เวียนเทียนวันไหนได้บ้าง สำคัญอย่างไร ของที่ต้องเตรียมและการเวียนเทียนที่ถูกวิธี
‘เวียนเทียน’ กิจกรรมหรือพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างคุ้นเคยกันดี โดยจะมีการเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญภายในวัด เช่น วิหาร พระอุโบสถ เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นจำนวน 3 รอบ ช่วยในการตระหนักรู้ในเรื่องสังสารวัฏ(วัฏสงสาร) การเวียนว่ายตายเกิด ว่าชีวิตเรานั้นกำเนิดมาก็ดับไปวนเวียนเหมือนกับวงล้อ
พิธีเวียนเทียน จัดวันไหนบ้าง?
แน่นอนว่าพุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกคนย่อมต้องเคยผ่านประสบการณ์การเวียนเทียนมาก่อน แต่หลายคนอาจยังคงสับสนไม่แน่ใจว่าพิธี เวียนเทียน จะมีขึ้นในวันไหนบ้าง แรบบิท แคร์ จึงรวบรวมวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่นิยมเวียนเทียนมาไว้ให้ ใครอยากร่วมจะได้เตรียมตัวกันไว้ เผื่ออยากทำบุญรอบต่อไปไม่พลาดแน่นอน!
วันมาฆบูชา(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
มาฆบูชาวันสำคัญที่พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปมาชุมนุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เกิดเหตุจาตุรงคสันนิบาต และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งในทางพุทธศาสนาถือเป็นหัวใจสำคัญ วันมาฆบูชาจึงนับว่าเป็นวันที่สำคัญมากอีกวันหนึ่งของชาวพุทธที่มีกิจกรรมทางพุทธศาสนาให้ทำมากมาย
วันวิสาขบูชา(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)
วิสาขบูชา อีกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งถือเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยคณะกรรมาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้มีการพิจารณาและลงมติกันให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกด้วยเหตุผลว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงมีเมตตาและเป็นมหาบุรุษของเหล่ามวลมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ยกเลิกระบอบชนชั้นวรรณะหรือเลิกทาสโดยไม่มีการนองเลือด
วันอาสาฬหบูชา(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8)
อาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาเป็นครั้งแรกและทรงทำการปฐมเทศนา เทศน์กัณฑ์แรก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเพื่อเป็นการโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งในวันนี้ก็ได้มีสาวกรูปแรกที่ได้บรรลุธรรมและบวชเป็นพระสงฆ์รูปแรก รวมถึงในด้านพระพุทธศาสนานับว่าวันอาสาฬหบูชานี้เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงถือเป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่งเลยทีเดียว
วันอัฐมีบูชา(แรม 8 ค่ำ เดือน 6)
วันอัฐมีบูชาหรือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากปรินิพพานได้ 8 วัน ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกหนึ่งวันแต่จะมีความแตกต่างกับ 3 วันก่อนหน้าตรงที่อาจไม่ได้มีการจัดงานพิธีอย่างแพร่หลายทั่วทุกวัด จะมีเพียงบางวัด บางพื้นที่เท่านั้น
วันเข้าพรรษา-ออกพรรษา เวียนเทียนหรือไม่ ?
สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่าหากโดยปกติแล้วจะนิยมเวียนเทียนกันในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันอัฐมีบูชา แล้ววันเข้าพรรษา-ออกพรรษาล่ะ ไม่มีการทำพิธีเวียนเทียนหรือ? คำตอบคือทั้ง 2 วันนี้จะไม่มีการทำพิธีดังกล่าวแต่อย่างใด
แต่จะมีพิธี เวียนเทียนก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน หรือก็คือในวันอาสาฬหบูชา ส่วนในวันออกพรรษาจะมีการทำบุญตักบาตรเทโว บุญเทศกาลบาตรเทโว หรือ บาตรเทโวโรหณะ ซึ่งเป็นเทศกาลทำบุญครั้งใหญ่ เพื่อเป็นการรำลึกเหตุการณ์สำคัญซึ่งถูกบันทึกไว้ในพุทธประวัติว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก
จะสังเกตได้ว่าวันที่มีการเวียนเทียนมักจะเป็นวันที่มีความสำคัญมากต่อพระพุทธศาสนา และหลังจากทราบไปแล้วว่าจะสามารถเวียนเทียน วันไหนบ้าง ต่อไปก็ต้องรู้ถึงความสำคัญของการทำพุทธศาสนพิธีดังกล่าว ของที่ต้องใช้หรือต้องจัดเตรียม เช่น ดอกไม้เวียนเทียน รวมถึงวิธีการเวียนเทียนอย่างถูกต้องเพื่อที่จะได้ทำบุญได้อย่างลึกถึงแก่นมากขึ้นกันนั่นเอง
ความสำคัญของการเวียนเทียน
หากจะพูดถึงความสำคัญของการเวียนเทียนซึ่งจะมีพิธีขึ้นใน 4 วันพิเศษหลัก ๆ ทางพุทธศาสนาอย่าง วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันอัฐมีบูชาแล้ว เป้าหมายหลักของการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนานี้นั้นมีขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้ระลึกถึงอำนาจบารมีของคุณพระศรีรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตระหนักรู้และเข้าใจถึงการหมุนเวียนไปของวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิด
โดยการเวียนเทียนในประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากทางอินเดียซึ่งได้นำการทำพิธีดังกล่าวเข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนาซึ่งปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระรัตนตรัยด้วยการทำพิธี ดังกล่าวอยู่ในพระไตรปิฎก จากนั้นได้มีการนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของไทยซึ่งมีการยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมถึงมีข้อความในพงศาวดารยืนยันอีกด้วย
ของที่ต้องใช้ในการเวียนเทียน
ในการเวียนเทียนนั้นของที่ต้องใช้หรือจัดเตรียมสำหรับการเข้าร่วมพิธี เวียนเทียนเมื่อถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนานั้นมีทั้งหมด 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่
- ธูป 3 ดอก
- เทียน 1 เล่ม
- ดอกไม้เวียนเทียน 1 คู่
(เช่น ดอกบัว ดอกกล้วยไม้ ดอกดาวเรือง พวงมาลัยถวายพระ)
วิธีการเวียนเทียนอย่างถูกวิธี
ไม่ว่าจะมีจิตศรัทธาแรงกล้าหรือความตั้งใจในการร่วมทำบุญเวียนเทียนมากเพียงไหนก็คงไม่ดีนักหากทำอย่างไม่ถูกวิธี ก่อนไปร่วมพิธี เวียนเทียนทั้งในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา หรือวันอัฐมีบูชาจึงควรเตรียมตัวให้ดีทำให้ถูกต้องตามประเพณีเพื่อที่จะได้รับบุญกันแบบเต็ม ๆ
- ทำการชำระร่างกายและจิตใจ : ก่อนไปเวียนเทียนควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส
- เตรียมของบูชา : เตรียมธูป-เทียน ดอกไม้เวียนเทียนตามหัวข้อก่อนหน้าที่ได้กล่าวไป
- ไหว้พระประธานเสริมความสิริมงคล : เมื่อไปถึงวัดอันดับแรกให้เข้าไปในโบสถ์เพื่อไหว้สักการะพระประธานให้เรียบร้อยก่อนจะออกมาเวียนเทียน
- เริ่มเวียนเทียน : จุดธูปเทียนที่เตรียมมา นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้เวียนเทียน พนมมือเดินวนขวารอบโบสถ์จำนวน 3 รอบ ขณะนั้นให้ตั้งจิตสวดมนต์รวมถึงระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยไปด้วย
- วางดอกไม้ธูปเทียน : หลังจากเวียนเทียนครบ 3 รอบ ให้นำธูป-เทียน และดอกไม้เวียนเทียนไปวางไปบริเวณจุดบูชาที่ทางวัดจัดเตรียมไว้
บทสวดมนต์สำหรับใช้ระหว่างเวียนเทียน
อย่างที่ทราบกันไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้าว่าในระหว่างเวียนเทียนแต่ละรอบนั้นเราจะต้องมีการสวดมนต์พร้อมระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย แรบบิท แคร์ จึงเตรียมบทสวดมนต์ของแต่ละรอบมาให้ทุกคนนำไปใช้ เปิดโพยดูตอนเวียนเทียนกันได้หรือหากใครสามารถท่องจำได้ก็เยี่ยมเลย
เวียนเทียนรอบที่ 1 ระลึกถึงพระพุทธคุณ
“อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร
ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”
เวียนเทียนรอบที่ 2 ระลึกถึงพระธรรมคุณ
“สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก
เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ”
เวียนเทียนรอบที่ 3 ระลึกถึงพระสังฆคุณ
“สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย
ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชลีกะระณีโย
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ”
การแต่งกายไปเวียนเทียน
อีกสิ่งที่ที่มีความจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการไปเวียนเทียน คือ การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ มิดชิดทั้งชาย-หญิง เลือกสีเสื้อผ้าสุภาพเรียบร้อย ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป เป็นการให้เกียรติสถานที่และให้เกียรติวันสำคัญทางพุทธศาสนา
ผู้ชาย : ควรสวมเสื้อสุภาพ-กางเกงขายาว(หากใส่กางเกงขาสั้นควรเลือกที่มีความยาวคลุมเข่า)
ผู้หญิง : ควรสวมใส่เสื้อสุภาพ(งดเว้นแขนกุด สายเดี่ยว เอวลอย) เลือกใส่กางเกง-กระโปรงยาว
เวียนเทียนที่ไหนได้บ้าง
สำหรับคนที่ต้องการเข้าร่วมการเวียนเทียนแต่ไม่รู้ต้องไปที่ไหน โดยปกติแล้วใน 3 ใน 4 วันสำคัญที่ได้กล่าวไป คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา จะมีการจัดงานกันอยู่ทุกวัดทั่วไป สามารถเลือกไปร่วมพิธี เวียนเทียนที่วัดในชุมชน หรือวัดใกล้บ้านได้ จะมีวันอัฐมีบูชาที่อาจต้องเช็กแต่ละวัดเป็นกรณีไป เพราะไม่ได้มีการจัดงานอย่างแพร่หลายเท่าอีก 3 วันที่เหลือนั่นเอง
นอกจากนี้ด้วยสถานการณ์การจราจรที่ค่อนข้างติดขัดทำให้การเดินทางลำบาก รวมถึงสถานการณ์ Covid-19 ช่วงที่ผ่านมานั้นทำให้หลายคนนิยมทำบุญออนไลน์หรือกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ออนไลน์กันมากขึ้น รวมถึงการเวียนเทียนด้วยเช่นกัน โดยหลายเว็บไซต์ก็จะมีการเวียนเทียนออนไลน์ โดยให้เลือกทั้งวัด เลือกดอกไม้เวียนเทียน คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนที่จะใช้ในการเวียนเทียน ออนไลน์ รวมถึงให้เขียนคำอธิษฐานด้วยนั่นเอง
ข้อควรระวังเมื่อไปเวียนเทียน
- ไม่แต่งตัวโป๊
- อย่าลืมสำรวมกิริยา กาย วาจา ใจ
- ไม่ควรหยอกล้อ-พูดคุยกันระหว่างเวียนเทียน
- เว้นระยะเดินให้ห่างจากคนด้านหน้าพอสมควร
- ระมัดระวังอุบัติเหตุที่เกิดจาก ธูป-เทียน
การเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างโดนธูปจี้ น้ำตาเทียนหยดใส่อาจเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายซึ่งชอบเดินสายทำบุญต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่าอุบัติเหตุเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายไม่น้อยเสมอไป เพราะอาจทำให้เกิดแผลพุพองเสี่ยงติดเชื้อลุกลามไปใหญ่ จึงควรทำประกันอุบัติเหตุไว้ เคลมได้ทั้งอุบัติเหตุจากธูป-เทียนไปจนถึงอุบัติเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี