เงินในบัญชีหายต้องทำอย่างไร? รวมสาเหตุ วิธีแก้ และวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
ทุกวันนี้เราสามารถซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น แต่ความสะดวกสบายนี้ก็มีอันตรายที่แฝงอยู่เช่นกัน สำหรับใครที่พบปัญหาเงินในบัญชีหายโดยไม่รู้ตัวและต้องการทราบว่าสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง แรบบิท แคร์ได้รวบรวมสาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ วิธีการอายัดบัตร และวิธีการป้องกันไม่ให้เงินในบัญชีหายในอนาคตมาฝาก
สาเหตุที่อาจทำให้เงินในบัญชีหาย
ในปัจจุบันภัยอันตรายในโลกออนไลน์มีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การหลอกถามข้อมูลส่วนตัวและรหัสผ่านทางโทรศัพท์ การใช้เว็บไซต์ปลอมหลอกเอาข้อมูล การส่งอีเมลแอบอ้างเป็นธนาคาร การแฮกข้อมูลจากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในช่วงปีที่ผ่านมาสาเหตุของการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตมักเกิดจากการที่มิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้รหัส OTP (One-Time Password) โดยเริ่มจากจำนวนเงินน้อย ๆ ก่อน แล้วเมื่อพบเลขบัตรที่สามารถใช้งานได้ ก็จะใช้เลขบัตรนั้นทำธุรกรรมที่วงเงินสูงขึ้นต่อไป
วิธีแก้ปัญหาเงินในบัญชีหาย
- ตรวจสอบก่อนว่าเงินในบัญชีหายจริงหรือไม่ เพราะบางคนอาจเคยสมัครใช้บริการที่เรียกเก็บเงินเป็นรายเดือนหรือรายปีไว้ ทำให้มีการหักเงินออกจากบัญชีโดยอัตโนมัติ หรือบางครั้งธนาคารอาจเก็บค่าธรรมเนียมบัตร ค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดเข้าใจผิดว่าเงินในบัญชีหายไป ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้รอบคอบก่อนว่าเงินหายไปจริงก่อนทำขั้นตอนถัดไป
- เมื่อมั่นใจแล้วว่าเงินหายออกจากบัญชีจริง ให้รีบแจ้งอายัดบัตรเดบิตหรือบัตร ATM ที่ผูกกับบัญชีดังกล่าวทันที หรือหากพบว่ามีการเรียกเก็บเงินที่ผิดปกติบนบัตรเครดิต ก็ให้รีบทำการอายัดบัตรกับธนาคารผู้ออกบัตรเช่นกัน
- ในกรณีบัตรเดบิตหรือบัตร ATM อีกขั้นตอนหนึ่งที่สามารถทำได้คือการโอนเงินที่เหลือออกจากบัญชีให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพถอนเงินออกเพิ่มอีกได้
- ยกเลิกการผูกบัญชีและผูกบัตรต่าง ๆ ออนไลน์ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าข้อมูลบัญชีหรือบัตรของเราหลุดมาจากช่องทางใด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ให้ยกเลิกการผูกบัญชีหรือบัตรในแอปพลิเคชันหรือบริการต่าง ๆ บนออนไลน์ทั้งหมดไว้ก่อน รวมถึงเปลี่ยนรหัสผ่านของอีเมลและแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับบัญชีดังกล่าวด้วย
- ตรววจสอบรายการใช้จ่ายทั้งหมดในบัญชีนั้นเพื่อรวบรวมหลักฐาน แล้วนำรายการเดินบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ สมุดบัญชีธนาคาร และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ไปแจ้งความเพื่อดำเนินเรื่องต่อไป
- ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งปฏิเสธการทำรายการ โดยนำใบแจ้งความและหลักฐานต่าง ๆ ไปยื่นให้กับธนาคารเพื่อให้ทางธนาคารดำเนินการต่อไป หากตรวจสอบได้ว่ามีมิจฉาชีพสวมรอยนำข้อมูลไปทำธุรกรรมโดยมิชอบจริง ธนาคารอาจดำเนินการคืนเงินให้ในกรณีบัตรเดบิต สำหรับบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการให้โดยผู้เสียหายจะไม่จำเป็นต้องชำระยอดเงินดังกล่าว
วิธีอายัดบัตร
การอายัดบัตรคือการระงับการใช้บัตร ATM บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตชั่วคราว ซึ่งจะทำให้มิจฉาชีพไม่สามารถทำธุรกรรมโดยใช้บัตรดังกล่าวอีกได้หากไม่มีการปลดล็อกโดยธนาคารที่ออกบัตร เราสามารถทำการอายัดบัตรได้หลายวิธี เช่น
- การอายัดบัตรผ่านแอปพลิเคชัน
ในขณะนี้ แอปพลิเคชันของธนาคารหลายแห่งให้เราสามารถอายัดบัตรหรือระงับการใช้บัตรชั่วคราวผ่านแอปพลิเคชันได้โดยตรง เช่น แอปพลิเคชัน K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย หรือแอปพลิเคชัน ttb touch ของธนาคารทีเอ็มบีธนชาต
- การอายัดบัตรผ่าน Call Center
Call Center ของธนาคารผู้ออกบัตร ATM บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตให้บริการรับแจ้งอายัดบัตรทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว การอายัดบัตรผ่าน Call Center จึงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วโดยไม่ต้องรอให้ธนาคารเปิดก่อน
- การอายัดบัตรที่สาขา
สำหรับใครที่ต้องการสอบถามข้อมูลและรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่โดยตรง ก็สามารถไปที่สาขาของธนาคารในเวลาทำการเพื่ออายัดบัตรได้เช่นกัน
วิธีป้องกันไม่ให้เงินในบัญชีหาย
เมื่อเกิดเหตุการณ์เงินในบัญชีหาย นอกจากจะมีความเสี่ยงที่เราจะไม่ได้เงินคืนแล้ว ก็ยังทำให้เกิดความยุ่งยากอื่น ๆ ตามมาด้วย ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือควรลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เงินในบัญชีหายตั้งแต่แรกด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคารเพื่อตรวจสอบยอดเงินเข้า-ออกจากบัญชี โดยธนาคารส่วนใหญ่มีบริการแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น อีเมล, SMS, LINE หรือแอปพลิเคชันของธนาคาร หากมีคนทำธุรกรรมผ่านบัญชีหรือบัตรของเรา การแจ้งเตือนดังกล่าวจะช่วยให้เรารู้ตัวได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ สำหรับคนที่มีบัญชีธนาคารหลายบัญชี ควรตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีเป็นประจำ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่เช็กยอดเงิน เพราะถ้าเงินในบัญชีหายไปเป็นเวลานานแล้วแต่เราไม่ทราบ ก็จะทำให้ตามเรื่องได้ยากขึ้น
- ระมัดระวังการผูกบัตรในการทำธุรกรรม
ไม่ควรผูกบัญชีธนาคารหรือบัตรเดบิตเพื่อทำธุรกรรมออนไลน์เว้นแต่จะมีความจำเป็นจริง ๆ เพราะบัตรเดบิตจะถูกตัดเงินทันทีเมื่อมีการใช้จ่าย ต่างจากบัตรเครดิตซึ่งยังมีระยะเวลาในการร้องเรียนหรือยกเลิก สำหรับการผูกบัตรเครดิต ควรเลือกผูกบัตรกับแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือหรือมีการส่งรหัส OTP เพื่อยืนยันการทำธุรกรรม
- จำกัดวงเงินการทำธุรกรรมหรือเปิด/ปิดการใช้งานของบัตรเมื่อจำเป็น
เราสามารถจำกัดวงเงินการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งการถอน การโอน การจ่ายบิลต่าง ๆ ในบัญชีธนาคารและบัตรเดบิตได้ โดยควรตั้งให้เป็นจำนวนที่น้อยเพื่อลดความเสียหายหากเกิดการแฮก หรือถ้าหากไม่ต้องการใช้บัตรในบางช่วงเวลา ก็สามารถปิดการใช้งานของบัตรชั่วคราวไว้ก่อนได้
- อย่าหลงกลบอกข้อมูลส่วนตัวผ่านทางโทรศัพท์หรือช่องทางอื่น
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นธนาคาร บริษัทขนส่ง หรือตำรวจเพื่อหลอกให้โอนเงินหรือบอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลบัตรเครดิต โดยปกติแล้วธนาคารจะไม่มีนโยบายติดต่อไปสอบถามข้อมูลส่วนตัวและรหัสของลูกค้า ดังนั้น หากมีคนติดต่อมาเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพและหาทางตรวจสอบข้อมูลที่กล่าวอ้างผ่านข่องทางอื่น เช่น หากมีคนติดต่อมาว่าบัตรเครดิตถูกระงับ ให้ตรวจสอบแอปพลิเคชันของธนาคารหรือโทรหา Call Center ด้วยหมายเลขติดต่ออย่างเป็นทางการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
- ระวังการเข้าเว็บไซต์ปลอม
ฟิชชิงคือการแอบอ้างเป็นเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือโดยใช้เว็บไซต์ปลอมที่หน้าตาคล้ายกันมากจนทำให้เราไม่ทันสังเกตและหลอกให้กรอกข้อมูลสำคัญอย่างอีเมล รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิตลงในเว็บไซต์นั้น ซึ่งจะทำให้มิจฉาชีพนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ต่อได้ ดังนั้น ก่อนจะคลิกลิงก์ใดก็ตาม ควรตรวจสอบที่มาของเว็บไซต์อย่างละเอียดว่าเป็นเว็บไซต์ของจริงหรือไม่ และระมัดระวังในการกรอกข้อมูลส่วนตัวในโลกออนไลน์อยู่เสมอเมื่อเรามั่นใจแล้วว่าสามารถดูแลความปลอดภัยของบัญชีและบัตรต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินในบัญชีหายโดยไม่รู้ตัวได้แล้ว เราก็สามารถซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ทางออนไลน์ได้อย่างสบายใจมากขึ้น
สำหรับใครที่สนใจเปิดบัตรเครดิตไว้ใช้สักใบแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน แรบบิท แคร์มีบริการเปรียบเทียบบัตรเครดิตให้คุณเลือกบัตรเครดิตที่เหมาะกับคุณที่สุดได้ง่าย ๆ
ทีมกองบรรณาธิการ กลุ่มนักเขียนผู้มีประสบการณ์ด้านรถยนต์ การเงิน และประกันภัย ของ แรบบิท แคร์ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี