ค่าสินไหมทดแทน คือ อะไร?
ค่าสินไหมทดแทน คือ การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งสามารถคำนวณเป็นเงิน รวมไปถึงความเสียหายที่ไม่สามารถคำนวณเป็นเงิน หรือทำให้เสียสิทธิ์ก็สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทน รถชน ได้ทั้งสิ้น เบื้องต้นสามารถเรียกร้องกับได้ มีอยู่ 9 ข้อ คือ
- ค่าปลงศพ
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย
- ค่าขาดไร้อุปการะ
- ค่าชดใช้การขาดการขาดงานของบุคคลภายนอก
- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นกรณีเสียชีวิต เช่น ค่าพิมพ์หนังสืองานศพ, ค่าส่งศพกลับภูมิลำเนา เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายในอันตนต้องเสียไป (กรณีความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย) เช่น ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าพยาบาลในอนาคตอีกด้วย
- ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงาน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
- ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน
สำหรับค่าสินไหมทดแทน คือ สามารถเรียกร้องได้จากประกันภาคบังคับ (พ.ร.บ.รถยนต์) และประกันภาคสมัครใจที่เจ้าของรถได้ทำเอาไว้ ในกรณีที่ไม่ได้ทำประกันภาคสมัครใจไว้ จะสามารถเบิกเคลมค่าสินไหมทดแทนได้จากแค่ พ.ร.บ. รถยนต์ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แล้วแบบนี้ประกันรถภาคสมัครใจสามารถเบิกเคลมค่าสินไหมทดแทน รถชน ได้มากน้อยแค่ไหน?
สำหรับการเบิกเคลมค่าสินไหมทดแทน รถชน กับทางประกันรถภาคสมัครใจนั้น เบื้องต้นจะสามารถเบิกเคลมเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเบิก พ.ร.บ.รถยนต์ ได้ ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล ในส่วนที่เกินจากวงเงินของ พ.ร.บ. รถยนต์ จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ค่าทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บ จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ค่าชดเชยจากสินทรัพย์ที่เสียหรือสูญหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ค่าชดเชยความเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นขณะรักษาตัว เช่น ค่าขาดโอกาสในการเดินทางหรือการทำงาน, ค่าขาดไร้อุปการะ, ค่าชดเชยรายได้, ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ค่าประกันตัวผู้ขับขี่ในกรณีที่ถูกควบคุมตัวจากความผิด
- ค่าซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันที่เอาประกัน ไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือไม่ก็ตาม
ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมและวงเงินคุ้มครองนั้น สามารถเช็กได้กับกรมธรรม์ประกันรถที่ได้ทำเอาไว้ ทั้งความคุ้มครอง และวงเงินที่สามารถเคลมได้ ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับจำนวนเบี้ยประกันที่ผู้ทำเลือกจ่ายไปด้วย
ตัวอย่าง คุณแคร์เลือกทำประกันรถชั้น 1 ด้วยทุนประกัน 650,000 บาท หากคุณแคร์เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน หลังจากดำเนินการเบิกเคลมค่าสินไหมทดแทน จาก พ.รบ. รถยนต์ไปแล้ว เหลือส่วนเกินค่ารักษาพยาบาลอีก 4,000 บาท ก็สามารถเบิกได้จากประกันรถชั้น 1 ที่ทำเอาไว้ได้
ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง หากต้องการเบิกเคลมค่าสินไหมทดแทน?
สำหรับเอกสารที่จำเป็นและสำคัญในการเบิกเคลมค่าชดเชย ค่าสินไหมทดแทน รถชน อาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่ต้องการเบิกและบริษัทประกัน แต่หลัก ๆ จะใช้เอกสาร ดังนี้
- แบบฟอร์มการเรียกร้องสินไหมทดแทนของบริษัทฯที่ทำประกันเอาไว้
- ใบเสร็จรับเงินฉบับจริง และสำเนา ไม่ว่าจะเป็นจากสถานพยาบาล หรืออู่ซ่อมรถ แจ้งรายการค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดและมีลายเซ็นรับรอง
- สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ (กรณีอุบัติเหตุ) ซึ่งต้องมีการรับรองสำเนาจากตำรวจ
- ใบรับรองแพทย์ที่ระบุวันที่นอนโรงพยาบาล อาการ บริเวณที่บาดเจ็บ และสาเหตุ (ในกรณีที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ)
- บัตรประชาชนของผู้เอาประกันภัยและผู้รับผลประโยชน์พร้อมสำเนา
- ทะเบียนบ้านต้นฉบับของผู้เอาประกันภัย และผู้รับผลประโยชน์
- สำเนาทะเบียนรถ (กรณีอุบัติเหตุ)
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
- เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพ (ในกรณีที่เสียชีวิต), ภาพถ่ายอุบัติเหตุ, สำเนาสูติบัตร, สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อนามสกุล (ในกรณีที่ผู้ทำประกันมีการเปลีย่นชื่อ-สกุล) เป็นต้น
สรุปแล้ว ค่าสินไหมทดแทนต่าง ๆ ที่จะได้รับเมื่อเกิดอุบัติเหตุนั้นมาจากหลายส่วน แรกสุด แรบบิท แคร์ จะสามารถเบิกค่าสินไหมทดแทนเต่าง ๆ จาก พ.ร.บ. รถยนต์เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยเบิกส่วนต่างที่เหลือจากประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจต่าง ๆ ที่ได้ทำเอาไว้ เช่น ประกันรถยนต์ชั้น 1 , ประกันรถชั้น 2+ , ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 เป็นต้น
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถคืออะไร?
