
เช็กลิสต์ สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเลือกซื้อประกันสุขภาพ
เรียกได้ว่าเป็นการปรับปรุงมาตรฐานการประกันสุขภาพครั้งใหญ่ ที่มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดย คปภ. เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับปรุงมายาวนานกว่า 15 ปี และการปรับปรุงมาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่ หรือ New Health Standard ของ คปภ. ในครั้งนี้ จะมีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง ส่งผลอย่างไรบ้างกับเรา น้องแคร์ขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักเอง
New Health Standard หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่ ก็คือ หลักเกณฑ์ที่ คปภ. กำหนดมาเพื่อบังคับใช้กับทุกบริษัทประกัน ในการออกแบบแผนประกันสุขภาพ ให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อลดช่องว่างต่าง ๆ ของประกันสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น แก้ปัญหาเรื้อรังสะสม ของประกันสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
จริง ๆ แล้ววัตถุประสงค์หลักของการปรับปรุงมาตรฐานประกันสุขภาพ ให้เป็น New Health Standard หรือ มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่นั้น ก็เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมายาวนานของประกันสุขภาพให้หมดไป หรือเกิดปัญหาน้อยที่สุดไม่ว่าจะเป็น
เป็นปัญหาที่สร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับผู้เอาประกันไม่น้อยเลย สำหรับการที่บริษัทประกันมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกการต่ออายุสัญญากรมธรรม์ของเราได้ โดยมีการระบุไว้ในสัญญาเด่นชัด ว่า “บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการต่ออายุในรอบปีกรมธรรม์ถัดไป” แม้ว่าการระบุดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการคัดผู้เอาประกันที่มีการเคลมเยอะแบบผิดปกติออกก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นการเอื้อโอกาสให้กับบริษัทประกัน สามารถนำข้อสัญญานี้ มาใช้เพื่อไม่ต่อสัญญากับผู้เอาประกันที่เคลมอย่างสุจริตตามความจำเป็นของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเองได้
ประกันสุขภาพ ที่เปลี่ยนเป็น New Health Standard แล้ว จึงมาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยการระบุเงื่อนไขให้บริษัทประกันมีสิทธิ์ยกเลิกการต่ออายุสัญญากรมธรรม์ได้ ก็ต่อเมื่อ
1. ผู้เอาประกันแถลงข้อมูลเท็จ
2. ผู้เอาประกันเรียกร้องผลประโยชน์ในการรักษาโดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์
3. ผู้เอาประกันเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยจากการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาล รวมทุกบริษัทประกันเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง
ตามมาตรฐานประกันสุขภาพฉบับเก่า การเพิ่มค่าเบี้ยประกัน บริษัทประกันจะสามารถเพิ่มเป็นรายบุคคลได้ เพื่อทำให้ผู้เอาประกันที่เคลมประกันมากกว่าปกติ จ่ายเบี้ยสูงขึ้น ตามความเสี่ยงที่สูงขึ้นของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันวิธีการเพิ่มเบี้ยแบบนี้ ก็เป็นข้อกังขาอยู่ไม่น้อย ว่าจะเป็นการแสวงหากำไรเพิ่มเติมของบริษัทประกันหรือไม่
New Health Standard จึงเป็นทางออกที่ดีของปัญหานี้ โดยเปลี่ยนเงื่อนไขการเพิ่มเบี้ยประกันกรณีมีการเคลมสูง จากรายบุคคล มาเป็นการเพิ่มเบี้ยประกันผู้เอาประกันทั้งหมด โดยพิจารณาจากอัตราการเคลมโดยรวม ซึ่งในส่วนนี้ก็จะส่งผลดีกับกลุ่มคนที่เป็นโรคเรื้อรัง ที่มีการเคลมค่ารักษาตามความจำเป็นทางการแพทย์จริง ๆ ไม่ถูกเพิ่มเบี้ยประกันเป็นรายบุคคลในปีถัดไป อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนเงื่อนไขการเพิ่มเบี้ยประกันนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบกับผู้เอาประกันคนอื่น ที่ไม่ค่อยได้เคลม หรือไม่ได้เคลมเลยในรอบปีกรมธรรม์นั้น ๆ เนื่องจากจะต้องมาแบกรับภาระถูกปรับเบี้ยประกันขึ้นไปด้วย
ดังนั้นมาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่ จึงแก้เกมส์ โดยการเปิดโอกาสให้บริษัทประกันใช้ดุลพินิจในการพิจารณาลดอัตราการรับประกันเป็นรายบุคคลแทน เพื่อรับความเสี่ยงน้อยลง ตัวอย่างเช่น เดิมรับประกันสิทธิค่ารักษาพยาบาล 100% ก็จะเหลือการรับประกันสิทธิค่ารักษาต่ำสุดที่ 70% แทน ทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องออกค่ารักษาพยาบาล 30% ที่เหลือเอง เป็นต้น เรียกวิธีการแบบนี้ว่า Co-payment ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด ระหว่างผู้เอาประกันภัยที่มีความจำเป็นต้องเคลมบ่อย และผู้เอาประกันที่ไม่ค่อยได้เคลม หรือไม่เคลมเลย นั่นเอง
