ต้องรู้! การเวนคืนกรมธรรม์คืออะไร? ได้เงินคืนเท่าเดิมหรือเปล่า?
หลายคนที่มีการซื้อประกันชีวิตไปและอาจจะกำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านการเงิน จนไม่สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้ตามปกติเช่นเคย หรือแม้กระทั่งซื้อประกันชีวิตจนส่งค่าเบี้ยประกันครบตามกำหนดสัญญาประกันเรียบร้อยแล้ว และได้มีการวางแผนเก็บเงินก้อนเพื่อเกษียณอายุหรือเพื่ออะไรก็ตามแต่ ต้องการที่จะปิดเล่มกรมธรรม์เพื่อรับเงินก้อนคืน คุณสามารถปิดเล่มกรมธรรม์ดังกล่าวได้ด้วยการเวนคืนกรมธรรม์ การเวนคืนกรมธรรม์นี้คืออะไร? คำนวณเงินที่จะได้รับจากการเวนคืนอย่างไร? ได้เงินคืนเท่าไหร่? น้องแคร์มีคำตอบ
กรมธรรม์คืออะไร?
กรมธรรม์ คือ เอกสารหลักฐานหลังจากที่ผู้เอาประกันตกลงสมัครทำประกันกับบริษัทประกันที่ทำหน้าที่เป็นผู้รับประกัน ภายในเอกสารกรมธรรม์ 1 ฉบับ จะมีการระบุรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันภัย อย่างเช่น
- รายละเอียดผู้เอาประกัน
- รายละเอียดผลประโยชน์ความคุ้มครอง
- รายละเอียดค่าเบี้ยประกัน เป็นรายปีหรือเป็นรายงวด
- รายละเอียดเงื่อนไขการให้ความคุ้มครอง ข้อยกเว้นและข้อกำหนดต่าง ๆ
- รายละเอียดเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์
- รายละเอียดตารางมูลค่ากรมธรรม์ เพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ มูลค่าการใช้เงินสำเร็จ และมูลค่าการขยายระยะเวลา
รวมไปถึงการระบุรายละเอียดระยะเวลากรมธรรม์ว่ากรมธรรม์ฉบับนั้น ๆ จะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ผู้เอาประกันจะต้องชำระค่าเบี้ยประกันจนกว่าจะครบสัญญาเป็นจำนวนกี่ปี และแผนประกันจะให้ความคุ้มครองตามสัญญาไปจนถึงผู้เอาประกันมีอายุกี่ปีหรือให้ความคุ้มครองกี่ปี เป็นต้น ซึ่งเอกสารกรมธรรม์ดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันและผู้รับประกันจึงจะเป็นเอกสารที่สมบูรณ์มีผลบังคับใช้ได้
นอกจากนี้ภายในกรมธรรม์ทุกกรมธรรม์จะมีการระบุเลขที่กรมธรรรม์เอาไว้ทุกเล่ม โดยเลขที่กรมธรรม์ก็คือ ตัวเลขที่แต่ละบริษัทประกันมีการกำหนดเอาไว้เพื่อใช้เป็นเลขอ้างอิงของแต่ละกรมธรรม์ เพื่อความสะดวกและความถูกต้องในการเก็บข้อมูลหรือค้นหา ตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลความคุ้มครองของกรมธรรม์นั้น ๆ ซึ่งทุกครั้งที่ผู้เอาประกันมีการซื้อประกันฉบับใหม่ เลขที่กรมธรรม์ก็จะเป็นเลขใหม่ที่ผูกติดมากับกรมธรรม์ฉบับนั้น ๆ มาด้วยเสมอ
การเวนคืนกรมธรรม์ คืออะไร?
การเวนคืนกรมธรรม์ (Insurance Policy Surrender) คือ วิธีการที่ผู้เอาประกันแจ้งความประสงค์กับบริษัทประกันว่าต้องการยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เคยทำไว้กับบริษัทประกัน โดยผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืนจากบริษัทประกันภัยตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของกรมธรรม์จากการเวนคืนกรมธรรม์ในครั้งนั้น ซึ่งเป็นการแสดงความประสงค์ที่จะปิดกรมธรรม์รูปแบบหนึ่ง และการปิดกรมธรรม์นั้นโดยทั่วไปสามารถเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ดังนี้
1. การปิดกรมธรรม์ในระยะเวลา Free Look
หมายถึง การยกเลิกกรมธรรม์ที่ยังอยู่ในช่วงระยะเวลา Free Look หรือช่วงระยะเวลาที่ผู้เอาประกันสามารถเปลี่ยนใจยกเลิกกรมธรรม์ที่เคยสมัครทำไว้โดยจะไม่ถูกหักเงินใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้เอาประกันจะได้รับเงินค่าเบี้ยประกันคืนแบบเต็มจำนวนจากบริษัทประกัน โดยเงื่อนไขในการปิดกรมธรรม์แบบ Free Look นั้น ผู้เอาประกันจะต้องดำเนินการแจ้งความประสงค์ยกเลิกกรมธรรม์ภายในระยะเวลา 15 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ ผู้เอาประกันจึงจะได้รับเงินค่าเบี้ยประกันที่ชำระไปก่อนหน้านี้คืน 100% ซึ่งวิธีการปิดกรมธรรม์แบบนี้จะยังไม่ใช่การเวนคืนกรมธรรม์ เนื่องจากยังไม่มีการชำระค่าเบี้ยประกันจนกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้น
2. การปิดกรมธรรม์แบบเวนคืนกรมธรรม์
วิธีการปิดกรมธรรม์โดยการเวนคืนกรมธรรม์นี้ จะสามารถใช้ได้หลังจากผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนกรมธรรม์ฉบับนั้น ๆ มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมูลค่าเงินสดในเล่มกรมธรรม์ประกันชีวิตจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือปีที่ 3 เป็นต้นไป ผู้เอาประกันก็จะสามารถใช้สิทธิในการเวนคืนกรมธรรม์ได้ทันที แต่หลังจากดำเนินการเวนคืนแล้ว ผู้เอาประกันจะไม่ได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครองจากกรมธรรม์ดังกล่าวอีกต่อไป และผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืนจากการเวนคืนกรมธรรม์เป็นจำนวนหนึ่งตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจะไม่ใช่เงินคืนที่เต็มจำนวนและไม่เท่ากับค่าเบี้ยประกันที่ชำระไปให้บริษัทประกันในระยะเวลาที่ผ่านมา
การเวนคืนกรมธรรม์เป็นหนึ่งในวิธีการขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์โดยการใช้สิทธิเกี่ยวกับมูลค่ากรมธรรม์ประกันชีวิต ตามข้อกำหนดของคปภ.ในกรณีที่ผู้เอาประกันอาจจะกำลังมีปัญหาด้านการชำระเบี้ยกรมธรรม์ ไม่สามารถชำระค่าเบี้ยประกันต่อไปได้ โดยการขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์จะมีอยู่ 3 วิธีการหลัก ๆ ได้แก่
- แปลงกรมธรรม์ด้วยการเวนคืนกรมธรรม์
- แปลงกรมธรรม์ด้วยการใช้เงินสำเร็จ
- แปลงกรมธรรม์ด้วยการขยายระยะเวลา
มูลค่า เวนคืนกรมธรรม์ คืออะไร? ได้มาจากไหน?
มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ ก็คือ จำนวนเงินที่ผู้ประกันภัยจะได้รับจากบริษัทประกันก่อนครบกำหนด เป็นเงินที่จะได้รับในกรณีที่ผู้เอาประกันดำเนินการเวนคืนกรมธรรม์ โดยบริษัทประกันจะมีการจ่ายเงินคืนเป็นจำนวนตามที่ปรากฎในตารางแห่งมูลค่ากรมธรรม์ ที่มีการกำหนดมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์เงินสดต่อจำนวนเงินเอาประกัน 1,000 บาท มูลค่าเวนคืนจะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินประกันภัยที่จ่ายแล้ว รวมถึงเงื่อนไขและข้อกำหนดในกรมธรรม์ เช่น ระยะเวลาที่เหลือในการประกันภัย อัตราเบี้ยประกัน และภาระผูกพันอื่น ๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
ซึ่งในกรณีที่ผู้เอาประกันทำการเวนคืนก่อนระยะเวลาที่กำหนด บริษัทประกันอาจมีการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าปรับอื่น ๆ จากจำนวนเงินประกันที่ผู้เอาประกันภัยจ่ายไปแล้ว เพื่อคำนวณเป็นมูลค่าเวนคืนที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์จะไม่ใช่เงินที่ผู้เอาประกันสามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่เป็นการได้รับเงินคืนจากบริษัทประกันกรณีเวนคืนเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์มักจะน้อยกว่าจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป เนื่องจากบริษัทประกันภัยจะหักค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าปรับอื่น ๆ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ตามที่กล่าวมานั่นเอง
การเวนคืนกรมธรรม์ คิดยังไง? คำนวณจากอะไร?