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คือ เงินค่าชดเชยที่บริษัทประกันฯของฝ่ายที่ผิด จะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายที่เป็นฝ่ายถูกจากการเสียประโยชน์ที่ไม่มีรถใช้ในระหว่างการซ่อม ซึ่งเป็นสิทธิ์ของผู้ที่เป็นฝ่ายถูกต้องเป็นคนเรียกร้องสิทธิ์ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกับบริษัทประกันฯ ของผู้ที่เป็นฝ่ายผิดด้วยตัวเอง และฝ่ายที่ผิดต้องมีการทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ และมีคู่กรณีที่เป็นยานพาหนะทางบก (รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์) จึงจะเรียกร้องค่าชดเชยในส่วนนี้ได้ ส่วนฝ่ายถูกจะต้องมีใบขับขี่อย่างถูกต้องและทำประกันรถยนต์ไว้ด้วย จึงจะสามารถเริ่มกระบวนการได้
สำหรับความแตกต่างของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถและค่าสินไหมทดแทน รถชน แตกต่างตรงที่ ค่าสินไหมทดแทนเบิกเคลมได้ทั้ง พ.ร.บ.รถยนต์ และประกันรถภาคสมัครใจ และสามารถเบิกเคลมได้แม้ผู้ทำประกันเป็นฝ่ายผิด แต่ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจะเรียกร้องได้ ในกรณีที่ผู้เรียกร้องเป็นฝ่ายถูก และฝั่งผิดต้องมีประกันรถภาคสมัครใจเท่านั้น
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ มีอัตราขั้นต่ำของการเรียกค่าชดใช้ ตามประกาศ คปภ. ประจำปี 2565 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยเจรจาจ่ายในจำนวนที่ต่ำเกินไป ดังนี้
- รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
- รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
- รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
- รถประเภทอื่น ๆ เช่น รถจักรยานยนต์ ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ โดยพิจารณาหลักฐานเป็นกรณีไป
หากต้องการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจะต้องทำอย่างไรบ้าง?
สำหรับขั้นตอนในการเบิกเคลมสามารถทำได้ ดังนี้
เตรียมเอกสารที่สำคัญในการเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ไม่ว่าจะเป็น ใบเสนอรายการความเสียหายของรถยนต์, ใบเคลม (ใบรองรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน), สำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์, สำเนาทะเบียนรถยนต์, สำเนาใบขับขี่รถยนต์, สำเนาบัตรประชาชน, ใบรับรถ หรือหนังสือส่งมอบรถเสร็จ, รูปถ่ายตอนซ่อม, รูปถ่ายความเสียหาย, หนังสือเรียกร้องสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม และสำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารของผู้เอาประกัน
ติดต่อบริษัทประกันภัยของคู่กรณี (ฝ่ายผิด) จากนั้นให้ยืนยันคำเรียกร้อง ในช่วงเวลาที่รถของคุณกำลังซ่อมอยู่ เมื่อบริษัทของคู่กรณีแจ้งเอกสารที่ต้องการมา ให้คุณนำเอกสารต่าง ๆ จัดส่งไปยังบริษัทของคู่กรณีเพื่อดำเนินการต่อ
รอบริษัทคู่กรณีติดต่อกลับมา เนื่องจากต้องเช็กข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าต้องชดเชยให้กับคุณเท่าไร ทำการประเมิน และเจรจาต่อรอง หลังจากตกลงกันเสร็จเรียบร้อย ก็รอรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ภายใน 7 วัน