เป็นอีกหนึ่งปัญหาของคนที่กำลังตัดสินใจเลือกทำประกันสุขภาพ ว่าจะเลือกแผนประกันสุขภาพของบริษัทไหนดี บริษัทไหนให้ผลประโยชน์ดีกว่ากัน เปรียบเทียบกันลำบาก เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการบังคับใช้มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่ แต่ละบริษัทประกันก็มักจะมีหมวดหมู่ผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งการเรียงลำดับผลประโยชน์ ก็เรียงลำดับแตกต่างกันไป แถมยังซ่อนเงื่อนไขแอบแฝงบางรายการอีกด้วย ทำให้ต้องใช้เวลาในการพิจารณานานมาก
ด้วยเหตุนี้เอง ประกันสุขภาพแบบใหม่ จึงมีการปรับเปลี่ยนการจัดหมวดหมู่ผลประโยชน์ความคุ้มครอง ให้ทุกบริษัทประกันใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน โดยกำหนดให้ มี 13 หมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ ดังนี้
หมวดที่ 1: ค่าห้องและค่าอาหาร ค่าบริการในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน IPD) ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง (รวมสูงสุดไม่เกิน 180 วัน)
หมวดที่ 2: ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยหรือบำบัดรักษา ค่าบริการโลหิตและส่วนประกอบของโลหิต ค่าบริการทางการพยาบาล ค่ายา ค่าสารอาหารทางหลอดเลือด และค่าเวชภัณฑ์ ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
หมวดที่ 3: ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ตรวจรักษา ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง (สูงสุดไม่เกิน 180 วัน)
หมวดที่ 4: ค่ารักษาพยาบาลโดยการผ่าตัด (ศัลยกรรม) และหัตถการ ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
หมวดที่ 5: การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery)
หมวดที่ 6: ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนและหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หรือค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้องโดยตรงหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ต่อการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
หมวดที่ 7: ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชั่วโมง ของการเกิดอุบัติเหตุต่อครั้ง
หมวดที่ 8: ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู หลังการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยใน สูงสุดไม่เกิน 30 วันต่อโรค แต่ละครั้ง ต่อรอบปี
กรมธรรม์
หมวดที่ 9: ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคไตวายเรื้อรัง โดยการล้างไตผ่านทางเส้นเลือด ต่อรอบปี
กรมธรรม์
หมวดที่ 10: ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยรังสีรักษา รังสีร่วมรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษา ต่อรอบปีกรมธรรม์
หมวดที่ 11: ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยเคมีบำบัด ต่อรอบปีกรมธรรม์
หมวดที่ 12: ค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน
หมวดที่ 13: ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดเล็ก
ก่อนจะมีการบังคับใช้ประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ บริษัทประกันมีการกำหนดข้อยกเว้น ที่จะไม่รับเคลม ในสัญญากรมธรรม์ ไว้ทั้งหมด 26 ข้อ โดยในบางข้อนั้น ก็เป็นข้อยกเว้นที่อาจจะไม่สมเหตุสมผล ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาในการเคลมตามมา
และเมื่อมีการบังคับใช้ประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่แล้ว จึงมีการแก้ไขข้อยกเว้นในสัญญากรมธรรม์ ให้เหลือเพียง 21 ข้อ จาก 26 ข้อ โดยได้มีการตัดข้อยกเว้นที่ไม่สมเหตุสมผล ออกไปทั้งหมด 5 ข้อ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและครอบคลุมในกรณีการเคลมมากขึ้น ดังนี้
1. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วม ทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุ ให้เกิดการทะเลาะวิวาท
2. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัย กำลังขึ้น หรือ กำลังลง หรือ ขณะโดยสาร อยู่ในอากาศยานที่มิได้จดทะเบียนเพื่อบรรทุกผู้โดยสาร และมิได้เป็นสายการบินพาณิชย์
3. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัย ขับขี่หรือปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานประจำ ในอากาศยานใด ๆ
4. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัย ปฏิบัติหน้าที่เป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสามัคร และเข้าปฏิบัติการในสงครามหรือปราบปราม
5. การระเบิดของกัมมันตภาพรังสี หรือส่วนประกอบของนิวเคลียร์ หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ที่อาจเกิดจากการระเบิดในกระบวนการนิวเคลียร์ได้
ใครที่กำลังดู ๆ แผนประกันสุขภาพก่อนหน้านี้ ก็จะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในหมวดหมู่ผลประโยชน์ความคุ้มครองการผ่าตัดแบบไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (Day Surgery) บริษัทประกันจะมีการกำหนดชื่อโรค 21 เคส ที่สามารถเคลมค่ารักษาแบบผู้ป่วยใน IPD ได้ แม้ไม่ได้แอดมิดก็ตาม แน่นอนว่าหากคุณได้รับการผ่าตัดแบบไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ไม่ได้อยู่ใน 21 เคส คุณก็จะไม่สามารถเคลมในหมวดนี้ได้ ก็ดูไม่ค่อยจะแฟร์เท่าไหร่กับผู้เอาประกันอย่างเรา
และเช่นเดียวกัน เมื่อมีการปรับเปลี่ยน มาเป็น New Health Standard ก็ทำให้ปัญหานี้ก็จบลงไปได้ด้วยดี นั่นเพราะประกันสุขภาพแบบใหม่ ในหมวดหมู่ผลประโยชน์ความคุ้มครองการผ่าตัดแบบไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (Day Surgery) จะไม่มีการระบุชื่อโรค 21 เคส อีกต่อไป แต่จะกำหนดเป็นลักษณะของคำนิยามของการผ่าตัดที่มีความครอบคลุมแทน อย่างเช่น การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาล หรือ การผ่าตัดเล็ก ระดับผิวหนัง หรือชั้นใต้ผิวหนัง หรือชั้นเยื่อบุ โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือเฉพาะบริเวณ แทนนั่นเอง แบบนี้ก็จะทำให้ครอบคลุมกรณีการเคลมมากขึ้น
สำหรับคนที่มีประกันสุขภาพฉบับก่อนจะมีการบังคับใช้ประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากหลายบริษัทประกันจะมีการปรับอัตโนมัติ มาใช้มาตรฐานใหม่นี้อยู่แล้ว แต่สำหรับบางกรมธรรม์ ที่ไม่สามารถปรับมาเป็น New Health Standard ได้ น้องแคร์ ขอแนะนำให้ลองเช็คค่าเบี้ย ประกันสุขภาพทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ เพื่อดูความแตกต่าง ทั้งเรื่องค่าเบี้ยและผลประโยชน์ความคุ้มครอง ก่อนตัดสินใจอีกครั้ง หากประสงค์ที่จะต่ออายุสัญญาในกรมธรรม์แบบเก่าต่อไป ก็สามารถทำได้ หรือจะต่ออายุสัญญาในกรมธรรม์แบบเก่า และซื้อประกันสุขภาพแบบใหม่เพิ่มไปด้วย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการเคลมและเพิ่มผลประโยชน์ความคุ้มครอง ก็ทำได้เช่นกัน
และไม่ว่าคุณกำลังมองหาประกันสุขภาพ เพื่อความคุ้มครอง เพื่อความอุ่นใจ เพื่อลดหย่อนภาษี หรือเพื่อเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการซื้อประกันสุขภาพ ก็คือสุขภาพของคุณ การซื้อประกันสุขภาพให้คุ้มค่ามากที่สุด ไม่ใช่การซื้อประกันสุขภาพที่ค่าเบี้ยถูกที่สุด แต่เป็นการซื้อประกันสุขภาพในขณะที่สุขภาพของเราแข็งแรงเป็นปกติ ไม่มีโรคใด ๆ มาเป็นเพื่อนเรา เพราะนั่นจะทำให้คุณได้รับความคุ้มครองแบบครบถ้วน ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ในการเคลม
คุ้มทั้งเรื่องผลประโยชน์ความคุ้มครอง คุ้มทั้งเรื่องค่าเบี้ย แบบนี้ต้องรีบซื้อประกันสุขภาพกันแล้วล่ะ ที่แรบบิทแคร์ เรามีประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ New Health Standard พร้อมเสิร์ฟให้กับทุกคนแล้ว มาพร้อมกับบริการเปรียบเทียบประกันสุขภาพ เพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณเลือกประกันสุขภาพที่ถูกใจ ตรงกับไลฟ์สไตล์ได้เลย
New Health Standard เป็นมาตรฐานประกันสุขภาพฉบับใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมและทันสมัยยิ่งขึ้น ผู้ซื้อประกันควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ New Health Standard ให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่คุ้มค่าและตรงกับความต้องการ
มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct
และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทความแคร์เรื่องประกันสุขภาพ
เช็กลิสต์ สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเลือกซื้อประกันสุขภาพ
เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของประกันชีวิตผู้สูงอายุ
วิธีเลือกประกันสุขภาพให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