ต้องรู้! ก่อนบริจาคเลือดสภากาชาดไทย เตรียมตัวอย่างไร? ข้อห้าม บริจาคเลือดมีอะไรบ้าง?
“ให้เลือดให้ชีวิต” หลายคนคงเคยได้ยินคำ ๆ นี้กันมาบ้าง แน่นอนว่าเนื้อหาใจความสำคัญของมันก็คือ การเชิญชวนให้ไปร่วมบริจาคเลือด เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่กำลังขาดเลือด รอการช่วยเหลือ ซึ่งในปัจจุบันการบริจาคเลือดก็ยังคงถือเป็นกิจกรรมทางสังคมรูปแบบอาสาสมัครที่ใครหลาย ๆ คนที่มีจิตกุศลต้องการทำบุญให้ความสนใจเป็นอย่างมาก วันนี้น้องแคร์มีข้อมูลดี ๆ มาฝากทุก ๆ คน ให้ได้เตรียมพร้อมก่อนไปติดต่อขอบริจาค จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย!
ทำความรู้จักประเภทของการบริจาคเลือดกันก่อน!
ก่อนที่จะตัดสินใจไปบริจาคเลือด น้องแคร์อยากจะให้ทุกคนได้รับทราบกันก่อนว่าการบริจาคนั้นมันมีกี่ประเภทกันแน่ และคุณจะสามารถบริจาคเลือดประเภทไหนได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณได้ตัดสินใจเลือกประเภทการบริจาคที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด
โดยประเภทของการบริจาคเลือดที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดรับบริจาคเพื่อให้สามารถจัดหาโลหิตให้ได้วันละ 1,800 – 2,000 ยูนิต และเพียงพอสำหรับการจ่ายให้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ จะมีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่
- บริจาคโลหิตรวม หรือ การบริจาคโลหิตครบส่วน (Whole Blood)
คือ การบริจาคเลือดแบบพื้นฐานทั่วไป เป็นวิธีการบริจาคที่ง่ายที่สุดที่ทางศูนย์รับบริจาคเลือดจะทำการรับเลือดจากผู้บริจาคโดยตรง โดยจะเก็บเลือดที่ได้ไว้ในถุงเก็บเลือดที่มีสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดชนิด CPD ก่อนจะนำไปแยกส่วนประกอบของเลือด เป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง พลาสม่า เกล็ดเลือด เป็นต้น ทุกครั้งที่จะมีการบริจาค เจ้าหน้าที่จะมีการสอบถามประเภทของหมู่โลหิต หรือที่รู้จักกันในนามกรุ๊ปเลือด เพื่อคัดแยกประเภทหมู่เลือดแต่ละประเภท ซึ่งหมู่เลือดที่พบในคนไทย ได้แก่
เลือดกรุ๊ปโอ (O) พบได้ 38% ต้องจัดหาโลหิตให้ได้ 800 ยูนิตต่อวัน
เลือดกรุ๊ปเอ (A) พบได้ 21% ต้องจัดหาโลหิตให้ได้ 500 ยูนิตต่อวัน
เลือดกรุ๊ปบี (B) พบได้ 34% ต้องจัดหาโลหิตให้ได้ 550 ยูนิตต่อวัน
และเลือดกรุ๊ปเอบี (AB) พบได้ 7% ต้องจัดหาโลหิตให้ได้ 150 ยูนิตต่อวัน
- บริจาคเกล็ดเลือด (Single Donor Platelets)
การบริจาคเกล็ดเลือด โดยใช้เครื่องแยกส่วนประกอบของเลือดเป็นวิธีการเก็บเกล็ดเลือดที่ดีที่สุด ที่จะสามารถคัดเก็บเกล็ดเลือดได้ปริมาณมากถึง 4 – 6 เท่าของวิธีการบริจาคโลหิตรวม (Whole Blood) และเสียปริมาตรเลือดน้อยกว่า การบริจาคเกล็ดเลือดนี้เลือดของผู้บริจาคจะถูกนำไปเข้าเครื่องแยกส่วนประกอบของเลือดเพื่อคัดแยกเก็บเฉพาะเกล็ดเลือดเท่านั้น เลือดส่วนอื่นอย่างเลือดแดงและพลาสม่าจะกลับคืนสู่ร่างกายผู้บริจาค ใช้ระยะเวลาในการคัดเก็บเกล็ดเลือดประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง หลังจากบริจาคเกล็ดเลือดไปแล้ว 1 เดือน จะสามารถบริจาคโลหิตรวม (Whole Blood) ได้ตามปกติ และไม่เกิน 24 ครั้งต่อปี
เกล็ดเลือดที่ได้จากผู้บริจาค 1 ถุง สามารถที่จะนำไปใช้ในผู้ป่วย 1 คน เพื่อป้องกันหรือหยุดเลือดได้ แต่ถ้าเป็นการใช้เกล็ดเลือดที่มาจากการรับบริจาคโลหิตรวม (Whole Blood) ก็จะต้องใช้เกล็ดเลือดจากผู้บริจาคมากถึง 4 – 6 คน รวมกันเลยทีเดียว วิธีการนี้จึงเป็นวิธีการบริจาคเกล็ดเลือดที่ดีที่สุดนั่นเอง - บริจาคพลาสม่า (Single Donor Plasma)
พลาสม่า หรือ น้ำเหลือง คือส่วนประกอบของเลือดที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองใส พลาสม่าจะประกอบไปด้วยน้ำและสารโปรตีนต่าง ๆ เช่น อิมมูโนโกลบูลิน แอลบูมิน ที่เป็นส่วนสำคัญในการต่อต้านเชื้อโรค วิธีการบริจาคพลาสม่านี้จะมีทั้งการบริจาคพร้อมกับการบริจาคเกล็ดเลือดเลย และการบริจาคเพียงพลาสม่าอย่างเดียวเท่านั้นแล้วแต่ความประสงค์ของผู้บริจาค ใช้ระยะเวลาในการบริจาค 45 นาที ครั้งละ 500 มิลลิลิตร และผู้บริจาคสามารถทำการบริจาคพลาสม่าได้ทุก ๆ 14 วัน - บริจาคเม็ดเลือดแดง (Single Donor Red Cell)
เม็ดเลือดแดงสามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะการสูญเสียเลือดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือมีภาวะซีดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เช่น ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นต้น ในการบริจาคเม็ดเลือดแดงจะใช้การกรองเลือดเพื่อเก็บเม็ดเลือดแดงจากการเก็บน้ำเลือดทั้งหมดที่ได้จากการรับบริจาค ก่อนนำไปแยกเพื่อเก็บเฉพาะเม็ดแดงไว้ในเครื่องแยกส่วนประกอบภายหลัง โดยผู้บริจาค 1 ราย จะสามารถบริจาคเม็ดเลือดแดงได้ 2 ยูนิต และสามารถบริจาคได้ทุก ๆ 4 เดือน
คุณสมบัติของผู้ที่สามารถบริจาคเลือดประเภทต่าง ๆ ได้ มีอะไรบ้าง?
สำหรับบุคคลที่ต้องการจะบริจาคเลือดทั้ง 4 ประเภท จะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กำหนดเท่านั้น โดยแยกตามประเภทการบริจาคทั้ง 4 ประเภท ดังนี้
คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิตรวม (Whole Blood)
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
- อายุระหว่าง 17 ปีบริบูรณ์ ถึง 65 ปี โดย
- หากผู้บริจาคโลหิตอายุไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองตามกฏหมาย
- หากผู้บริจาคโลหิตมีอายุระหว่าง 60 ถึง 65 ปี
- ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติอื่นๆของผู้บริจาคเลือด
- ต้องเป็นผู้บริจาคเลือดประจำมาก่อนจนกระทั่งอายุ 60 ปี (อย่างน้อย 4 ครั้งใน 3 ปีล่าสุด)
- บริจาคเลือดได้ทุก 6 เดือน
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดปีละ 1 ครั้ง โดยเริ่มตรวจครั้งแรกตอนบริจาคโลหิตเมื่ออายุครบ 60 ปี และต้องผ่านเกณฑ์การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดด้วย
- มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 48 กิโลกรัมขึ้นไป
- ไม่อยู่ในระหว่างการรับประทานยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ยาเพิ่มการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ยารักษาสิว Isotretinoin ยารักษาต่อมลูกหมาก และยาปลูกผม (Finasteride)
- ต้องไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการบริจาค
- ต้องไม่มีบาดแผลสดหรือบาดแผลติดเชื้อใด ๆ ตามร่างกาย
- ต้องไม่เป็นบุคคลที่มีประวัติป่วยด้วยโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี
- สำหรับเพศหญิง ต้องไม่อยู่ในระยะการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตร
- สำหรับเพศหญิงที่อยู่ระหว่างการมีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนหยุดจึงจะสามารถบริจาคได้
คุณสมบัติผู้บริจาคเกล็ดเลือด
- เพศชาย
- อายุระหว่าง 18 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์ (กรณีบริจาคครั้งแรก ต้องมีอายุไม่เกิน 50 ปี)
- มีน้ำหนักตัวมากกว่า 55 กิโลกรัมขึ้นไป
- ต้องเป็นผู้บริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ อย่างน้อย 1 ครั้ง
- ต้องไม่เว้นระยะเวลาในการบริจาคเลือดนานเกิน 6 เดือน
- มีเส้นโลหิตที่บริเวณข้อพับแขนทั้ง 2 ข้าง ชัดเจน สามารถมองเห็นได้ง่าย
- ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภททอด ผัด และอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ในมื้อก่อนหน้าที่จะมาบริจาคโลหิต
- ไม่รับประทานยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพริน เป็นเวลา 3 วัน ก่อนการบริจาค
- มีปริมาณเกล็ดเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ (มีค่าเกล็ดเลือดมากกว่า 2 แสนตัว ต่อโลหิต 1 ลูกบาศก์มิลลิลิตร)
คุณสมบัติผู้บริจาคพลาสมา (Single Donor Plasma)
- อายุระหว่าง 18 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์ (กรณีบริจาคครั้งแรก ต้องมีอายุไม่เกิน 50 ปี)
- ผู้บริจาคเพศชาย ต้องมีน้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัมขึ้นไป
- ผู้บริจาคเพศหญิง ต้องน้ำหนักมากกว่า 60 กิโลกรัมขึ้นไป
- เป็นผู้บริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ครั้ง
- ต้องไม่เว้นระยะเวลาในการบริจาคเลือดนานเกิน 6 เดือน
- มีเส้นโลหิตที่บริเวณข้อพับแขนทั้ง 2 ข้าง ชัดเจน สามารถมองเห็นได้ง่าย
- ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภททอด ผัด และอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ในมื้อก่อนหน้าที่จะมาบริจาคโลหิต
- หากผู้บริจาคมีความประสงค์จะบริจาคพลาสมา เพื่อผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จะต้องสมัครเข้าโครงการ อย่างน้อย 3 ปี
คุณสมบัติผู้บริจาคเม็ดเลือดแดง (Single Donor Red Cell)
- อายุระหว่าง 18 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์ (กรณีบริจาคครั้งแรก ต้องมีอายุไม่เกิน 50 ปี)
- ผู้บริจาคเพศชาย ต้องมีน้ำหนักมากกว่า 59 กิโลกรัมขึ้นไป และมีส่วนสูงมากกว่า 155 เซนติเมตรขึ้นไป
- ผู้บริจาคเพศหญิง ต้องน้ำหนักมากกว่า 68 กิโลกรัมขึ้นไป และมีส่วนสูงมากกว่า 165 เซนติเมตรขึ้นไป
- เป็นผู้บริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อย่างน้อย 1 ครั้ง และต้องไม่เว้นระยะเวลาในการบริจาคนานเกิน 6 เดือน
- มีเส้นโลหิตที่บริเวณข้อพับแขนทั้ง 2 ข้าง ชัดเจน สามารถมองเห็นได้ง่าย
- ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทาอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภททอด ผัด และอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ในมื้อก่อนหน้าที่จะมาบริจาคโลหิต
- ต้องมีค่าความเข้มข้นโลหิต หรือค่า Hct มากกว่า 40 %
- ต้อง คำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ผลลัพธ์ที่ได้ต้องมีค่าน้อยกว่า 25.00
การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด และการดูแลตัวเองหลังบริจาคเลือด
ข้อปฏิบัติก่อนบริจาคเลือด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญมากสำหรับผู้บริจาคเลือด จำเป็นจะต้องนอนหลับพักผ่อนในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการเกิดอาการอ่อนเพลียมากหลังการบริจาคเสร็จสิ้น
- สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
ผู้บริจาคจำเป็นจะต้องดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วยเป็นไข้หวัด และไม่อยู่ในระหว่างการรับประทานยาปฏิชีวนะใด ๆ อย่างเช่น ยาแก้อักเสบ ก่อนวันที่จะมาบริจาคอย่างน้อย 7 วัน (หยุดยาต่อเนื่องอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันบริจาค)
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
ผู้บริจาคเลือดจะต้องรับประทานอาหารก่อนการบริจาค 4 ชั่วโมง และมื้ออาหารภายใน 6 ชั่วโมง ก่อนการบริจาค ผู้บริจาคจะต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานมื้ออาหารประเภทที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ และไม่อยู่ในระหว่างการรับประทานยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ยาเพิ่มการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ยารักษาสิว Isotretinoin ยารักษาต่อมลูกหมาก และยาปลูกผม (Finasteride)
