วัคซีนพิษสุนัขบ้าสำคัญอย่างไร? อาการของโรคนี้ร้ายแรงหรือไม่ สิ่งที่ควรรู้-วิธีป้องกัน
วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนที่ในช่วงเวลาปกติคนส่วนมากมักไม่ได้ให้ความสนใจหรือใส่ใจ แต่ในช่วงหน้าร้อนกลับมีหลายคนต้องมาฉีดกันมากมาย สาเหตุเป็นเพราะอะไร? การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้านั้นความจริงแล้วจำเป็นหรือสำคัญอย่างไร? โรคพิษสุนัขบ้าเกิดเฉพาะหน้าร้อนหรือไม่? แรบบิท แคร์ รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนชนิดนี้ และสรุประดับความร้ายแรงของโรค ลักษณะอาการของทั้งคนและสัตว์ที่ติดเชื้อมาให้ พร้อมวิธีป้องกันและวิธีปฏิบัติตนเมื่อรับความเสี่ยงหรือเป็นผู้สัมผัสโรค!
โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร?
สำหรับโรคที่ได้ยินชื่อกันจนคุ้นเคยอย่างโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน ซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว หนู ลิง กระต่าย กระรอก โดยจะพบว่าสุนัขและแมวจะเป็นสัตว์ที่ถูกพบว่าเป็นพาหะนำมาสู่คนมากที่สุด
โรคดังกล่าวจะติดต่อเมื่อเกิดการสัมผัสโดยน้ำลายของสัตว์ที่เป็นพาหะเหล่านั้น เช่น ถูกกัด ข่วน เลียบริเวณบาดแผล เลียบริเวณเยื่อบุตา เป็นต้น และเมื่อติดเชื้อจะมีอัตราเสียชีวิตเกือบ 100% เลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคดังกล่าว การแีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าจึงถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก
วัคซีนพิษสุนัขบ้า สำคัญอย่างไร?
ในส่วนของความสำคัญของวัคซีนพิษสุนัขบ้านั้น ความจริงมีความสำคัญกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้ เพราะถือเป็นวัคซีนที่จะช่วยป้องกันอันตราย หรือปกป้องชีวิตของเราและสัตว์เลี้ยงแสนรักได้เลยทีเดียว โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในปัจจุบันหากผู้สัมผัสโรคดังกล่าวไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงทีจนเกิดการติดเชื้อลุกลามไปแล้ว จะไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ หากพลาดพลั้งติดขึ้นมาสิ่งเดียวที่ทำได้คือต้องทำใจ จุดจบคือเสียชีวิตนั่นเอง
ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าตอนไหนได้บ้าง?
สำหรับผู้ที่เข้าใจความร้ายแรงของโรคพิษสุนัขบ้าและต้องการที่จะฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้ทั้งกับตนเองหรือสัตว์เลี้ยงภายในบ้านเพื่อป้องกันอันตรายจากโรคดังกล่าวแต่ไม่รู้ว่าจะต้องฉีดเมื่อไหร่ ความจริงแล้วการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าสามารถฉีดได้ทั้งก่อนและหลังสัมผัสโรค โดยที่แพทย์ต่างก็แนะนำว่าควรฉีดไว้ก่อนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าป้องกันก่อนเกิดการสัมผัสโรค
- สำหรับคน : การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสโรคนั้นเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายต่อโรคพิษสุนัขบ้าระดับหนึ่ง ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อชีวิตหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ต้องสัมผัสหรือก่อความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าว ซึ่งเมื่อได้ฉีดป้องกันพิษสุนัขบ้าไว้ก่อนแล้ว เมื่อได้สัมผัสโรคไม่ว่าจะโดนหมากัด แมวข่วน หรือได้รับเชื้อด้วยวิธีการอื่นก็เพียงต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น 1-2 เข็มเท่านั้น ต่างจากคนที่ไม่เคยฉีดมาก่อนที่อาจต้องฉีด 5 เข็มเป็นอย่างต่ำ
- สำหรับสัตว์ : โดยปกติแล้วสำหรับสัตว์เลี้ยงจะต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนเป็นต้นไป และเจ้าของจะต้องพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประจำปีในทุก ๆ ปี ปีละ 1 ครั้ง
ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหลังจากสัมผัสโรค
ในส่วนของการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหลังจากเกิดการสัมผัสโรคแล้วนั้น (ในกรณีของคน) ไม่ว่าจะเป็นหมากัด แมวข่วน แผลโดนน้ำลาย น้ำลายของสัตว์สัมผัสกับเยื่อบุตา ฯลฯ จะมีขั้นตอนการปฏิบัติตนดังนี้
- ล้างแผลหรือบริเวณที่โดนสัมผัสให้เร็วที่สุดด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นาน 15 นาที โดยล้างให้ลึกถึงก้นแผล เช็ดให้แห้ง จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณแผล
- จดจำลักษณะสัตว์ที่กัด สังเกตอาการของสัตว์และสืบหาเจ้าของเพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
- รีบเข้าพบแพทย์ทันทีพร้อมนำประวัติการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหรือบาดทะยักไปด้วยเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาได้อย่างต่อเนื่องถูกต้อง
- เข้าไปฉีดวัคซีนตามนัดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
วัคซีนพิษสุนัขบ้า ราคา
- วัคซีนพิษสุนัขบ้า สำหรับสัตว์เลี้ยง ราคา : 450 – 800 บาท
- วัคซีนพิษสุนัขบ้า สำหรับคน (ก่อนสัมผัสโรค) ราคา : 2,000 – 3,000 บาท
- วัคซีนพิษสุนัขบ้า สำหรับคน (หลังสัมผัสโรค) ราคา : 3,000 – 4,000 บาท
*เป็นเพียงราคาเฉลี่ยเท่านั้น ราคาอาจขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของอาการ โรงพยาบาล และจำนวนวัคซีนที่ต้องใช้ในการรักษาซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเบิกประกันสังคม/เบิกประกันได้ไหม?
สำหรับคนที่ต้องการทราบว่าหากจะฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหรือป้องกันการติดเชื้อจะสามารถเบิกประกันสังคมหรือเบิกประกันอุบัติเหตุได้หรือไม่นั้น จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ..
- ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค : กรณีนี้จะไม่สามารถเบิกประกันสังคมหรือเบิกประกันอุบัติเหตุได้
- ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค : กรณีนี้จะสามารถเบิกประกันสังคมได้ รวมถึงผู้ที่ทำประกันอุบัติเหตุเอาไว้ก็สามารถเบิกได้เช่นกัน
สำหรับใครที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือเป็นผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมแต่กังวลเรื่องความคุ้มครองว่าจะครอบคลุมเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือไม่ (ไม่เพียงแค่การโดนสุนัขกัด หรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น) แรบบิท แคร์ ขอแนะนำให้ทำประกันอุบัติเหตุเอาไว้ ดูแลครอบคลุม เพิ่มความอุ่นใจ อุบัติเหตุแบบไหนก็เคลมได้ ไร้กังวล
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
การแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้าในคน
โรงพยาบาลศิริราชให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการโรคพิษสุนัขบ้าในคนว่า ผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวน ความลึกของบาดแผล รวมถึงภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับเชื้อ โดยจะแบ่งลักษณะอาการได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- พิษสุนัขบ้า อาการระยะเริ่มต้น : มีอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการบาดเจ็บ เสียวแปลบคล้ายเข็มทิ่ม หรือมีอาการคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรค โดยอาการในระยะนี้จะมีประมาณ 2-10 วัน
- ระยะที่มีอาการทางสมอง : มีอาการสับสนวุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก กลัวน้ำ และจะมีอาการมากขึ้นเมื่อมีเสียงดังหรือถูกสัมผัสตัว จากนั้นจะมีอาการชักและเป็นอัมพาต โดยการอาการป่วยระยะนี้จะมีระยะเวลาอยู่ที่ 2-7 วัน
- พิษสุนัขบ้า อาการระยะสุดท้าย : มีอาการหัวใจล้มเหลว โคม่า หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น
การแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
- กระวนกระวาย
- ก้าวร้าว
- กลัวน้ำ
- เสียงเห่าเปลี่ยน
- กัดสิ่งของ
- เลียปัสสาวะตัวเอง
- สำรอก
- กรามห้อย
- ลิ้นที่ห้อยออกมาแห้ง
- ขาแข็งเมื่อเดินหรือวิ่ง
- กัดโดนไม่ถูกยุแหย่
หากเจอสัตว์ที่มีลักษณะอาการเช่นนี้ต้องรีบหนีให้ห่างทันที ไม่เข้าไปใกล้ ยุแหย่ หรือทำสิ่งที่เสี่ยงต่อการโดนกัดเป็นอันขาด และควรแจ้งเจ้าของหรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
จะเห็นได้ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่น่ากลัวกว่าที่คิด ดังนั้นการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้กับทั้งคนและสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างมาก ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นอันขาด
วิธีลดความเสี่ยงในการสัมผัส/ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- สังเกตอาการสัตว์ต่าง ๆ ให้ดีก่อนที่จะเข้าใกล้ทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่คุ้นเคย/ไม่รู้จัก/หาที่มาที่ไปไม่ได้
- ไม่ทำการยั่วยุ/แหย่ สัตว์ให้มีอาการหงุดหงิดหรือโกรธ
- เจ้าของควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี
- ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงอิสระในที่สาธารณะ เมื่อพาออกจากบ้านต้องใส่สายจูง
- ไม่พาสัตว์เลี้ยงไปเล่นกับสัตว์ที่มีความเสี่ยงหรือไม่มีที่มาที่ไป
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นในหน้าร้อนเท่านั้นหรือไม่?
จากข่าวที่โรคพิษสุนัขบ้ามักระบาดหนักช่วงหน้าร้อน อาจทำให้ใครหลายคนเข้าใจผิดได้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะระบาดเฉพาะช่วงหน้าร้อนเพียงเท่านั้น แต่ความจริงแล้วโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแพร่เชื้อและแสดงอาการได้ทุกวัน เพียงแต่ความร้อนอบอ้าวในช่วงหน้าร้อนนั้นเป็นตัวกระตุ้นอาการหงุดหงิดของสัตว์ต่าง ๆ ทำให้อาจแสดงอาการได้ง่ายกว่าปกตินั่นเอง
มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct
และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น