รถเสียบนทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ ต้องทำอย่างไร? มีค่าใช้จ่ายไหม?
หลายคนอาจเคยเจอปัญหารถเสียกลางทางมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่เคยเจอกับเหตุการณ์รถเสียบนทางด่วน หรือรถเสียบนมอเตอร์เวย์ ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติตัวและวิธีขอรับความช่วยเหลือที่แตกต่างออกไปอยู่บ้างจากสถานการณ์รถเสียบนท้องถนนตามปกติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบ บริการรถยกหรือรถลากทั่วไป อาจไม่สามารถขึ้นไปให้ความช่วยเหลือได้ทันที วันนี้ แรบบิท แคร์ รวบรวมข้อมูลที่ต้องรู้เมื่อเกิดเหตุรถดับ หรือรถยางแตกบนทางด่วนมาฝากกัน
รถเสียบนทางด่วน ต้องทำอะไรบ้าง?
นำรถเข้าไหล่ทาง
เมื่อรถเกิดอาการผิดปกติ ให้รีบตั้งสติเเล้วพยายามจอดรถให้ชิดไหล่ทางด้านซ้ายหรือริมถนน ทั้งนี้ กรณีรถเสียบนทางด่วนหรือทางมอเตอร์เวย์ด้วยอาการรถยางแตก ห้ามเบรกรถกระทันหันในทันที แต่ให้พยายามประคองรถให้ไหลเข้าไหล่ทางจนสามารถจอดรถได้อย่างปลอดภัย
เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินทันที
เมื่อสามารถจอดรถบริเวณไหล่ทางได้อย่างปลอดภัยแล้ว ให้เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน หรือสัญญาณไฟกะพริบ ทันทีเพื่อให้สัญญาณกับรถที่กำลังขับตามมารับทราบ เนื่องจากทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เป็นเส้นทางที่มีผู้สัญจรใช้รถด้วยความเร็วปานกลางหรือสูงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จึงอาจทำให้เกิดเป็นอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่มีการให้สัญญาณเตือนแก่รถคันอื่น ๆ เมื่อเกิดเหตุรถเสียบนทางมอเตอร์เวย์
วางเครื่องหมายให้เป็นจุดสังเกต
หากตรวจสอบแล้วพบว่าบริเวณไหล่ทางที่จอดรถปลอดภัย ไม่พลุกพล่าน ควรเปิดฝากระโปรงท้ายยกขึ้นสูงรวมถึงหากมีกรวยจราจรสีส้ม หรือป้ายสามเหลี่ยมสะท้อนแสงติดไว้ ให้นำไปวางไว้บริเวณท้ายรถและหน้ารถ โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 30-50 เมตรสำหรับกรณีรถเสียในเขตเมือง หรือระยะไม่ต่ำกว่า 100-150 เมตรบนทางหลวงสายหลัก
ทั้งนี้ ไม่ควรใช้กิ่งไม้ ป้ายโฆษณา หรือล้อรถแทนอุปกรณ์แสดงสัญลักษณ์ฉุกเฉิน เพราะจะไม่สะท้อนแสงในเวลากลางคืน รวมถึวอาจกีดขวางการจราจรจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย
คาดเข็มขัดนิรภัยขณะรอความช่วยเหลือในรถ
ควรคาดเข็มขัดนิรภัยขณะนั่งรอความช่วยเหลือจากช่าง รถยก หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ภายในรถ โดยห้ามลงไปยืนรอความช่วยเหลือบริเวณด้านหน้า ด้านข้าง หรือด้านหลังของตัวรถโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนจากการแซงซ้าย หรือแซงไหล่ทางได้
หากจำเป็นต้องลงจากตัวรถเพื่อโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ หรือเข็นรถ ควรเช็กสถานการณ์และสภาพโดยรอบก่อนลงรถ ตลอดจนเตรียมของใช้จำเป็น และอยู่ให้ห่างจากถนน ควรล็อคประตูให้เรียบร้อย ไม่เปิดประตูข้างใดข้างหนึ่งทิ้งไว้ รวมถึงควรใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องลงรถระหว่างทาง โดยเฉพาะทางด่วนหรือทางมอเตอร์เวย์
โทรขอความช่วยเหลือ
สามารถโทรขอความช่วยเหลือกรณีรถเสียบนทางด่วนได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ทางพิเศษ (EXAT Call Center) โทร. 1543 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเลือกใช้โทรศัพท์ฉุกเฉินที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ติดตั้งไว้บริเวณไหล่ทางด้านซ้ายทุก 500-1,000 เมตรของทางพิเศษ พร้อมแจ้งพิกัดที่รถจอดเสียอยู่ โดยสังเกตได้จากเลขพิกัดที่แสดงอยู่ข้างตัวถนน ลักษณะอาการของรถ จำนวนและลักษณะอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บ
หากจำเป็นต้องลงจากรถเพื่อเดินหาตู้โทรศัพท์ฉุกเฉิน ควรเดินให้ชิดไหล่ทางมากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงบนทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์
กรณีรถเสียบนทางพิเศษในพื้นที่อื่น ๆ ให้ ติดต่อขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานนั้น ๆ ได้โดยตรง เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เบอร์โทรติดต่อ 1543 กรมทาางหลวง (กรณีรถเสียบนทางหลวง หรือมอเตอร์เวย์) เบอร์โทรติดต่อ 1586 และดอนเมืองโทลล์เวย์ เบอร์โทรติดต่อ 1233
โทรแจ้งบริษัทประกันภัยรถยนต์
เมื่อโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ควรเตรียมติดต่อบริษัทประกันเพื่อแจ้งขอความช่วยเหลือรถยก หรือรถลาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะดำเนินการลากรถที่เสียอยู่บนทางด่วนลงจากทางด่วนหรือทางมอเตอร์เวย์ให้เท่านั้น ไม่รวมการลากจูงรถไปยังอู่ หรือศูนย์ซ่อมที่เจ้าของรถต้องการนำรถไปตรวจสภาพ หรือซ่อม ซึ่งจะต้องมีการคิดค่าใช้จ่ายในการลากจูงตามระยะทาง
รถยางแตกบนทางด่วน โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากใคร?
- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (ทางด่วน) โทร. 1543
- กรมทางหลวง (ทางหลวงและมอเตอร์เวย์) โทร. 1586
- ดอนเมืองโทลล์เวย์ (ทางยกระดับดอนเมือง) โทร. 1233
- ตำรวจทางหลวง โทร. 1193
รถเสียบนทางด่วน ห้ามทำอะไรบ้าง?
จอดรถขวางทางจราจร หรือทางขึ้น-ลงทางด่วน
การจอดรถกีดขวางทางจราจร แม้ว่าจะเป็นกรณีรถเสียบนทางด่วนก็ตาม นอกจากเกิดการติดขัดแล้ว ยังอาจนำไปสู่สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากการจอดรถขวางทางจราจรจะทำให้เกิดการแซงซ้ายหรือแซงไหล่ทางมากขึ้น รวมถึงบดบังวิสัยทัศน์ในการขับขี่อีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว การหยุดรถบนทางด่วนโดยไม่มีเหตุอันควร มีความผิดตามกฎหมายอ้างอิงจากระเบียบเกี่ยวกับการจราจรในทางพิเศษ พ.ศ. 2555 ข้อ 8 ระบุว่า กำหนดว่า “ห้ามมิให้หยุดรถหรือจอดรถในทางพิเศษ เว้นแต่บริเวณที่มีป้ายอนุญาตให้จอดรถชั่วคราว หรือในกรณีที่รถขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุ” ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
ไม่เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน
หากไม่เปิดไฟฉุกเฉินหรือส่งสัญญาณเตือนอื่น ๆ ในทันทีเมื่อรถมีอาการผิดปกติ อาจทำให้ผู้ใช้รถคนอื่นไม่ทราบถึงอาการเสียของรถได้แม้ว่ารถจะยังเคลื่อนตัวได้อยู่ รวมถึงไม่สามารถเพิ่มความระมัดระวัง และไม่สามารถปรับเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ก่อนที่จะสามารถประคองรถจอดข้างทางได้สำเร็จ
ไม่หมุนพวงมาลัย ให้ล้อหักเข้าขอบทาง
การไม่หมุน พวงมาลัยเพื่อหักล้อเข้าข้างทาง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อเนื่องจากกรณีรถโดนชนท้ายบนทางด่วนและรถไหลพุ่งไปชนรถคันอื่นได้
เปิดประตูรถทิ้งไว้
การเปิดประตูรถขวามือทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างรอความช่วยเหลือขึ้นได้เช่นกัน จากกรณีผู้ขับขี่คนอื่นจำเป็นต้องเบี่ยงรถหรือแซงรถออกทางด้านซ้าย และมาเฉี่ยวชนเข้ากับประตูของรถที่จอดเสียอยู่ข้างทางนั่นเอง
ลงมายืนรอด้านนอกรถ
การยืนรอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ที่บริเวณหน้ารถ ท้ายรถ หรือข้างตัวรถ อาจเป็นเหตุให้ผู้ขับขี่คนอื่นที่ไม่ทันสังเกตเห็นรถที่จอดเสียอยู่ และพุ่งเข้าชนท้ายของรถที่จอดอยู่ข้างทางจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
รถเสียบนทางด่วน ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่?