- การดื่มน้ำก่อนบริจาคโลหิต
ก่อนวันบริจาค 1 – 2 วันให้ผู้บริจาคดื่มน้ำสะอาดปริมาณมากกว่าเดิม เพื่อให้ร่างกายสดชื่น และก่อนการบริจาคเลือด 30 นาที ให้ดื่มน้ำสะอาดปริมาณ 3 – 4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณเลือดที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมจากการบริจาคโลหิตได้
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และกัญชา
- กรณีผู้บริจาคมีการใช้กัญชาเป็นประจำตั้งแต่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป จะต้องมีการงดการใช้กัญชาอย่างน้อย 7 วันก่อนบริจาคเลือด (ในวันที่บริจาคจะต้องไม่มีอาการมึนงง สับสน)
- กรณีผู้บริจาคใช้กัญชาเป็นครั้งคราว ให้งดใช้กัญชาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนการบริจาค
- กรณีผู้บริจาคมีการสูบบุหรี่เป็นประจำ หลังจากการบริจาคจะต้องงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกเลือดได้ดียิ่งขึ้น
ก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ผู้บริจาคจะต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และการใช้กัญชา
ข้อปฏิบัติหลังบริจาคเลือด
- นั่งพักอย่างน้อย 15 นาที
หลังจากบริจาคเลือดเสร็จ ให้ผู้บริจาคพักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการ และนั่งพักอย่างน้อย 15 นาที ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที และให้ดื่มน้ำในปริมาณที่มากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน
- หลีกเลี่ยงการขึ้น – ลงลิฟท์ หรือบันไดเลื่อน
หลังการบริจาคเลือดควรหลีกเลี่ยงการขึ้น – ลงลิฟท์หรือบันไดเลื่อนทันที เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการมีอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมหลังบริจาคเสร็จใหม่ ๆ บริเวณจุดที่เจาะเลือดหากมีเลือดซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วกดลงบนผ้าก๊อซให้แน่นและยกแขนสูง ประมาณ 3 – 5 นาที หากเลือดยังไม่หยุดซึมให้รีบกลับมายังสถานที่บริจาคเพื่อพบแพทย์
- หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ
ในช่วง 24 ชั่วโมง หลังการบริจาคเลือด ผู้บริจาคไม่ควรออกกำลังกายหนัก หรือใช้งานกำลังแขนที่เจาะบริจาค เช่น การยกของหนัก รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการทำซาวน่าที่ทำให้เกิดการเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก หลังการบริจาค และควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อย่างเช่น การเดินซื้อของ ในบริเวณที่แออัดอากาศอบอ้าว
- ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน
เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากอาการวูบ วิงเวียนศีรษะ หรือเป็นลม ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการบริจาคเลือดได้
- รับประทานธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ด จนหมด
รับประทานธาตุเหล็กเพื่อชดเชยเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิตและป้องกันภาวะการขาดธาตุเหล็ก เพื่อให้สามารถบริจาคได้อย่างสม่ำเสมอ หากกรับประทานธาตุเหล็กพร้อมกับเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง อย่างเช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง หรือน้ำมะเขือเทศ จะยิ่งช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีมากขึ้น สำหรับอาหารผู้บริจาคเลือดสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นหลังจากบริจาคโลหิต
การบริจาคเลือดมีประโยชน์อย่างไร? ทำไมถึงควรไปบริจาคเลือด?
