แคร์สุขภาพ

โรคพุ่มพวงคืออะไร มีอาการอย่างไร อันตรายถึงชีวิตหรือไม่ ?

ผู้เขียน : Nok Srihong
Nok Srihong

มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

close
linkedin icon
แก้ไขโดย : คะน้าใบเขียว
คะน้าใบเขียว

นักเขียนรุ่นไฮบริด เขียนบทความด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลและการลงทุนต่าง ๆ กว่า 7 ปี เริ่มต้นที่งานเขียนที่ Rabbit Finance จนย้ายมาที่ Rabbit Care และ Asia Direct

close
linkedin icon
 
Published: May 23,2024
  
Last edited: August 6, 2024
โรคพุ่มพวง

โรคที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่าโรคพุ่มพวง เนื่องจากคนไทยเรารู้จักโรคนี้กันอย่างแพร่หลายเมื่อศิลปินชื่อดังอย่างคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้เสียชีวิตลงจากโรคดังกล่าว ความจริงแล้ว คือ โรคภูมิแพ้ตัวเอง (Lupus) ซึ่งถือเป็นโรคที่มีความร้ายแรงและเป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความปกติส่งผลให้มีความเสี่ยงอันตรายต่อร่างกายและชีวิตเลยทีเดียว

และด้วยปัจจุบันมีอัตราผู้ที่ป่วยเป็นโรคพุ่มพวงมากยิ่งขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน แรบบิท แคร์ จึงเลือกที่จะหยิบยกข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวกับโรคพุ่มพวงมาฝาก ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานที่ว่าโรคพุ่มพวงนั้นคืออะไร มีอาการแสดงอย่างไร ? มีสาเหตุในการเกิดจากอะไร สามารถป้องกันได้ไหม ? เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้และระมัดระวังตัวกันไว้ สุขภาพร่างกายจะได้แข็งแรงห่างไกลโรคภัยนั่นเอง

ประกันสุขภาพที่คุณเลือกเองได้ พร้อมชำระได้หลากหลายช่องทาง
icon angle up or down

เลือกแผนประกันสุขภาพที่คุณสนใจ

    ชื่อนามสกุล

    หมายเลขโทรศัพท์

    โรคพุ่มพวงหรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง คืออะไร ?

    โรงพยาบาลกรุงเทพได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) หรือโรคพุ่มพวงว่า โรคพุ่มพวง คือโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของคนเรา โดยที่ภูมิคุ้มกันของคนคนนั้นจะทำการต่อต้านและทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตนเองจนเกิดอาการอักเสบและเกิดความผิดปกติกับอวัยวะทั่วร่างกายขึ้นได้ โดยโรคพุ่มพวงนี้นั้นมักจะพบในช่วงวัยเจริญพันธุ์และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

    โรคพุ่มพวง อาการ

    สำหรับอาการของโรคพุ่มพวงนั้น เราอาจสามารถลองสังเกตตัวเองได้ง่าย ๆ ว่ามีความเสี่ยงหรืออาจจะกำลังเป็นโรคพุ่มพวงอยู่หรือไม่ด้วยอาการแสดงที่มักพบเจอในคนที่เป็นโรคพุ่มพวง ดังนี้

    • รู้สึกอ่อนแรงและเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ
    • มีอาการปวดหัว มีไข้ (ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ ไปจนถึงไข้สูง)
    • มีอาการตาแห้ง ตาบวม
    • มีผื่นแดงขึ้นตามบริเวณใบหน้า แขน ขา
    • มีแผลบริเวณปาก
    • ผมร่วงผิดปกติ
    • นิ้วมือและนิ้วเท้าซีด
    • ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น
    • มีความรู้สึกเบื่ออาหาร
    • มีอาการปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ
    • มีอาการปวดตามบริเวณข้อ
    • มีอาการข้อบวม ขาบวม
    • รู้สึกมึนงง สูญเสียความทรงจำ
    • รู้สึกเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ 
    • มีสภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ 

    หากมีอาการตามนี้ควรสังเกตอาการตัวเองให้ดีว่าอาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุปัจจัยอื่นใดหรือไม่ หากยังไม่แน่ใจและมีอาการผิดปกติเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน หรือมีมากกว่า 2-3 ข้อขึ้นไป ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที

     

    โรคภูมิแพ้ตัวเอง

    สาเหตุของการเกิดโรคพุ่มพวง

    อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าโรคพุ่มพวงนั้น คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรานั้นจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายเพียงเท่านั้น แต่เมื่อเป็นโรคพุ่มพวงระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของเรากลับมีปฏิกิริยาต่อต้านและทำลายเนื้อเยื่อตามอวัยวะต่าง ๆ ของเราแทน โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าโรคพุ่มพวงนั้นมีสาเหตุเกิดมาจากอะไรกันแน่ แต่ก็ได้มีการคาดการณ์ถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ก่อโรคพุ่มพวงได้ คือ

    • พันธุกรรม : ในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอาจมีการส่งต่อลักษณะบางอย่างที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคพุ่มพวงได้
    • การติดเชื้อ : การติดเชื้อไวรัสบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดการเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองได้
    • ฮอร์โมนมีความเปลี่ยนแปลง : การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิงซึ่งอยู่ในช่วงวัยเจริญเติบโตหรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ก็นับเป็นอีกปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุได้
    • การได้รับสารเข้าสู่ร่างกาย : ทั้งสารเคมีต่าง ๆ การสูบบุหรี่และยาสูบ
    • การใช้ยาบางชนิด : เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านอาการชัก และยากลุ่มควบคุมความดันโลหิต
    • แสงแดด : เมื่อผู้ที่มีความไวต่อแดดสัมผัสต่อแสงแดดอาจส่งผลให้เกิดรอยโรค และเกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้

    ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทางการแพทย์นั้นคาดการณ์ว่าทำให้เกิดโรคพุ่มพวงหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ดังนั้นหากปัจจัยแวดล้อมไหนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงกันไว้ดีกว่านั่นเอง

    วิธีการรักษาโรคพุ่มพวง

    ในส่วนของการรักษาโรคพุ่มพวงนั้น โรคดังกล่าวเป็นโรคเรื้อรังที่จะต้องทำการรักษาต่อเนื่องและมีการติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้โรคสงบลงได้ ซึ่งในเริ่มแรกแพทย์จะทำกนระดับความร้ายแรงของโรคว่าอาการที่ผู้ป่วยโรคพุ่มพวงเป็นอยู่นั้นมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากแต่ละคนที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองนั้นจะมีระดับความร้ายแรงของอาการที่ไม่เท่ากัน หลังจากประเมินอาการเรียบร้อยแล้วนั้นก็จะทำการวางแผนการรักษาในขั้นต่อไป และมีการให้ยากับผู้ป่วย

    สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนมีการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายหลายระบบแพทย์อาจมีการพิจารณาในการให้ยากดภูมิและยาสเตอรอยด์เพื่อคุมโรค ทั้งนี้วิธีการรักษาและยาที่ป่วยแต่ละคนจะได้รับนั้นจะมีความแตกต่างกันไปตามอาการและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษานั่นเอง

    โรคพุ่มพวง อยู่ได้กี่ปี

    โรคพุ่มพวง หายขาดได้หรือไม่ ?

    คำถามยอดฮิตเมื่อกล่าวถึงโรคพุ่มพวงก็คือโรคนี้สามารถหายขาดได้หรือไม่ คำตอบคือโรคพุ่มพวงนั้นสามารถรักษาให้หายได้แต่ก็สามารถอาการกำเริบกลับมาได้เช่นกัน ดังนั้นอาจกล่าวไม่ได้ว่าจะสามารถรักษาจนหายขาด เพียงรักษาให้หายได้เพียงเท่านั้น และในการรักษาจะต้องใช้เวลาในการรักษามาก มีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง รับประทานยาและดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด และเมื่อหายแล้วก็จำเป็นที่จะต้องมีการดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมากำเริบหรือโรคนี้หวนกลับมาทำร้ายร่างกายของเราอีกครั้งนั่นเอง

    โรคพุ่มพวง อันตรายถึงชีวิตไหม ?

    สำหรับโรคพุ่มพวงนั้น หากไม่ดูแลตัวเองให้ดี ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และติดตามอาการอยู่เสมอ เมื่ออาการกำเริบก็สามารถส่งผลให้มีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากและจะละเลยไม่ได้โดยเด็ดขาด

    โรคพุ่มพวง อยู่ได้กี่ปี ?

    เมื่อเป็นโรคพุ่มพวงแล้ว ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาแน่ชัดว่าคนไข้นั้นจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกกี่ปี เพราะแม้จะเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตแต่ก็ยังเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ เพียงแต่มีความเสี่ยงอันตรายจนอาจเสียชีวิตได้หากอาการกำเริบ ไม่ดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ และไม่ยอมดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ

    โรคพุ่มพวง อาการ

    วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคพุ่มพวง

    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ
    • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด
    • เลือกรับประทานอาหารที่สะอาดอยู่เสมอ
    • ทานอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงของดิบ และของหมักดอง
    • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
    • มีวินัยในการมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
    • ดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

    วิธีการป้องกันโรคพุ่มพวง

    เนื่องจากยังไม่มีการทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคพุ่มพวง ส่งผลให้การป้องกันการเกิดโรคนั้นยากตามไปด้วย สิ่งที่เราทำได้ก็มีเพียงการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคดังกล่าวขึ้นและหมั่นดูแลตัวเองให้แข็งแรงอย่างเสมอ โดยการ

    • เลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์
    • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
    • หลีกเลี่ยงการรับสารเคมีต่าง ๆ 
    • รักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ

    แม้ว่าจะไม่ทราบวิธีในการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวอย่างแน่ชัด แต่แน่นอนว่าเมื่อร่างกายและจิตใจของเราแข็งแรง ความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายก็จะลดน้อยตามไปด้วย นอกจากนี้สำหรับใครที่กังวลว่าอาจมีกรรมพันธุ์ในการเป็นโรคพุ่มพวงหรือโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตก็สามารถเลือกทำประกันสุขภาพ กับ แรบบิท แคร์ ได้เพื่อความอุ่นใจ จะกี่โรคร้ายก็ไร้กังวลได้นั่นเอง

    ทั้งหมดนี้คือเรื่องพื้นฐานน่ารู้เกี่ยวกับโรคพุ่มพวง แน่นอนว่าการไม่เป็นโรคนับเป็นลาภอันประเสริฐ แต่หากมีโรคเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการต่อสู้กับมันอย่างไม่ย่อท้อ ดูแลตัวเองให้ดี ทำสภาพจิตใจให้ผ่องใสผ่อนคลาย พร้อมที่จะสู้และก้าวเดินต่อไป และสำหรับใครที่มีคนที่ห่วงใยเป็นโรคร้าย ก็ต้องไม่ลืมว่ากำลังใจดี ๆ จากคนรอบข้างที่ห่วงใย ถือเป็นยาใจชั้นดีที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถมีแรงฮึดสู้ต่อไปได้ในทุก ๆ วัน


    สรุป

    สรุปบทความ

    โรคพุ่มพวง หรือ โรคภูมิแพ้ตัวเอง คือ โรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายทำการต่อต้านและทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตนเองจนเกิดอาการอักเสบและเกิดความผิดปกติกับอวัยวะทั่วร่างกาย พบในช่วงวัยเจริญพันธุ์และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ปัจจุบันจะเป็นการรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อประคองอาการให้ลดน้อยลงจนเหมือนไม่มีอาการได้ แต่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้จะยังหาสาเหตุต้นตอของการเกิดโรคยังไม่ได้ชัดเจน หรือมีวิธีป้องกันโรคได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการหมั่นเฝ้าสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากพบอาการที่เข่าข่ายเสี่ยงควรพบแพทย์ทันที

    จบสรุปบทความ

    ที่มา


     

    บทความแคร์สุขภาพ