โรคระบาดในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง
อากาศช่วงนี้เปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่แปลกใจเลย หากเหล่าผู้ปกครองทั้งหลายจะเป็นกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกๆ หลานๆ ที่บ้าน ยิ่งช่วงนี้มีโรคระบาดแล้ว ยิ่งต้องกังวล แล้วช่วงนี้มีโรคระบาดอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายต้องระวัง มาดูกันดีกว่า
โรคระบาดในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง
ไข้หวัดใหญ่
โรคยอดฮิตประจำช่วงปลายฝน ต้นหนาว หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี และผู้ปกครองบางท่านอาจจะมองว่าเป็นโรคระบาดธรรมดา ไม่จำเป็นต้องกังวลใจอะไรมาก แต่เราบอกเลยว่าไข้หวัดใหญ่นี่ เป็นอีกโรคที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน
สำหรับไข้หวัดใหญ่นั้น เกิดได้จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) แม้ว่าอาการเริ่มต้น จะเหมือนไข้หวัด อาการไม่รุนแรงมากนัก หลายครั้งที่หายได้ไว เนื่องจากเรามีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง แต่ในไข้หวัดใหญ่บางชนิด อาจมีความรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้
ไข้หวัดใหญ่ในคนนั้น แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งเชื้อเหล่านี้มีมากมายหลายชนิด จำแนกออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ บี และซี สามารถเป็นซ้ำได้ แม้จะเคยเป็นมาแล้วก็ตาม
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด H1N1 มีความรุนแรงต่ำ จัดเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจาย และไวมากๆ
เช็กลิสต์ อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
- มีอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว
- ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา
- ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ
- ในผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุบางราย อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้
เรื่องน่ารู้ : โควิด-19 ไม่จัดเป็นโรคชนิดเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นเชื้อชนิดเดียวกับ โรคหวัดตามฤดูกาล 4 สายพันธุ์, โรคทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน (SARS) ในปี 2002 และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV)
อาการเด่นๆ คือ ไอแห้งๆ และมีไข้ไม่สูง ไม่ค่อยพบน้ำมูก หากมีอาการประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการหอบเหนื่อยร่วม ต่างจากไข้หวัดใหญ่ที่ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว อาจจะมีอาการเจ็บคอและคัดจมูกร่วมด้วย แต่ไม่ค่อยพบน้ำมูก บางรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีอาการถ่ายเหลวร่วมด้วย
มือเท้าปาก
อีกโรคระบาดยอดฮิต ที่เด็กหลายคนมักจะเป็นกัน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Enterovirus มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย คือ คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อย คือ เด็กทารก และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้
โรคมือเท้าปากนั้น สามารถติดต่อได้ทางน้ำลาย น้ำมูก น้ำหนอง และการจามรดกัน สิ่งที่น่ากลัวคือ โรคมือเท้าปาก แม้ผู้ป่วยจะหายแล้ว แต่ยังสามารถแพร่โรคได้ ราวๆ นาน 1 สัปดาห์
เนื่องจากโรคมือเท้าปาก จะทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลตามปาก และผื่นตามมือ บางคนเป็นแผลเยอะจึงไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ก็อาจจะต้องให้น้ำเกลือแทน เพื่อประคับประคองอาการจนกว่าจะหายดี ถึงแม้ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่ขณะเดียวกันคือ ภาวะแทรกซ้อนก็พบได้
โดยอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุด คือ ผู้ป่วยสามารถเป็นก้านสมองอักเสบได้ มีโอกาสเสียชีวิตสูง ที่สำคัญ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ
เช็กลิสต์ โรคมือเท้าปาก
- ในผู้ป่วยเด็ก มักจะเริ่มจากอาการไข้ ซึ่งอาจจะไข้ต่ำ หรือไข้สูงก็ได้