การบริจาคเลือดในแต่ละครั้งจะไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค เพราะบุคคลที่จะสามารถบริจาคเลือดได้ ก็จะต้องมีคุณสมบัติตามกำหนดข้างต้น และหนึ่งในคุณสมบัติที่ผู้บริจาคเลือดจำเป็นต้องมีก็คือ การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ดังนั้นการบริจาคเลือดจึงไม่มีผลอันตรายต่อร่างกายของผู้บริจาค หลังจากมีการบริจาคเสร็จสิ้นแล้ว ไขกระดูกในร่างกายก็จะทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนต่อเนื่อง เม็ดเลือดแดงที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นั้นก็จะไหลเวียนในร่างกายยาวนานไปอีกประมาณ 120 วัน
โดยผู้บริจาค 1 คน จะสามารถบริจาคโลหิตได้ครั้งละ 350 – 450 ซีซี คิดเป็น10% – 12% ของปริมาณโลหิตทั้งหมดในร่างกายเท่านั้น ในการบริจาคเลือดแต่ละครั้งจึงก่อให้เกิดประโยชน์กับร่างกายของผู้บริจาค ดังนี้
- ช่วยกระตุ้นระบบการทำงานของไขกระดูกในร่างกาย ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน
- ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายดีขึ้น ผิวพรรณร่างกายเปล่งปลั่ง หน้าใสขึ้น
- ช่วยลดอัตราความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดแดงตีบ เนื่องจากการบริจาคเลือดช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลและไขมัน
- ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากการบริจาคเลือดช่วยลดปริมาณธาตุเหล็กส่วนเกินที่ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคมะเร็ง
- ช่วยให้ทราบหมู่โลหิตของตนเองในระบบ ABO และ Rh
- ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากการบริจาคเลือด อย่างเช่น บริจาคเลือดตั้งแต่ 24 ครั้งเป็นต้นไป ผู้บริจาคสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่กำหนดฟรี เป็นต้น
- ที่สำคัญที่สุด คุณจะได้มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่รอรับการช่วยเหลือด้วย
ซึ่งเลือด 1 ถุง ปริมาณ 350 – 450 ซีซี ที่ได้จากการรับบริจาค สามารถนำไปใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการเลือดได้มากถึง 3 คน เลยทีเดียว
ข้อห้ามในการบริจาคเลือด บุคคลใดบ้างที่ไม่สามารถบริจาคเลือดได้?
ในการบริจาคเลือด จะมีข้อห้ามที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อไม่ให้บุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้บริจาคเลือด ได้แก่
- บุคคลที่มีปริมาณของฮีโมโกลบินไม่เพียงพอ
- สตรีที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
- บุคคลที่เพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปต่างประเทศ
- บุคคลที่มีความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ
- บุคคลที่อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาอาการ
- บุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น
- บุคคลที่เป็นโรคหัวใจ
- โรคปอด
- โรคมะเร็งทุกชนิด
- โรคตับอักเสบชนิดบีและชนิดซี
- โรควัณโรค
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคลมชัก
- โรคไทรอยด์
- โรคอัมพฤษ์ โรคอัมพาต
- โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก
- โรคโควิด (งดให้การบริจาคเลือด 1 เดือน)
- โรคเบาหวานที่ต้องใช้ยาอินซูลินหรือคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
- โรคมาลาเรีย (สามารถริจาคเลือดได้หลังจากรักษาหายแล้ว 3 ปีขึ้นไป)
- บุคคลที่ติดเชื้อ HIV และซิฟิลิส
- บุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- บุคคลที่มีน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุมากกว่า 5 กิโลกรัม ในระยะเวลา 2 เดือน และมีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
- บุคคลที่เพิ่งมีการใช้เข็มฉีดยา เจาะร่างกาย หรือสักภายในระยะเวลา 1 ปี
- บุคคลที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 45 กิโลกรัม
ทั้งนี้หากมีโรคประจำตัว หรือไม่แน่ใจว่าสามารถบริจาคเลือดได้หรือไม่ ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยบริจาคเลือดก่อนทำการบริจาค
การบริจาคเลือดมีข้อเสียหรือไม่?
สำหรับข้อเสียของการบริจาคเลือดนั้น จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็นข้อเสียซะทีเดียว จะเป็นผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ข้างเคียงหลังจากการบริจาคเลือดมากกว่า ซึ่งน้องแคร์ต้องบอกว่าเป็นภาวะปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลที่เพิ่งจะบริจาคเลือดเสร็จสิ้น โดยผลข้างเคียงที่เป็นเรื่องปกติหลังจากการบริจาคเลือด ก็อย่างเช่น
- อาการฟกช้ำ (Bruising) : ในบริเวณที่ถูกสอดเข็มเข้าไป
- เลือดออกต่อเนื่อง : โดยปกติหลังจากการบริจาคเลือด เลือดจะหยุดไหลไปเอง แต่หากยังมีเลือดไหลซึมออกมาจากบริเวณที่เจาะให้ยกแขนขึ้นเหนือหัวใจประมาณ 3 – 4 นาที หรือหากมีเลือดไหลออกมาไม่หยุดให้รีบไปพบแพทย์
- อาการวิงเวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ : ให้นั่งพักหลังจากบริจาคเลือดเสร็จเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้อาการดีขึ้น หากยังไม่ดีขึ้นให้นอนราบกับพื้นจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น
- ความเจ็บปวดและความอ่อนแอของร่างกาย : ความเจ็บปวดขณะสอดเข็มและเจ็บปวดบริเวณที่ถูกสอดเข็มหลังการบริจาค สามารถเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ วิธีแก้คือคุณสามารถกินยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้ นอกจากนี้หลังจากการบริจาคเลือดคุณจะรู้สึกถึงความอ่อนแอทางร่างกายบ้างเล็กน้อย อย่างเช่น ตรงบริเวณแขนที่ถูกเจาะที่ไม่สามารถโดนกระแทกหรือยกของหนัก ๆ ได้ เป็นต้น
บริจาคเลือดได้ที่ไหนบ้าง
คุณสามารถบริจาคเลือดได้ที่สถานที่ต่าง ๆ ดังนี้:
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ตั้งอยู่ที่ถนนอังรีดูนังต์ กรุงเทพฯ
เวลาทำการ: จันทร์-พุธ, ศุกร์ 8.00-16.30 น., พฤหัสบดี 7.30-19.30 น., เสาร์-อาทิตย์ 8.30-15.30 น. - โรงพยาบาลรัฐและเอกชนต่าง ๆ
หลายโรงพยาบาลมีศูนย์บริจาคเลือดของตัวเอง เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี ฯลฯ - หน่วยเคลื่อนที่บริจาคโลหิต
หน่วยเคลื่อนที่มักจะไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า, มหาวิทยาลัย, งานกาชาด และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คนสามารถบริจาคเลือดได้สะดวก
คุณสามารถตรวจสอบตารางหน่วยเคลื่อนที่บริจาคโลหิตผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของสภากาชาดไทย หรือติดตามจากข่าวประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ
เรียกว่าครบถ้วนทุกเรื่องเกี่ยวกับการบริจาคเลือดกันเลยทีเดียว สำหรับข้อมูลที่น้องแคร์นำมาฝากเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจให้กับบุคคลที่กำลังสนใจอยากจะร่วมบริจาคเลือดให้กับสภากาชาดไทย หากใครที่สามารถไปร่วมบริจาคเลือดได้น้องแคร์ก็อยากให้ไปร่วมบริจาคกันเยอะ ๆ เพื่อให้มีเลือดเพียงพอกับผู้ป่วยที่กำลังรอความช่วยเหลืออยู่
นอกจากจะได้ทำบุญแล้วการบริจาคเลือดก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้สุขภาพของคุณดีขึ้นอีกด้วย และถ้าหากใครสุขภาพยังแข็งแรงดีอยู่ อยากจะซื้อประกันสุขภาพดี ๆ สักเล่มติดตัวเอาไว้ให้อุ่นใจมากขึ้นไปอีก ไม่ต้องบริจาคเลือดหลาย ๆ ครั้งก็สามารถได้รับการรักษาฟรีเพราะมีประกันจ่ายให้ ก็อย่าลืมแวะเข้ามาเลือกซื้อความคุ้มครองสุขภาพได้ที่แรบบิท แคร์ เรามีครบทุกความต้องการไว้บริการคุณแน่นอน!
มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นนักเขียนด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อสุขภาพที่ Rabbit Care และ Asia Direct
และ 12 ปี ในอุตสาหกรรม OTA อย่าง Laterooms.com , Expedia.com จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น