ในการคำนวณมูลค่าการเวนคืนกรมธรรม์นั้น บริษัทประกันจะมีการคิดเป็นจำนวนเงินตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งทั่วไปแล้วจะคิดเป็นส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินประกันที่จ่ายไปแล้วกับจำนวนเงินประกันที่ต้องจ่ายตามกรมธรรม์ คุณสามารถคำนวณมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ที่คุณจะได้รับหลังจากดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์โดยการเวนคืนกรมธรรม์ โดยคิดจากสูตร เงินที่ได้รับคืน = (มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ x เงินเอาประกัน) ÷ 1,000 ซึ่งจำนวนเงินที่ได้จะมากหรือน้อยเพียงใดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยประกันมาเทียบกับตารางมูลค่ากรมธรรม์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ผู้เอาประกันทำประกันด้วยเงินทุนประกันที่จำนวน 500,000 บาท และได้มีการชำระเบี้ยประกันมาแล้ว 10 ปี เมื่อเปิดตารางมูลค่ากรมธรรม์ในเอกสารกรมธรรม์แล้ว พบว่ามีมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 50 ดังนั้นเมื่อมีการเวนคืน ผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินคืนจากบริษัทประกันทั้งหมด (50 x 500,000) ÷ 1,000 = 25,000 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเวนคืนกรมธรรม์จะต้องไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของกรมธรรม์ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามบริษัทประกันและประเภทของกรมธรรม์ที่เลือกทำการประกัน ดังนั้น การตรวจสอบข้อมูลและการศึกษาเงื่อนไขของกรมธรรม์ก่อนทำการเวนคืนกรมธรรม์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เอาประกันภัยควรทำเป็นอันดับแรก
การขอเวนคืนกรมธรรม์แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ด้วยวิธีใช้เงินสำเร็จและขยายระยะเวลาอย่างไร?
การขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ด้วยวิธีการเวนคืนกรมธรรม์ การขยายระยะเวลาและการใช้เงินสำเร็จ เป็น 3 เหตุการณ์ที่มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. การเวนคืนกรมธรรม์
จะเป็นการยกเลิกสัญญากรมธรรม์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากกรมธรรม์นั้น ๆ อีกต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนจากบริษัทประกันภัยตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของกรมธรรม์ มักใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์แบบนี้ในกรณีที่ผู้เอาประกันไม่มีความสามารถในการชำระค่าเบี้ยได้เช่นเดิมและไม่ต้องการผลประโยชน์ความคุ้มครองที่เคยได้รับจากกรมธรรม์นั้น ๆ แล้ว เป้นการหยุดชำระค่าเบี้ยประกันและได้รับเงินคืนตามเงื่อนไขแต่ผู้เอาประกันจะไม่ได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครองจากบริษัทประกันอีกต่อไปนั่นเอง
2. การใช้เงินสำเร็จ
เป็นวิธีที่ผู้เอาประกันใช้ในการขอหยุดชำระค่าเบี้ยประกันกับบริษัทประกันและยังได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครองจากบริษัทประกันเช่นเดิม แต่ผลประโยชน์ด้านจำนวนทุนประกันจะลดลงจากเดิม ในขณะที่ระยะเวลาในการคุ้มครองยังคงเท่าเดิม เช่น ซื้อประกันชีวิตที่ทุนประกัน 500,000 บาท มีระยะเวลาในการให้ความคุ้มครอง 20 ปี เมื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ด้วยวิธีใช้เงินสำเร็จ ก็จะทำให้จำนวนทุนประกันลดลงเหลือ 200,000 บาท ในระยะเวลาในการให้ความคุ้มครองเท่าเดิมที่ 20 ปี เป็นต้น ซึ่งจะไม่เหมือนกับวิธีการเวนคืนกรมธรรม์ เนื่องจากวิธีการใช้เงินสำเร็จประกันจะยังคงให้ความคุ้มครองคุณเช่นเดิม เพียงแต่เงื่อนไขในการคุ้มครองจะเปลี่ยนไปจากเดิม
3. การขยายระยะเวลา