การขอความช่วยเหลือกรณีรถเสียบนทางด่วยหรือมอเตอร์เวย์จากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่นั้น ๆ เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ทางด่วน กรมทางหลวงที่รับผิดชอบทางหลวงและมอเตอร์เวย์ หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด โดยจะให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นจนรถสามารถกลับมาใช้งานได้ หรือลากจูงรถลงจากพื้นที่ทางด่วน เพื่อให้เจ้าของดำเนินการส่งซ่อมต่อไป
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานข้างต้นจะลากจูงรถที่ใช้การไม่ได้ลงออกจากพื้นที่ผิดชอบ ไปยังจุดพักรถที่เตรียมไว้ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งเจ้าของรถต้องติดต่อบริการรถลากจูงสำหรับลากรถต่อไปยังศูนย์ หรืออู่ซ่อมรถเพื่อทำการซ่อมรถ ซึ่งจะมีค่าบริการตามระยะทางในการลากจูงรถ
ทั้งนี้ เมื่อรถเสียบนทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ ประกันรถยนต์สามารถให้ความคุ้มครองได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันที่คุณทำไว้และเงื่อนไขที่กำหนดในกรมธรรม์ของคุณ โดยทั่วไป ประกันภัยรถยนต์จะมีความคุ้มครองในหลายด้าน
- ครอบคลุมกรณีรถเสียบนทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ รวมถึงค่าลากจูงไปยังศูนย์บริการหรืออู่ซ่อม
- บางบริษัทอาจมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง (Roadside Assistance) เช่น การเปลี่ยนยาง ลากจูง เติมน้ำมัน เป็นต้น
ประกันชั้น 2+ และประกันชั้น 3+ ราคาประหยัด
- ส่วนใหญ่จะคุ้มครองเฉพาะกรณีรถเกิดอุบัติเหตุหรือเสียหายจากภัยพิบัติ หรือถูกขโมย แต่การซ่อมบำรุงตามสภาพรถ เช่น รถเสียจากการใช้งานปกติ อาจไม่รวมอยู่ในความคุ้มครอง
- ค่าลากจูงรถในกรณีที่รถเสียจากอุบัติเหตุอาจครอบคลุมบางส่วน
ประกันชั้น 2 และประกันภัยชั้น 3
- คุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่กรณีเท่านั้น และมักไม่ครอบคลุมกรณีที่รถเสียเองบนทางด่วน
บริการช่วยเหลือพิเศษ
บางบริษัทประกันภัยจะมีบริการช่วยเหลือบนท้องถนน (Roadside Assistance) เป็นบริการเสริมที่ช่วยเหลือกรณีรถเสียบนทางด่วน เช่น การลากจูง เติมน้ำมัน หรือแก้ไขปัญหาฉุกเฉินเล็กน้อย โดยบริการนี้อาจมีหรือไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับกรมธรรม์
ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะได้รับความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการ แนะนำให้ตรวจสอบรายละเอียดในกรมธรรม์หรือสอบถามกับบริษัทประกันภัยโดยตรง
แรบบิท แคร์ รวบรวมแผนเปรียบเทียบประกันรถยนต์ให้เลือกเปรียบเทียบได้ครบจากทุกบริษัทประกันภัยชั้นนำ ส่วนลดเบี้ยประกันสูงสุด 70% พร้อมบริการช่วยเหลือเพื่อความอุ่นใจในทุกสถานการณ์ขับขี่ ไม่หวั่นแม้เหตุรถเสียบนทางด่วน ด้วยบริการแจ้งเหตุและช่วยเหลือฉุกเฉินทางถนน 24 ชั่วโมง บริการรถใช้ระหว่างซ่อม หรือบริการประสานงานเหตุฉุกเฉินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ แรบบิท แคร์ ได้ฟรีไม่ค่าใช้จ่ายก่อนตัดสินใจซื้อหรือต่อประกันรถ โทรเลย 1438
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- รถติดเช็คได้! กับ 7 ช่องทางที่ทำให้รู้สภาพท้องถนนก่อนออกจากบ้าน
- กันไว้ดีกว่าแก้! รวมเบอร์ แจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย บนท้องถนน
- สัญลักษณ์จราจร ประเภทเครื่องหมายจราจรที่ผู้ใช้รถ ใช้ถนนควรรู้ก่อนขับขี่
- รถติดหล่มอย่าตกใจ ทำตามขั้นตอนนี้ ช่วยคุณได้ชัวร์
- ลากจูงรถแบบปลอดภัย ต้องเตรียมอะไรบ้างนะ?
Tawan มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ 2 ปี เขียนด้านยานยนต์ ประกันยานยนต์ที่ Rabbit Care และ Asia Direct
มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย มีความเชี่ยวชาญด้านประกันรถยนต์และประกันชีวิต