- มีแผลในปาก พบได้หลายตำแหน่ง ตั้งแต่บริเวณของเพดานปาก บกระพุ้งแก้ม หรือที่ลิ้นก็ได้ บางคนเป็นเยอะ ก็จะลามออกมาที่ริมฝีปาก หรือ รอบๆ ริมฝีปาก
- มีผื่นที่มือที่เท้า บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ส่วนใหญ่จะเป็นตุ่มแดงๆ หรือบางครั้งก็เป็นตุ่มน้ำใสได้
ส่วนอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
- มีอาการซึมลง ไม่อยากทานอาหาร
- บ่นปวดศีรษะมาก อาจจะปวดจนทนไม่ไหว
- มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลกๆ
- ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน
- มีอาการสะดุ้งผวา แขน ขา หรือ ตัวสั่นๆ
- มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูไม่มีเรี่ยวแรง หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้
ระยะที่แพร่เชื้อได้มากที่สุด อยู่ในช่วง 7 วันแรก หลังจากเริ่มมีอาการ และการรักษาโรคนี้ โดยทั่วไปก็จะเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก
เรื่องน่ารู้ : เพราะโรคนี้ไม่มีวัคซีน ต่างจากไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น สิ่งที่จะป้องกันได้ดีที่สุด คือการดูแลสุขอนามัยให้ถูกต้อง ล้างมือด้วยสบู่ทั้งก่อน และหลังทานอาหาร หรือว่าหลังจากเข้าห้องน้ำ รวมไปถึงการไม่พาเด็กๆ ไปในสถานที่ชุมชนแออัด ระวังระมัดในช่วงฤดูฝนเป็นพิเศษ
RSV
ช่วงนี้ ผู้ปกครองทั้งหลาย อาจจะได้ยินชื่อโรคนี้บ่อย และในหลายๆ คน ในวงการแพทย์ก็ได้ออกประกาศเตือนถึง โรค RSV นี้ โดยเจ้าโรคนี้ มีชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus หรือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัส RSV
RSV เป็นโรคระบาด ที่พบได้บ่อยในช่วงปลายฝนต้นหนาว และเกิดขึ้นได้ง่ายในหมู่วัยทารก และเด็กเล็ก สามารถติดต่อกันได้ โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เป็นต้น
อาการของ RSV จะคล้ายไข้หวัด แต่ที่แตกต่างกัน คือ ผู้ป่วย มักจะมีอาการ หอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ตามมาด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจต่างๆ โดยตรง
ดังนั้น หากไม่สังเกตให้ดี มีผู้ปกครองหลายคนอาจะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ภูมิแพ้อากาศ เป็นหอบหืด แทนได้
สำหรับเด็กคนไหนที่มีโรคประจำตัว อย่าง โรคหัวใจ โรคปอด หอบหืด เมื่อเป็นแล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ
ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ เน้นการรักษาตามอาการที่ป่วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อมัยโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย
เช็กลิสต์ โรค RSV
- อาการเบื้องต้นเหมือนไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ ไอเหมือนมีเสมหะในลำคอ จาม
- มีเสมหะมาก
- มีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว หายใจแรง
- หายใจครืดคราด
- ตัวเขียว
- มีเสียงหวีดในปอด จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบ และหลอดลมหดตัว
เรื่องน่ารู้ : RSV เป็นโรคระบาดที่มองออกได้ยาก เนื่องจากอาการป่วยคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดามาก เช่น ไข้ (ส่วนใหญ่ไข้ไม่สูงนัก) ไอ จาม แต่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอาการหอบเหนื่อยไม่ทราบสาเหตุ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกอาจได้รับเชื้อไวรัส RSV
โรคระบาดในเด็กนั้น จะระบาดเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน จนถึงต้นฤดูหนาว ดังนั้น ผู้ปกครองทั้งหลายไม่ควรไว้วางใจ!
นอกจากสุขอนามัยแล้ว การหมั่นสังเกตอาการลูกๆ ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น อย่าคิดว่าเป็นอาการป่วยไข้เล็กๆ น้อยๆ กินยานอนก็หาย เพราะบางครั้ง อาการอาจจะร้ายแรงกว่าที่คุณคิด
เพราะสุขภาพของเด็กๆ เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะซื้อประกันสุขภาพให้เด็กๆ ทีไ่หนดี ต้องนี่เลย ประกันสุขภาพเด็ก จาก Rabbit Care หายห่วงเรื่องสุขภาพของลูกหลานที่คุณรัก คลิกเลย!
นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct