อธิบายละเอียดยิบ “ทุพพลภาพ” ในภาษาประกันภัยหมายถึงอะไร?
หลายคนที่เคยอ่านรายละเอียดความคุ้มครองของแผนประกันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุ, ประกันการเดินทาง, พ.ร.บ.รถยนต์,ไปจนถึงประกันสังคม อาจเคยได้ยินคำว่า “ทุพพลภาพ” มาอยู่บ้าง เพราะคำนี้มักปรากฎอยู่ในเอกสารประกันภัยบ่อยครั้ง ซึ่งเงื่อนไขของประกันวินาศภัยทั้งหลายมักจะชดเชยให้กับผู้เอาประกันในกรณีทุพพลภาพนั้นเอง
“ทุพพลภาพ” มีทั้งหมดกี่ประเภท
หากคุณเข้าใจว่าทุพพลภาพนั้นคือการสูญเสียอวัยวะหรือความสามารถทางร่างกายจนไม่สามารถใช้งานได้ น้องแคร์ขอบอกเลยว่าคุณเข้าใจถูกเพียงส่วนเดียว! เพราะหากพูดถึงความทุพพลภาพในภาษาประกันภัยแล้วมันมีความหมายในเชิงลึกมากกว่านั้น และมีการแบ่งลักษณะของทุพพลภาพออกเป็นหลายประเภทดังนี้
- ทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง เป็นอาการทุพพลภาพที่หนักที่สุด คือต้องเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยอย่างหนัก จนสูญเสียอวัยวะหรือร่างกายไม่อยู่ในสภาวะที่จะประกอบอาชีพเดิมรวมถึงประกอบอาชีพอื่นใดได้ตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น เกิดอุบัติเหตุรถชนจนสูญเสียมือเท้าทั้งสองข้าง, สูญเสียการมองเห็นอย่างสิ้นเชิง, เป็นอัมพาตต้องนอนติดเตียงไปตลอดชีพ, สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอีกต่อไป เป็นต้น
- ทุพพลภาพอย่างถาวรบางส่วน เป็นการทุพพลภาพที่ร่างกายไม่อยู่ในสภาวะประกอบอาชีพเดิมได้ตลอดไป แต่ยังสามารถใช้ร่างกายประกอบอาชีพอื่น ๆ เพื่อรับค่าจ้างได้ ยกตัวอย่างเช่น การสูญเสียแขนหนึ่งข้างจนไม่สามารถประกอบอาชีพขับรถได้เหมือนเดิม แต่สามารถใช้อวัยวะอื่น ๆ ทำอาชีพอื่นทดแทนได้ เป็นต้น
- ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง คืออาการทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมหรืออาชีพใด ๆ เลยอย่างสิ้นเชิงในระยะเวลาชั่วคราว เมื่อได้รับการรักษาจนหายสามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ ยกตัวอย่างเช่น การได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้าเฝือกทั้งตัวจนไม่สามารถลุกออกจากเตียงได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นต้น
- ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน หมายถึงการทุพพลภาพจนเป็นอุปสรรคต่อการทำงานประจำ แต่เมื่อรักษาหายก็สามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่น ตกบันไดขาหักจนไม่สามารถเดินทางไปประกอบอาชีพทำงานประจำได้ แต่ยังสามารถทำงานหารายได้อยู่ที่บ้านได้ เป็นต้น
เรามักเจอคำว่าทุพพลภาพอยู่ในประกันไหนบ้าง?
คำว่าทุพพลภาพมักจะอยู่คู่กับประกันวินาศภัยเสมอ ซึ่งน้องแคร์จะยกตัวอย่างกรมธรรม์ประกันภัยที่มักมีคำว่าทุพพลภาพปรากฎอยู่มาให้เป็นเกร็ดความรู้ดังนี้
1. ประกันอุบัติเหตุ มักปรากฎคำว่าทุพพลภาพในรูปแบบแผนประกันภัยนั่นคือ
- ประกันอุบัติเหตุแบบ อ.บ.1 ที่จะให้คุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง, และทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน
- ประกันอุบัติเหตุแบบ อ.บ.2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจาก อบ. 1 ในส่วนของการทุพพลภาพถาวรบางส่วน อย่างการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟัง เป็นต้น
2. พ.ร.บ. รถยนต์ / พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ จะปรากฎเงื่อนไขทุพพลภาพในรูปแบบของเงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้แก่
- เงินชดเชยเบื้องต้น(ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด) เมื่อทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง เป็นจำนวนเงิน 35,000 บาท
- เงินชดเชยส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น เมื่อทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท
- เงินชดเชยส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น เมื่อทุพพลภาพถาวรบางส่วน เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท
3. ประกันการเดินทาง จะปรากฏคำว่าทุพพลภาพอยู่ในเงื่อนไขของเงินชดเชย เมื่อผู้ทำประกันได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขณะเดินทาง โดยส่วนมากประกันเดินทางมักจะคุ้มครองกรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงตามวงเงินที่ระบุไว้ ซึ่งผู้ทำประกันต้องอ่านรายละเอียดให้ดีก่อนทำประกัน
4. ประกันทุพพลภาพ บางบริษัทฯ ได้ออกแผนประกันทุพพลภาพมาโดยเฉพาะ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพจากสาเหตุต่าง ๆ
จะเห็นได้ว่า “ทุพพลภาพ” ในภาษาประกันภัยนั้นมีรายละเอียดในเชิงลึกและเกี่ยวข้องกับเงินชดเชยโดยตรง ผู้ทำประกันภัยควรต้องศึกษารายละเอียดประเภทของทุพพลภาพให้ดีเสียก่อน เพื่อที่จะเข้าใจเงื่อนไขการชดเชยของบริษัทประกัน หวังว่าความรู้ที่น้องแคร์นำมาฝากในวันนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจลักษณะของทุพพลภาพกันมากขึ้น
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี