคาซ่อมรถยนต์ หรือ ใบคุมราคาซ่อมรถ คืออะไร?
ใบเสนอราคา, ใบคุมราคาซ่อมรถ หรือ ใบประเมินราคาซ่อมรถ คือ เอกสารที่ใช้เสนอราคาซ่อมรถยนต์ให้เจ้าของรถยนต์ได้พิจารณาก่อนนำรถยนต์ไปซ่อม ภายในใบรายการที่ประกอบไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมรถ โดยจะมี ค่าอะไหล่ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ พร้อมแนบรูปถ่ายเบื้องต้นความเสียหายของรถ เพื่อเสนอราคาในการซ่อมแซมรถ และให้ผู้ทำประกันนำไปยื่นต่อบริษัทประกันฯ
โดยใบเสนอราคา เคลมประกัน หรือใบคุมราคา ทางศูนย์บริการ หรืออู่ซ่อมรถจะเป็นผู้ประเมินราคาให้ แล้วผู้เอาประกันจึงนำใบเสนอราคาไปยื่นขออนุมัติวงเงินในการจัดซ่อมกับบริษัทประกันภัย
ในกรณีที่มีส่วนต่างในค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเปลี่ยนอะไหล่, ค่าซ่อมแซมที่ต้องใช้ช่างผู้เชี่ยวชาญ ในส่วนนี้ ผู้เอาประกันต้องสำรองเงินจ่ายค่าซ่อมรถไปก่อน จากนั้นจึงรวบรวมเอกสาร พร้อมรูปถ่ายขณะซ่อม และรูปถ่ายรถภายหลังการซ่อมเสร็จ มายื่นต่อบริษัทประกันฯ ที่ได้ทำประกันไว้ เพื่อเบิกเงินคืนค่าซ่อมรถได้ในลำดับถัดไป
ประโยชน์ของใบเสนอราคาซ่อมรถยนต์
สำหรับประโยชน์ของใบเสนอราคาซ่อมรถยนต์นั้น นอกเหนือจากการเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้บอกเคลมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันในกรณีที่ประกันเรียกค่าซ่อมเกินจริง หรือประกันไม่อนุมัติซ่อม นอกจากนี้ ใบประเมินราคาซ่อมรถยนต์ยังช่วยให้เจ้าของรถยนต์สามารถประเมินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจจะต้องจ่ายล่วงหน้าได้อีกด้วย
สาเหตุที่อาจทำให้ค่าซ่อมรถแพงกว่าปกติ
หลังจากที่ทุกคนได้เข้าใจถึงเรื่องใบเสนอราคาซ่อมรถ รวมไปถึงหลักการคิดค่าซ่อมรถกันไปแล้ว หลายคนก็อาจยังมีคำถามค้างคาใจอยู่ดีว่า ทำไมค่าซ่อมรถยนต์ของตนถึงมีราคาที่แพงกว่าปกติทั้งที่ปกติรถยนต์ของเราไม่ได้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงมาก โดยเราอาจตรวจเช็กได้จากความเป็นไปได้ ดังนี้
1. ตรวจเช็กรถฟรี อาจไม่ฟรีภายหลัง
อู่ซ่อมทั่วไปรวมถึงศูนย์บริการมักจะมีโปรโมชั่นพิเศษตรวจเช็กฟรีในช่วงเทศกาล ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 20-30 รายการ โดยบางแห่งจะใช้เทคนิคนี้ในการโน้มน้าวใจให้ทำการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนอะไหล่บางอย่างที่อาจจะยังไม่หมดสภาพออก ทำให้เราต้องเสียเงินค่าซ่อมรถในการเปลี่ยนอะไหล่เพิ่มเติม และในบางแห่งอาจมีการรื้ออะไหล่ต่าง ๆ จนรถไม่สามารถขับได้ตามปกติ และมีการเรียกเก็บค่าตรวจสอบ ค่าประกอบอะไหล่ต่าง ๆ ในภายหลังได้
2. มีการเพิ่มเติมราคาภายหลัง
เมื่อมีการตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายไปแล้ว บางครั้งอาจมีการโทรชี้แจ้งว่าต้องมีการซ่อมแซมบางส่วนเพิ่ม หรือจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่ ทำให้ราคาค่าซ่อมรถเพิ่มมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ผู้เป็นเจ้าของรถอาจจะต้องตัดสินใจประเมินอีกทีว่าการโทรมาแจ้งว่าต้องซ่อมแซมเพิ่มเติมนั้น จะตัดสินใจอย่างไร อะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนใกล้เสื่อมสภาพจริงหรือไม่ประกอบด้วย
3. ซ่อมแล้วไม่หายสักที ต้องวนซ่อมหลายรอบ
บางแห่งอาจมีการ “เลี้ยงไข้” หรือ อาการที่รถที่ต้องนำรถมาวนเวียนซ่อมแล้วซ่อมอีกโดยไม่มีทีท่าว่าจะหาย อาการอาจไม่ได้เกิดจากรถยนต์เสื่อมสภาพ แต่อาจเกิดจากช่างที่ต้องการกำไรเพิ่ม อาจมีการสับเปลี่ยนอะไหล่ หรือซ่อมให้ แต่ซ่อมแซมไม่เรียบร้อยจนทำให้คุณต้องนำรถกลับไปซ่อมบ่อย ๆ กายเป็นการเสียค่าซ่อมรถแบบไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น หากเห็นท่าไม่ดี รถยนต์ต้องซ่อมแซมด้วยปัญหาเดิม ๆ แนะนำให้ลองเปลี่ยนช่าง หรืออู่ หรือศูนย์ฯ อาจจะดีขึ้นก็ได้
สำหรับใครที่ไม่มั่นใจว่า ค่าซ่อมรถที่เราได้ในใบเสนอราคา หรือราคาที่ช่างบอก เป็นราคามาตราฐานหรือไม่ สามารถเช็กราคากลางค่าซ่อมรถยนต์ได้ที่ เว็บไซต์เช็คราคาค่าซ่อมรถยนต์ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย คลิกเลย!
สิ่งที่ต้องทำเมื่อเข้าอู่ซ่อมรถยนต์
มือใหม่ที่เพิ่งเคยนำรถเข้าซ่อม สามารถดำเนินการต่าง ๆ หรือมีสิ่งที่ต้องทำเมื่อนำซ่อมรถยนต์เข้าอู่หรือศูนย์ซ่อม ดังนี้
1. เตรียมเอกสารและรถให้พร้อม
โดยทั่วไป การซ่อมรถยนต์จะต้องนำรถเข้าอู่ทั้งหมดด้วยกัน 2 รอบ โดยรอบแรกจะเป็นการยื่นเอกสารเพื่อตรวจสอบสภาพรถ โดยทั่วไปจะใช้เวลา 3-5 วัน ในการตรวจสภาพรถและทำใบเสนอราคาค่าซ่อมรถให้กับคุณ ซึ่งหลังจากทุกอย่างเรียบร้อย จะมีการนัดวันซ่อมจริงในครั้งต่อไป แรบบิท แคร์ แนะนำว่าให้นำสิ่งของมีค่า หรือเอกสารสำคัญต่าง ๆ ในรถเก็บเอาไว้กับตัวให้เรียบร้อยก่อนนำรถไปตรวจสภาพและซ่อมเสมอ
หลังจากนั้น ให้เตรียมเอกสารที่จำเป็นจะต้องใช้ หลัก ๆ จะมีดังนี้
- บัตรประชาชน
- ใบขับขี่
- ทะเบียนรถยนต์
- กรมธรรม์ประกันภัย
- ใบรับรองความเสียหาย หรือ ใบเคลม
2. ใบรับรถต้องห้ามลืม
หลังซ่อมรถยนต์ ทางอู่หรือศูนย์ที่ให้บริการจะต้องให้ “ใบรับรถ” ด้วย เพราะถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ยืนยัน ทั้งเรื่องการตรวจเช็กรายการส่วนที่พังและต้องซ่อม รวมทั้งยืนยันเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นได้ เช่น อาการเสียหรือส่วนที่ต้องการซ่อม, เลขไมล์, ปริมาณน้ำมันคงเหลือ, จำนวนวันคร่าว ๆ ที่ต้องทำการซ่อม, รอยตำหนิรอบคัน ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถ้าไม่มีก็ต้องระบุให้ชัดเจนด้วย
ที่สำคัญ อย่าลืมนำใบรับรถมาด้วยในวันที่ซ่อมเสร็จ และเก็บใบเสร็จให้ดี เพื่อเป็นสิ่งยืนยันการรับประกันงานซ่อมจากทางอู่ในกรณีพบความไม่เรียบร้อยของการซ่อมในภายหลัง โดยใบเสร็จต้องระบุไว้อย่างละเอียด ว่าทำการซ่อมรถยนต์หรือเปลี่ยนอะไหล่อะไรไปบ้าง
3. เช็กรถก่อนเซ็นรับ
เมื่อถึงวันที่ต้องรับรถที่ซ่อมกลับ นอกจากดูในส่วนที่ซ่อมแล้ว แนะนำให้คุณตรวจเช็กสภาพต่าง ๆ ของรถทั้งภายในและภายนอกให้เรียบร้อยก่อนการเซ็นรับรถเสมอ เช่น รอบคันก็ต้องไม่มีรอยเสียหายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา, เลขไมล์ต้องไม่เกินจากเดิมมากไป เป็นต้น หากช่างแจ้งว่ามีการนำรถยนต์ไปขับเพื่อทดสอบประสิทธิภาพหลังซ่อมรถยนต์ ตัวเลขไมล์ที่เพิ่มขึ้นควรจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 กม.
หากดูแล้วยังซ่อมรถยนต์ไม่เรียบร้อยดี คุณยังสามารถให้อู่หรือศูนย์ฯจัดการต่อให้เรียบร้อยได้ แต่ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย ก็เซ็นรับรถได้เลย
ค่าซ่อมรถ ลดหย่อนภาษีได้ไหม?
ใครที่จำเป็นต้องซ่อมรถ เคลมค่าประกันในช่วงนี้ก็เบาใจได้เลย เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice เพื่อให้เจ้าของรถสามารถนำค่าซ่อมรถสามารถนำมาลดหย่อนได้!
ดังนั้น ในการเคลมประกันค่าซ่อมรถ อย่าลืมขอใบกำกับภาษีกันด้วยล่ะ!
และทั้งหมดนี้คือหลักการประเมินค่าซ่อมรถยนต์ต่าง ๆ สำหรับใครกำลังมองหาประกันรถยนต์ ต้องนี่เลย แรบบิท แคร์ นอกจากประกันรถจากหลากหลายแบรนด์ให้คุณได้เลือกแล้ว ยังมีบริการตรวจเช็กอู่และศูนย์ซ่อมรถ ให้คุณอุ่นใจได้ตลอดการขับขี่ มั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองอย่างแน่นอน!