จะเป็นการดำเนินการหยุดชำระค่าเบี้ยประกันกับบริษัทประกันและยังคงได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครองจากบริษัทประกันเช่นเดิมเช่นเดียวกับวิธีการใช้เงินสำเร็จ แต่ผลประโยชน์ความคุ้มครองที่จะได้รับในด้านจำนวนระยะเวลาในการให้ความคุ้มครองจะลดลงจากเดิม ในขณะที่จำนวนทุนประกันยังคงเท่าเดิม เช่น ซื้อประกันชีวิตที่ทุนประกัน 500,000 บาท มีระยะเวลาในการให้ความคุ้มครอง 20 ปี เมื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ด้วยวิธีขยายระยะเวลา ก็จะทำให้ระยะเวลาในการให้ความคุ้มครองลดลงเหลือเพียง 7 ปี ในจำนวนทุนประกันเท่าเดิมที่ 500,000 บาท เป็นต้น
ดังนั้นผลของการขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ในกรณีที่ผู้เอาประกันอาจกำลังมีปัญหาด้านการชำระค่าเบี้ยประกัน โดยการเวนคืนกรมธรรม์ การขยายระยะเวลาและการใช้เงินสำเร็จ จึงมีความสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งผู้เอาประกันจะเลือกใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ด้วยวิธีใดก็มักจะขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์ของผู้เอาประกันภัยในแต่ละกรณี
หากดำเนินการขอเวนคืนกรมธรรม์ กี่วันจึงจะได้เงินคืน?
ต้องบอกว่าในการดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ด้วยวิธีการขอเวนคืนกรมธรรม์นั้น ระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่การยื่นเอกสารขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ไปจนถึงการรับเงินเวนคืนกรมธรรม์ จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน ซึ่งในบางบริษัทประกันการขอเวนคืนเพื่อรับมูลค่าเวนคืนเงินสด อาจจะมีระยะเวลาในการดำเนินการคืนเงินจ่ายให้ผู้เอาประกันแล้วเสร็จภายใน 20 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับคำร้องพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาการจ่ายอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว หรือบางบริษัทประกันอาจใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 7 - 15 วัน ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน ดังนั้นหากผู้เอาประกันประสงค์ที่จะยื่นขอเวนคืนก็ควรสอบถามขั้นตอน เอกสารที่ต้องเตรียมและระยะเวลาในการดำเนินการจนกว่าจะได้รับเงินคืนจากบริษัทประกันให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ หรือหากผู้เอาประกันสะดวกเดินทางไปดำเนินการขอเวนคืนกรมธรรม์ที่บริษัทประกันด้วยตนเอง ก็สามารถทำได้ ซึ่งวิธีการนี้ก็อาจจะทำให้ผู้เอาประกันได้รับเงินคืนจากการเวนคืนกรมธรรม์เร็วกว่าวิธีการขอเวนคืนกรมธรรม์โดยการจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ เป็นต้น
ประกันออมทรัพย์ที่ แรบบิท แคร์ แนะนำ
ไทยประกันชีวิต
- เบี้ยแค่ 10 ปี คุ้มครองถึงอายุ 85 ปี
- รับเงินปันผลทุกปี ปีละ 1%
- ครบสัญญารับเงินก้อนคืน 110%
- ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 1 แสนบาท
- สมัครได้ตั้งแต่ อายุ 1 เดือน - 60 ปี
ไทยประกันชีวิต
- เบี้ยแค่ 10 ปี คุ้มครองถึงอายุ 85 ปี
- รับเงินปันผลทุกปี ปีละ 1%
- ครบสัญญารับเงินก้อนคืน 110%
- ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 1 แสนบาท
- สมัครได้ตั้งแต่ อายุ 1 เดือน - 60 ปี
ไทยประกันชีวิต
- คุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 1 แสนบาท
- ชดเชยรายได้เมื่อนอน รพ. วันละ 500 บาท
- รับเงินคืนตลอด สัญญารวม 174%
- เบี้ยเริ่มต้นวันละ 16 บาท
- สมัครได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน - 55 ปี
- ลดหย่อนภาษี ได้สูงสุด 1 แสนบาท
Generali
- การันตีรับเงินคืน 3% ทุกปี
- กรณีมีชีวิตอยู่รับเงิน สูงสุด 310%
- จ่ายค่า เบี้ยคงที่ ไม่ปรับเพิ่มตามอายุ
- จ่ายค่าเบี้ย 10 ปี คุ้มครองนาน 20 ปี
- ลดหย่อนภาษี ได้สูงสุด 100,000 บาท