อัพเดตโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด! โอไมครอน เดลตาครอน วัคซีนรุ่นเก่ายังเอาอยู่ไม๊?
ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ ที่รู้จักกันในนาม โควิด 19 ที่ล่าสุดมีการวิวัฒนาการสายพันธุ์กลายเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ วัคซีนที่เราได้มีการฉีดกันไปเมื่อช่วงปีก่อน ๆ ยังคงมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดได้อยู่หรือไม่ วันนี้น้องแคร์รวบรวมข้อมูลโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติม พร้อมอัพเดตข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่และไขข้อสงสัยว่าจะต้องฉีดวัคซีนรุ่นไหนดี
รวมสายพันธุ์ย่อยโควิด 19 โควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด ที่องค์การอนามัยโลกเตือนให้เฝ้าระวัง
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ โควิดสายพันธุ์หลักที่เกิดการติดเชื้อในประเทศมากที่สุดก็คือ สายพันธุ์โอไมครอน หรือโอมิครอน (Omicron) รหัสสายพันธุ์ BA.2.75 ซึ่งมีสัดส่วนในการแพร่ระบาดมากถึง 99.5% ทั่วโลก และยังแตกแยกย่อยออกมาเป็นลูกหลานของสายพันธุ์มากกว่า 540 สายพันธุ์ย่อย โดยสายพันธุ์ย่อยโควิดที่องค์การอนามัยโลกที่ยังเฝ้าระวังอยู่ตอนนี้ ได้แก่
- สายพันธุ์ BA.2.75.x
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน ขณะนี้ได้เป็นสายพันธุ์หลักในการแพร่ระบาดในประเทศไทยแล้วกว่า 53.8% ถูกพบครั้งแรกตั้งแต่ต้นปี 2565 และมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศอินเดียช่วงกลางปี 2565 และเป็นสายพันธุ์ที่เข้ามาแทนที่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.5 หลังจากนั้นก็แพร่กระจายมายังประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก โดยนอกจากประเทศไทยแล้ว โควิดสายพันธุ์ BA.2.75.x ยังมีการแพร่ระบาดชุกในประเทศออสเตรเลีย มาเลเซีย จีน และนิวซีแลนด์ ณ ขณะนี้อีกด้วย
- สายพันธุ์ BA.5
เป็นโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยที่พบการเกิดการแพร่ระบาดไปช่วงก่อนหน้านี้ ครองสัดส่วนการแพร่ระบาดทั่วโลกยาวนาน เนื่องจากมีความสามารถในการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรกในแถบแอฟริกาตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2565 ที่สำคัญสายพันธุ์ BA.5 นี้ยังดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมของโอไมครอนอย่างสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 มาก ซึ่งพบการติดเชื้อของสายพันธุ์นี้แล้วกว่า 119 ประเทศทั่วโลก
- สายพันธุ์ BQ.1.x
อีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีสัดส่วนในการตรวจพบเชื้อเพิ่มขึ้น 36.2% จากเดิมที่มีการพบเพียง 27.6% จัดเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยที่มีอัตราในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด โดยขณะนี้ได้มีการแพร่กระจายไปกว่า 90 ประเทศทั่วโลกแล้ว
- สายพันธุ์ XBC
และสำหรับโควิดสายพันธุ์ XBC หรือที่คนไทยเรียกกันในชื่อของ เดลตาครอน ซึ่งเป็นโควิดสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโควิดสายพันธุ์เดลต้าและโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ถือว่าเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดอีกหนึ่งรหัสสายพันธุ์ที่มีความอันตรายสูงพอ ๆ กับสายพันธุ์เดลต้าและมีความสามารถในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับสายพันธุ์โอไมครอน นอกจากนี้โควิดสายพันธุ์เดลตาครอนหรือ สายพันธุ์ XBC ยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนักที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่อยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมีการตรวจพบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาครอนในสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ด้วยเช่นกัน และสำหรับในประเทศไทยก็ได้พบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาครอนแล้วกว่า 10 ราย ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
- สายพันธุ์ XBB.x
เป็นสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่ทั่วโลกเฝ้าระวัง เรียกได้ว่าเป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด ณ ขณะนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งสายพันธุ์ XBB นี้เป็นลูกผสมของไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.10.1 และ BA.2.75 โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ XBB ล่าสุดได้เกิดการระบาดขึ้นที่ประเทศอินเดียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าอีกไม่นานการระบาดของโควิดสายพันธุ์ XBB จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ BA.2.75 ในประเทศอินเดียและเตรียมแพร่กระจายไปยังประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในไม่ช้า ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ XBB นี้จะสามารถติดต่อกันง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมและสามารถหลบหลีกการทำงานของภูมิคุ้มกันที่มาจากการรับวัคซีนหรือมาจากการติดเชื้อก่อนหน้าได้ดีมากกว่าโควิดสายพันธุ์เดิม
อย่างไรก็ตามภาพรวมของการพบการติดเชื้อไวรัสโควิดทั่วโลกขณะนี้ ยังพบว่าการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 และโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ ช้า ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก ในขณะที่โควิดสายพันธุ์ย่อย สายพันธุ์ BQ.1.x และสายพันธุ์ BA.5 พบการแพร่ระบาดขยายตัวขึ้นค่อนข้างเร็วกว่า และแพร่กระจายไปยังทั่วโลกแล้วหลายประเทศ แน่นอนว่าการป้องกันตัวเองโดยการสวมใส่แมส ไปจนถึงการเข้ารับวัคซีนโควิดยังเป็นสิ่งที่ยังต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง
โควิดสายพันธุ์ใหม่อาการของแต่ละสายพันธุ์เป็นอย่างไร?
หลังจากที่คนทั่วโลกได้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 มานานหลายปีตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม มาจนถึงโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด ที่เป็นสายพันธุ์ย่อย สายพันธุ์ลูกผสมอย่างเดลตาครอน และสายพันธุ์ XBB จึงทำให้พอจะสามารถสังเกตอาการเมื่อมีการติดเชื้อโควิดได้บ้าง โดยอาการเบื้องต้นในการติดเชื้อโควิดนั้นยังสามารถแบ่งตามชนิดของสายพันธุ์ได้ ซึ่งหากคุณเริ่มมีอาการดังนี้ก็ให้สันนิษฐานเบื้องต้นเลยว่า อาจมีการติดเชื้อโควิดแล้ว
- อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ BA.2.75
– มีไข้ต่ำ ๆ ร่วมกับการมีน้ำมูกเจ็บคอ
– คันคอ มีอาการคอแห้ง
– ไอจามรู้สึกอ่อนเพลีย
– มีอาการปวดศีรษะ
- อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ BA.5
– มีไข้ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก
– มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ
– เหนื่อยง่าย รู้สึกอ่อนเพลีย
– ถ่ายเหลวคล้ายอาการท้องเสีย
– ปวดเมื่อยร่างกาย ครั่นเนื้อครั่นตัว
– ไอแห้ง เจ็บคอ
- อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ BQ.1
– มีอาการคล้ายการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.5 เนื่องจากมีกลายพันธุ์มาจาก BA.5
- อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์ลูกผสม สายพันธุ์ XBB
– ไอแห้ง เจ็บคอ คัดจมูก
– มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ไม่สบาย
– ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเล็กน้อย
– มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- อาการเบื้องต้นของโควิดสายพันธุ์ลูกผสม สายพันธุ์ XBC หรือ เดลตาครอน
– ปวดศีรษะ มีอาการคล้ายไข้หวัด
– เจ็บคอ มีน้ำมูก
– ไอแห้งต่อเนื่อง
– ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดหลัก ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลกแล้ว จะมีกลุ่มอาการที่ใกล้เคียงกันกับสายพันธุ์ก่อน ๆ จำพวกกลุ่มอาการไข้หวัด ปวดศีรษะคล้ายไม่สบาย เจ็บคอ ไอ จาม เป็นต้น โดยหากจะสามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใดนั้นก็จำเป็นจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดำเนินการรักษาโรคต่อไป
อัพเดต! วัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด ควรฉีดวัคซีนโควิดรุ่นใหม่หรือรุ่นปัจจุบัน?
หลังจากที่ผ่านช่วงเวลาการระบาดของเชื้อโควิดตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศก็ได้มีการรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อมาอย่างน้อย 1 – 2 เข็มเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใดก็ตาม รวมไปถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิเข็มที่ 3 – 4 ที่หลายคนก็ได้รับเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน
และหากประเมินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ณ ขณะนี้ ที่ยังคงเกิดการแพร่ระบาดกันอย่างต่อเนื่องและเชื้อไวรัสมีแนวโน้มในการวิวัฒนาการสายพันธุ์แตกแยกออกมาเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ออกมาตามที่กล่าวข้างต้นอย่างต่อเนื่อง การอัพเดตวัคซีนเข้าร่างกายสำหรับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถต่อสู้กับเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากในขณะนี้และสิ่งที่จะตามมากับความจำเป็นในการรับวัคซีนเพิ่ม ก็คือคำถามที่เป็นที่สงสัยว่าแล้ววัคซีนที่จะรับครั้งใหม่ที่ว่านี้ควรจะเป็นวัคซีนรุ่นใหม่หรือรุ่นปัจจุบันที่มีอยู่ น้องแคร์ขอชี้แจงเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจด้วยข้อมูลของวัคซีน ดังนี้
- วัคซีนโควิดรุ่นใหม่
เป็นวัคซีนโควิดชนิด Bivalent ใช้ mRNA จาก 2 สายพันธุ์ คือจากสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ย่อย ของสายพันธุ์โอไมครอน อย่างเช่น สายพันธุ์ BA.1, BA.4, BA.5 อย่างละครึ่งในการผสมกันเพื่อให้ได้ซึ่งวัคซีนชนิด Bivalent ขึ้นมา ดังนั้นคุณสมบัติของวัคซีนรุ่นใหม่ ชนิด Bivalent นี้ เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายจึงมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม สามารถยับยั้งการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์กลุ่มโอไมครอน โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่าสูตรเก่า เนื่องจากมีความจำเพาะสำหรับสายพันธุ์โอไมครอนมากขึ้นจากการนำ mRNA มาสกัดเพื่อทำเป็นวัคซีนนั่นเอง
แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่วัคซีนชนิดนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ คาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้าวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ชนิด Bivalent ช่วงปี 2566 โดยยังไม่ได้มีการระบุช่วงเดือนที่ชัดเจน ในขณะที่ประชากรจากประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร ได้มีการรับวัคซีนโควิดรุ่นใหม่นี้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่คงมีแต่วัคซีนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น
- วัคซีนโควิดรุ่นปัจจุบัน
แม้ว่าวัคซีนรุ่นปัจจุบันที่เป็นการนำ mRNA จากสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ในเรื่องของประสิทธิภาพในการกระตุ้นระดับเซลล์เพื่อลดความรุนแรงของโรคยังคงทำได้ในระดับที่ดี แต่ประสิทธิภาพก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มที่ได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้ด้วย ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เป็นวัคซีนรุ่นปัจจุบันอย่างน้อยที่สุดก็ควรจะมีการรับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็มเป็นอย่างต่ำเพื่อรับการกระตุ้นเป็นเข็มที่ 4
ดังนั้นก็สามารถสรุปได้ว่า ณ ขณะนี้ที่วัคซีนโควิดรุ่นใหม่ยังไม่เข้าไทย การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็มที่ 3 เป็นต้นไปจึงค่อนข้างสำคัญและเป็นเรื่องซีเรียส หากคุณคือคนหนึ่งที่เคยได้รับเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือ 4 มานานมากกว่า 4 – 6 เดือนแล้ว และยังไม่เคยติดเชื้อโอไมคอรอนมาก่อนเลย ในระหว่างที่รอเคาะช่วงเวลาในการนำเข้าวัคซีนรุ่นใหม่จากรัฐบาลประเทศไทย ก็แนะนำว่าควรรีบวัคซีนโควิดรุ่นเก่ารุ่นปัจจุบันที่มีอยู่ไปก่อนเพื่อเป็นการช่วยเรื่องกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม แต่หากคุณเคยได้รับวัคซีนเข็ม 3 และเคยติดเชื้อโอไมครอนมาแล้ว ก็สามารถที่จะรอรับวัคซีนโควิดรุ่นใหม่เป็นเข็ม 4 เข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้
วิธีการป้องกัน โควิดสายพันธุ์ใหม่ ทำอย่างไร?
แน่นอนว่าตราบใดที่การแพร่ระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจึงยังคงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยวิธีการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ มีดังนี้
- อย่างแรกที่ต้องทำเลยก็คือ การสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด ทุกครั้งที่มีการออกไปในที่สาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน
- ทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสพื้นผิวสิ่งของต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะที่อาจเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค และหลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสหน้า ตา และสิ่งของส่วนตัวหากยังไม่มีการล้างทำความสะอาดหรือล้างด้วยแอลกอฮอล์เจลความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 70%
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นผู้ป่วย มีอาการไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก มีอาการเหนื่อยหอบ หรือบุคคลที่มีการติดเชื้อโควิดอยู่ระหว่างการรักษาตัว
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด โดยไม่มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและยังไม่นิ่ง แถมมีการวิวัฒนาการของเชื้อแตกแยกออกมาเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ อยู่แบบนี้ นอกจากการป้องกันตัวเองอย่างเต็มรูปแบบในแต่ละวันของการดำเนินชีวิตแล้ว การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นและการวางแผนทำประกันสุขภาพ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งไม่แพ้กัน
ในเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อยังแตะหลักพันเป็นอย่างต่ำอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าโรงพยาบาลและสิทธิในการรักษาพยาบาลก็จะยังคงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การมีประกันสุขภาพส่วนตัวที่คุณสามารถเลือกใช้สิทธิในการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่มีเตียงว่าง จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คุณอุ่นใจ สบายใจในการเข้าถึงการรักษาเป็นอย่างดี และแน่นอนว่าที่แรบบิท แคร์ เรามีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลไว้พร้อมเสิร์ฟคุณจากหลากหลายบริษัทประกันชั้นนำ สมัครง่ายเพียงไม่กี่ขั้นตอน อย่ารอช้ารีบทำประกันก่อนเชื้อโควิดจะไหวตัวทัน! ด้วยความปรารถนาดีจากน้องแคร์เช่นเคย
มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct
และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น