ค่าซ่อมรถ แต่ละยี่ห้อ แตกต่างกันอย่างไร
เว็บไซต์แบไต๋ไฮเทคได้รายงานข้อมูลแบบสำรวจของ Consumer Reports ในปี 2023 พบว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและซ่อมแซมรถยนต์เฉลี่ยของแต่ละแบรนด์มีความแตกต่างกัน โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายของเหลว เช่น น้ำมันเครื่อง ค่าเปลี่ยนยาง และการซ่อมแซมยิบย่อยต่างๆ ตลอดทั้งปี แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุบัติเหตุและการเฉี่ยวชน
แบรนด์ | 1-5 ปีแรก (ดอลล่าร์สหรัฐ) | 5 ปีหลัง (ดอลล่าร์สหรัฐ) | รวม 10 ปี (ดอลล่าร์สหรัฐ) |
---|---|---|---|
Tesla | 580 | 3,455 | 4,035 |
Toyota | 1,125 | 3,775 | 4,900 |
Ford | 1,100 | 4,300 | 5,400 |
Hyundai | 1,140 | 4,500 | 5,640 |
Nissan | 1,300 | 4,400 | 5,700 |
Mazda | 1,400 | 4,400 | 5,800 |
Honda | 1,435 | 4,400 | 5,835 |
KIA | 1,450 | 4,400 | 5,850 |
Jeep | 1,100 | 5,300 | 6,400 |
Lexus | 1,750 | 5,000 | 6,750 |
- ช่วง 1-5 ปีแรก : ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงจะไม่มาก เนื่องจากรถใหม่มักได้รับการบริการหลังขายฟรีจากผู้ผลิต และในช่วงนี้รถยังไม่พบปัญหาจากการใช้งานมากนัก
- ช่วง 5 ปีหลัง : ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากรถยนต์เริ่มมีการสึกหรอและเสื่อมสภาพตามการใช้งาน
- แบรนด์ที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดตลอด 10 ปี : รถยนต์ของ Tesla ซึ่งเป็นรถ EV มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำที่สุด เนื่องจากเทคโนโลยีในการประกอบรถที่ไม่ซับซ้อน และไม่มีระบบที่ต้องการการบำรุงรักษามากเหมือนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แบรนด์นี้มีต้นทุนในการบำรุงรักษาต่ำกว่ารถแบรนด์ยุโรปถึง 3-5 เท่า
หมายเหตุ
- ตัวเลขค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ยและมาจากกลุ่มผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา
- ข้อมูลนี้ช่วยให้ผู้ใช้รถเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถยนต์ในระยะยาว
- นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้นและช่วยในการตัดสินใจเมื่อต้องการซื้อรถใหม่ในอนาคต
การศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเลือกซื้อรถยนต์ไม่ใช่เพียงแค่พิจารณาราคาซื้อครั้งแรกเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาในระยะยาวอีกด้วย
5 อะไหล่รถยนต์ที่ค่าซ่อมรถแพงที่สุด
อะไหล่รถยนต์บางชิ้นมีค่าซ่อมแซมและเปลี่ยนที่สูงมาก เนื่องจากความซับซ้อนในการทำงานและความสำคัญต่อการทำงานของรถยนต์ ต่อไปนี้คือ 5 อะไหล่รถยนต์ที่มีค่าซ่อมแพงที่สุด:
1. เครื่องยนต์ (Engine)
เครื่องยนต์เป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ ค่าซ่อมหรือ เปลี่ยนเครื่องยนต์ ใหม่เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกิดความเสียหายใหญ่ เช่น เครื่องยนต์พังหรือต้องการการซ่อมแซมชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ค่าซ่อมอาจสูงถึงหลักแสนบาทขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของรถยนต์
2. ระบบเกียร์ (Transmission)
ระบบเกียร์เป็นชิ้นส่วนที่ซับซ้อนและมีราคาแพงมากในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ โดยเฉพาะในรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมระบบเกียร์อาจมีตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท หากต้องเปลี่ยนทั้งระบบ
3. ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU - Engine Control Unit)
ECU เป็นสมองของรถยนต์ที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในรถยนต์ การซ่อมหรือเปลี่ยน ECU เป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงและมีค่าใช้จ่ายแพงมาก ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยน ECU อาจอยู่ในช่วงหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทขึ้นอยู่กับรุ่นรถ
4. ระบบช่วงล่าง (Suspension System)
ระบบช่วงล่างประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายอย่าง เช่น โช้คอัพ สปริง ลูกหมาก และกันโคลง ซึ่งมีความซับซ้อนและทำงานร่วมกันอย่างละเอียดอ่อน การซ่อมแซมหรือเปลี่ยนระบบช่วงล่าง โดยเฉพาะในรถยนต์ที่มีระบบช่วงล่างแบบปรับอัตโนมัติหรือระบบช่วงล่างไฮดรอลิก มักมีค่าใช้จ่ายสูง
5. ระบบเบรก (Brake System)
ระบบเบรกเป็นส่วนที่สำคัญและต้องการความปลอดภัยสูง หากมีปัญหาในส่วนของหม้อลมเบรก, จานเบรก หรือระบบเบรก ABS การซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่เหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะในรถยนต์หรูหรือรถยนต์ที่ใช้ระบบเบรกแบบพิเศษ
การดูแลรักษาและการตรวจเช็กอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเสียหายและประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเหล่านี้ได้
ค่าแรงในค่าซ่อมรถ คืออะไร คิดอย่างไร
ค่าแรงในค่าซ่อมรถคือ ค่าบริการที่ช่างหรืออู่ซ่อมรถเรียกเก็บสำหรับการทำงานซ่อมแซมรถยนต์ของคุณ มันไม่รวมค่าอะไหล่หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อม ซึ่งจะแยกต่างหาก ค่าแรงนี้จะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของงาน ระยะเวลาที่ใช้ และความชำนาญของช่าง โดยบางอู่จะคิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมงหรือคิดเป็นงานๆ ไปตามความยากง่ายของการซ่อมนั้นๆ
การคิดค่าแรงซ่อมรถมักขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของการซ่อมแซมที่ต้องการ ระยะเวลาที่ใช้ในการซ่อม และอัตราค่าบริการของช่างหรืออู่ซ่อมรถแต่ละแห่ง โดยทั่วไป ค่าแรงซ่อมรถจะคิดเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นงานเสร็จตามที่ตกลงกันไว้ในตอนต้น นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ค่าอะไหล่หรือค่าบริการเสริมที่อาจมีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ค่าแรงซ่อมรถ ประกันแต่ละชั้นคุ้มครองอย่างไรบ้าง
การคุ้มครองของประกันรถยนต์แต่ละชั้นจะครอบคลุมค่าแรงซ่อมรถยนต์ดังนี้
- ประกันชั้น 1 : คุ้มครองเต็มรูปแบบ ครอบคลุมค่าแรงซ่อมรถจากอุบัติเหตุทุกกรณี ทั้งกรณีรถชน รถพลิกคว่ำ และไม่มีคู่กรณี เช่น ชนเสาไฟ รวมทั้งเลือกซ่อมได้ทั้งที่อู่ในเครือหรือศูนย์บริการตามเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันรถยนต์ เป็นประกันภัยชั้นเดียวที่มีตัวเลือกทั้งสอง ส่วนชั้นอื่นมักซ่อมเฉพาะอู่ในเครือ
- ประกันชั้น 2+ : คุ้มครองเฉพาะรถชนคู่กรณี โดยค่าแรงซ่อมครอบคลุมเมื่อชนกับยานพาหนะทางบก และคู่กรณีต้องเป็นรถที่มีทะเบียน ไม่คุ้มครองกรณีไม่มีคู่กรณีหรือภัยธรรมชาติ
- ประกันชั้น 2 : คุ้มครองค่าแรงซ่อมเฉพาะรถคู่กรณี ไม่ครอบคลุมรถเรา
- ประกันชั้น 3+ : ค่าแรงซ่อมรถเราจะครอบคลุมเมื่อชนกับรถคู่กรณีเท่านั้นโดยมีเงื่อนไขเหมือนชั้น 2+
- ประกันชั้น 3 : ค่าแรงซ่อมครอบคลุมเฉพาะรถคู่กรณีเท่านั้น รถเราไม่ได้รับการคุ้มครอง
ความคุ้มครองประกันรถยนต์